มีข่าวน่าตกใจมากสำหรับประเทศที่ประกาศว่า เป็นประชาธิปไตยเกิน 100% ซึ่งคุณสมบัติเบื้องต้นสำหรับความเป็นประชาธิปไตย ก็คือ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะสำหรับสื่อสารมวลชน ซึ่งนอกจากการรายงานข่าวอย่างเที่ยงตรงเที่ยงธรรม (ไม่นั่งเทียนเขียนข่าว และให้น้ำหนักเท่าเทียมกันระหว่างผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา เป็นต้น)
สื่อมวลชนในประเทศประชาธิปไตยชั้นนำนิยม การแสดงความคิดเห็นผ่านบทบรรณาธิการต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันในสังคม
ยิ่งสำหรับประเทศประชาธิปไตยจ๋าอย่างสหรัฐฯ แล้ว การที่บทบรรณาธิการของนสพ.หลักๆ จะออกมาฟันธงในเรื่องที่กำลังอื้อฉาว เป็นเรื่องธรรมดามาก โดยต้องมีการแสดงจุดยืนที่เป็นธรรมต่อสังคมหรือการมองไปข้างหน้า สำหรับอนาคตของชาติหรือต่ออนาคตของโลกเรานี้
ในเรื่องการเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯ นั้น เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาเกือบ 200 ปี ที่นสพ.หลักๆ ของสหรัฐฯ จะมีบทบรรณาธิการที่ฟันธงประกอบเหตุผลว่า นสพ.ฉบับดังกล่าวมองว่า จะขอสนับสนุนผู้สมัครรายใดรายหนึ่ง บนพื้นฐานเหตุผลเพื่อผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศชาติ หรือเพื่ออนาคตของโลกเรานี้ด้วย
แต่ปรากฏว่า ปีนี้จะเป็นปีแรกที่นสพ.อายุเกือบ 150 ปี 2 ฉบับ ได้ทำการควบคุมตัวเอง ยอมปิดปากตัวเองที่จะไม่มีการแสดงจุดยืนทางการเมืองว่า อยากสนับสนุนผู้สมัครคนใด ด้วยเหตุผลว่าเขาดีกว่าฝ่ายตรงข้ามอย่างไร?
ฉบับแรกอายุ 143 ปีคือ LA Times (ตั้งแต่สมัยปธน.ลินดอน ด้วยซ้ำ) ปีนี้กองบรรณาธิการถูกเบรกจากเจ้าของและผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งเป็นคนเอเชียอเมริกันชื่อ Patrick Soon-Shiong (เขาได้ใช้เงิน 500 ล้านเหรียญซื้อนสพ.ฉบับนี้ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว)
นสพ. LA Times เป็นสื่อที่อิสระมาก เป็นนสพ.ใหญ่แห่งภูมิภาคตะวันตกของสหรัฐฯ ที่มีรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐใหญ่สุด (ความจริงเป็นรัฐที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดของสหรัฐฯ ทีเดียว)
ซึ่งผู้อ่าน LA Times ส่วนใหญ่ก็คือ ฐานเสียงของกมลา แฮร์ริส ซึ่งเป็นชาวเมืองโอ๊คแลนด์ และเคยเป็นถึงอัยการของรัฐนี้ ก่อนจะได้รับเลือกเป็น สว.ของรัฐนี้เช่นกัน
ต้องอธิบายเล็กน้อยว่า การแสดงจุดยืนทางการเมืองต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือต่อผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง จะไม่เข้าไปมีน้ำหนักบดบังความเป็นกลางหรือความเที่ยงตรงเที่ยงธรรมในการรายงานข่าวหน้า 1 แต่อย่างใด โดยสื่อหลักเหล่านี้ จะรายงานโดยให้น้ำหนักเท่าๆ กันระหว่างผู้สมัครที่กำลังมีคะแนนนำอยู่
แน่นอนหัวหน้าคณะบทบรรณาธิการเป็นหญิงชื่อ มาเรียล กาซา (Mariel Gaza) ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้ากองบก.ทันที และมีกรรมการกองบก.อีกหลายคนได้ลาออกตาม
เธอให้เหตุผลว่า “ในเวลาที่กำลังเกิดอันตรายต่อประเทศชาติ ผู้มีใจเที่ยงธรรมจำเป็นต้องลุกขึ้นสู้ การลาออกของดิฉันก็เป็นวิธีการที่ดิฉันกำลังลุกขึ้นสู้นั่นเอง
เธอมองว่า คนส่วนใหญ่ของแคลิฟอร์เนียก็จะสนับสนุนกมลาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่บทบรรณาธิการของนสพ.จะสนับสนุนกมลา... ไม่น่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคะแนนแต่อย่างใด
เธอถูกคำสั่งของบก.ใหญ่แทรี่ ถัง (Terry Tang) เป็นผู้สั่งการเมื่อ 22 ตุลาคม ซึ่งใกล้วันลงคะแนนเหลือเพียง 13 วันเท่านั้น ไม่น่าจะทำให้เกิดผลต่อการลงคะแนน เพราะคนส่วนใหญ่ได้ไปลงคะแนนล่วงหน้าแล้ว
สำหรับประวัติคร่าวๆ ของ LA Times คือ ตั้งแต่ปีแรก 1881 ที่ออกจำหน่าย จะมีการแสดงจุดยืนสนับสนุนปธน.จากพรรครีพับลิกันมาตลอด จนถึงปธน.ริชาร์ด นิกสัน ในปี 1972... และเมื่อเกิดเหตุ Water Gate ซึ่งเป็นเรื่องฉาวโฉ่มากจนนิกสันต้องเลี่ยงการถูกถอดถอน (จาก สส., สว.ของพรรคตัวเอง) ด้วยการชิงลาออก... ประกอบกับมีการเปลี่ยนโครงสร้างทางประชากร ที่มีคนหลายเชื้อชาติอพยพเข้ามา จึงทำให้ประชากรส่วนใหญ่เปลี่ยนจากผิวขาวเป็นหลายผิวสีผสมผสาน และจุดยืนทางการเมืองก็เปลี่ยนไปจากอนุรักษนิยม (พรรครีพับลิกัน) มาเป็นเดโมแครตมากขึ้น
หลังการ Endorsed ปธน.นิกสัน แล้วเกิดความโกลาหลเรื่อง Water Gate ทำให้ LA Times หยุดการแสดงออกในการเลือกตั้งปธน.ถึง 30 ปี (1976-2004)
ถึงปี 2008 ก็ได้เริ่มแสดงจุดยืนบทบรรณาธิการ โดยสนับสนุนบารัค โอบามา และหลังจากนั้นก็สนับสนุนผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งปี 2012, 2016, 2020
มีข้อสังเกตด้วยว่า เจ้าของใหม่ของ LA Times ที่เข้ามาซื้อกิจการเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ขณะที่นสพ.เริ่มมีปัญหาทางการเงิน (เพราะกำลังเข้าสู่ยุคโซเชียล มีเดีย)
เจ้าของคนใหม่นี้ สนิทสนมกับอีลอน มัสก์ มาก เพราะเป็นนักธุรกิจที่เติบโตมาจากประเทศแอฟริกาใต้ด้วยกัน และทั้งคู่ได้เข้าครอบครองสื่อยักษ์ (อีลอน มัสก์ เข้าซื้อทวิตเตอร์แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น X)
ทันทีที่เกิดความโกลาหลที่กองบก. LA Times ส่งผลต่อผู้รับเป็นสมาชิกนสพ.นี้ได้ถอนสมาชิกภาพใน 2-3 วัน ถึง 2 แสนคน และยังทยอยบอกเลิกอยู่ขณะนี้
อีกฉบับคือ วอชิงตัน โพสต์ ที่มีอายุ 147 ปี ซึ่งเจ้าของคนใหม่คือ เจฟฟ์ เบโซส ซึ่งเป็นเจ้าพ่อค้าปลีกทางออนไลน์ยักษ์ (Amazon) และธุรกิจทางอวกาศ (Blue Origin)…ก็ได้มีคำสั่งสายฟ้าแลบเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคมนี้เอง ไม่ให้มีบทบรรณาธิการสนับสนุนกมลา แฮร์ริส เป็นปธน. และหัวหน้าบก.หน้าความคิดเห็นก็ได้ยื่นใบลาออกจากคณะกองบก.พร้อมสตาฟทั้งทีม (แต่ยังคงสถานะเป็นนักเขียน, นักข่าวอยู่)
เจฟฟ์ เบโซส ต้องออกมาอธิบายยาวยืดว่า ขณะนี้ความน่าเชื่อถือของสื่อสารมวลชนได้ลดลงอย่างมากจากประชาชน จึงไม่ต้องการให้ประชาชนสับสนมากยิ่งขึ้นต่อการแสดงจุดยืนทางการเมืองของนสพ.
ฟังดูก็ไม่น่ามีน้ำหนักนักสำหรับคำอธิบายนี้ โดยเฉพาะทางวอชิงตัน โพสต์ ซึ่งได้รอจนถึงอาทิตย์เกือบสุดท้ายก่อนถึงวันลงคะแนน ซึ่งจากโพลหลายแห่ง ปรากฏว่ามีผู้ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจแค่ไม่ถึง 3% ; ยิ่งใกล้วันลงคะแนนก็แทบจะตัดสินใจได้แล้วถึง 100% ดังนั้น
การแสดงจุดยืนของนสพ.ไม่น่าส่งผลต่อคะแนนผู้สมัครในการแพ้ชนะแต่อย่างใด
แต่มีรายงานออกมาจากสื่ออื่นๆ ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เรียกซีอีโอของ Blue Origin ของเจฟฟ์ เบโซส ไปพบก่อนหน้าบทบรรณาธิการของวอชิงตัน โพสต์ จะเผยแพร่การสนับสนุนเพียง 2 วันเท่านั้น!
ประกอบกับเมื่อปี 2016 ที่ทรัมป์ชนะฮิลลารี นั้นทาง Amazon และ Blue Origin ถูกตรวจสอบมากมายอย่างผิดสังเกต เหมือนเป็นการเอาคืนจากปธน.ทรัมป์ ที่ไม่พอใจที่วอชิงตัน โพสต์ ได้แสดงจุดยืนสนับสนุนฮิลลารี!!
ครั้งนั้น Blue Origin กำลังเจรจากับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เพื่อรับจ้างทำโปรเจกต์ด้านอวกาศ (เช่นเดียวกับ SpaceX ของอีลอน มัสก์) ซึ่งโอกาสที่ทรัมป์จะชนะเลือกตั้งก็ดูมีอยู่มากทีเดียว เมื่อใกล้ๆ วันลงคะแนน
ความเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น ที่จะตามลงโทษใครที่เคยอยู่ฝ่ายตรงข้ามของทรัมป์ ปรากฏให้เห็นหลังจากเขาเข้ามาเป็นปธน.สมัยแรก; ซึ่งเหล่าซีอีโอบริษัทยักษ์ต่างตระหนักดีกับสันดานอันนี้ของผู้นำที่มองผลประโยชน์ของตนเองใหญ่กว่าของชาติ (ตรงนี้อาจตรงกับผู้นำบางตระกูลของไทยบางคน ที่เจ้าคิดเจ้าแค้นเช่นกัน)
ในภาพยนตร์ประวัติของทรัมป์เรื่อง The Apprentice ที่กำลังฉายอยู่ปัจจุบันได้สะท้อนถึงวิธีการไต่เต้าทางธุรกิจของทรัมป์ที่ไม่ชอบมาพากล และจะต้องชนะอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ว่าจะมาจากร้อยเล่ห์สักเท่าใดก็ตาม
จนวันนี้สื่อยักษ์ 2 ฉบับของสหรัฐฯ ถึงกับยอมปิดปากตนเอง เพื่อเลี่ยงที่จะอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับทรัมป์