xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิวัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน (13): สวีเดนเป็นประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” โดยไม่มีการใช้ความรุนแรงเสียเลือดเนื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 พระเจ้ากุสตาฟ วาซา (ภาพ : วิกิพีเดีย)
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร


ในการทำความเข้าใจวิวัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน นอกจากความโดดเด่นประการแรกที่ได้กล่าวไปแล้ว คือ ชาวนาสวีเดนไม่เคยตกเป็นทาสติดที่ดิน (serfdom) และเป็นชาวนาเสรีมาโดยตลอด และมีสิทธิ์เสรีภาพในการปกครองตนเองผ่านที่ประชุมท้องถิ่นตามประเพณีการปกครองที่เรียกว่า ting อีกทั้งยังมีตัวแทนในสภาฐานันดรมีบทบาทสำคัญทั้งการทัดทานและการสนับสนุนอำนาจของฐานันดรอภิชนหรือพระมหากษัตริย์ในเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญต่าง ๆ

ความโดดเด่นประการต่อมาคือ สวีเดนเป็นประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ในปี ค.ศ. 1680 หลังเดนมาร์กราว 20 ปี และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีการใช้ความรุนแรงเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงผ่านทางกระบวนการนิติบัญญัติในสภาฐานันดร (Riksdag) และในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสวีเดน ยังคงให้สภาฐานันดรมีอำนาจนิติบัญญัติอยู่บ้าง
ก่อนอื่น ผู้เขียนขอวางกรอบแนวคิดในการทำความเข้าใจ  “สมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน”  ดังต่อไปนี้
ที่ผ่านมา นักวิชาการที่ศึกษารัฐในยุโรปในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเจ็ด-สิบแปดไม่ได้ให้ความสนใจที่จะถกเถียงกันอย่างจริงจังเกี่ยวกับความหมายของคำว่า   “absolutism” หรือ “absolute monarchy”  โดยมักจะเข้าใจกันไปว่าคำทั้งสองนี้มีความหมายที่ชัดเจนสมบูรณ์อยู่แล้ว

แต่ตั้งแต่ทศวรรษ 1980 นักวิชาการได้เริ่มไม่แน่ใจในความหมายของคำทั้งสองนี้ ปัญหาที่เกิดจาก “กรอบแนวคิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์”  ที่หมายถึงการที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจอันล้นพ้นและสมบูรณ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติ และจากนัยของดังกล่าวนี้ ได้ถูกนำมาใช้เป็นวาทกรรมทางการเมืองของทั้งฝ่ายสนับสนุนพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ (Royalist) และฝ่ายต่อต้านพระมหากษัตริย์และต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ (anti-royalist and anti-monarchist)

 โดยฝ่ายสนับสนุนพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ได้นำ “กรอบแนวคิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่หมายถึงการที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจอันล้นพ้นและสมบูรณ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาดมาสร้างเป็นวาทกรรมในการให้ความชอบธรรมกับสถาบันพระมหากษัตริย์และการใช้พระราชอำนาจอันไม่มีขอบเขต 

ไม่ว่าจะเป็นการให้ความชอบธรรมย้อนหลังหรือผลักดันให้สถาบันพระมหากษัตริย์สามารถใช้พระราชอำนาจอันล้นพ้นในปัจจุบันหรืออนาคตได้โดยอ้างว่าเป็นพระราชอำนาจดั้งเดิม (the Royal prerogative) ของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามจารีตประเพณี  ส่วนฝ่ายต่อต้านพระมหากษัตริย์และต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ (anti-royalist and anti-monarchist) ได้นำ “กรอบแนวคิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่หมายถึงการที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจอันล้นพ้นและสมบูรณ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาดมาสร้างเป็นวาทกรรมในการโจมตีพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ในอดีตว่าเป็น “เผด็จการทรราช” และปฏิเสธคุณูปการความชอบธรรมใดๆ ของพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ในอดีตที่ผ่านมา และรวมถึงการวิพากษ์โจมตีพระราชอำนาจใดๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ในพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญด้วย 

จะเห็นได้ว่า “กรอบแนวคิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่หมายถึงการที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจอันล้นพ้นและสมบูรณ์เบ็ดเสร็จเด็ดขาด นอกจากจะไม่ได้เกิดขึ้นจริงหรือเป็นจริงในทางปฏิบัติแล้ว ยังนำไปสู่ความขัดแย้งถกเถียงและการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานกรอบแนวคิดที่ถูกต้องและเป็นจริงเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองที่เรียกว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” อันเป็นความขัดแย้งถกเถียงและการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองที่อยู่บนจินตนาการที่เป็นเจตสิกและอคติของคู่ขัดแย้งทั้งสองจากการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับนิยาม “absolutism” ของ ได้มีการยกตัวอย่างของปัญหาการนิยาม “absolutism” เช่น ในดุษฎีนิพนธ์ของ  Edgar Vance Kiser  เรื่อง  “Kings and Classes: Crown Autonomy: State Policies and Economic Development in Western European Absolutism” (1987)  เขาได้ให้นิยามของ  “Absolutism”  ไว้ว่า รัฐที่เป็นรัฐที่มีอำนาจสมบูรณ์ที่เกิดขึ้นแรกๆ (the first Absolutist states) จะมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้คือ

 หนึ่ง สถาบันพระมหากษัตริย์สืบสานทางสายโลหิต (hereditary monarchy)

สอง ผู้ปกครองที่เป็นพระมหากษัตริย์มีอำนาจควบคุมบางส่วน (some control) ในการจัดเก็บภาษี กองทัพและการออกกฎหมาย

Kiser ได้ให้เหตุผลในการใช้นิยามดังกล่าวนี้ว่า จริงอยู่ที่นิยามที่เน้นเฉพาะเจาะจงไปเพียงว่า พระมหากษัตริย์มี “อำนาจบางส่วน” (some control) ในการควบคุมกิจการทางการเมือง อาจจะทำให้นักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นว่าเป็นนิยามที่หลวม แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขที่อำนาจที่แท้จริงในการควบคุมของพระมหากษัตริย์นั้นผันแปรอย่างกว้างขวาง การจะให้นิยามที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นในระดับของการควบคุมกิจการทางการเมืองที่ปรากฏใน “Absolutism” จะทำให้เกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังนั้น นิยาม “Absolutism” ที่ใช้จึงจำเป็นต้องกำหนดให้กว้างๆไว้ก่อน

ในการทำความเข้าใจสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดน ผู้เขียนเห็นด้วยกับ ข้อเสนอของ Kiser ที่ให้ใช้นิยาม “Absolutism” อย่างไม่เคร่งครัด เพราะข้อเสนอของ Kiser จะช่วยให้ผู้ศึกษาสมบูรณาญาสิทธิราชย์สวีเดนไม่ติดกับปัญหาข้อถกเถียงเกี่ยวกับการนิยามที่ต้องเลือกไปในทางใดทางหนึ่งดังที่เพิ่งกล่าวไปในส่วนก่อนหน้านี้

ผู้เขียนเห็นว่า การนิยามและทำความเข้าใจ “Absolutism” ของสวีเดนอย่างหลวมๆน่าจะสอดคล้องกับนิยามแบบกว้างๆ ของ Kiser เพราะแม้ว่าจะมีการกล่าวว่า สวีเดนเข้าสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี ค.ศ. 1680 ในรัชสมัยของ Charles XI แต่ภายใต้ Charles XI ก็ไม่ได้มีการยุบเลิกหรือมีผลกระทบต่อการทำงานของสภาฐานันดร (Riksdag) แต่อย่างใด ยังคงให้มีการสืบสานสภาฐานันดรที่ถือเป็นจารีตประเพณีการปกครองของสวีเดนมาตั้งแต่ ค.ศ. 1435 ในช่วงที่มีวิกฤตการเมืองภายใต้สหภาพคาลมาร์ (the Kalmar Union/ ผู้สนใจในประเด็นสหภาพคาลมาร์ สามารถดูย้อนหลังตอนก่อนหน้านี้) นั่นคือ แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะทรงพระราชอำนาจอย่างกว้างขวาง แต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด และสภาฐานันดรสวีเดนก็ยังมีอำนาจในบางเรื่องอยู่

ขณะเดียวกัน ในงานของ  Leon Jespersen ที่ศึกษาการเมืองสวีเดนจากช่วงปฏิรูปศาสนา (the Reformation) จนถึงกำเนิดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้ชี้ว่า ในตอนปลายยุคกลาง ในการเมืองสวีเดน ได้ปรากฏรูปแบบการประชุมของราชอาณาจักรในหลากหลายรูปแบบ เช่น radsmote, de fornamsta standernas mote, standmote, provinsmote หรือความหมายในภาษาอังกฤษคือ การประชุมสภาที่ปรึกษา (council meetings), การประชุมของฐานันดรอภิชน (meeting of the noble estates), การประชุมฐานันดร (estate meeting), การประชุมระดับจังหวัด (provincial meeting)

และในที่สุด ได้เกิดสภาฐานันดรที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากฐานันดร (estates) ต่างๆ สี่ฐานันดรที่ครอบคลุมประชาชนกลุ่มหลักๆ ของสวีเดน อันได้แก่ อภิชน นักบวช พ่อค้า และชาวนา และด้วยพระราโชบายของพระเจ้ากุสตาฟ วาซา (Gustav Vasa) ได้ทรงกำหนดอย่างเป็นทางการให้การประชุมสภาฐานันดรจะต้องประกอบไปด้วยตัวแทนจากฐานันดรทั้งสี่เสมอ แม้ว่าลักษณะของการเมืองปกครองในรัชสมัยของพระองค์ (ระหว่าง ค.ศ. 1521-1560) จะเป็นการปกครองที่ดำเนินไปภายใต้บุคลิกภาพความสามารถส่วนพระองค์เอง (personal rule)—หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นการปกครองแบบปิตาสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (paternal absolutism)-----เสียเป็นส่วนใหญ่ที่ทำให้พระองค์อยู่เหนือการปกครองแบบรัฐธรรมนูญนิยมภายใต้อภิชนาธิปไตย (aristocratic constitutionalism) ที่ถดถอยอ่อนแรงลงไป

แต่กระนั้น การเมืองหลังการปฏิรูปทางศาสนา (post-reformation) ที่เกิดขี้นทั้งในสวีเดนและเดนมาร์ก เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในลักษณะที่โอนเอียงไปทางความต้องการการประนีประนอมกันและกันภายใต้สภาวะความไร้เสถียรภาพเพื่อการอยู่รอดของฐานันดรต่างๆและพระมหากษัตริย์ในรัฐที่เพิ่งปลดตัวแอกออกจากศาสนาจักรคาธอลิก
 ในศตวรรษที่สิบหก สภาฐานันดร (Riksdag) ของสวีเดน ในฐานะที่เป็นองค์กรการเมืองที่เป็นศูนย์กลางของตัวแทนประชาชนที่ครอบคลุมกว้างขวางมากตั้งแต่ระดับอภิชนจนถึงชาวนา ย่อมมีอิทธิพลสำคัญยิ่งต่อการปกครองของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์วาซา (Vasa) ที่เพิ่งเริ่มสถาปนาขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1523 และยังไม่ลงหลักปักฐานดีหลังจากสวีเดนเป็นอิสระจากสหภาพคาลมาร์ ด้วยความจำเป็นที่ต้องการกำลังทหารและการเก็บภาษีมากขึ้น เช่นเดียวกันกับการรับมือกับภัยคุกคามทั้งจากภายในและภายนอก 

ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้การปกครองโดยคนๆ เดียวหรือราชาธิปไตย (monarchy) จำต้องพึ่งพาอาศัยความร่วมมือจากสภาฐานันดร (riksdag) ที่แม้นว่าจะเป็นคณะบุคคล แต่ก็เป็นตัวแทนของพวกอภิชน นักบวช พ่อค้า (the few) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวนาที่เป็นคนส่วนใหญ่ (the many)

สวีเดนในปี ค.ศ. 1544 สถาบันพระมหากษัตริย์ได้เริ่มวางรากฐานประเพณีการสืบสายโลหิตโดยการออกกฎมณเฑียรบาล (arvforeningen, the Succession Pact) ที่ให้ความชอบธรรมของความเป็นพระมหากษัตริย์ของ พระเจ้ากุสตาฟ วาซา  และสิทธิ์ในการสืบราชสันตติวงศ์ผ่านทางสายบุรุษโดยพระราชโอรสพระองค์แรก (agnatic primogeniture/ agnatic แปลว่า ข้างฝ่ายบิดา; primogeniture แปลว่า บุตรคนแรก )

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงการสืบราชสันตติวงศ์นี้เกิดขึ้นโดยการประสานร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสภาฐานันดร (Riksdag) ดังที่การควบรวมอำนาจร่วมกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับสภาฐานันดร (consolidation of the power of the monarchy and riksdag) ได้พัฒนาเดินหน้าร่วมกัน

ขณะเดียวกัน Jespersen เห็นว่า เราไม่ควรที่จะกล่าวสรุปอย่างง่ายๆ ในความแตกต่างระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์เดนมาร์กที่มาจากการเลือกตั้ง (Danish elective monarchy) และการสืบสายโลหิตของสถาบันพระมหากษัตริย์สวีเดน (the Swedish hereditary kingship) เพราะหลังที่สวีเดนถอดถอนพระเจ้าคริสเตียนที่สอง (Christian II) จากการเป็นกษัตริย์ของสวีเดน พระเจ้ากุสตาฟ วาซาที่ขึ้นเป็นกษัตริย์ของสวีเดนก็ยังมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมในการขึ้นครองราชย์ของพระองค์อยู่ และด้วยเหตุผลต่างๆ ปัญหาความชอบธรรมนี้ก็ยังเป็นปัญหาที่คงอยู่กับราชวงศ์วาซาอีกตลอดร้อยปีต่อมา
แต่อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า การสถาปนากฎมณเฑียรบาล (arvforeningen, the Succession Pact) ของสวีเดนในปี ค.ศ. 1544 ที่ให้มีการสืบราชสันตติวงศ์ผ่านทางสายบุรุษโดยพระราชโอรสพระองค์แรก (agnatic primogeniture) สามารถถือเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของกระบวนการที่จะพัฒนาไปสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างสมบูรณ์ (Absolute Monarchy) ของสวีเดนในปี ค.ศ. 1680

ในตอนต่อไป จะได้กล่าวสรุปถึงลักษณะสำคัญบางประการของสมบูรณาญาสิทธิราชย์และพัฒนาการทางการเมืองการปกครองก่อนหน้าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสวีเดน


กำลังโหลดความคิดเห็น