xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

MOU สู่อเวจี ทักษิณเริ่ม ลุงป้อมต่อ นายกฯ อิ๊งค์รับจบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -โจทย์ใหญ่สำหรับรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ในปมร้อนเรื่องเอ็มโอยู 2544 พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา และเกาะกูด ที่เกิดขึ้นในเวลานี้อยู่ตรงที่ว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนคนไทยเชื่อมั่นว่าจะได้ประโยชน์จากแหล่งพลังงาน โดยไม่มีปัญหาเรื่องเส้นเขตแดนอย่างที่วิตกกังวลกันไปต่าง ๆ นานา ในเวลานี้

และที่สำคัญ รัฐบาลแพทองธารต้องตระหนักดีว่า สังคมไทยมีความไม่ไว้วางใจในสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างผู้มากบารมีฝั่งกัมพูชาคือ สมเด็จฮุนเซน กับผู้มากบารมีฝั่งไทย คือ ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดาของ “นายกฯ อิ๊งค์” จนกลายเป็นว่าปัญหาทั้งหลายทั้งปวงที่ยุ่งเหยิงอยู่ในเวลานี้มีต้นตอมาจาก “ครอบครัวทักษิณ ชินวัตร”

ดังนั้น การเคลียร์ให้ชัดว่าการเจรจาจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ของชาติ ผลประโยชน์ของประชาชนคนไทย ไม่ใช่ผลประโยชน์ของครอบครัวทักษิณ ชินวัตร จึงเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่ง

เป็นที่รับรู้กันว่าความสัมพันธ์ของ ทักษิณ ชินวัตรกับสมเด็จฯ ฮุนเซน แนบแน่นเพียงใด หากนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2552 หลังทักษิณพ้นจากอำนาจหลังการรัฐประหารปี 2549 สมเด็จฯฮุนเซน แต่งตั้งให้ทักษิณเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของกัมพูชา

ในเวลานั้น รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลกัมพูชา ให้ส่งตัวทักษิณกลับไทย ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน แต่รัฐบาลกัมพูชาปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่า การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ไม่รวมถึงกรณีนักโทษทางการเมือง รัฐบาลอภิสิทธิ์ จึงตอบโต้ด้วยการยกเลิก MOU 2544 แต่กระบวนการยกเลิกยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ เพราะยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภา และแจ้งไปทางกัมพูชาอย่างเป็นทางการ รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภาไปก่อน ตกมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงมีการสานต่อการเจรจาไทย-กัมพูชาตามแนว MOU 44 ต่อไป

นอกจากนี้ สมเด็จฯ ฮุนเซน ยังเคยอนุญาตให้ทักษิณจัดกิจกรรมเล่นสงกรานต์กับมวลชนคนเสื้อแดงจากประเทศไทย เมื่อเทศกาลสงกรานต์ ปี 2555 โดยมีแกนนำ นปช. มวลชนเสื้อแดง รวมทั้งรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้น อย่างเช่น ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ไปร่วมกิจกรรมด้วย

หรือในงานวันคล้ายวันเกิดของสมเด็จฯ ฮุนเซน เมื่อ 5 สิงหาคม 2566 ก่อน ทักษิณจะเดินทางกลับประเทศไทยไม่กี่วัน ทักษิณและน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปร่วมในงานฉลองวันคล้ายวันเกิดครบ 71 ปี ถือเป็นแขกภายนอกเพียงสองคน ที่ไม่ใช่คนในครอบครัวของสมเด็จฯฮุนเซน ที่จัดเป็นการภายใน

แม้แต่วันที่ “ทักษิณ” ออกจากชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ กลับมา “บ้านจันทร์ส่องหล้า” สมเด็จฯฮุนเซน ก็มาเยือนถึงที่บ้าน แล้วหลังจากนั้นในการแสดงวิสัยทัศน์แรกของ “ทักษิณ” ต่อสาธารณชนหลังพ้นโทษ ก็หยิบยกเอาการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนฯ กับกัมพูชา ขึ้นมาเป็นไฮไลท์ ประกาศไว้ต่อหน้าสาธารณชน และกลายเป็นเรื่องที่ถูกขยายความตามมา

“สมเด็จฯ ฮุนเซน” เดินทางมาเยี่ยม “ทักษิณ ชินวัตร” ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า โดยมี “แพทองธาร ชินวัตร” ร่วมต้อนรับ
อันที่จริงแล้ว หากมองย้อนกลับไป รัฐบาลทุกชุด นับตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร, รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ก็ล้วนมีนโยบายเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา โดยยึดโยงกับ MOU 2544 ที่ดำเนินการควบคู่กันสองเรื่อง คือ เจรจาแบ่งพื้นที่ที่ต้องแบ่งกันและการพัฒนาแหล่งพลังงานทั้งสิ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น ทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ถึงกับนั่งเป็นประธานร่วมคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (Joint Technical Committee JTC) เพื่อหารือเรื่องเขตทับซ้อน ตามกรอบการเจรจา MOU 2544

หมายความว่า “รัฐบาลลุง” ทั้งยุค คสช. และรัฐบาลเลือกตั้ง 8 ปี ไม่ได้ยกเลิก MOU 2544 แต่กลับเดินหน้าเจรจามาจนถึงปลายรัฐบาลลุง

ในเมื่อตอนนั้นก็ไม่ได้มีการจุดประเด็นเรื่องความห่วงกังวลเรื่องเสียดินแดน และไม่มีทีท่าว่าจะยกเลิก MOU 2544 แต่อย่างใด คำถามจึงย้อนกลับไปยังพรรคพลังประชารัฐที่กำลังขมีขมันเรียกร้องให้ยกเลิก MOU 2544 กันครึกโครมในเวลานี้

นอกจากนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2566 ได้มีการประชุมลับเรื่องรัฐบาลกัมพูชาส่งสัญญาณพร้อมรื้อฟื้นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย เพื่อเตรียมการส่งต่อรัฐบาลใหม่

ล่วงถึงสมัยรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จึงสานต่อการเจรจา ไทย-กัมพูชา จนมาถึงรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ที่เตรียมตั้ง ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานร่วมคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ซึ่งไม่แคล้วถูกมองว่าเป็นคนที่ “ครอบครัวทักษิณ ชินวัตร” ส่งเข้ามาอีกเช่นเคย

กล่าวสำหรับประเด็นเรื่องเกาะกูด ไม่ว่าจะมีการหยิบยกเอกสารหรือแผนผังใด มาเป็นข้อกังวลว่า เกาะกูดอาจจะเสี่ยงถูกเฉือนให้กับราชอาณาจักรกัมพูชา หากมีการเจรจากับกัมพูชาภายใต้ MOU 2544 แต่สภาพความเป็นจริงในเวลานี้ทั้งทางนิตินัยและพฤตินัย สถานะของเกาะกูด คืออำเภอหนึ่งของจังหวัดตราด ที่มีประชาชนคนไทยอาศัยอยู่เต็มพื้นที่ และตอนที่ประเทศไทยประกาศให้เกาะกูดเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดตราด เมื่อปี 2555 จนบัดนี้ ทางฝั่งกัมพูชาก็ไม่ได้มีข้อทักท้วงใด ๆ ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ อ้างอิงจากสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 ที่กำหนดให้เกาะกูดเป็นของสยามร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีสิ่งใดมาลบล้างได้

ไพรัช สร้อยแสง นายอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด แถลงการณ์เผยแพร่ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก ที่ว่าการอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด หลังมีกระแสข่าวเกาะกูดเกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ทับซ้อน การเสียดินแดน ฯลฯ ว่าอำเภอเกาะกูด เป็นดินแดนของประเทศไทยอย่างชัดเจน ตามสนธิสัญญา สยาม-ฝรั่งเศส ร.ศ.125 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2449 (ค.ศ.1907)

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การที่รัฐบาลยังชี้แจงเรื่องผลประโยชน์ที่จะตกกับประชาชนได้ไม่ชัดเจน กระบวนการในการคัดเลือกองค์ประกอบของ JTC ยังไม่ปรากฏชัด และยังขาดความชัดเจนว่าจะเจรจาเรื่องเขตแดนอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนชาวไทย

ที่สำคัญคือ ผู้นำการเมือง โดยตัว “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งนอกจากจะขาดการนำที่ดีและมีองค์ความรู้ในตัวเองแล้ว ยังผสมปนเปรวมถึงปัญหาความสัมพันธ์อันซับซ้อนซ่อนเงื่อนของ “ผู้มีอำนาจ” ระหว่างไทยกับกัมพูชา ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กระทั่งทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจในภารกิจเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

และหนึ่งในคนที่ตั้งข้อสังเกตอย่างน่าสนใจคือ พลโทพงศกร รอดชมภู แกนนำคณะก้าวหน้า และอดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่บอกว่า กัมพูชาต้องการให้ไทยหลุดปากรับรองเส้นที่กัมพูชาขีดเองผ่านเกาะกูด ซึ่งแนวโน้มรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันกำลังจะเข้าสู่กับดักนี้

 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

  อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ประเด็นถือว่ามีความสำคัญ เพราะปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ยืนยันชัดเจนว่า เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา รุกล้ำทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลรอบเกาะกูดของไทย ทะเลต่อเนื่อง 24 ไมล์ทะเลรอบเกาะกูดของไทย และเขตเศรษฐกิจจำเพาะไทย ไม่เป็นไปตามกฎหมายทะเลสากล

และถ้ารัฐบาลไทย “รับรู้” “ตระหนัก” โดย “ไม่ปฏิเสธ” เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา ตาม MOU 2544 ย่อมขัดต่อพระบรมราชโองการในสมัยรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงประกาศ “ปฏิเสธ” เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชา โดยประกาศเขตไหล่ทวีปของไทย เมื่อปี พ.ศ.2516 โดยให้ยึดถือกฎหมายทะเลสากลเท่านั้น ไม่ว่าจะปี พ.ศ. 2516 หรือปีไหนในอนาคตที่มีการเจรจากัน ไม่ใช่พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน “เกินจริง” ที่นักการเมืองไปเจรจากันเองตาม MOU 2544 อยู่ในขณะนี้

วกกลับมาดูเรื่องความจำเป็นในการแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการเจรจา ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านนโยบายพลังงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI กล่าวในงานสัมมนาพลังงานราคาถูก ทางรอดเศรษฐกิจไทย เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ความตอนหนึ่งว่า ก๊าซธรรมชาติยังเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่เสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เพียงแต่ว่าควรจัดหาแหล่งก๊าซที่ตอบโจทย์มากกว่าการนำเข้าก๊าซ LNG ซึ่งการพัฒนาแหล่งก๊าซฯ จากการฟื้นฟูการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (Overlapping Claims Area : OCA) น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับประเทศไทย ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้

ทั้งนี้ ปริมาณก๊าซอ่าวไทยมีการประมาณการว่าจะลดลง การจะทดแทนด้วยการนำเข้า LNG มีราคาผันผวนมาก โดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ จึงกล่าวได้ว่าการนำเข้า LNG ตอนนี้มีความเสี่ยงสูงสุด ซึ่งจะกระทบกับการวางแผนทำธุรกิจของผู้ประกอบการในไทย

สำหรับก๊าซฯที่ผลิตได้ในประเทศไทย จะอ้างอิงราคาน้ำมันเตาซึ่งจะปรับตัวช้ากว่า ขณะที่การนำเข้า LNG อ้างอิงราคาน้ำมันดิบซึ่งราคาสูงกว่าน้ำมันเตา พลังงานในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ต้องให้ความสำคัญกับสมดุลพลังงาน ทั้งความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จึงต้องมีก๊าซธรรมชาติเสริมเข้ามา โดยก๊าซฯ ที่ตอบโจทย์ คือ การเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ OCA ซึ่งนอกจากจะตอบโจทย์ความมั่นคงทางด้านพลังงานและราคาแล้ว ยังสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปิโตรเคมี ซึ่งเป็นผลบวกต่อประเทศไทย สามารถสร้างทักษะแรงงานที่มีฝีมือ ภาครัฐได้ภาษีจากการผลิตปิโตรเคมีด้วย

ทั้งนี้ การพัฒนาพื้นที่ OCA คือ การให้สิทธิสัมปทานบริษัทข้ามชาติตั้งแต่ 50 ปีที่ผ่านมา โดยไทยให้สิทธิกับบริษัทพลังงานข้ามชาติแทบทั้งหมด บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เป็นบริษัทไทยแห่งเดียวที่ได้สิทธิแปลงเล็ก ๆ หากเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทย น่าจะให้ภาครัฐเจรจาบริษัทพลังงานข้ามชาติว่าจะให้สิทธิบริษัทพลังงานไทยได้หรือไม่ ในการไปร่วมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม

“50 ปีที่แล้ว ความสามารถของบริษัทพลังงานไทยเราอาจจะยังไม่มากพอ ต้องอาศัยบริษัทข้ามชาติ แต่ตอนนี้บริษัทไทยไม่น้อยหน้า เราควรมีสิทธิที่จะได้ประโยชน์จากพื้นที่ทับซ้อนเหล่านี้ จะทำให้เกิดประโยชน์จากประเทศมากที่สุด” นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ กล่าว

ขณะที่ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ตั้งคำถามเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า สมมุติเจรจากันสำเร็จ แหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ตาม MOU 2544 กลับตกเป็นบริษัทต่างชาติที่ลงนามสัญญาสัมปทานกับรัฐบาลไทยที่ล้าหลังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 โดยไม่มีการประมูล ดังนั้น ประเทศไทยแทบจึงแทบไม่ได้ประโยชน์อันใด เพราะค่าภาคหลวงอยู่บนฐานของการที่ประเทศไทยเสียเปรียบ

แปลว่าแหล่งปิโตรเลียมเหล่านี้เมื่อตกอยู่ภายใต้อาณัติการสัมปทานของชาติ ก็ต้องขายตามราคาตลาดโลก อีกทั้งโครงสร้างราคาพลังงานของไทยนั้น เอื้อประโยชน์ต่อผู้รับสัมปทานต่างชาติมากกว่าผู้บริโภคในเมืองไทย ดังนั้น ราคาน้ำมันก็อิงราคาสิงคโปร์ ก๊าซธรรมชาติก็อิงราคาตลาดโลก ครั้นเมื่อมีโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว LPG ก็ตกเป็นสมบัติของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ได้สิทธิในการใช้ก่อนผู้บริโภคและประชาชน

“ดังนั้น จึงต้องตอบให้ได้ก่อนว่า ประเทศชาติ และประชาชนได้ประโยชน์ตรงไหน?”ปานเทพกล่าว

อนึ่ง ในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ให้สัมปทานแก่บริษัทต่าง ๆ ในพื้นที่ทับซ้อนหลายบริษัททั้ง เชฟรอน, MOECO, Idemitsu, เชลล์, ปิโตรเลียม รีซอสเซส (ไทยแลนด์) และ ปตท.สผ.

สำหรับทางออกหรือเครื่องมือที่ช่วยให้พลังงานของประเทศไทยมีราคาที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น ทีดีอาร์ไอ เสนอ 4 ทางออก ได้แก่ ภาครัฐสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ,

การปรับโครงสร้างราคาพลังงานโดยเฉพาะราคาค่าไฟฟ้าที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าประมาณ 70% มาจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เป็นค่าก๊าซฯเป็นส่วนใหญ่ และก๊าซฯ LNG นำเข้า ทำให้ค่าไฟสูง,

การทบทวนร่างแผนพีดีพีใหม่ ลดการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่อาจไม่จำเป็น จากคาดการณ์ใช้ไฟฟ้าสูงเกินจริงมาตลอด ตัวเลขที่น่ากลัว คือ 16 ปีที่ผ่านมา คนไทยเสียค่าความพร้อมจ่ายกับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง กว่า 5 แสนล้านบาท,

การมุ่งใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ปรับบทบาทของโรงไฟฟ้าก๊าซฯให้เป็นโรงไฟฟ้าที่ช่วยเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และต้องนำแหล่งก๊าซ OCA มาใช้ให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด.


กำลังโหลดความคิดเห็น