ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นอกจากเรื่อง “ยอดขาย” รถยนต์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ปัญหาที่หนักหนาสาหัสและกระทบกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยที่สุดก็คือ “หนี้เสีย” อันเกิดจากการไม่สามารถผ่อนชำระต่อได้ โดยเฉพาะรถในกลุ่ม “กระบะหรือปิกอัพ” จนสถาบันการเงินพากันเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ซ้ำเติมยอดขายที่แย่อยู่แล้วให้แย่ไปกว่าเดิมอีก
หนักถึงขั้นที่ “คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)” ที่ประกอบด้วย “ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย” ได้ร้องให้ร้องรัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเป็นการด่วน ในระหว่างที่เข้าพบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และได้มอบสมุดปกขาว ซึ่งเป็นข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
“นายสนั่น อังอุบลกุล” ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยไม่ให้ยึดรถกระบะหรือรถปิกอัพที่ขาดส่งค่างวด แม้เพียงชั่วคราว ซึ่งจะทำให้คนที่ประกอบอาชีพที่ใช้รถกระบะประกอบอาชีพต่อไปได้ โดยจะมีการหารือร่วมกันกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ธนาคารพาณิชย์ บริษัทไฟแนนซ์ แล้วจะมีการออกเป็นมาตรการออกมา
“รัฐบาลรับเรื่องนี้ไปดำเนินการแล้ว ก็จะต้องมีการหารือ และได้รับความร่วมมือจากธนาคาร และไฟแนนซ์ ซึ่งจะมีมาตรการออกมา เรื่องนี้ใช้เงินไม่มาก แต่ก็ต้องมีการคัดกรอง เช่น รถปิกอัพราคา 800,000 บาท ผ่อนไปแล้ว 400,000 บาท เป็นต้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็แซวว่า ธนาคารกำไรดีก็ต้องมาสนับสนุน”นายสนั่นกล่าว
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ตัวเลขหนี้เสียรถยนต์นั้นน่าเป็นห่วงยิ่งตาม กกร.ได้ร้องขอกับนายกรัฐมนตรีจริงๆ กล่าวคือ ในไตรมาสที่สามมีเม็ดเงินสูงถึงเกือบ 3 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
ดังนั้น ถ้ามีเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้แปลงให้กลับมาเป็น “หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้” อีกครั้ง บรรดาธนาคารและไฟแนนซ์น่าจะเห็นดีเห็นงามด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจะเคาะมาตรการออกมาในลักษณะไหน
“นายสุรพล โอภาสเสถียร” ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยสถานะหนี้เสีย (NPL) ที่ค้างชำระเกิน 90 วันในไตรมาส 3 อยู่ที่กว่า 1.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.3% เทียบกับปีก่อน ในจำนวนนี้เป็นรถยนต์กว่า 259,330 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.6%
ส่วนหนี้ที่ค้างชำระ 31 - 90 วัน ซึ่งเป็นหนี้ที่กำลังจะเป็นหนี้เสีย (SM) ในไตรมาส 3ภาพรวมอยู่ที่กว่า 641,393 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.9% เทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า ในจำนวนนี้เป็นรถยนต์กว่า 187,386 ล้านบาท ลดลง 12.9%
ขณะที่ “นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์” ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนกันยายน 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 39,048 คันลดลง 37.11 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตัวเลขการขายดังกล่าวถือว่าต่ำสุดในรอบ 53 เดือน หรือ 4 ปี 5 เดือน ส่วนตัวเลขการขายรถยนต์ตั้งแต่มกราคม - กันยายน 2567 รถยนต์มียอดขาย 438,659 คัน ลดลง 25.25 %
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบยอดขาย มาจากความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อให้ผู้ซื้อรถยนต์เพราะหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) ยังอยู่ในระดับที่สูงที่ 208,575 ล้านบาท หนี้เสียรถยนต์อยู่ที่ 259.330 ล้านบาท ในเดือนกรกฎาคม 2567 ประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศไตรมาสสองปี 2567 ที่โตต่ำ 2.3 % และคาดว่า 2567 จะเติบโตเพียง 2.7 - 2.8 % เท่านั้นขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2567 หดตัว 1.91 % แสดงถึงรายได้คนทำงานยังคงอ่อนแอ และส่งผลให้ยอดขายในเดือนกันยายน 2567 ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 37.11
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติได้เคยแนะแนวทางในการแก้ปัญหา “หนี้เช่าซื้อ” พาหนะประเภทต่าง ๆ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถตู้ รถใช้งานเพื่อการเกษตร (รถไถ) รถมินิบัส เอาไว้ดังนี้
1. กรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายชำระค่างวด ควรรีบติดต่อเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าซื้อ เพื่อขอพักชำระหรือลดค่างวดชั่วคราว โดยลูกหนี้ต้องแจ้งให้เจ้าหนี้ทราบถึงผลกระทบด้านรายได้ พร้อมทั้งให้ข้อมูลหรือเอกสารประกอบการพิจารณา (ถ้ามี) นอกจากนี้ ลูกหนี้ควรศึกษามาตรการช่วยเหลือของเจ้าหนี้ ให้ความร่วมมือในการเจรจา และแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบ หลังจากการปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระค่างวดแล้ว และ/หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ลูกหนี้ควรปฏิบัติตามเงื่อนไขใหม่ที่ตกลงไว้ รักษาสภาพรถ ไม่นำไปจำนำ ไม่ส่งคืนรถโดยไม่รับรู้ทั้งสองฝ่าย และไม่ก่อหนี้เพิ่มเติม
2. แนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ สามารถทำได้หลายอย่าง เช่น การปิดบัญชีก่อนกำหนดการโอนสิทธิให้บุคคลอื่นผ่อนต่อ การขอเปลี่ยนสัญญา (refinance) การพักชำระค่างวด การขยายเวลา/ลดค่างวด การรวมกับสินเชื่อบ้านภายใต้กลุ่มผู้ให้บริการทางการเงินเดียวกัน หรือการคืนรถเป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้ควรศึกษาเงื่อนไขของเจ้าหนี้ถึงเงื่อนไขต่างๆ เสียก่อน
3. ข้อแนะนำทางเลือกของลูกหนี้
กรณี ลูกหนี้ปกติ (ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน) แนะนำให้
-ขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ เช่น จนอายุรถไม่เกิน 10 ปี หรือไม่เกินเงื่อนไขของเจ้าหนี้แต่ละแห่ง ตามรายได้ที่ลดลงเป็นเวลานาน
-ขอผ่อนค่างวดแบบขั้นบันได (step up) โดยทยอยจ่ายหนี้หรือค่างวดเพิ่มขึ้นในภายหลัง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงในช่วงแรกและจะทยอยดีขึ้นในภายหลัง
-ขอคืนรถ เพื่อปิดหนี้ แต่ต้องประเมินว่าราคาประเมินรถคุ้มยอดหนี้คงค้างหรือไม่ เพื่อให้เหลือส่วนของหนี้ที่ต้องผ่อนชำระน้อยที่สุด
- ขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ออกไป เช่น จนอายุรถไม่เกิน 10 ปี หรือไม่เกินเงื่อนไขของเจ้าหนี้แต่ละแห่ง ตามรายได้ที่ลดลงเป็นเวลานาน แต่ถ้า ลูกหนี้ที่เป็น NPL แนะนำให้
- ขอผ่อนค่างวดแบบขั้นบันได (step up) โดยทยอยจ่ายค่างวดเพิ่มขึ้นในภายหลัง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงในช่วงแรกและจะทยอยดีขึ้นในภายหลัง เพื่อให้ผ่านช่วงวิกฤตไปก่อน
- หากมีเงินก้อนขอชำระปิดบัญชี เพื่อช่วยให้ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการศาล ซึ่งเสียประวัติ เวลา และเงิน
ทั้งนี้ ทั้งนั้น ถ้าหากค้างชำระหนี้เกินกว่า 3 เดือน เจ้าหนี้จะให้ลูกหนี้ต้องจ่ายค่างวดที่ค้างชำระเพื่อไม่ให้เป็น NPL ก่อนถึงจะปรับโครงสร้างหนี้ให้
อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่า หลังจากที่ กกร.ได้ร้องขอ “นายกฯ แพทองธาร” ให้ช่วยเหลือ และตัวนายกฯ เองได้แซวไปที่สมาคมธนาคารไทยว่า “แบงก์กำไรดีต้องมาสนับสนุน” บทสรุปของปัญหาการผ่อนชำระรถกระบะ ซึ่งถือเป็น “เครื่องมือในการทำมาหากิน” จะลงเอยอย่างไร