xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“กรมที่ดิน” ตัดจบ “เขากระโดง” “คมนาคม” ไม่ยอมแพ้ขอทวงคืน “เพื่อไทย” เปิดศึก “ภูมิใจไทย” จริง หรือลับ ลวง พราง?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สังคมเริ่มตั้งคำถามดังอึงมี่แล้วว่า การที่ “กรมที่ดิน” ประกาศยุติเรื่องการออกโฉนดที่ดิน “เขากระโดง” จังหวัดบุรีรัมย์ โดยไม่จำเป็นต้องทำตามคำพิพากษาของศาล แล้ว “กระทรวงคมนาคม” โดย “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการะทรวงคมนาคม ออกมายืนยันว่าจะต่อสู้เพื่อทวงคืนที่ดินอันเป็นสิทธิของ “การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) พร้อมสั่งการให้ทำหนังสือคัดค้านไม่ให้เพิกถอนสิทธินั้น เป็นจริงเป็นจังสักแค่ไหน

แรกเริ่มเดิมทีมีการวิเคราะห์กันว่า นี่น่าจะเป็น “ศึกใหญ่ครั้งใหม่” ระหว่าง “ค่ายสีแดง-พรรคเพื่อไทย” กับ “ค่ายสีน้ำเงิน-พรรคภูมิใจไทย” เป็นแน่แท้ เพราะพิจารณาจากน้ำเสียงที่ส่งผ่านออกมาจากตัวละครทั้งสองฝ่าย เต็มไปด้วยความแข็งกร้าว

ด้วยเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนโดยทั่วไป ผู้ครอบครองที่ดินเขากระโดงนอกจากชาวบ้านจำนวนหนึ่งแล้วยังมีนักการเมืองตระกูลชิดชอบ เครือญาติในตระกูล “ชิดชอบ” ที่ดินบางแปลงดังกล่าวปัจจุบันเป็นที่ก่อตั้งสนามกีฬาฟุตบอลและสนามกีฬาแข่งรถของตระกูลชิดชอบ

ขณะที่เมื่อย้อนดูปมปัญหาความไม่ลงรอยกันของทั้งสองป้อมค่ายก็เห็นร่องรอยความขัดแย้งมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่ตกเป็นรองในเกมการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องกัญชา ทั้งเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งเรื่องการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่มี “มาตรา 112” เป็นเป้าหมาย

ดังนั้น เมื่อ “กรมที่ดิน” ซึ่งอยู่ภายใต้ “กระทรวงมหาดไทย” ที่มี “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” เป็นรัฐมนตรีว่าการควบหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มีพฤติกรรมอันต้องสงสัยในเรื่อง “เขากระโดง” และนายสุริยะ แห่งพรรคเพื่อไทยแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย จึงมีการตีความเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ศึกครั้งนี้คงจะใหญ่หลวงนัก

กระนั้นก็ดี เมื่อดู “น้ำเสียงและแววตา” ของนายสุริยะแบบละเอียด หลายคนก็สังเกตเห็นว่า มิได้แข็งกร้าวเหมือนกับถ้อยคำที่พูดออกมาแม้แต่น้อย และมีการตีความกันว่า หรืองานนี้จะมี “ลับ ลวง พราง” กันแน่

ลับ ลวง พราง ประเภทที่ว่า อาจเป็น “เกมต่อรอง” ที่เอาไว้กระตุกความซ่าของค่ายสีน้ำเงินไม่ให้มีแต้มต่อทางการเมืองมากจนเกินไปเหมือนช่วงที่ผ่านๆ มา หรือไม่ อย่างไร

ทั้งนี้ พื้นที่พิพาทเขากระโดงมีจำนวนทั้งสิ้น 5,083 ไร่ โดยในจำนวนเป็นของเครือญาติในตระกูล “ชิดชอบ” จำนวน 20 แปลง เนื้อที่รวม 288 ไร่ 2 งาน 4.7 ตารางวา

ที่ต้องขีดเส้นใต้คือ ความจริงคดีนี้น่าจะเป็นข้อยุติไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดชี้ชัดออกมาแล้วว่า ที่ดินบริเวณเขากระโดงกว่า 5,000 ไร่นั้น เป็นส่วนหนึ่งของพ.ร.ฎ.กำหนดเขตร์สร้างทางหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462 และเป็นที่ดินรถไฟ

เพียงแต่ศาลปกครองขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่สองคือ อธิบดีกรมที่ดินใช้อำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินตรวจสอบที่ดินในบริเวณดังกล่าว และดำเนินการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดินที่ทับซ้อนในที่ดินบริเวณที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งหมด

และปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อ “นายพรพจน์ เพ็ญพาส” อธิบดีกรมที่ดิน ได้ลงนามในหนังสือถึง ผู้ว่าการ การรถไฟฯ แจ้ง “ยุติเรื่องที่ดินเขากระโดง 5,000 ไร่” โดยให้เหตุผลว่า “คณะกรรมการสอบสวนฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง เนื่องจาก รฟท. ไม่มีหลักฐานเป็นที่ข้อยุติว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของ รฟท.”

พลันที่เห็นรายละเอียดในหนังสือแจ้ง สังคมถึงกับงงงวยไปตามๆ กัน เพราะเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้ และไม่อาจมองเป็นอื่นได้ว่า ไม่กระทำตามคำพิพากษา จนถึงกับมีการกล่าวกันว่า “คำสั่งทางปกครองของกรมที่ดินใหญ่กว่าคำพิพากษาศาลฎีกา” กันเลยทีเดียว

  นายเนวิน ชิดชอบ
ทั้งนี้ อธิบดีกรมที่ดินให้สัมภาษณ์เปิดใจเอาไว้ว่า “ยืนยันว่าทำตามหลักกฎหมาย ไม่มีอะไรที่ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมาย ทุกอย่างเป็นไปตามคำสั่งของศาลทุกประการ และอยู่บนข้อเท็จที่เกิดตามหน้างานจริง และคงไม่ต้องชี้แจงกับกระทรวงคมนาคม เพราะทุกอย่างที่ทำมาได้รายงานต่อศาลปกครอง ตามคำสั่งของศาล และขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ที่เป็นข้อเท็จจริง คงไม่ต้องมาต่อสู้อะไรกัน”

คำถามมีอยู่ว่า ทำไมนายพรพจน์ถึงกล้าทำเยี่ยงนั้น?

เท็จจริงเป็นอย่างไรไม่ทราบได้ แต่ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ กรมที่ดินสังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมี “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” เป็นรัฐมนตรีว่าการ

ความจริงที่ต้องยอมรับอีกประการหนึ่งคือ “เสี่ยหนู” คือหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่มี “ไชยชนก ชิดชอบ” ลูกชายของ “เนวิน ชิดชอบ” เป็นเลขาธิการพรรค

และความจริงที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเอาไว้ก็คือ เก้าอี้อธิบดีที่ดินของนายพรพจน์นั้น เกิดขึ้นหลังจากที่ “นายชยาวุธ จันทร” อธิบดีกรมที่ดินคนเก่าลาออกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 โดยลาออกก่อนเกษียณเป็นระยะเวลา 1 ปี ด้วยเหตุผลเพื่อไปดูแลคนในครอบครัว ซึ่งขณะนั้นมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า เชื่อมโยงกับปมข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง ทว่า นายอนุทินก็ยืนยันหนักแน่นว่า การลาออกไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดินเขากระโดง ไม่มีการกดดันทางการเมือง หรือ ปัญหาอื่นๆแน่นอน

 นายพรพจน์ เพ็ญพาส

 สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
ส่วน “นายพรพจน์” จะอยู่ในป้อมค่าย “สายสีน้ำเงิน” หรือไม่ ไม่ทราบได้ แต่ที่แน่ๆ เขาคือ ทายาทของ “นายพร เพ็ญพาส” อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์

สำหรับ “ทางออก” ของ “มหากาพย์ที่ดินเขากระโดง” นั้น ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะ “ลงเอย” อย่างไร เพราะออกได้หลายหน้า

แต่ถ้าจะจบแบบไม่อายฟ้าอายดินก็มีทางเดียวคือ “การรถไฟแห่งประเทศไทย” ไม่ยื่นอุทธรณ์

แต่ “ทางออก” ที่อาจลงตัวสำหรับทุกฝ่าย(อาจไม่ใช่ฝ่ายประชาชน) ก็เห็นแสงรำไรๆ ออกมาจาก “สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา” ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล ซึ่งมีความเอกอุในเรื่องตัวบทกฎหมาย

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ความขัดแย้งระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับกรมที่ดินในเรื่องนี้นั้น เป็นปัญหาเรื่องการสื่อสาร หากลำดับเรื่องดีๆ หน่วยงานมาร่วมกันชี้แจง คิดว่าจะตรงกันได้ และไม่ใช่เรื่องว่าคำพิพากษาของศาลหรือคำสั่งอธิบดีใครใหญ่กว่าใคร

  นายอนุทิน ชาญวีรกูล
“โดยหลักการต้องยึดตามคำพิพากษาของศาล ไม่ได้มีอะไรขัดแย้งกัน แต่กระบวนการ และขั้นตอนยังไม่ตกลงกันให้ชัดเจน ผมเห็นว่าไม่ควรพูดกันคนละที น่าจะตั้งโต๊ะร่วมกัน และพูดกันเสียทีเดียว จะได้เข้าใจว่าเดิมที่มาที่ไปนั้นเป็นอย่างไร ผมคิดว่าถ้ามาจับเข่าคุยกันคงไม่เป็นปัญหามากนัก คงไม่จบลงที่การฟ้องร้อง เพราะที่หลวงก็คือ ที่หลวง ที่เอกชนก็คือ ที่เอกชน แค่นั้นเอง” นายปกรณ์ กล่าว

นายปกรณ์ยังแสดงความคิดเห็นในเชิงกฎหมายที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นเอาไว้ด้วยว่า สมมติว่าเป็นที่หลวงแล้วให้เอกชนไปอยู่ วิธีการแก้ปัญหาก็อย่างเช่นให้เช่าในราคาถูก เพราะเป็นเรื่องที่ก็ทำกันเป็นปกติในกรณีที่ราชพัสดุ หรืออย่างกรณีที่อยู่มานานจนคิดว่าเป็นที่ของตัวเอง พอพิสูจน์สิทธิกันได้ว่าเป็นของใครก็ทำตามกติกา เรื่องนี้ไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน แค่คุยกันคนละทีสองที

ฟังความจาก “กฤษฎีกา” ซึ่งปกติจะไม่ใคร่พูดหรือแสดงความคิดเห็นในลักษณะนี้ ก็คงถึงกับต้องร้องดังๆ ออกมาว่า “พระจ้าจอร์จ มันยอดมาก” กันเลยทีเดียว เพราะนั่นอาจเป็นทางออกสำหรับการปิดฉากมหากาพย์ที่ดินเขากระโดงหลังจากเป็นปมขัดแย้งมาเกือบ 55 ปี เพียงแต่เป็น “โจทย์ใหญ่” ของ “นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ต้องหาทาง คลี่คลายเผือกร้อนในมือให้เย็นลงแบบ “เนียนๆ”


กำลังโหลดความคิดเห็น