เกิดการชุมนุมครั้งใหญ่ที่หน้ารัฐสภา ประเทศนิวซีแลนด์ ดินแดนที่ผู้คนชื่นชมในภูมิประเทศที่สวยงามร่มรื่น สุขสงบไม่มีสงคราม รวมทั้งภูมิอากาศที่พอดิบพอดีไม่หนาวเกินไปร้อนเกินไป และที่สำคัญคือ มีสภาพอากาศที่ดีที่สุดในโลกปราศจากควันพิษหรือไฟป่ารุนแรงแบบประเทศในเขตอากาศอบอุ่นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นยุโรปหรือสหรัฐฯ
เป็นการชุมนุมที่มีการเตรียมการค่อนข้างพร้อมเพรียง โดยชาวเมารี ทั้งที่เป็นชนพื้นเมืองเจ้าของเกาะนิวซีแลนด์ตัวจริงที่ครอบครองเกาะนี้มาเป็นพันปี รวมทั้งเหล่าลูกหลานเหลนชาวเมารีทั้งที่เป็นเชื้อสายเมารีบริสุทธิ์หรือเชื้อสายที่เป็นลูกครึ่งเมารี และผสมกับชาวผิวขาวที่เข้ามารุกรานครอบครองเกาะแห่งนี้เมื่อ 200 ปีที่ผ่านมานี้เอง
ชาวโลกยังจำภาพอดีตนายกฯ หญิง (ที่เข้ารับตำแหน่งด้วยอายุ 30 ต้นๆ) คือ จาซินดา อาร์เดิร์น ที่มาจากพรรคแรงงาน และเธอมักสวมเสื้อคลุมเป็นปีกขนนกสวยงามมาก ซึ่งเป็นเสื้อคลุมที่เธอได้รับมอบจากหัวหน้าเผ่าเมารีในฐานะนายกฯ ของนิวซีแลนด์ ซึ่งจาซินดาภูมิใจมาก โดยเธอจะนำเสื้อคลุมแสดงฐานะผู้นำของเผ่าเมารีคนหนึ่งไปในพิธีสำคัญๆ ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปราศรัยที่องค์การสหประชาชาติ หรือในการประชุมประเทศในเครือจักรภพอังกฤษ และในการร่วมประชุมกับประมุขอังกฤษคือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ทั้งนี้ เพราะพรรคแรงงานของนิวซีแลนด์จะให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมกันในการบริหารประเทศ (Inclusiveness) ซึ่งต้องเปิดโอกาสให้แก่ชนพื้นเมืองเจ้าของประเทศได้มีโอกาสในการศึกษาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน, การสาธารณสุข ตลอดจนโอกาสทางการเมือง
นายกฯ จาซินดา ได้เผชิญกับมรสุมใหญ่มากด้านโควิดที่เธอได้ปิดประเทศก่อนใครๆ รวมทั้งควันหลงจากการก่อการร้ายซึ่งเธอก็ได้จัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อมัสยิดของชาวมุสลิมถูกกราดยิง จนมีผู้เสียชีวิตซึ่งเธอก็ได้พยายามป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านั้นอีก ด้วยกฎหมายอาวุธปืนซึ่งทำให้นิวซีแลนด์ยังรักษาความเป็นประเทศที่สุขสงบและโปร่งใสที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง
แต่เธอก็ถูกกดดันและขู่ฆ่าจากฝ่ายขวาสุดหัวรุนแรง จนทำให้เธอได้ลาออกเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยและครอบครัวของเธอ
โดยรองนายกฯ ของเธอได้ขึ้นมาบริหารประเทศต่อ...แต่ก็กลับพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไป...จนพลิกทำให้เกิดรัฐบาลฝ่ายขวากลางขึ้นมาเป็นรัฐบาลผสมเมื่อปลายปีที่แล้วนี้เอง
รัฐบาลใหม่คือ รัฐบาลปัจจุบันเป็นรัฐบาลผสมขวากลาง และน่าจะเห็นคลื่นของโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังคืนสู่อำนาจ ทำให้หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลผสมได้เสนอร่างกฎหมายเข้าสภาฯ เมื่อ 14 พ.ย.นี้เอง เพื่อขอให้มีการตีความใหม่ต่อข้อตกลงที่ได้ทำขึ้นเมื่อ 184 ปีที่แล้ว ระหว่างผู้บุกรุกชาวอังกฤษ (ผิวขาว) ที่เข้ามายึดครองดินแดนของเมารี กับเหล่าหัวหน้าเมารีถึง 500 คน (หัวหน้ากลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่เป็นชนพื้นเมืองอยู่บน 2 เกาะใหญ่ของนิวซีแลนด์)
ข้อตกลงนี้ได้มีการยอมรับสิทธิในการปกครองตนเอง, ในดินแดนที่ดินของชนพื้นเมือง รวมทั้งสิทธิในการตั้งบ้านเรือนของชาวเมารีเพื่ออยู่อย่างสงบสุขทั้งสองฝ่าย
การหลั่งไหลเข้ามาตั้งรกรากของชาวอังกฤษ ทำให้นิวซีแลนด์กลายเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษเรื่อยมา พร้อมกับการกลืนกินชาวเมารี ไม่ว่าในด้านศาสนา, ภาษา, วัฒนธรรม ตลอดจนการนำเด็กๆ เมารีเข้าไปฝึกอบรมในโบสถ์คริสต์ เพื่อให้ลืมวัฒนธรรมของตนเอง และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกรูปแบบ... จนไม่นานมานี้เองที่เกิดการตื่นตัวฟื้นคืนภาษา,ศิลปวัฒนธรรมของชาวเมารีกลับมาอีกครั้ง
ตลอด 200 ปีที่ผ่านมา ชาวเมารีถูกทอดทิ้งโดยเฉพาะด้านการมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรแหล่งทุน และยังถูกลิดรอนในด้านที่ดินจนแทบจะไม่มีแผ่นดินเป็นของตนเอง ซึ่งในรัฐบาลพรรคแรงงานโดยเฉพาะสมัยของนายกฯ จาซินดา ก็จะมีโอกาสได้เพิ่มขึ้น
เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันคือพรรค ACT โดยเดวิด เซมัว ได้นำร่างกฎหมายเสนอให้มีการตีความข้อตกลงนี้ใหม่ เพื่อไม่ให้ยอมรับว่าชาวเมารีมีข้อตกลงในการปกครองตนเอง…เพื่อให้ชาวนิวซีแลนด์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน
อาจฟังดูเผินๆ ว่าดี แต่ชาวเมารีไม่เคยได้รับความเป็นธรรมมาตลอด 200 ปี แม้มีข้อตกลงนี้อยู่... ถ้าตีความใหม่ก็ยิ่งจะทำให้ชาวเมารียิ่งลดสิทธิอันมีอยู่น้อยนิดให้ต้องต่ำต้อยลงไปอีกนั่นเอง
จึงมีการรณรงค์ในหมู่ชาวเมารีที่มีอยู่เกือบ 1 ล้านคน (ประมาณ 20% ของประชากร 5.3 ล้านคน) ให้เดินรณรงค์จากเหนือสุดมายังเมืองหลวงเพื่อคัดค้านร่างกฎหมายนี้
ทั้งชาวเมารีและลูกผสมเมารีเป็นตัวแทนถึง 5 หมื่นคน เดินเท้าประท้วงอย่างสงบเป็นเวลา 9 วัน (ระยะทาง 1,000 กิโลเมตร) มาที่หน้าสภาฯ…ขณะที่ในสภาฯ...มี สส.เมารีอยู่ 6 คนได้โห่ร้องเพลงประจำชาติเมารีลั่นกลองรบในสภาฯ พร้อมฉีกร่างกฎหมายที่จะลดค่าของชาวเมารี...กลางสภาฯ ทีเดียว
นายกฯ ต้องออกมายอมรับว่า ร่างกฎหมายนี้คงไม่ผ่านสภาฯ ในวาระที่ 2 แน่ๆ เพราะมีอดีตนายกฯ และกลุ่มชาวนิวซีแลนด์ต่างออกมาคัดค้านกันมากมาย...แต่ก็ต้องยอมให้พรรคร่วมรัฐบาลนำเข้าสภาฯ เพื่อผ่านวาระแรก และอภิปรายในวาระ 2 ได้เท่านั้น
ชาวเมารีไม่อดทนต่อไป คงไม่ใช่ “คลั่งชาติ” แต่เป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิอันชอบธรรมของตนเองที่จะพิทักษ์ความเป็นเจ้าของแผ่นดินดั้งเดิมแต่ถูกรุกรานครอบครอง
ยิ่งถ้าเห็นตัวอย่างของชาวปาเลสไตน์ถูกแย่งชิงครอบครองดินแดนจากอิสราเอล (ด้วยความเห็นชอบของประเทศมหาอำนาจ)...หรือชาวอินเดียนแดงในสหรัฐฯ ที่กำลังสูญพันธุ์จากการไล่ล่าและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตลอด 200 ปีที่ผ่านมา ชาวเมารียอมสู้ตายเพื่อปกป้องสิทธิอันน้อยนิดที่ตนเองยังพอมีเหลืออยู่ในดินแดนของตนนั่นเอง