xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ประชานิยมก๊อกสองพุ่งเป้า “ฐานเสียงเพื่อไทย”? แจกสะบัดเงินหมื่นกลุ่มสูงวัย-ชาวนาไร่ละพัน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  หลังจากตั้งท่ามาเป็นนาน “รัฐบาลอิ๊งค์ - แพทองธาร ชินวัตร” ก็ปล่อยโครงการประชานิยมรอบสอง เพื่อบูทเศรษฐกิจ ทั้งพักหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้เพื่อการบริโภค ให้ประชาชนเอาเงินไปจับจ่ายกันฉ่ำ ๆ ส่งท้ายปี 

แต่ว่าก็ว่าเถอะ ดูเหมือนว่า เป้าหมายในการแจกเงินหมื่นหรือนโยบายเศรษฐกิจรอบนี้ ชัดแจ้งว่าเป็น “ประชานิยมตามสไตล์ของทักษิณ ชินวัตร”  ขนานแท้และดั้งเดิม

แถมเที่ยวนี้ยังมีข้อสังเกตด้วยว่า  “พุ่งเป้า”  ไปที่  “กลุ่มฐานเสียงเพื่อไทย”  อย่างตรงไปตรงมา นั่นก็คือ  “ชาวนา”  และ  “กลุ่มผู้สูงอายุ”  เพราะประจักษ์ชัดแล้วว่า “กลุ่มคนรุ่นใหม่”  ยังไงก็ไม่เลือกพรรคเพื่อไทย

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 1/2567 ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นัดแรก เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา มีหลายโครงการที่เข็นกันออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ

แรกสุดคือ โครงการแจกเงินหมื่น เฟส 2 ให้กับกลุ่มสูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4 ล้านคน ต่อจากเฟสแรกที่แจกให้กลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้พิการกว่า 14 ล้านคน

เงื่อนไขของกลุ่มสูงวัย ไม่ต่างไปจากกลุ่มแรกเท่าใดนัก เพราะถือเป็น “กลุ่มเปราะบาง” เช่นกัน โดยจะต้องเป็นผู้ที่ “ลงทะเบียนผ่านแอปทางรัฐ” เท่านั้น ใครไม่ลงถือว่าหมดสิทธิ์

สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้แต่ได้รับเงินเฟสแรกไปแล้วถือว่าหมดสิทธิ์ ส่วนเกณฑ์รายได้จะต้องไม่มีรายได้เกิน 840,000 บาทต่อปี ไม่มีเงินฝากทุกบัญชีเกิน 5 แสนบาท ใครที่มีรายได้หรือเงินฝากเกินนี้ก็ถือว่าหมดสิทธิ์เช่นกัน

นอกจากนั้น ต้องไม่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ ไม่เป็นผู้ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการโครงการอื่น ๆ ของรัฐ และไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ

กำหนดการจ่ายเงิน คร่าวๆ ว่าจะจ่ายก่อนตรุษจีน 2568 หรือก่อนวันที่ 29 มกราคม 2568 ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับหมายเลขประจำตัวประชาชน

การแจกเงินหมื่นกลุ่ม 60 ปีขึ้นไปครั้งนี้ 4 ล้านคน คาดว่าจะใช้เม็ดเงินประมาณ 40,000 ล้านบาท

สำหรับกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับแจกเงินหมื่น พิชัย ชุณหวชิร  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า จะขอดูความพร้อมของระบบ ประมาณเดือนเมษายน-มิถุนายนปีหน้าจะเป็นช่วงที่จะทบทวนดูว่าจะมีการทำโครงการนี้ต่อไปหรือไม่

ขณะที่  จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในทำนองเดียวกันว่า กลุ่มผู้ที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น “ทางรัฐ” ที่ไม่ใช่กลุ่มผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปนั้น อาจมีการทำ Sandbox เพื่อตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของระบบให้มั่นใจ และดูกรอบเวลา คือไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า จะพิจารณาอีกที

ส่วนกลุ่มที่ตกหล่นจากเฟสแรก กรมบัญชีกลาง ได้สั่งจ่ายเงินในรอบการจ่ายเงินซ้ำ ให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ ที่มีสิทธิจำนวน 414,908 ราย แต่โอนเงินไม่สำเร็จ 64,892 ราย เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ คนพิการ จ่ายเงินไม่สำเร็จจำนวน 5,052 ราย และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จ่ายเงินไม่สำเร็จจำนวน 59,840 ราย สาเหตุหลักเนื่องจากยังไม่ได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขประจำตัวประชาชน บัญชีไม่มีการเคลื่อนไหว บัญชีเงินฝากธนาคารถูกปิด และเลขบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ถูกต้อง

การแจกเงินหมื่นที่ขยักขย่อน หากรวมเฟสแรกและเฟสสอง ตกประมาณ 18 ล้านคน หรือไม่ถึงครึ่ง จากเป้าที่พรรคเพื่อไทย คุยไว้ตอนหาเสียงว่าจะแจกประมาณ 45 ล้านคนเป็นอย่างน้อย เพื่อก่อให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี  “นายนิพนธ์ บุญญามณี”  อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ความเห็นเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า เป็นการแจกที่ใกล้กับการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น (อบจ.) ทั่วประเทศ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดังนั้น แทนที่จะเป็นนโยบายเพื่อช่วยผู้สูงอายุ กลับกลายเป็นนโยบายที่มุ่งสร้างอานิสงส์ทางการเมือง ทำให้ผู้สมัครในนามพรรครัฐบาลหรือมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลย่อมได้รับผลประโยชน์จากเรื่องนี้อย่างชัดเจน ขณะที่คู่แข่งกลับไม่มีทรัพยากรในระดับเดียวกันที่จะสร้างความได้เปรียบเช่นนี้

ที่สำคัญคือ จนถึงขณะนี้ รัฐบาลยังไม่มีคำตอบว่าผลกระทบเชิงบวกที่ชัดเจนต่อเศรษฐกิจคืออะไร และที่สำคัญที่สุดคือ รัฐบาลจะเอาเงินจากไหนมาใช้หนี้จำนวนมหาศาลที่กู้มาแจก

อีกเรื่องนอกจากการแจกเงินหมื่นแล้ว มติคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจนัดแรก ยังเคาะ  “การพักหนี้”  ที่รอคอยกันมานานอีกด้วย นั่นคือ การพักหนี้บ้าน หนี้รถ และหนี้เพื่อการบริโภค ซึ่งเป็นก้อนหนี้ที่ทำให้  “เศรษฐกิจครอบครัว” ฝืดเคืองชักหน้าไม่ถึงหลัง โดยเฉพาะหนี้บ้าน หนี้รถ ถือเป็นหนี้ก้อนใหญ่ระยะยาวที่ฉุดกำลังซื้อครัวเรือน

ตามหลักการแก้หนี้ครัวเรือน รวมทั้งหนี้กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนั้น พิชัย ให้รายละเอียดว่า รัฐบาลได้พูดคุยหารือร่วมกับธนาคารพาณิชย์ และธนาคารของรัฐ ได้ข้อสรุปว่า กระทรวงการคลัง จะสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนในกลุ่มที่มีปัญหาไม่เกินหนึ่งปี ซึ่งมองว่าเป็นกลุ่มที่อยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว หากปรับโครงสร้างหนี้แล้ว กลุ่มนี้จะเป็นกำลังหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

สำหรับหนี้ในสามกลุ่มหลัก คือ บ้าน รถ และการบริโภค รวมมูลหนี้ประมาณ 1.2 – 1.3 ล้านล้านบาท จะลดภาระโดยพักชำระดอกเบี้ย เป็นเวลา 3 ปี ทำให้สามารถนำเงินไปบริโภคได้มากขึ้น หรือใช้ลงทุนมากขึ้น และหากลูกหนี้มีวินัย มีระยะการผ่อนยาว 5-10 ปี ก็จะได้ลดดอกเบี้ยไปเลย แต่ถ้าลูกหนี้ปฏิบัติไม่ดีในหลักการก็ต้องรับภาระดอกเบี้ยต่อไป รายละเอียดทั้งหมดจะสรุปในเร็วๆ นี้

อีกกลุ่มสำคัญที่คณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เคาะให้ความช่วยเหลือ คือ ชาวนา โดยเห็นชอบในหลักการโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งกระทรวงการคลัง จะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ไม่เป็นภาระต่องบประมาณในระยะยาว โดยเงื่อนไขรายละเอียดจะประกาศอีกครั้ง

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อธิบายว่า เหตุที่ต้องหยิบยกโครงการจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาทขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่ากลุ่มเกษตรกรจัดอยู่ในกลุ่มเปราะบาง แม้ราคาพืชผลจะปรับตัวดีขึ้น แต่เกษตรกรหลายครอบครัวยังมีภาระหนี้อีกมาก

โครงการช่วยเหลือชาวนารอบนี้ ทั้งเรื่องที่คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต ที่ประชุมเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 มีมติสนับสนุนค่าเก็บเกี่ยวข้าว อัตราช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ วงเงิน 27,550 ล้านบาท และเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เห็นชอบในหลักการช่วยเหลือเกษตรกรผ่านโครงการเงินช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท สร้างความสับสนให้กับชาวนาอยู่ไม่น้อย

ฟังชัดๆ จาก  นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งหารือกับ พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาข้อสรุปก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2567 และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นลำดับถัดไปนั้น ระบุว่า สรุปจะเสนอค่าสนับสนุนค่าเกี่ยวข้าว อัตราช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 10 ไร่ วงเงินงบประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท

ความที่ประชานิยมเฟสสอง ไม่ว่าจะเป็นพักชำระดอกเบี้ยของหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้เพื่อการบริโภค และการแจกเงินช่วยชาวนาที่ยังรอรายละเอียดและข้อสรุปสุดท้ายผ่านมติคณะรัฐมนตรี ทำให้พรรคฝ่ายค้านออกมาตั้งคำถามในทำนองที่ว่า “รัฐบาลอิ๊งค์” ผ่านมาแล้ว 2 เดือน นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจยังไร้ความชัดเจน

 ศิริกัญญา ตันสกุล  สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ตั้งข้อสังเกตว่าการแจกเงินหมื่นรอบที่ 2 (ยังไม่เป็น Digital Wallet) กับคนอายุ 60 ปีขึ้นไป 3-4 ล้านคน โดยจะแจกประมาณต้นปีหน้า ช่วงตรุษจีน ยังไม่ชัดว่าแจกวันที่เท่าไหร่ และลงทะเบียนเพิ่มเมื่อไหร่

ส่วนปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบ้าน กลุ่มรถยนต์ และกลุ่มหนี้บริโภค ที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ไม่เกิน 1 ปี วงเงินหนี้ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท จะได้รับพักชำระดอกเบี้ยค้างจ่าย รายละเอียดยังไม่ชัดต้องรอหลังวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567

สำหรับโครงการไร่ละพันก็มา (ปกติต้องเป็นคณะกรรมการนโยบายข้าว หรือ นบข. เป็นคนเคาะ) แต่จะปรับรายละเอียดอีก เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณในระยะยาว ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะปรับเปลี่ยนอะไรอีก

รองหัวหน้าพรรคประชาชน ยังมองว่า แค่เปลี่ยนนายกฯ เหมือนการตั้งรัฐบาลใหม่ เหมือนไม่เคยคิดเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจกันมาก่อนเลยต้องเริ่มต้นใหม่ ต้องใช้เวลาถึง 1 เดือน หรือว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3/2567 ที่สภาพัฒน์ เพิ่งประกาศออกมาว่าจีดีพีเติบโต 3% ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ อาจทำให้รัฐบาลไม่รีบร้อน รู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วก็ได้หรือไม่

แต่หากเจาะใส้ในจะพบว่าเศรษฐกิจที่เติบโตดีมาจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ทั้งส่วนรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำ บวกกับการส่งออกกลับมาดี การท่องเที่ยวเติบโตดี แต่ส่วนที่เป็นปัญหาคือ การลงทุนภาคเอกชนที่ยังหดตัวสองไตรมาสติดต่อกันจากหมวดรถยนต์และหมวดก่อสร้าง สอดคล้องกับยอดขายรถกระบะเชิงพาณิชย์ที่หดตัวลง และยอดขายบ้านที่ลดลงจากความเข้มงวดปล่อยสินเชื่อของแบงก์ โยงกลับไปที่ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลมีโครงการปรับโครงสร้างหนี้คนที่เป็น NPL ที่ต้องรอดูว่ามาถูกทางหรือไม่

ศิริกัญญา มองว่า การปรับโครงสร้างหนี้จะช่วยให้ยอดเอ็นพีแอลลดลง ทำให้แบงก์ตั้งสำรองลดลง แบงก์มีกำไรเพิ่ม แต่แบงก์จะปล่อยกู้เพิ่มไหม ไม่แน่ เพราะสาเหตุที่แบงก์ไม่ปล่อยกู้เนื่องจากความเสี่ยงของลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่พอจ่ายหนี้ วิธีที่จะแก้ปัญหานี้ คือต้องทำให้รายได้ประชาชน รายได้ผู้ประกอบการดีขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงฝั่งลูกหนี้ จะหวังแค่ว่าให้ GDP โตอย่างเดียวไม่ได้ ประชาชนต้องมีเงินมากขึ้นด้วย

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 3/2567 ของ   ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3% ส่วน 9 เดือนของปีนี้ ขยายตัวได้ 2.3% โดยมาจากการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวได้ครั้งแรกในรอบ 6 เดือน การส่งออกสินค้า และบริการ และการอุปโภคภาครัฐขยายตัวในเกณฑ์สูง ถือเป็นข่าวดีที่ “รัฐบาลอิ๊งค์” เอาไปโฆษณาหาเสียงได้ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังดีวันดีคืน

เลขาธิการสภาพัฒน์ ให้ตัวเลขว่า การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ 3.4% การใช้จ่ายในภาคบริการขยายตัวได้ 6.5% สาขาก่อสร้างขยายตัวได้ 15.5% การส่งออกสินค้า และบริการขยายตัว 10.5% ส่วนการนำเข้าสินค้าและบริการขยายตัวได้ 9.6%

สำหรับรายได้ของการท่องเที่ยวในปี 2567 คาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ 1.5 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้นในปีต่อไป

ส่วนอัตราว่างงานอยู่ที่ 1.02% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.6% ดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 2.0 พันล้านดอลลาร์ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 2.43 แสนล้านดอลลาร์ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 อยู่ที่ 11.63 ล้านล้านบาท 63.3% ของจีดีพี ถือว่าสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีลดลง

สศช.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ 2.6% ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวได้ 1.9% และในปี 2568 จะขยายตัวได้ ในกรอบ 2.3 - 3.3% มีค่ากลางที่ 2.8% โดยมีแรงหนุนจากการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ แต่ต้องจับตานโยบายสหรัฐฯ หลังชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

สภาพพัฒน์ ชี้แนะว่า ปี 2568 การบริหารเศรษฐกิจ ต้องให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการส่งออกให้ขยายตัวต่อเนื่อง การเตรียมความพร้อมรับมือกับการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาด การขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน เร่งรัดการลงทุนในภาคก่อสร้าง เร่งรัดการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมาย ดูแลภาคเกษตร ช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีปัญหาสภาพคล่องและแก้ไขปัญหาหนี้สิน

ก่อนหน้านี้ พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดกว่าจะขยายตัวที่ 2.7% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.2% ถึง 3.2%) คงเดิมจากประมาณการครั้งก่อน

ขณะที่ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปั่นตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้มีโอกาสขยายตัวใกล้เคียงกับ 3% และปีหน้าอยากเห็นไม่ต่ำกว่า 3.5%

 ไม่ว่าจะตีโป่งกระตุ้นเศรษฐกิจและคาดการณ์จีดีพีเติบโตสักเท่าใด ของจริงต้องดูว่าเงินในกระเป๋าของประชาชนมีสักกี่มากน้อย เงินหมื่นที่รัฐบาลแจกให้มาเอาไปจับจ่ายใช้สอย ก่อพายุหมุนเศรษฐกิจ หรือเอาไปใช้หนี้หมุนวนไปไม่จบสิ้นกันแน่? 



กำลังโหลดความคิดเห็น