xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ลูกพี่ “โจ๊ก” รับประทาน “แห้ว” ลูกน้อง “ตั้ม-นุ-สารินี” จำนนต่อหลักฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรื่องราวของ “โจ๊กกะตั้ม” นับวันจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพราะยิ่งนานวันยิ่งเห็นว่า โอกาสที่ “สู้กลับ” และรอดบ่วงคดีตีบตันลงไปเป็นลำดับ

กรณี “ลูกพี่โจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้น หลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งให้ออกจากราชการ แม้จะยังไม่เป็นที่สรุปชัดแจ้งจากศาลปกครองสูงสุดที่ประชุมใหญ่เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่าจะ “รอด” หรือ “ไม่รอด” แต่จับยามสามตาดูแล้ว ออกอาการ “ร่อแร่” และรับประทาน “แห้ว” อย่างแน่นอน
ส่วน “น้องตั้ม-ษิทรา เบี้ยบังเกิด” นั้น อาการหนักเสียยิ่งกว่า เมื่อมีการเปิดหลักฐานมัดตัวชนิดดิ้นไม่หลุด โดยนอกจากคดีหลักเรื่องเงิน 71 ล้านบาทของ น.ส.จตุพร อุบลเลิศ หรือพี่อ้อยแล้ว คดีที่สำคัญไม่แพ้กันคือคดีฉ้อโกงเงิน 39 ล้านบาทที่ไปโยงใยกับ “2 ลูกน้องคนสนิท” คือ “นายนุวัฒน์ ยงยุทธ” หรือ “นุ” และ “น.ส.สารินี นุชนารถ” หรือ “แซน” แฟนสาวของนายนุ

และทั้งสองคนถูกรวบตัวตามหมายจับศาลอาญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับคดี 71 ล้านบาทนั้น แรกเริ่มทางฝ่าย “ทนายตั้มอ้าง” ว่า เป็นเงินที่ “พี่อ้อย” โอนให้มาโดยเสน่หา แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นอ้างว่าเป็น “เงินกู้ยืมเพื่อการลงทุน” ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นให้เป็นคดีแพ่ง หรือไม่ อย่างไร

ประเด็นนี้ “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ที่ถือว่าเป็นคน “วงใน” ในฝั่งของ “พี่อ้อย” อธิบายว่า ทางฝ่ายทนายตั้มอ้างว่ามีแชตเป็นหลักฐานว่า “พี่อ้อย” ได้ให้เงินทนายตั้มมาลงทุน ทว่า ในความเป็นจริงแชตดังกล่าวเป็นการพูดคุยระหว่างทนายตั้มกับ “พี่น้อย” ซึ่งเป็นเลขาฯ โดยทนายตั้มได้ร้องขอให้ “พี่น้อย” ไปเจรจากับ “พี่อ้อย” อีกขั้นหนึ่ง แสดงว่า “พี่อ้อย” ยังไม่เห็นด้วย

แชตดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28, 29 และ 30 มกราคม 2566 แต่หลังจากนั้น “พี่อ้อย” ได้ตกลงตามนั้นหรือไม่ และหากเป็นการให้กู้ยืมตามที่อ้าง ทนายตั้มในฐานะเป็นทนายความที่รู้กฎหมายจะต้องทำสัญญากู้ยืมให้ชัดเจน แต่กลับไม่ทำสัญญากู้ แสดงว่าไม่ใช่การกู้ยืม

รวมทั้งถ้าบอกว่าเป็นการลงทุนก็ต้องมีหลักฐานการจดทะเบียนหุ้นส่วน โดยที่อ้างว่าเป็นการลงทุนนั้น ตามแชตระบุว่าจะลงทุนทำแอปพลิเกชันหวยออนไลน์ โดยทนายตั้มอวดอ้างว่าตนเองมีเส้นสายรับทำสัมปทานหวยออนไลน์ได้

หลังจากมีแชตดังกล่าวแล้ว “พี่อ้อย” ได้เดินทางจากฝรั่งเศสมาไทย ช่วงวันที่ 2-8 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อเซ็นสัญญากับบริษัททำแอปพลิเกชันหวยออนไลน์

ปานเทพแจกแจงด้วยว่า สัญญาที่ทำขึ้นระหว่างบริษัททำแอปพลิเกชัน กับ “พี่อ้อย” ในฐานะผู้ว่าจ้าง ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 แต่เซ็นจริงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งแสดงว่าทรัพย์สินนี้เป็นของ “พี่อ้อย” ไม่ใช่ของทนายตั้ม และเงินลงทุนก็เป็นของพี่อ้อย ไม่ใช่ของทนายตั้ม ดังนั้น ที่บอกว่าเป็นการให้ทนายตั้มกู้ยืมเงินเพื่อมาลงทุนจึงไม่ถูกต้อง

ข้อสำคัญสัญญานี้ทำการปรับปรุงแก้ไขโดยสำนักงานทนายความษิทรา ลอว์เฟิร์ม รวมทั้งตามสัญญาดังกล่าวระบุด้วยว่า “พี่อ้อย” ตกลงว่าจ้างในราคา 2 ล้านยูโร ตรงตามจำนวนเงินที่โอนให้ทนายตั้ม และไม่ใช่สัญญาที่ทำให้มาเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการโอนเงินจากต่างประเทศตามที่ฝ่ายทนายตั้มอ้าง เพราะเงินดังกล่าวเป็นเงินของพี่อ้อยเองสามารถโอนเงินมาไทยโดยไม่ต้องเสียภาษีได้ จ่ายเพียงแค่ค่าธรรมเนียม ที่ผ่านมา “พี่อ้อย” ก็เคยโอนเงินมาไทยหลายครั้งโดยไม่ต้องเสียภาษี บางครั้งโอนถึง 3 ล้านยูโร

ทั้งนี้ “พี่อ้อย” โอนเงิน 2 ล้านยูโร ให้ทนายตั้ม เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 เพราะทนายตั้มอ้างว่าเขาจะเป็นคนดำเนินการ เป็นคนติดต่อบริษัททำแอปฯ และติดต่อพี่อ้อย โดยไม่ให้ทั้งสองฝ่ายมาเจอกันโดยตรง ซึ่งฝ่ายพี่อ้อยหลงเชื่อว่าจะมีการเดินหน้าทำสลากออนไลน์ จึงโอนเงินให้
หลังจากนั้นเมื่อบริษัททำแอปฯ ไม่ได้เงิน ก็มีการทวงถาม ทนายตั้มก็บอกว่า “พี่อ้อย” ยกเลิกสัญญาแล้ว ซึ่งในความเป็นจริง “พี่อ้อย” ยังไม่ได้ยกเลิก แต่เมื่อบริษัทไม่รู้ว่ามีการจ่ายเงินมาแล้วก็เลยยุติสัญญา

จากนั้นในช่วงปลายปี 2566 ทนายตั้มก็เริ่มคิดเรื่องภาษีจากเงิน 71 ล้านบาท จึงเจรจากับบริษัทผู้ผลิตแอปฯ ว่า ขอเอาเงินผ่านเงินสัก 70 ล้านบาทได้ไหม แต่ไม่มีความคืบหน้า จนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ใกล้ถึงรอบวงจ่ายภาษี ทนายตั้มเสนอว่าจะเอาเงินผ่านโดยไม่บอกว่าเป็นสัญญาเดิม แบ่งเป็น 3 ครั้ง ครั้งที่หนึ่ง 30 ล้านบาท ครั้งที่สอง 30 ล้านบาท และครั้งที่สาม 11 ล้านบาท และจะให้ค่าตอบแทน 10 ล้านบาท บริษัทผู้ผลิตแอปฯ เห็นว่ายอดใกล้ 71 ล้านบาท สงสัยจะฟอกเงิน จึงปฏิเสธไป ซึ่งมีหลักฐานเป็นบทสนทนา

นอกจากนั้น ทนายตั้มได้พยายามหาทางออกให้ตัวเอง ด้วยการอ้างว่าตนเองได้ว่าจ้างให้อีกบริษัททำแพลตฟอร์มหวยออนไลน์อีกตัวชื่อนาคี เหมือนกับแอปฯ ของบริษัทเดิมแต่มีโลโก้สีเขียว และบอกให้บริษัทนี้ส่งแอปฯ นาคีสีเขียวให้ “พี่อ้อย” แต่บริษัทปฏิเสธเพราะเป็นแอปฯ ของบริษัทอื่น

“กรณีการว่าจ้างออกแบบทำโรงแรม 9 ล้านบาท ซึ่งทนายตั้มรับเงินจากพี่อ้อยไป 9 ล้านบาท แต่มีการเปลี่ยนบริษัทออกแบบเป็นบริษัทอื่น ซึ่งคิดราคา 3.5 ล้านบาท และทนายตั้มก็เอาเงินส่วนต่างนั้นไว้กับตัวเอง ส่วนการซื้อรถเบนซ์ G400d ทางทนายตั้มได้ให้บริษัทผู้จำหน่ายออกใบเสร็จให้ 2 ใบ โดยใบเสร็จที่จ่ายจริงระบุราคา 11.4 ล้านบาท และให้ออกใบเสร็จอีกใบราคา 12.9 ล้านบาท เอาไปหลอกพี่อ้อยโอนเงินให้ เพื่อกินส่วนต่างไป 1.5 ล้านบาท ซึ่งวิธีการเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการให้ค่านายหน้าอย่างแน่นอน”ปานเทพอธิบาย

สำหรับคดี 39 ล้านบาทนั้น เหตุเกิดเมื่อ “พี่อ้อย” ซึ่งติดตามอินสตาแกรมดาราจีนคนหนึ่งชื่อเฉินคุณ ถูกหลอกว่า ถ้ามีการโอนเงินให้เฉินคุณแล้วจะเดินทางมาประเทศไทย โดยมีข้อแม้ว่า ต้องเป็น “บิทคอยน์” เท่านั้น

เมื่อนำเรื่องไปปรึกษา “ทนายตั้ม” ที่ ก็แนะนำ “นุ” ให้และบอกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเงินคริปโตฯ ซึ่งพี่อ้อยหลงเชื่อโอนเงินให้ “นุ” 2 ครั้งรวมประมาณ 2 ล้านบาท และนุก็อ้างว่าโอนเงินให้เฉินคุณเรียบร้อยแล้ว

ต่อมา “ทนายตั้ม” ได้ประสานไปยัง “พ.ต.อ.ภูวดล อุ่นโพธิ” ผู้กำกับการ(ผกก.) สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ที่มีความสนิทสนมกับทนายตั้มและ “ลูกพี่ใหญ่หวานเจี๊ยบ”เพื่ออำนวยความสะดวกให้ “สารินี” ลงบันทึกประจำวันว่า “สารินี” ได้โอนเงินที่ได้รับมาจากพี่อ้อยจำนวน 7 ครั้ง มูลค่า 2 ล้านบาท พร้อมระบุด้วยว่า “กระเป๋าเงินออนไลน์ได้ถูกระงับบัญชี ไม่สามารถเข้าถึงได้อีกเลย”

ทว่า ไม่ได้บอกว่า กระเป๋าเงินออนไลน์ที่ถูกระงับบัญชี ไม่สามารถเข้าถึงได้อีกเลยนั้น มีความเสียหายจำนวนเงินเท่าไหร่

หลังจากนั้น “นุ” กับ “สารินี” ก็ได้นำบันทึกประจำวันที่มีเนื้อหาเหมือนแจ้งความไปหาพี่อ้อย แล้วอ้างว่า ความจริงแล้วคนที่โอนเงินบิทคอยน์ให้ “พี่อ้อย” ไม่ใช่ “นุ” แต่เป็น “สารินี” และกระเป๋าเงินถูกดูดเงินไป 39 ล้านบาท ทำให้ “พี่อ้อย” เสียใจหลงเชื่อว่า ตนเองทำให้เดือดร้อนและเสียหาย จึงทำแคชเชียร์เช็คสั่งจ่ายให้ “สารินี” จำนวนเงิน 39 ล้านบาท ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2566

ต่อมา “นุ” กับ “สารินี” ได้ไปเบิกเงินสดที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว โดยมี “มี่” ซึ่งเป็นอดีตพนักงานธนาคาร เป็นผู้ประสานงานกับทางธนาคารให้ล่วงหน้า จึงได้รับรู้ว่าผู้ที่ฝากฝังการถอนเงินสดครั้งนี้คือ “ทนายตั้ม” ซึ่งได้ร้องขอธนบัตรใหม่ในการเบิกเงิน 39 ล้านบาทด้วย

เรื่องนี้มาโป๊ะแตก เพราะต่อมาพอเรื่องนี้เป็นข่าว ทางคณะทำงาน “พล.ต.อ.จักรภพ ภูริเดช” ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง ได้ทำการสืบสวนสอบสวนจึงพบความจริงว่า

1.ผู้ที่โอนเงินคริปโตฯ ให้พี่อ้อยคือ “นุ” ไม่ใช่ “สารินี” ตามที่มีการลงบันทึกประจำวันที่ สน.บางซื่อ

2. “นุ” ไม่เคยถูกระงับบัญชีใดๆ ทั้งสิ้น

3. “สารินี” ไม่เคยโอนเงินคริปโตฯ ให้พี่อ้อย 7 ครั้ง

เมื่อตำรวจพบความจริง จึงได้ออกหมายจับ “นุ” และ “สารินี” ตั้งแต่วันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน 2566 และเตรียมแจ้งข้อล่าวหาเพิ่มให้กับทนายตั้มด้วย

 และทั้งหมดนั้นคือเรื่องราวของ “ขบวนการหวานเจี๊ยบ” อันเกี่ยวเนื่องกับคดีฉ้อโกงและร่วมกันฟอกเงินที่ได้มาโดยมิชอบจาก “พี่อ้อย” ซึ่งสุดท้ายแล้ว บทสรุปจะจบลงอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป เพราะโดยกระบวนการยุติธรรมแล้ว บุคคลทั้งหมดที่กล่าวถึงยังคงเป็น “ผู้บริสุทธิ์” 


กำลังโหลดความคิดเห็น