ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จะเปรียบเป็น “ลิเกหลงโรง” ก็คงไม่ผิด คิวที่ “พ่อนายกฯ” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บิดาผู้ให้กำเนิด “น้องอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปเปิดวิกปราศรัยหาเสียงที่ จ.อุดรธานี ช่วย “เสี่ยป๊อป” ศราวุธ เพชรพนมพร ลงชิงเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี
อาศัยจังหวะที่ “นายกฯ ลูกอิ๊งค์” ไม่อยู่ในประเทศ เดินทางข้ามโลกไปร่วมประชุมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 ที่กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู อดีตนายกฯ คนพ่อก็เลยได้ทีออกโรงบ้าง หลังซุ่มโป่งเก็บตัวมาตลอดช่วง 2 เดือนเศษที่ลูกขึ้นเป็นผู้นำประเทศ
ประเมินว่า ที่ “ทักษิณ” เก็บเนื้อเก็บตัวมาตลอด เพราะรู้ดีว่า หากออกมาเพ่นพ่านไปทั่วเหมือนเมื่อครั้งพ้นโทษจำคุกใหม่ๆ ก็มีอันจะกลบรัศมีของ “ลูกอิ๊งค์” ที่ถือว่ายังอ่อนประสบการณ์อยู่มากในเวทีการเมือง
ส่วนที่ว่า “หลงโรง” ก็ด้วย เนื้อหาการปราศรัยของ “ทักษิณ” ที่ถือเป็นปราศรัยทางการเมืองครั้งแรกในรอบ 18 ปี ตลอด 2 วันที่ จ.อุดรธานี นั้นดูจะไม่ใช่บริบทที่ควรจะเป็นของการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ตัว “ทักษิณ” เองก็รู้ตัวดีในความ “พูดไปเรื่อย” ของตัวเอง จนตั้งตำแหน่ง “สทร.” หรือที่แปลว่า “เสือก ทุก เรื่อง” ให้กับตัวเองอีกต่างหาก
ก็มีอย่างที่ไหนเปิดเวทีหาเสียง กะเกณฑ์ผู้คนมาเป็นหมื่นๆ แทบไม่ได้เอ่ยถึงแนวทางพัฒนาเมืองอุดรธานีหรือความรู้ความสามารถของ “ศราวุธ” ผู้สมัครนายก อบจ.จากพรรคเพื่อไทยเลย
หนักไปทางบ่นพรึมในเรื่องอายุอานามของตัวเอง และความคิดถึงคนอุดรธานี-คนเสื้อแดง หลังไปอยู่เมืองนอกมานานกว่า 17 ปี บวกกับเรื่องของ “นายกฯ ลูกสาว” รวมถึงแก้ต่างข้อหาครอบงำพรรคและรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่
พอลงเรื่องนโยบายการเมือง ก็เพ้อไปไกลถึงหนี้ครัวเรือน ค่าแรงขั้นต่ำ ปราบปรามยาเสพติด เพิ่มรายได้เกษตรกร ไปจนถึงหวยลาว-หวยฮานอย ซึ่งจริงๆเป็นเรื่องของ “ส่วนกลาง” มากกว่า “ท้องถิ่น” อีกทั้งยังพูดถึงชื่อ-เบอร์ผู้สมัครน้อยกว่าที่ควรจะเป็นอยู่มาก
นอกจากปราศรัยบนเวทีแล้ว “ทักษิณ” ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมอีกด้วย และหนึ่งในหัวข้อที่สังคมให้ความสนใจก็คือเรื่อง “มาตรา 112” เพราะมีเนื้อหาที่พาดพิงไปถึง “เสี่ยเอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”
เนื้อหาที่พูดไม่มีอะไรมาก แต่สิ่งที่น่าสนใจอยู่ตรงการที่ “ทักษิณ” ยอมรับว่าได้พูดคุยกับ “เสี่ยเอก” เกี่ยวกับเรื่อง “สถาบัน”
คำถามก็คือ คุยกันเมื่อไหร่และคุยกันที่ไหน
ใช่คุยกันที่ “ฮ่องกง” ตามกระแสข่าวลือก่อนหน้านี้ อันเป็นที่มาของ “ดีลลับฮ่องกง” หรือไม่ อย่างไร
เอาเป็นว่า ในขณะที่ยังไม่มีการเฉลย ก็ลองหลับตานึกภาพดูเรื่องราวระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลที่เวลานี้แปลงร่างมาอยู่ในชื่อพรรคประชาชนว่า เป็นอย่างไร และทำไม “พรรคส้ม” ถึงได้ดูยั้งๆ ไมตรีเมื่อเทียบกับ “รัฐบาล 3 ลุง”
เข้าใจว่า “ทักษิณ” ยังคงเชื่อมั่นในความขลังของตัวเองทั้งในฐานะ “อดีตนายกฯ-พ่อนายกฯ” มากกว่าที่จะขายตัวผู้สมัครของพรรคในเวทีที่แพ้ไม่ได้อย่าง จ.อุดรธานี ที่ถูกยกให้เป็น “เมืองหลวงคนเสื้อแดง”
ทำนองเดียวกับเมื่อครั้งเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ หนก่อน ที่ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยอย่าง “สว.ก๊อง” พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ดูจะสู้ “นายกฯ โต๊ะ” บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายก อบจ.เจ้าของเก้าอี้เดิม ซึ่งเป็นอดีตคนคุ้นเคยของบ้านชินวัตรไม่ได้
ทำให้ “ทักษิณ” ที่หลบหนีโทษจำคุกอยู่ต่างประเทศในเวลานั้น ต้องร่อน “จดหมายน้อย” แสดงความสนับสนุน “สว.ก๊อง” ในช่วงโค้งสุดท้าย ทำให้สามารถปาดหน้าเอาชนะคู่แข่งไปได้
ในทางการเมืองของ “ระบอบทักษิณ” แล้ว ความสำคัญของ “เชียงใหม่-อุดรธานี” อยู่ในฐานะพื้นที่ยุทธศาสตร์ต้นๆ แบบ “แพ้ไม่ได้” ในระนาบใกล้เคียงกัน
น่าสนใจไม่น้อยกับผลการสำรวจ “อุดรฯ โพล” ที่เดิมอ้างว่าจัดทำโดย สาขานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เรื่อง “ความคิดเห็นของชาวอุดรธานีที่มีต่อการเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ในวันที่ 24 พ.ย.67” ซึ่งระบุว่า เก็บรวบรวมข้อมูล ระหว่างวันที่ 8-11 พ.ย.67 โดยมีประชาชนในทุกอำเภอของ จ.อุดรธานี จำนวน 1,121 คน
ผลการสำรวจพบว่า ชาวอุดรธานีจะไปเลือกตั้งนายก อบจ. คิดเป็น 68.3% ยังไม่ตัดสินใจ 26.9% ไม่ไปเลือกตั้ง 4.8% และสนใจเลือกเบอร์ 1 คณิศร ชูริรัง ผู้สมัครจาก “ค่ายสีส้ม” พรรคประชาชน คิดเป็น 32.6% เหนือกว่า “ศราวุธ” อดีต สส.หลายสมัย ผู้สมัครจาก “ค่ายสีแดง” พรรคเพื่อไทย ที่ตามาห่างๆเกินเท่าตัวที่ 15.2% และไปตกที่ “ดร.ปอนด์” ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้สมัครจาก “ค่ายสีน้ำเงิน” พรรคภูมิใจไทย 4.3% แต่ก็มีผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจ สูงถึง 47.9%
ทว่า หลังจากที่เผยแพร่ผลโพลออกไปก็เกิดเป็น “ดรามา” ขึ้นถึงความน่าเชื่อถือของผลการสำรวจ และถูกมองว่าเป็นการชี้นำสังคมและประชาชนในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง ปรากฏ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ต้องออกแถลงการณ์ระบุว่า การจัดทำ “อุดรฯโพล” ดังกล่าว ไม่ได้เป็นการจัดทำขึ้นในนามมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี และคณะวิทยาการจัดการ ตามที่ถูกอ้างถึงแต่อย่างใด
“มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรรานี เป็นสถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ยึดมั่นในความเป็นกลางทางการเมือง จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน” แถลงการณ์ ระบุ
ก่อนที่ “เสี่ยเต้น” ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ที่ร่วมคณะไปปราศรัยที่ จ.อุดรธานี กับ “ทักษิณ” ด้วย ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า “เฟกโพลล์??” พร้อมระบุว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ติดต่อมาที่ วิเชียร ขาวขำ อดีตนายกอบจ.อุดรฯ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ว่า “อุดรฯโพล” ที่ออกข่าวเรื่องสำรวจคะแนนนิยมเลือกตั้งนายก อบจ. ไม่ได้ทำในนามสถาบัน หรือคณะใดๆ ของราชภัฎทั้งสิ้น เป็นเรื่องที่อาจารย์คนหนึ่งทำขึ้น โดยมหาวิทยาลัยไม่ได้รับทราบขั้นตอน วิธีการเก็บข้อมูล หรือสรุปผลสำรวจแต่อย่างใด
“พูดบ้านๆ คือ ไปทำยังไง ถามใครมากี่คนก็ไม่รู้ แต่ข่าวออกในนามมหาวิทยาลัย อาจารย์ท่านนี้คงสนใจการเมือง นอกจากสอนหนังสือแล้ว ได้ยินว่าเคยเป่านกหวีด ก็ถือเป็นสิทธิ์ ไม่ได้ว่าอะไร แต่ทางมหาวิทยาลัยเขาว่ากันเอง เพราะข่าวออกอ้างชื่อ เกิดความสับสน สถาบันเขาเสียหาย” แกนนำคนเสื้อแดงตัวพ่อว่าไว้
ซึ่ง “ระหว่างบรรทัด” ของทั้งแถลงการณ์มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี และความเห็นของ “ณัฐวุฒิ” ก็ไม่ได้ปฏิเสธถึงการทำโพล เหมือนยอมรับเป็นนัยๆ ว่ามีการสำรวจความคิดเห็นประชาชนจริง เพียงแต่ไม่ได้ทำในนามสถาบันเท่านั้น
ดังนั้น ผลโพลที่ว่า ความนิยมของผู้สมัครของพรรคประชาชน เหนือกว่าผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย แบบครึ่งต่อครึ่งนั้น ก็มองข้ามไม่ได้เหมือนกัน
เพราะต้องไม่ลืมว่า ผลการเลือกตั้ง พ.ค.2566 ใน จ.อุดรธานี ที่มี 10 เขตเลือกตั้งนั้น พรรคเพื่อไทย ที่แบเบอร์มาตลอดในพื้นที่สีแดงเข้มนี้ ก็ได้มาเพียง 7 ที่นั่ง สส. โดยเสีย 2 ที่นั่งให้กับ พรรคไทยสร้างไทย ของ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และเสีย 1 ที่นั่งให้กับอดีตพรรคก้าวไกล
สำคัญที่ 1 ที่นั่งที่เป็นของอดีตพรรคก้าวไกล หรือพรรคประชาชนในวันนี้ ก็เป็นที่เขต 1 ซึ่งผู้แพ้ของพรรคเพื่อไทยวันนั้นก็ชื่อ “ศราวุธ เพชรพนมพร” เสียด้วย
และแม้ “ค่ายสีส้ม” จะได้มาเพียง 1 จาก 10 ที่นั่ง สส.เขต แต่ก็ได้แต้มปาร์ตี้ลิสต์มามากถึง 2.95 แสนแต้ม ส่วนพรรคเพื่อไทยได้ 3.53 แสนคะแนน
คะแนด้วยสายตาแล้วแต้มต่อในสนามอุดรธานีก็ยังอยู่ที่ “ค่ายทักษิณ” ที่ยังคงได้เปรียบอยู่พอสมควร โดยเฉพาะสถิติการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับนายก อบจ. ที่ “ค่ายสีส้ม” ยังไม่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน
ซึ่ง “ทักษิณ” และพรรคเพื่อไทยเองก็คงไม่อยากให้ พรรคประชาชน มาสร้างประวัติศาสตร์ที่ จ.อุดรธานี ถึงต้องขนทัพใหญ่ลงไปปราศรัยหาเสียงเพื่อตรึงพื้นที่เอาไว้
ขณะที่พรรคประชาชน เองก็หมายมั่นปั้นมือไม่น้อย พลันที่ “ทักษิณ” ประกาศตัวลงพื้นที่ช่วย “ศราวุธ” หาเสียง ก็แก้เกมทันควันรีบเรียกตัว “แด๊ดดี้ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้บินด่วนกลับจากสหรัฐอเมริกามาช่วยหาเสียงให้กับ “คณิศร” ผู้สมัครของพรรค ตามหลังทักษิณในวันที่ 15-17 พ.ย.67 นี้
กะวัดกระแสกันซึ่งหน้าระหว่าง “ทักษิณ-พิธา” ที่วันนี้เป็นระดับผู้นำจิตวิญญาณของ 2 ค่าย ว่า พ.ศ.นี้ใครจะฟีเวอร์กว่ากัน และถือเป็นสนามประลองพลังที่ย่อมมีผลไปถึงการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2570 ด้วย
โดยก่อนหน้านี้ทั้งแกนนำพรรคประชาชนและคณะก้าวหน้า นำโดย “ตี๋เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน รวมถึง “ตี๋เอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ก็แวะเวียนไปช่วยหาเสียงที่เมืองอุดรฯ อันน่าจะสร้างกระแสได้พอสมควน กับผล “อุดรฯโพล” ที่ออกมา
แต่ไม่ว่าผลเลือกตั้งสนามนายก อบจ.อุดรธานีจะออกมาหน้าไหน อย่างไรเสีย “ทักษิณ” ก็ยังคงเป็นประเด็นในทางการเมืองไปอย่างน้อยๆ ตลอดสมัยรัฐบาลชุดนี้ ทั้งในแง่บทบาท “นายกฯ ตัวจริง” ที่ทาบทับ “ลูกสาว” ที่แม้จะโลว์โปรไฟล์ ไม่ออกมาเพ่นพ่าน แต่ก็รู้กันดีว่ายังคงใช้ บ้านจันทร์ส่องหล้า เป็นเสมือนทำเนียบรัฐบาลเงา ที่รัฐมนตรี-แกนนำรัฐบาล ต่างแวะเวียนไปแทบทุกวันจนหัวกระไดไม่แห้ง
รวมไปถึงประเด็นข้อร้องเรียนต่างๆ ที่ถูกชงไว้บนเขียงองค์กรอิสระทั้งหลาย ก็ล้วนแล้วแต่มีชื่อ “ทักษิณ” เป็นประเด็นหลักในแง่ครอบงำ-ครอบครอง เหมือนรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย
เรื่องหนึ่งที่เป็นปริศนามานาน ก็คือช่วงเย็นย่ำไปถึงค่ำวันที่ 14 ส.ค.67 ที่ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้ เศรษฐา ทวีสิน พ้นตำแหน่งนายกฯ แล้วบรรดาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลต่างแห่ไปรวมตัวกันที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ท่ามกลางกระแสข่าวว่ามี “คลิปลับ” ที่ฟ้องการสั่งการของ “ทักษิณ” กับบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด
ซึ่ง “ทักษิณ” เองก็แสดงอาการไม่สะทกสะท้าน และเพิ่งปริปากว่า วันนั้นก็มีการรวมตัวของบรรดาแกนนำรัฐบาลจริง แต่เพียงแค่ไปร่วมรับประทานมาม่าเท่านั้น
แม้จะเป็นการสัพยอกทีเล่นทีจริงเพื่อ “แก้เกี้ยว” ถึงเนื้อหาสาระของวงประชุมอย่างไม่เป็นทางการในวันนั้น แต่ก็เชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ถือคำร้องเรื่องนี้อยู่ด้วยอาจไม่หลงไปกับโจ๊กการเมืองที่ “ทักษิณ” ปล่อยออกมา
หรือไม่ต้องอื่นไกล ก็เริ่มมีความคืบหน้าเกี่ยวกับคำร้องที่อาจทำให้ “รัฐบาลลูกอิ๊งค์” อาจต้องมีอันเป็นไปก่อนเวลาอันควร เมื่อมีรายงานว่า วันที่ 22 พ.ย.67 นี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะประชุมเพื่อพิจารณารับหรือไม่รับคำร้องของ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กรณี “ทักษิณ” ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์
ซึ่งล่าสุด ไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ อัยการสูงสุด ได้ลงนามตอบถ้อยคำตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้สอบถามไปแล้ว ซึ่งยังไม่มีรายงานว่า อัยการสูงสุดแสดงความคิดเห็นไว้อย่างไรบ้าง
ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายคำร้องและหลายข้อหาที่ถูกชงอยู่ในชั้นของศาลรัฐธรรมนูญแล้วด้วย ซึ่งก็อย่างที่ระบุไว้ข้างต้นว่า ส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่มี “ทักษิณ” เป็นตัวละครเอกในคำร้องแต่ละข้อหาทั้งสิ้น
ด้วยความ สทร. หรือ “เสือก ทุก เรื่อง” ของ “ทักษิณ” ทำไปทำมานอกจากจะไม่ “ช่วย” แล้วยังอาจจะ “ฉุด” รัฐบาลลูกสาวมากกว่าด้วยซ้ำ.