"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
ในห้วงแห่งสงครามกลางเมืองสเปน แต่ละฝ่ายถูกขับเคลื่อนด้วยวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตของสเปนและความเป็นศัตรูที่ฝังรากลึกซึ่งหมักหมมมานานหลายปีจากความแตกแยกทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ฝ่ายหลักคือฝ่ายสาธารณรัฐ (Republicans) และฝ่ายชาตินิยม (Nationalists) ทั้งสองฝ่ายไม่ได้รวมตัวกันด้วยวิสัยทัศน์เดียว แต่เป็นการรวมตัวของกลุ่มต่าง ๆ ที่มีศัตรูร่วมกันมากกว่าอุดมการณ์ร่วม แต่ละฝ่ายมียุทธศาสตร์เฉพาะตัว ซึ่งถูกกำหนดโดยทรัพยากร พันธมิตร และเป้าหมายทางอุดมการณ์ ในขณะที่พวกเขาต่อสู้เพื่อยึดครองอำนาจในสเปน
1. ฝ่ายสาธารณรัฐ: พันธมิตรฝ่ายซ้ายที่แตกแยก
ฝ่ายสาธารณรัฐเป็นพันธมิตรที่ไม่ลงรอยกันของกลุ่มฝ่ายซ้าย ตั้งแต่นักประชาธิปไตยเสรีนิยมไปจนถึงคอมมิวนิสต์และอนาธิปไตย พวกเขามองว่าสงครามเป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองแบบประชาธิปไตย การปฏิรูปทางสังคม และการปกครองตนเองในระดับภูมิภาคที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม วิสัยทัศน์นี้แตกแยกด้วยความขัดแย้งภายใน แต่ละฝ่ายต่างแสวงหาการตีความของตนเองเกี่ยวกับสเปนที่เป็นธรรมและเสรี
สำหรับ 3 กลุ่มหลักของฝ่ายนี้ประกอบด้วย กลุ่มสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ กลุ่มอนาธิปไตย และ กลุ่มชาตินิยมระดับภูมิภาค
กลุ่มสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ เป็นตัวแทนของชนชั้นแรงงานและคนจนในเมือง พรรคสังคมนิยม และพรรคคอมมิวนิสต์ มีเป้าหมายที่จะปกป้องและขยายการปฏิรูปทางสังคมที่รัฐบาลสาธารณรัฐได้เริ่มต้นเอาไว้ เช่น การจัดสรรที่ดินใหม่ สิทธิแรงงาน และการลดบทบาทของศาสนาในระบบการศึกษา ฝ่ายคอมมิวนิสต์มีระเบียบวินัยและการจัดการที่ดีโดยได้รับการสนับสนุนจากโซเวียต ทั้งในด้านอาวุธ ที่ปรึกษา และความช่วยเหลือทางทหาร ยุทธศาสตร์ของพวกเขามุ่งเน้นไปที่การบัญชาการแบบรวมศูนย์ ความเป็นระเบียบ และการสร้างโครงสร้างทางทหารแบบดั้งเดิม โดยอาวุธยุทโธปกรณ์จากโซเวียต เช่น รถถัง เครื่องบิน และอาวุธหนักอื่น ๆ เพื่อทำสงครามแบบมียุทธศาสตร์กับกองกำลังชาตินิยม
กลุ่มอนาธิปไตย ซึ่งส่วนใหญ่จัดตั้งในสมาพันธ์แรงงานแห่งชาติ และสหพันธ์อนาธิปไตยไอบีเรีย มีอิทธิพลมากในแคว้นคาตาโลเนียและอารากอน พวกเขามุ่งหวังที่จะสร้างสังคมที่ปราศจากรัฐ และสร้างสังคมใหม่โดยใช้ระบบสหกรณ์ที่ตั้งอยู่บนการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นพลังหลักในการบริหารสังคม และพวกเขาต่อต้านระบอบการปกครองแบบเผด็จการอย่างรุนแรง แม้แต่ในกลุ่มตนเอง ยุทธศาสตร์ของพวกเขาก็เป็นแบบกระจายอำนาจ โดยใช้กองกำลังติดอาวุธขนาดเล็กแทนโครงสร้างการบัญชาการแบบรวมศูนย์ ซึ่งมักทำให้การประสานงานกับพวกคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมซับซ้อนขึ้นและเป็นไปด้วยความยากลำบาก
พวกอนาธิปไตยได้ทำการทดลองการจัดระบบทางสังคมใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบถึงรากถึงโคนในฟาร์มและโรงงานแบบรวมหมู่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พวกเขาควบคุม ยุทธวิธีแบบกองโจรของพวกเขามุ่งเน้นไปที่การบุกโจมตี การก่อวินาศกรรม และการโจมตีอย่างรวดเร็ว ซึ่งมักสร้างความหงุดหงิดให้กับฝ่ายชาตินิยม แต่บางครั้งก็ปะทะกับกองกำลังสาธารณรัฐเองเนื่องจากธรรมชาติที่ต่อต้านอำนาจของพวกเขา
กลุ่มชาตินิยมระดับภูมิภาค (คาตาโลเนียและแคว้นบาสก์) สำหรับชาตินิยมคาตาลันและบาสก์ สงครามกลางเมืองเป็นโอกาสที่จะได้รับอำนาจปกครองตนเองจากมาดริด ฝ่ายคาตาโลเนียมีเป้าหมายในการจัดตั้งกองกำลังเพื่อป้องกันตนเองเป็นหลัก ในขณะที่กองกำลังบาสก์หวังที่จะปกป้องบ้านเกิดของตนผ่านพันธมิตรท้องถิ่น แม้จะอยู่ร่วมกับฝ่ายสาธารณรัฐ แต่พวกเขามักให้ความสำคัญกับการปกครองสิทธิในภูมิภาคมากกว่าการทำสงครามขยายพื้นที่ ซึ่งบางครั้งนำไปสู่ความขัดแย้งกับคำสั่งส่วนกลางของฝ่ายสาธารณรัฐ ยุทธศาสตร์ของพวกเขาเป็นแบบท้องถิ่น ซึ่งมุ่งที่จะปกป้องและรักษาดินแดนของตนเองมากกว่าที่จะดำเนินการทำสงครามเชิงรุก
โดยรวมแล้ว ฝ่ายสาธารณรัฐดำเนินยุทธศาสตร์บนพื้นฐานของการยึดเมืองสำคัญและพื้นที่อุตสาหกรรม โดยเฉพาะในภาคตะวันออกและรอบ ๆ เมืองมาดริด อย่างไรก็ตาม การที่พวกเขาไม่สามารถรวมตัวกันเป็นโครงสร้างการบัญชาการเดียวกันได้กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญ การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มอนาธิปไตย คอมมิวนิสต์ และสังคมนิยมทำให้ทรัพยากรถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ และทำให้ประสิทธิผลเชิงยุทธศาสตร์อ่อนแอลงด้วย วิสัยทัศน์ที่แตกแยกของฝ่ายสาธารณรัฐเกี่ยวกับสเปนขัดขวางการร่วมมือที่เป็นเอกภาพของพวกเขา และแม้ว่าอุดมการณ์ของพวกเขาจะมีแรงดึงดูดทางศีลธรรมในการสร้างสังคมที่ดีขึ้นมา แต่การขาดความสามัคคีก็เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จของพวกเขาในสนามรบ
2. ฝ่ายชาตินิยม: อนุรักษ์นิยมที่เป็นเอกภาพ
ตรงข้ามกับฝ่ายสาธารณรัฐ ฝ่ายชาตินิยมเป็นพันธมิตรที่รวมตัวกันด้วยความต้องการที่จะฟื้นฟูค่านิยมดั้งเดิม รักษาความเป็นระเบียบทางสังคม และปกป้องสเปนในฐานะรัฐคาทอลิกที่เป็นเอกภาพ ฝ่ายนี้นำโดย นายพลฟรานซิสโก ฟรังโก ฝ่ายชาตินิยมประกอบด้วย กลุ่มนิยมกษัตริย์ เจ้าของที่ดิน คริสตจักรคาทอลิก และชนชั้นนำทางทหาร นายพลฟรังโกรวมกลุ่มเหล่านี้โดยการผสมผสานระหว่างอำนาจส่วนบุคคลและการจัดการกับการคัดค้านอย่างโหดร้าย แกนหลักของฝ่ายนี้ประกอบด้วย กองทัพ พรรคฟาลังจ์ และศาสนจักร
กองทัพและทหารอาชีพ กองกำลังชาตินิยมประกอบด้วยทหารอาชีพ ที่มีประสบการณ์จากสงครามในโมร็อกโกและได้รับการฝึกฝนอย่างดีในการทำสงครามแบบดั้งเดิม โดยอยู่ภายใต้การนำของนายพลฟรังโก ที่เน้นความมีระเบียบวินัยและการบัญชาการแบบรวมศูนย์ โดยได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนีและอิตาลี ฝ่ายชาตินิยมใช้ประโยชน์จากการฝึกฝนและวินัยที่เหนือกว่าเพื่อดำเนินการรุกและการโจมตีอย่างเป็นระบบ โดยใช้ยุทธศาสตร์การยึดเมืองใหญ่ การยึดศูนย์กลางการขนส่งและเส้นทางคมนาคมเพื่อตัดเส้นทางการส่งกำลังบำรุงของฝ่ายสาธารณรัฐ
กลุ่มฟาลังจิสต์ หรือพรรคฟาลังจ์ ซึ่งเป็นพรรคฟาสซิสต์ของสเปนที่ก่อตั้งโดย โฮเซ่ อันโตนิโอ ปรีโม เด ริเวร่า มีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นกระดูกสันหลังทางอุดมการณ์ให้แก่พันธมิตรชาตินิยม โดยพวกเขาทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติการกึ่งทหารและเป็นเครื่องมือกดขี่ประชาชนในพื้นที่ยึดครอง พรรคฟาลังจ์ยังช่วยเกณฑ์ประชาชนเข้าสู่ฝ่ายชาตินิยม โดยใช้การโฆษณาชวนเชื่อที่กล่าวถึงการฟื้นฟูระเบียบและการต่อสู้กับ “คอมมิวนิสต์ที่ไร้พระเจ้า”
กลุ่มคริสตจักรคาทอลิกและกลุ่มอนุรักษ์นิยม ซึ่งให้การสนับสนุนเป็นอย่างแข็งขันแก่ฝ่ายชาตินิยม เหล่าบาทหลวงมองว่าการปฏิรูปศาสนาของฝ่ายสาธารณรัฐเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อพวกเขา และพวกเขาประกาศว่าสงครามครั้งนี้คือ สงครามศักดิ์สิทธิ์ที่ต่อสู้กับลัทธิฆราวาสนิยม ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อศาสนาในการต่อต้านการแยกศาสนาออกจากรัฐ แม้จะไม่ได้มีส่วนร่วมในทางทหาร แต่การสนับสนุนของศาสนจักรได้ให้ความชอบธรรมทางศีลธรรมแก่กองกำลังของฟรังโก โดยเฉพาะในหมู่ชาวชนบทสเปน ด้านกลุ่มอนุรักษ์นิยมก็ได้สนับสนุนทรัพยากรและใช้อิทธิพลในการระดมการสนับสนุนในภูมิภาคที่เป็นอนุรักษ์นิยมและนับถือคาทอลิก
ยุทธศาสตร์ของฝ่ายชาตินิยมมีลักษณะเด่นด้วยยุทธวิธีที่เป็นระบบและโหดร้าย มุ่งทำลายขวัญกำลังใจของฝ่ายตรงข้าม พวกเขามุ่งเน้นการยึดครองพื้นที่ใจกลางของสเปนและกระจายออกไปเพื่อโดดเดี่ยวฐานที่มั่นของฝ่ายสาธารณรัฐ มีการใช้ความหวาดกลัวอย่างเป็นระบบ เช่น การสังหารหมู่และการโจมตีพลเรือนโดยการทิ้งระเบิดที่เมืองเกอร์นิกาโดยเครื่องบินเยอรมัน ซึ่งเป็นการส่งสาส์นที่น่าสะพรึงกลัวแก่ฝ่ายตรงข้าม
ยุทธวิธี “สงครามเบ็ดเสร็จ” ไม่เพียงมีเป้าหมายแค่เอาชนะฝ่ายสาธารณรัฐในสนามรบเท่านั้น แต่ยังมุ่งทำลายความตั้งใจในการต่อต้านที่เหลืออยู่ด้วย ซึ่งทำให้ฝ่ายชาตินิยมสามารถควบคุมพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การมีส่วนร่วมของต่างประเทศ: สงครามตัวแทนบนแผ่นดินสเปน
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของสงครามกลางเมืองสเปนคือ การมีลักษณะเป็นสงครามตัวแทน โดยทั้งสองฝ่ายได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจต่างชาติที่มองว่าสเปนเป็นพื้นที่ทดลองเทคโนโลยีทางทหารและอุดมการณ์ของตน สหภาพโซเวียตให้การสนับสนุนฝ่ายสาธารณรัฐด้วยอาวุธ ที่ปรึกษา และความช่วยเหลือด้านการขนส่ง แต่การสนับสนุนของ สตาลิน ผู้นำโซเวียตเป็นไปอย่างมีกลยุทธ์ ในด้านหนึ่งมีเป้าหมายเพื่อต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ในสเปน แต่อีกด้านหนึ่งก็ระมัดระวังไม่ให้กลุ่มอนาธิปไตยและกลุ่มนิยมทรอตสกี้ ซึ่งเป็นศัตรูทางการเมืองของเขา มีอำนาจมากเกินไป
ความช่วยเหลือจากโซเวียตมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับฝ่ายสาธารณรัฐ โดยเฉพาะในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของโซเวียตยังสร้างความขัดแย้งภายในฝ่ายสาธารณรัฐเพิ่มขึ้น เมื่อสายลับของสตาลินทำงานเพื่อกำจัดกลุ่มอนาธิปไตยและกลุ่มคอมมิวนิสต์สายทรอตสกี้ที่ต่อต้านสตาลิน ซึ่งทำให้พันธมิตรของฝ่ายสาธารณรัฐแตกแยกและอ่อนแอลง
ด้านเยอรมนีและอิตาลีมองฝ่ายชาตินิยมสปนว่าเป็นพันธมิตรธรรมชาติในแผนการขยายอำนาจของพวกเขา ฮิตเลอร์ส่งกองพลคอนดอร์ ซึ่งเป็นหน่วยรบทางอากาศชั้นนำ ขณะที่มุสโสลินีส่งทหารอิตาลีหลายพันนาย กองกำลังเหล่านี้มอบเครื่องบิน รถถัง และความเชี่ยวชาญทางยุทธวิธีให้แก่ฝ่ายชาตินิยม ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในสมรภูมิ เช่น การทิ้งระเบิดเมืองเกอร์นิกา การสนับสนุนจากต่างประเทศนี้ไม่เพียงแต่ให้ความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีแก่ฝ่ายชาตินิยม แต่ยังช่วยเสริมขวัญกำลังใจ และสร้างภาพลักษณ์แห่งความแข็งแกร่งที่ยากแก่การต่อกรขึ้นมา
กล่าวได้ว่า การแทรกแซงของมหาอำนาจต่างชาติไม่เพียงทำให้ความขัดแย้งรุนแรงของสงครามกลางเมืองสเปนมากขึ้น แต่ยังเปลี่ยนสงครามให้เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ระหว่างฟาสซิสต์กับคอมมิวนิสต์ และประชาธิปไตยกับเผด็จการ แต่ละฝ่ายต่างเชื่อว่ากำลังต่อสู้เพื่ออนาคต ไม่เพียงแต่ของสเปน แต่รวมถึงยุโรปทั้งทวีป สงครามครั้งนี้คร่าชีวิตผู้คนประมาณ 500,000 ถึง 1,000,000 คน โดยจำนวนนี้รวมทั้งทหารและพลเรือน แต่ตัวเลขที่แน่นอนยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักประวัติศาสตร์
ในช่วงปลายปี 1938 ถึงต้นปี 1939 สงครามกลางเมืองสเปนเข้าสู่ช่วงสุดท้ายอันน่าสะเทือนใจ บรรยากาศแห่งความสิ้นหวังปกคลุมฐานที่มั่นของฝ่ายสาธารณรัฐ เสียงระเบิดและปืนใหญ่ดังก้องจากแนวรบ ควันดำลอยตระหง่านเหนือซากปรักหักพังของเมืองที่ถูกทำลาย ผู้คนผอมโซเดินเซซังเซในถนนที่เต็มไปด้วยเศษซาก มองหาอาหารและที่หลบภัย สงครามกลางเมืองสเปนสิ้นสุดลงในวันที่ 1 เมษายน 1939 หลังจากฝ่ายชาตินิยม นำโดยนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก ประสบความสำเร็จในการยึดกรุงมาดริดและควบคุมดินแดนทั้งหมดของสเปน
ความพ่ายแพ้ของฝ่ายสาธารณรัฐเป็นผลมาจากหลายปัจจัยที่สั่งสมตลอดสงคราม ขณะที่ฝ่ายชาตินิยมสามารถรักษาความเป็นเอกภาพและดำเนินยุทธศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ชัยชนะของฝ่ายชาตินิยมมีหลายประการด้วยกัน
ประการแรก การรวมศูนย์อำนาจที่เข้มแข็ง นายพลฟรังโกสามารถรวมกลุ่มต่าง ๆ เข้าด้วยกันภายใต้การนำของตน ทั้งกองทัพ พรรคฟาลังจ์ กลุ่มคาทอลิก และชนชั้นเจ้าที่ดิน เขาใช้ทั้งการปราบปรามอย่างโหดร้ายและการประนีประนอมทางการเมืองเพื่อรักษาเอกภาพ
ประการที่สอง การสนับสนุนจากต่างประเทศที่เหนือกว่า โดยได้เครื่องบินทิ้งระเบิดจากเยอรมันและอิตาลีจำนวนมาก รถถังและปืนใหญ่ทันสมัย รวมทั้งทหารมืออาชีพจากเยอรมนีและอิตาลีที่เป็นผู้ฝึกฝนกองกำลังชาตินิยม ในขณะที่การสนับสนุนจากโซเวียตต่อฝ่ายสาธารณรัฐกลับมีไม่มากนัก
ประการที่สาม ความแตกแยกของฝ่ายสาธารณรัฐ ซึ่งมีบรรยากาศของความไม่ไว้วางใจและการต่อสู้กันเองระหว่างกลุ่มคอมมิวนิสต์และกลุ่มอนาธิปไตย ในขณะที่กองกำลังชาตินิยมท้องถิ่นก็ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งจากส่วนกลาง ทหารขาดแคลนอาวุธและเสบียง ขวัญกำลังใจตกต่ำ หลายคนแปรพักตร์หรือหนีทัพ
ประการที่สี่ ยุทธวิธีสร้างความหวาดกลัว ฝ่ายชาตินิยมใช้การสังหารหมู่และการทรมานอย่างเป็นระบบเพื่อทำลายขวัญกำลังใจของฝ่ายสาธารณรัฐ ชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ถูกประหารต่อหน้าต่อตาครอบครัว บ้านเรือนถูกเผา และผู้หญิงถูกข่มขืน ความหวาดกลัวแพร่กระจายไปทั่วทำให้การต่อต้านอ่อนแอลง
ในวันที่ 1 เมษายน 1939 ฟรังโกประกาศชัยชนะอย่างเป็นทางการ กรุงมาดริดที่พ่ายแพ้เงียบสงัด มีเพียงเสียงรถถังและทหารชาตินิยมที่เดินสวนสนามฉลองชัย ธงของฝ่ายชาตินิยมโบกสะบัดเหนืออาคารที่ถูกทำลาย ผู้คนจำนวนมากมองดูด้วยสีหน้าเศร้าสร้อยและหวาดกลัว แต่บางคนก็พยายามปรบมือให้ผู้ชนะเพื่อความปลอดภัยของตนเอง ขณะที่ผู้นำฝ่ายสาธารณรัฐและผู้สนับสนุนหลายพันคนหนีออกนอกประเทศ ทิ้งบ้านเกิดไปด้วยความอาลัยอาวรณ์ สเปนเข้าสู่ยุคมืดของเผด็จการที่จะกินเวลายาวนานถึง 36 ปี