xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ไซน์มัสแคท” องุ่น(จีน)เคลือบพิษ ยอดภูเขาน้ำแข็งปัญหาสารเคมีตกค้างในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  แรงสั่นสะเทือนจากผลการทดสอบตัวอย่าง “องุ่นไชน์มัสแคท” พบสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน นำสู่คำถามความปลอดภัยด้านอาหารของไทย สร้างแรงกระเพื่อมการรื้อระเบียบผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ ยิ่งไปว่านั้นยังกระทบโดยตรงต่อผู้ค้าผลไม้รายย่อย แม้ลดราคาขายขาดทุน ยังแทบไร้เงาคนซื้อ เพราะหวั่นสารเคมีตกค้างเป็นต่อร่างกาย 

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-Pan ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการทดสอบสารเคมีทางการเกษตรตกค้างองุ่นไชน์มัสแคท จากการเก็บตัวอย่างทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ผลจากการสุ่มตรวจพบสารเคมีตกค้าง 23 ตัวอย่าง จากตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคททั้งหมด 24 ตัวอย่าง จาก 15 สถานที่จำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบสารพิษตกค้างทั้งหมด 50 ชนิด

เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จำนวน 26 ชนิด

เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งยกเลิกการใช้ในประเทศไทย จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ได้แก่ คลอไพริฟอส (Chlorpyrifos) และ เอ็นดริล อัลดีไฮด์ (Endrin aldehyde)

เป็นสารที่อยู่นอกบัญชีวัตถุอันตรายมากถึง 22 ชนิด ซึ่งเป็นสารที่ยังไม่มีการประเมินใดๆ ภายใต้กฎหมายไทย

และในจำนวนนี้พบสารประเภทดูดซึม (Systemic pesticide) 37 ชนิด

อธิบายง่ายๆ คือ 95.8% ของตัวอย่างองุ่นไชน์มัสแคท หรือ 23 จาก 24 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด มี 1 ตัวอย่าง พบสารคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามกฎหมายต้องตรวจไม่พบ เนื่องจากยกเลิก MRLs (Maximum Residue Limits ค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่สามารถมีได้) แล้ว

ทั้งนี้ 42% ของสารพิษตกค้าง เป็นสารที่อยู่นอกบัญชีวัตถุอันตรายของไทย และ 74% ของสารพิษตกค้างเป็นสารประเภทดูดซึม มีโอกาสตกค้างอยู่ในเนื้อเยื่อขององุ่น

นับเป็นประเด็นร้อนสร้างความตื่นตระหนกให้คนไทยทั้งประเทศ

สำหรับ  “คลอร์ไพริฟอส”  ส่งผลต่อความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองของเด็กที่แม่ได้รับระหว่างตั้งครรภ์ เด็กมีพัฒนาการช้า ความจำสั้น ไอคิวต่ำ สมาธิสั้น รวมถึงพัฒนาการด้านจิตใจ และมีผลต่อเนื่องแม้เมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม อีกทั้ง รายงานของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ระบุว่าสารตัวนี้กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งลำไส้ H-29 ผ่านตัวรับ EGFR

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีข้อเสนอให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ตัว ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเสต และใช้เวลากว่า 3 ปี จนคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ยกเลิกการใช้ในที่สุด โดยคลอร์ไพริฟอสถูกประกาศยกเลิกการใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2563

ส่วน  “เอ็นดริล อัลดีไฮด์”  เป็นสารเคมีอันตรายใช้ในการกำจัดแมลง กระทรวงเกษตรห้ามใช้ไปตั้งแต่ ก.ค. 2524 เนื่องจากมีความเป็นพิษสูงมาก

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อธิบายว่าในการสุ่มตรวจดังกล่าวระบุว่าพบสารปนเปื้อนถึง 50 รายการ แต่ข้อเท็จจริง คือพบสารปนเปื้อนที่อยู่ในรายการต้องเฝ้าระวังในระดับสากล 36 รายการ ส่วนอีก 14 รายการเป็นสารปนเปื้อนที่ระดับสากลไม่ได้จัดอยู่ในรายการเฝ้าระวัง เนื่องจากไม่มีข้อมูลการก่ออันตราย แต่ก็จะมีการกำหนดค่ามาตรฐานความปลอดภัยที่ไม่เกิน 0.01 นอกจากนั้น สารปนเปื้อน 36 รายการที่ตรวจพบนั้น อยู่ในค่าที่ไม่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย

สรุปสาระสำคัญ พบสารเคมีตกค้างจริงแต่อยู่ในปริมาณที่ปลอดภัย เหมือนอย่างเช่นผลไม้อื่นๆ ที่ผู้ผลิต จะผสมสารต่างๆ เช่น ยาฆ่าแมลง ยากันรา ฉีดพ่นผลไม้ เพื่อยืดอายุให้นานขึ้น แต่เหล่านี้จะมีการกำหนดปริมาณความปลอดภัยไว้

ส่วนกรณีพบสารปนเปื้อนที่มีการดูดซึมเข้าไปในเนื้อองุ่นไชน์มัสแคท แล้วล้างสารออกยากนั้น ต้องทำความเข้าใจว่าสารบางชนิดเป็นสารที่ถูกใช้ในระหว่างการปลูก ทำให้ต้นไม้ดูดซึมสารเข้าไปเพื่อเป็นอาหาร แต่ไม่ได้หมายถึงว่าสารนั้นดูดซึมเข้าไปในผลไม้ ดังนั้น การล้างผลไม้ก่อนรับประทานตามวิธีที่ถูกต้องก็จะสามารถทานได้

โดยทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยแพร่ผยผ่าน เพจเฟซบุ๊ก “FDA ThaiW ยืนยัน “องุ่นไชน์มัสแคท” ทานได้ แนะวิธีล้างองุ่นไชน์มัสแคทที่ถูกต้อง ลดเสี่ยงสูง สารพิษตกค้างในผักผลไม้

ที่ต้องติดตาม จากการตรวจสอบองุ่นไชน์มัสแคทมีจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถระบุที่มาได้ กำลังเกิดคำถามถึงความปลอดภัย โดยทาง อย. แจกแจงว่ามีการสุ่มตรวจตัวอย่างผลไม้ที่เข้ามาผ่านกองด่านอาหารและยา ซึ่งการนำเข้าหลักๆ จะมี 3 ประเทศคือ  จีน เกาหลี และ ญี่ปุ่น โดยแรกเริ่มการนำเข้ามาจะมีบรรจุภัณฑ์ที่ระบุที่มาชัดเจน แต่เมื่อมีการแยกแยกไปจำหน่ายแบบปลีกตามตลาดทั่วไป ผู้ค้าบางรายที่ไม่ได้ทำบรรจุภัณฑ์ ก็จะไม่สามารถบอกที่มาได้ แต่ถ้าเป็นห้างใหญ่ๆ ที่ทำบรรจุภัณฑ์ใหม่ แล้วติดฉลากก็จะทราบที่มาได้

  นส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องให้ อย. ดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทผู้นำเข้าผลไม้ที่มีวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่ห้ามใช้ในประเทศ คือ คลอไพริฟอส และ เอ็นดริล อัลดีไฮด์ เพราะถือเป็นผลไม้หรืออาหารที่ผิดมาตรฐานตรวจพบสารเคมีที่ห้ามใช้ และแจ้งผลการดำเนินการให้ผู้บริโภคทราบด้วย

กล่าวคือ มีความผิดตาม พรบ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นําเข้าเพื่อจําหน่าย หรือจําหน่ายซึ่งอาหารดังต่อไปนี้ (3) อาหารผิดมาตรฐาน (4) อาหารอื่นที่รัฐมนตรีกำหนด ซึ่งมีการกำหนดโทษไว้ ดังนี้ ความผิดตามมาตรา 60 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25(3) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท มาตรา 61 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25(4) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ หากตรวจพบสารเคมีอันตรายที่ยกเลิกหรือห้ามใช้ไปแล้ว ต้องดำเนินตามกฎหมาย กับบริษัทที่นำเข้ามาจำหน่าย และต้องเรียกคืนสินค้านั้นออกจากท้องตลาดทันที


กล่าวสำหรับจุดเริ่มต้นการตรวจสารพิษตกค้าง "องุ่นไซน์มัสแคท” เกิดจากข้อสังเกตุเกี่ยวกับสารที่เพื่อปรับปรุงลักษณะทางกายภาพและสลายเมล็ดในองุ่นไชน์มัสแคทคือ  กรดจิบเบอเรลลิก (Gibberellic Acid – GA3)  โดยอ้างอิงตามข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าการได้รับกรดจิบเบอเรลลิกมากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท และมีความเป็นพิษต่อตับ และยังพบว่ามีการใช้สารเคมีทางการเกษตรจำนวนมากระหว่างการเพาะปลูก เช่น สารกำจัดแมลง สารกำจัดวัชพืช สารป้องกันกำจัดโรคพืช และสารควบคุมการเจริญเติบโต ซึ่งหากมีการตกค้างเกินค่ามาตรฐานอาจส่งผลถึงผู้บริโภคได้นั่นเอง

กล่าวสำหรับ “องุ่นไชน์มัสแคท (Shine Muscat)” โดดเด่นด้วยลักษณะผลใหญ่ เนื้อสีเขียวสด สัมผัสกรอบฉ่ำน้ำ รสชาติหวานหอม เป็นดาวเด่นผลไม้นำเข้าในกระแสนิยมของผู้ปริโภคชาวไทยในช่วงที่ผ่านมา ไชน์มัสแคทเป็นพันธุ์องุ่นที่ได้รับการพัฒนาจากประเทศญี่ปุ่น มีกรรมวิธีทำให้องุ่นไร้เมล็ดมีเทคนิค โดยการใช้สารที่เพื่อปรับปรุงลักษณะทางกายภาพและสลายเมล็ดในองุ่นไชน์มัสแคท คือ กรดจิบเบอเรลลิก (Gibberellic Acid – GA3) ซึ่งได้รับความนิยมสูงในตลาดผลไม้พรีเมียม มีราคาที่สูง มีคุณภาพดี ได้รับการขนานนามว่าเป็น “Hermès แห่งวงการองุ่น”

หลังจากนั้นได้รับการนำเข้าไปเพาะปลูกในหลายประเทศ เช่น จีน เกาหลีใต้ มีการปลูกกันอย่างแพร่หลาย รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งในจีนมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกทำให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อ้างอิงสถิติปี 2020 ระบุว่าการขยายพื้นที่เพาะปลูกไชน์มัสแคทในจีนสูงกว่าญี่ปุ่นถึง 40 เท่า กระทบกลไกทางการตลาดเมื่อผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้มีจำนวนมหาศาล ส่งผลให้ราคาขององุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคทปรับลดลง

ยกตัวอย่าง องุ่นไชน์มัสแคทของจีนมีการใช้สารเคมีเพื่อเร่งการเติบโตของผลผลิต ได้รับการเปิดเผยจากนักวิจัยด้านความปลอดภัยอาหารในจีน ความว่ากระบวนการปลูกองุ่นไชน์มัสแคทมีการใช้สารเคมีเพื่อควบคุมศัตรูพืชและโรคต่างๆ ประมาณ 5 - 10 ครั้งในช่วงการเจริญเติบโตขององุ่น โดยเฉพาะในช่วงที่ต้นองุ่นกำลังออกดอกและมีผลอ่อน ทั้งนี้ หากใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและเว้นระยะห่างการเก็บเกี่ยวให้เหมาะสม จะทำให้สารเคมีตกค้างอยู่ในระดับที่ปลอดภัย โดยระยะห่างระหว่างการฉีดพ่นสารเคมีกับการเก็บเกี่ยวจะช่วยให้สารเคมีสลายตัวในระยะเวลาที่เหมาะสม

 นายหวังเฉียง  ผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์เกษตรจากจีน เปิดเผยว่าหากมีการใช้สารเคมีตามระเบียบที่กำหนด และเว้นระยะเวลาการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม สารตกค้างในองุ่นไชน์มัสแคทจะไม่เกินมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับการบริโภค อีกทั้งสารเคมีหลายชนิดมีครึ่งชีวิต (half-life) ที่สลายตัวภายใน 7 - 14 วัน และสามารถถูกชะล้างออกไปด้วยน้ำฝนหรือแสงแดด ซึ่งจะช่วยลดสารตกค้างได้

ขณะที่  นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์  เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ระบุถึงมาตรการกำกับดูแลผักผลไม้นำเข้าว่า ประเทศไทยนำเข้าผักผลไม้จากต่างประเทศ อย. มีมาตรการในทุกด่านอาหารและยา ซึ่งมีการกำหนดค่ามาตรฐานปริมาณสารตกค้างในผักและผลไม้ ที่ได้ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดูว่าแต่ละสารไม่ควรเกินเท่าไหร่ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

หากพบว่าผักและผลไม้มีสารพิษตกค้างไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด จะดำเนินคดีผู้กระทำผิดทุกราย ฐานนำเข้าเพื่อจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน มาตรา 25 (3) ต้องระวังโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และจัดการกับสินค้าด้วยการทำลายหรือส่งคืนประเทศต้นทาง นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบโดยใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นอีกกว่า 10,000 ตัวอย่าง

ทั้งนี้ มาตรการที่ด่านอาหารและยา เป็นจุดสกัดที่สำคัญ โดยจะดูใน 2 ความเสี่ยง คือ 1.บริษัทที่นำเข้ามีความเสี่ยง ก็จะมีการกักสินค้าไว้ก่อนจนกว่ามีการพิสูจน์ว่าสินค้านั้นไม่มีปัญหา และ 2.ของบางอย่างที่เจอสารปนเปื้อนมาก หรือประเทศที่ส่งมามีความเสี่ยง ก็จะกักไว้ก่อน แต่ด้วยผักผลไม้ที่เสียง่าย เมื่อก่อนจะไม่ได้กักเอาไว้ ทำให้ทราบข้อมูลในภายหลังว่ามีปัญหา ครั้งต่อไปก็จะมีการกำหนดเป็นประเทศหรือบริษัทที่มีความเสี่ยง แต่มาตรการปัจจุบัน สามารถกักสินค้าไว้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง เพื่อรอผลการตรวจที่รวดเร็ว ถ้าพิสูจน์แล้วปลอดภัยก็สามารถปล่อยผ่านมาได้


ทั้งนี้ ปี 2568 อย. จะยกระดับมาตรการตรวจสอบเฝ้าระวังการนำเข้าผักและผลไม้ อาทิ มาตรการ Hold Test Release (HTR) กักหรืออายัดผักและผลไม้เพื่อทำการทดสอบ หากพบเป็นไปตามข้อกำหนดจะอนุญาตให้ไปจำหน่ายได้ พร้อมกับแนวคิด 1DAAN/1LAB/1DAY โดยบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ของการส่งตัวอย่างและการตรวจวิเคราะห์กับห้องปฏิบัติการให้ทราบผลการตรวจวิเคราะห์ภายใน 24 ชั่วโมง ควบคู่กับการเจรจาระหว่างประเทศคู่ค้าที่ส่งออกผักและผลไม้มายังประเทศไทยในการไปตรวจดูมาตรฐานของโรงคัดบรรจุและแหล่งผลิตเพื่อแก้ไขคุณภาพก่อนการนำเข้า

ส่งเสริมให้ผู้นำเข้าตรวจวิเคราะห์ผักและผลไม้ก่อนการนำเข้ากับห้องปฏิบัติการในประเทศต้นทางที่ได้รับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 และจัดหาชุดทดสอบอย่างง่ายที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมชนิดของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีการพัฒนาสารใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา อีกทั้ง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะมีการเก็บข้อมูลการตรวจสารกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น เป็นการเตรียมความพร้อมในการปรับปรุงรายการสารกำจัดศัตรูที่จะตรวจวิเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังความปลอดภัยผักและผลไม้อย่างมีประสิทธิภาพ

 ภก.ภาณุโชติ ทองยัง กรรมการสภาผู้บริโภค ในฐานะประธานอนุกรรมการ ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ เปิดเผยว่าประเด็นที่เกิดขึ้นสะท้อนความไม่ปลอดภัยอาหารที่วางจำหน่ายในท้องตลาด เห็นช่องโหว่ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งบังคับใช้มากว่า 40 ปี มีบทบัญญัติบางประการที่เป็นข้อจำกัดในการควบคุมความปลอดภัยอาหารและการโฆษณาอาหาร เกิดปัญหาเรื่องของความรวดเร็วในการทำงานของภาครัฐ ทั้งการไประงับหรือเตือนภัยผู้บริโภค

“ผลของการสุ่มตรวจองุ่นไชน์มัสแคท จนพบสารเคมีตกค้าง เป็นข้อมูลมาจากผู้บริโภคไม่ได้มาจากสายวิชาการ หน่วยงานราชการ นี่เป็นการสะท้อนการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในกระบวนการเฝ้าระวัง และเตือนภัยเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร ขณะเดียวกันเราได้เห็นระบบการตรวจสอบและเฝ้าระวัง ผักผลไม้นำเข้า ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แม้พยายามตรวจสอบเชิงรุกทั่วประเทศแล้วก็ตาม แต่ก็ยังหลุดรอดออกมาได้”

 ถึงตรงนี้ คงต้องบอกว่า การเปิดเผยผลการตรวจสารเคมีตกค้าง “องุ่นไชน์มัสแคท” ผลไม้นำเข้าในกระแสนิยม ได้สร้างความตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคใส่ใจความปลอดภัยด้านอาหารของไทย เมื่อทราบข้อเท็จจริงครบถ้วนอย่างรอบด้าน เป็นสิทธิของผู้บริโภคว่าเลือกรับประทานหรือไม่? 


กำลังโหลดความคิดเห็น