ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นับเป็นเรื่องที่สั่นสะเทือนวงการไม่น้อย สำหรับข่าวร่ำลือถึงการหลบลี้หนีหายของ “หมอบุญ” - นพ.บุญ วนาสิน ผู้ก่อตั้งอาณาจักรธนบุรีกรุ๊ป และเวลานี้นักลงทุนที่หวั่นว่าถูกหลอกได้ทยอยแจ้งความดำเนินคดี โดยเคสที่ช็อกสังคมสุดคืออดีตลูกสะใภ้ของ “หมอบุญ” ที่ว่าถูกปลอมแปลงลายเซ็นไปกู้หนี้ยืมสินถึง 8,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
จะว่าไปชื่อชั้นของ “หมอบุญ” ผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลธนบุรี และประธานกรรมการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของโรงพยาบาลธนบุรี เป็นโรงพยาบาลเอกชนทั้งประเทศไทย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดรวม 7 แห่ง ถือว่า “ไม่ธรรมดา” ไม่เพียงแต่ปลุกปั้นอาณาจักรธุรกิจให้เติบใหญ่สู่ระดับหมื่นล้าน ถือเป็นกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลในระดับแถวหน้าของประเทศเท่านั้น ในช่วงโรคโควิด-19 แพร่ระบาด “หมอบุญ” ยังมีเรื่องไฝว้กับรัฐบาลเรื่องนำเข้าวัคซีน
เรื่องราวคราวนั้น ทำให้ “หมอบุญ” มีคดีค้างอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในความผิดฐานให้ข้อมูลมีผลต่อราคาหุ้น จากการให้ข่าวจะนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และถูก ก.ล.ต.ลงโทษปรับ 2.34 ล้านบาท แต่ค่าปรับที่ถือว่าจิ๊บ ๆ แค่นี้ “หมอบุญ” กลับไม่ยอมจ่าย ก.ล.ต.จึงส่งเรื่องให้อัยการฟ้องบังคับคดีทางแพ่ง
ผลแห่งคดี ทำให้ “หมอบุญ” พ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท และปัจจุบันไม่มีตำแหน่งใดๆ ในบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG และอำนาจบอร์ด THG ในเวลานี้คุมโดย “กลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหง” หรือ RAM ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งใน THG
เมื่อ “หมอบุญ” ไม่มีตำแหน่งใดๆ ใน THG ทำให้ธุรกรรมต่าง ๆ ที่หมอบุญ เคยทำไว้ระหว่าง THG กับบริษัทย่อยที่เป็นธุรกิจของ “ครอบครัวหมอบุญ” ถูกขุดขึ้นมาและกำลังตามไล่ล่า จนเป็นเหตุให้ “หมอบุญ” จำเป็นต้องหนีในเวลานี้ ใช่หรือไม่ ยังเป็นคำถามที่รอคำตอบที่ชัดเจน
คงจำกันได้ว่า เมื่อไม่นานมานี้ “หมอบุญ” มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกรรมอำพรางตามที่บอร์ด THG โดยกลุ่ม RAM แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ว่าพบความผิดปกติของธุรกรรมการกู้ยืมเงิน และการสั่งสินค้าของบริษัทย่อย 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด (THB) ซึ่ง THG ถือหุ้นอยู่ 83.03% และบริษัท ที เอช เฮลท์ จำกัด (THH) ซึ่ง THG ถือหุ้นอยู่ 51.22%
พฤติการณ์น่าสงสัยคือ
หนึ่ง ทั้ง THB และ THH ได้ปล่อยกู้เงินกับบริษัท บริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด (RTD) ซึ่งมี “ครอบครัววนาสิน” เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ถึงปี 2566 ทั้งหมด 6 รายการ เป็นเงินจำนวนทั้งหมด 145 ล้านบาท
สอง THB ให้กู้ยืมเงินแก่บริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด (TMG) ซึ่งเป็นบริษัทที่ RTD เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 1 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวมทั้งหมด 10 ล้านบาท
และ สาม THH สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์ แต่ไม่ได้มีการรับมอบสินค้าจริง ในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 2 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวมทั้งสิ้น 55 ล้านบาท รวมธุรกรรมน่าสงสัยทั้งหมด 210 ล้านบาท
นั่นเป็นแค่หนังตัวอย่างที่ค้นพบและบริษัท THG แจ้งต่อ ตลท. เพื่อติดตามตรวจสอบ โดยไม่มีใครรู้ว่าลึกลงไปกว่านั้นในขณะที่หมอบุญ ทุ่มลงทุนขยายธุรกิจมากมายในช่วงที่นั่งเป็นประธานกรรมการ THG นั้น ได้ไปก่อหนี้ยืมสิน หรือทำธุรกรรมอำพรางอะไรไว้อีกสักกี่มากน้อย
แต่อย่างไรก็ดี มีกระแสข่าวว่า หมอบุญ มีหนี้สินส่วนตัวและหนี้สินที่เกี่ยวพันกับ THG ทั้งในระบบและนอกระบบรวมกันสูงกว่า 7,000 ล้านบาท โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง และโครงการ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ ย่านรังสิต ปทุมธานี ซึ่งเป็น Wellness Center ครบวงจร ขณะที่หมอบุญ โต้กลับว่าเป็นเรื่องที่คนไม่รู้จริงพูดกันไป
กระทั่ง เมื่อ “สนธิเล่าเรื่อง ” โดย สนธิ ลิ้มทองกุล ออกมาเปิดเผยว่าหลังก่อวีกรรมตอนนี้หมอบุญไม่อยู่ในประเทศได้สักพักแล้ว และไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหน อาจเพราะคงรู้ตัวกำลังจะถูกดำเนินคดีในข้อหาฐานฉ้อโกง ซึ่งหนึ่งในผู้เสียหายที่มียอดสูงถึง 8,000 ล้านบาท เป็นอดีตลูกสะใภ้ของหมอบุญ นามสกุลเดิม กุญชร ปัจจุบันหย่าร้างกับลูกชายหมอบุญเมื่อเดือนกันยายน 2566
เธอเล่าว่า ถูกทวงหนี้ มีหมายศาล หมายเรียกจากตำรวจ เพราะปรากฏลายมือชื่อของเธอเซ็นในเอกสารหุ้นกู้และสัญญาต่าง ๆ โดยกล่าวหาว่า หมอบุญ เอาไปทำธุรกรรม โดยที่เธอไม่รู้เรื่อง ไม่เคยลงนามใดๆ
และอาจไม่ใช่เพียงแค่เธอ แต่คงมีผู้เสียหายอีกหลายรายที่ยังไม่กล้าเปิดเผยตัว
ขณะเดียวกัน “อี้” - แทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานชมรมสันติประชาธรรม ออกมาเปิดเผยเช่นเดียวกันว่า ได้รับการร้องเรียนจากผู้เสียหายกว่า 30 ราย กรณีนายแพทย์เจ้าของโรงพยาบาลชื่อดังหลอกให้ลงทุน คาดว่ามูลค่าความเสียหายกว่าพันล้านบาท โดยนายแพทย์เจ้าของโรงพยาบาลอ้างว่า จะนำเงินมาลงทุนศูนย์สุขภาพครบวงจร หรือ Wellness Center
อี้ - แทนคุณ บอกว่า จากข้อมูลที่ได้มาหลายคนก็ไปดำเนินคดี มีคนไปแจ้งความไว้แล้ว ที่ สน.ห้วยขวาง บริษัทก็พยายามเจรจาไกล่เกลี่ย ตอนนี้เข้าใจว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ หากเจ้าหน้าที่ตำรวจพบเป็นการเข้าข่ายการฉ้อโกงประชาชนด้วยหรือไม่ ก็อาจต้องดำเนินคดีต่อไป ส่วนจะลุกลามไปยังองค์กรต่างๆ ของนายแพทย์คนดังกล่าวด้วยหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ยากจะคาดคิด แต่อยากให้ตรวจสอบ เพราะคนที่มาร้องเรียน มีเคสหนึ่งที่เครียดจัดจนต้องเข้าโรงพยาบาล เนื่องจากเอาเงินเก็บแม่มาลงทุนไป 50 กว่าล้าน
จริงเท็จแค่ไหน ต้องรอฟังความอีกด้านจากปากหมอบุญว่า ที่อดีตลูกสะใภ้ และผู้เสียหายคนอื่นตามที่ “อี้ - แทนคุณ” ออกมากล่าวหานั้นจริงหรือไม่จริงอย่างไร เพราะตอนนี้ยังต้องถือว่าหมอบุญเป็นผู้บริสุทธิ์ ตราบใดที่ยังไม่มีคดีความขึ้นสู่ศาลและศาลมีคำตัดสินเป็นที่สุด
อย่างไรก็ดี แม้จะมีข่าววุ่น ๆ ของกลุ่ม THG แต่ราคาหุ้นของ THG ก็รีบาวน์ตามภาวะตลาด ขณะที่โบรกเกอร์แนะนำให้หลีกเลี่ยง เพราะรายได้และกำไรยังผันผวน ตามที่ วทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ เผยผ่านสื่อว่า หุ้น THG ยังมีความเสี่ยง และค่อนข้างเหวี่ยง บางครั้งกำไร บางครั้งขาดทุน สะท้อนว่าการบริหารภายในไม่ค่อยจะดี อย่างเช่น กำไรขั้นต้น ไตรมาส 4/66 ลดลงเหลือประมาณ 96 ล้านบาท จากไตรมาส 4/65 กำไรขั้นต้นอยู่ที่ 600 กว่าล้านบาท ความผันผวนมากสะท้อนว่าบริษัทมีการควบคุมต้นทุนได้ไม่ค่อยดี
ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 3/2567 ขาดทุน 350 ล้านบาท เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลอื่นที่ไม่ขาดทุน ส่วนรายได้ของ THG นอกจากไม่เติบโตแล้วยังลดลง โดยไตรมาส 3/2566 รายได้อยู่ที่ 2,700 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 3/2567 รายได้อยู่ที่ 2,500 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) (BH) บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด(มหาชน) (BDMS) ที่มีรายได้มีการเติบโตต่อเนื่อง
ณฐรักษ์ แสนชุ่ม รักษาการประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงสาเหตุที่รายได้รวมลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนว่ามาจากรายได้ของโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ที่ปรับตัวลดลง 51% ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน และเศรษฐกิจการเมืองภายในประเทศ การตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจากการให้บริการ UCEP COVID จำนวน 284 ล้านบาท เป็นต้น
ณ เวลานี้ “หมอบุญ” ยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัททั้งนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ และในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมแล้ว 27 แห่ง มูลค่านับหมื่นล้านบาท เช่น บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG หมอบุญ ถือหุ้นลำดับที่ 17 จำนวน 5,801,848 หุ้น สัดส่วน 0.68%
ส่วนบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ เช่น บริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด, บริษัท ธนบุรี คานาบิซ จำกัด (มหาชน), บริษัท สยาม แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด, บริษัท อ๊อกซิเจนภาคใต้ จำกัด, บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด, บริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด, บริษัท ธนบุรี เวลบีอิ้ง จำกัด, บริษัท ราชธานี แอสโซซิเอส จำกัด เป็นต้น
ความคิดใหญ่ทำใหญ่ เป็นเหตุให้ “หมอบุญ” ต้องเผชิญข่าวคราวหลอกนักลงทุนและมีหนี้รุงรัง ซึ่งผู้เสียหายต่างเฝ้ารอคำตอบ และในบั้นปลายชีวิต สังคมคงไม่อยากเห็นภาพ “หมอบุญ คนบาป”