xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

วิวัฒนาการระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสวีเดน (12): บทบาทสำคัญทางการเมืองของชาวนาต่อการกอบกู้เสรีภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


Erik กษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งสหภาพคาลมาร์ (ภาพ : วิกิพีเดีย)
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร


ความโดดเด่นประการหนึ่งในพัฒนาการทางการเมืองการปกครองของสวีเดน นั่นคือ สวีเดนเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่ชาวนาไม่เคยตกเป็นทาสติดที่ดิน (serfdom) ชาวนาสวีเดนจะเป็นชาวนาเสรีมาโดยตลอด อีกทั้งชาวนายังมีสิทธิ์ในการเลือกกษัตริย์ด้วย โดยการมารวมตัวกันประชุม ซึ่งที่ประชุมที่ว่านี้มีคำเรียกในภาษาสวีดิชว่า ting ดังที่ได้กล่าวไปบ้างในตอนก่อนๆ

และจะขอกล่าวเพิ่มเติมถึงบทบาทสำคัญของชาวนาสวีเดน นั่นคือ บทบาทสำคัญทางการเมืองของชาวนาต่อการกอบกู้เสรีภาพของสวีเดนและการเกิดสภาฐานันดรที่มีฐานันดรชาวนาด้วย ก่อนอื่นคงต้องอธิบายว่า ทำไมสวีเดนต้องมีการกอบกู้เสรีภาพ ?
หลายคนอาจจะไม่เคยทราบว่า สวีเดนเคยรวมกับเดนมาร์กและนอร์เวย์ภายใต้ข้อตกลงคาลมาร์ (Kalmar) ส่งผลให้เกิด “สหภาพคาลมาร์” ในปี ค.ศ. 1397 สหภาพคาลมาร์นี้ก็คล้ายๆ สหราชอาณาจักร (United Kingdom) ของอังกฤษที่มีสามอาณาจักรอยู่ร่วมกัน อันได้แก่ อังกฤษ เวลส์ สก๊อตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ สหภาพคาลมาร์ของสแกนดินเนเวียอยู่ร่วมกันในลักษณะอยู่ภายใต้กษัตริย์องค์เดียวกัน (United Monarchy)
ตอนที่แล้ว ได้เล่าถึงปัจจัยที่ทำให้ สมเด็จพระราชินี Margaret  เป็นกษัตริย์แห่งสามอาณาจักรที่มารวมตัวกันเป็นสหภาพคาลมาร์ โดยสหภาพฯ ได้ประกาศให้พระองค์เป็น  “Our Mighty Lady and Sovereign” ในปี ค.ศ. 1397 ภายใต้หลักการที่เรียกว่า  aeque principaliter 

นั่นคือ ทั้งสามอาณาจักรนี้จะอยู่ภายใต้พระมหากษัตริย์ในฐานะที่เสมอกัน และพระมหากษัตริย์จะปกครองอาณาจักรทั้งสามตามสิทธิ์และกฎหมายของแต่ละอาณาจักร โดยคงไว้ซึ่งสภาที่ปรึกษา (the royal councils) ที่แยกจากกัน นั่นคือ อภิชนในสภาที่ปรึกษายังมีอำนาจของตนเองอยู่
ต่อจากพระนาง Margaret  Erik  ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ที่สองแห่งสหภาพฯ

สวีเดนในยุคสหภาพคาลมาร์ (the Kalmar Union) ชาวนาได้ถูกคุกคามจาก Eric กษัตริย์เดนมาร์กที่เป็นกษัตริย์พระองค์ที่สองแห่งสหภาพ พระองค์พยายามจะจัดตั้งการปกครองที่รวมศูนย์ในแบบสมัยใหม่ขึ้น (a modern centralized government)

สำหรับทั้งสแกนดิเนเวีย มีการออกนโยบายเก็บภาษีที่โหดร้ายและไม่เคารพต่อกฎหมายของสวีเดน ทำให้ศาสนจักร อภิชน ชาวนาและชาวเหมืองในสวีเดนรวมตัวกันต่อต้านแข็งขืนต่อพระองค์ และภายใต้การนำของ  Engelbrekt Engelbrektsson 

.แบบจำลองรูปปั้น Engelbrekt ผู้นำกบฏ (ภาพ : วิกิพีเดีย)
ชาวนาติดอาวุธได้เข้าร่วมกับอภิชนและศาสนจักรในการทำศึกกับทหารของกษัตริย์แห่งสหภาพในปี ค.ศ. 1434 ในถ้อยคำของนักเขียนเยอรมันในช่วงเวลาดังกล่าวได้บันทึกไว้ว่า  “สวีเดนจะต้องกลับคืนสู่เงื่อนไขต่างๆ อย่างที่เคยเป็นในสมัย Erik (Erik the Holy กษัตริย์สวีเดนในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1156-1160) ที่ต่อมาได้รับการสักการะบูชาประดุจนักบุญของสวีเดน ในยุคของ Erik ไม่มีการเก็บภาษีอากรต่างๆกับชาวนา ที่ขณะนี้พวกเขากำลังต่อสู้เพื่อทวงสิทธิ์ของพวกเขาคืนกลับมา”  

ถ้าจะพิจารณาชาวนาในฐานะที่เป็นคนส่วนใหญ่ (the many) ของกลุ่มกบฏภายใต้การนำของ Engelbrekt ที่เป็นเอกบุคคล จะพบว่า อาจจะมีการประเมินชาวนาที่สูงเกินไป เพราะจากการศึกษาวิจัยในยุคสมัยใหม่ได้ชี้ให้เห็นว่า การต่อสู้ของชาวนามีความสอดคล้องกับกับเป้าหมายทางการเมืองของพวกอภิชนมาก ---ทำให้เกิดคำถามว่า การต่อสู้ของชาวนาเป็นกระแสของคนส่วนใหญ่เองจริงๆ หรือชาวนาถูกใช้หรือถูกครอบงำโดยพวกอภิชนมากกว่า

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่มีข้อสงสัยคือ การกบฏนี้มีความสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งในอิทธิพลทางการเมืองของชาวนาที่ส่งผลต่อเนื่องยาวนาน นั่นคือ การต่อสู้ในส่วนของชาวนาได้เร่งการเกิดรูปแบบของการเป็นตัวแทนในเวลาต่อมา ที่รู้จักกันในนามของ  สภาฐานันดร (Riksdag/ parliament) ที่เป็นที่ประชุมที่มีลักษณะของสภาการปฏิวัติในตอนแรกเริ่ม และเป็นที่ที่ชาวนามีตัวแทนที่เข้มแข็ง

ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ปรกตินี้ผนวกกับกับการกบฏต่อต้าน Erik แห่ง Pomerania และผลประโยชน์ของพ่อค้าคนเมือง (burghers) และชาวนา ได้สะท้อนออกมาในการตัดสินใจทางการเมืองที่สำคัญๆ ต่อมาในช่วงสงครามกลางเมืองในตอนกลางศตวรรษที่สิบห้า ที่กองกำลังชาวนาได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการเป็นกำลังที่สำคัญยิ่งหลายครั้ง โดยเฉพาะต่อในการต่อต้านการรุกรานของเดนมาร์ก

จะเห็นได้ว่า ชาวนาถือเป็นปัจจัยทางการทหารที่สำคัญในการเมืองสวีเดน (The Peasant as a Military Factor) ด้วย ชาวนาสวีเดนเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจทางการเมืองในปลายยุคกลางในการต่อสู้เพื่อปลดแอกสวีเดนจากอิทธิพลของสหภาพคาลมาร์ภายใต้เดนมาร์ก เพราะชาวนาถือเป็นกำลังในทางการทหารที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของชาวนาในสังคมสแกนดิเนเวีย นั่นคือ มีความเป็นกองทัพประชาชนหรือ  “ledung” 

ชาวนาคือคนส่วนใหญ่ (the many) พร้อมที่จะสนับสนุนกำลังคนหรือเรือ ให้ผู้นำหรือกษัตริย์ (the one) ซึ่งเห็นได้ชัดในสวีเดนในราวต้นศตวรรษที่สิบห้า ในช่วงสงครามระหว่างสวีเดนกับเดนมาร์ก กองกำลังชาวนาพิสูจน์ให้เห็นได้ชัดว่า ชาวนาสวีเดนสามารถปรับตัวเข้ากับการปฏิบัติการทางการทหารได้อย่างดี

จากการที่ชาวนาในฐานะที่เป็นคนส่วนใหญ่ (the many) และมีบทบาทสำคัญในฐานะที่เป็นกลุ่มคน ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิ์เสรีภาพพื้นฐานของชาวสวีเดนตามจารีตประเพณีการปกครองดั้งเดิมอันทำให้สวีเดนสามารถเป็นอิสระจากเดนมาร์กได้แล้ว ชาวนายังเป็นกองทัพประชาชนที่สามารถด้วย

หากพิจารณาชาวนาสวีเดนในความสัมพันธ์ระหว่างเอกบุคคลและอภิชน (the one and the few) จะพบว่า ชาวนาเป็นพันธมิตรที่สำคัญของผู้นำหรือผู้สำเร็จราชการในการต่อสู้เพื่อปลดแอกสวีเดนจากสหภาพคาลมาร์ (Swedish Peasants in Alliance with the Regents) ในช่วงต้นศตวรรษที่สิบหก ด้วยความสามารถทางการทหารของชาวนาสวีเดนทำให้มีชาวนามีบทบาททางการเมืองที่อิสระพอสมควร ซึ่งความเป็นอิสระนี้มีรากฐานจากจารีตประเพณีการประชุมตัวแทนท้องถิ่นหรือ ting ของสวีเดนที่มีความโดดเด่นกว่ารัฐอื่นๆ ในยุโรปในช่วงเวลาเดียวกัน

ในตอนปลายยุคกลาง สัดส่วนในการถือครองที่ดินในสวีเดน จะพบว่า กษัตริย์ถือครองที่ดิน ร้อยละ 5.6 อภิชนร้อยละ 20.7 ศาสนจักรร้อยละ 23.3 ส่วนชาวนาเสรีที่ครองที่ดินและต้องจ่ายภาษีครอบครองที่ดินถึงร้อยละ 52.4 จะเห็นได้ว่า สิทธิ์เสรีภาพและอิสรภาพดั้งเดิมของชาวนายังได้รับการพิทักษ์รักษาไว้พอสมควรในสวีเดน จากการที่ชาวนาสวีเดนเป็นกำลังทหารที่ดีที่ทำให้พวกเขามีค่าในสายตาของผู้มีอำนาจทางการเมือง ทำให้ชาวนามีอิทธิพลในระดับหนึ่งและถือเป็นหลักประกันพื้นฐานต่อสิทธิ์เสรีภาพของพวกเขาด้วย

 และหลังจากเข้าสู่ความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ในกลางศตวรรษที่สิบหกในรัชสมัยของ Gustav Vasa บทบาทของ ting ได้ลดน้อยถอยลง และสิทธิ์อำนาจของ ting ได้ถูกย้ายไปสู่สภาฐานันดรที่มีตัวแทนของฐานันดรชาวนาเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจทางการเมือง 


กำลังโหลดความคิดเห็น