xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“แก่ - เหงา – เปย์” เหยื่อชั้นดี “โรแมนซ์สแกม” หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในยุคที่โซเซียลมีเดียเข้ามาเป็นเครื่องมือคลายความเหงา “แอปฯ หาคู่ – กลุ่มหาคนรู้ใจ” และการเข้าสู่สังคมสูงวัย “ยิ่งแก่ - ยิ่งเหงา” ทำให้ผู้คนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อ “โรแมนซ์สแกม (Romance Scam)” ยินยอมพร้อมเปย์หมดหน้าตัก เพราะติดกับดักกลเกมหลอกให้หลงรัก ติดอยู่ในห้วงฝันหวานสร้างวิมานในอากาศ  

ภัยคุกคามทางไซเบอร์  “โรแมนซ์สแกม” นอกจากไม่ใช่เรื่องใหม่ ยังเกิดขึ้นซ้ำซากด้วยรูปแบบการหลอกที่ไม่ต่างไปจากเดิม กรณีล่าสุดตกเป็นข่าวดัง  “ผอ. AI หลอกให้รัก”  เรื่องราวของสาวใหญ่วัย 62 ปี หลังสามีเสียชีวิตได้ประมาณ 3 เดือน จึงคิดอยากจะหาคนรู้ใจไว้พูดคุยแก้เหงาจึงเข้าเฟซบุ๊กกลุ่มหาเพื่อนคลายเหงา วัยเกษียณ หาคู่ใจ จนไปพบกับ “ผอ. AI หลอกให้รัก” โดยอ้างว่าเป็น ผอ. โรงเรียนในภาคอีสาน พูดคุยกันเกิดอาการคลั่งรัก ถูก ผอ. AI หลอกให้โอนเงินลงทุน สูญเงินเกือบ 3 แสนบาท

ที่น่าตระหนกตกใจ ลูกหลานสังเกตเห็นความผิกปกติการทำธุรกรรมทางเงิน จึงมีการตรวจสอบพบว่าา ผอ. AI ไม่มีตัวตนและเป็นสแกมเมอร์ ทว่า เธอก็ยังปักใจเชื่อในตัว ผอ. AI อย่างสุดใจ กระทั่งญาติมีการนำตัวไปพบแพทย์จนพบว่าป่วยมีทางจิตเวชจากอาการลุ่มหลง

ข้อมูลจากศูนย์บริหารรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เก็บสถิติตัวเลขคดีหลอกให้รักและโอนเงินออนไลน์ หรือโรแมนซ์สแกม ระหว่าง 1 มี.ค. 2565 - 31 ม.ค. 2567 พบว่ามีคดีที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับโรแมนซ์สแกมจำนวน 3,323 คดี มูลค่าความเสียหายมากกว่า 1,154 ล้านบาท คิดเฉลี่ยความเสียหายคดีละประมาณ 34,752 บาท

 นอกจากนี้ สถิติการหลอกลวงหลอกให้รักโรแมนซ์สแกม มักเกิดขึ้น 4 ประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย 

สำหรับรูปแบบของ โรแมนซ์สแกม (Romance Scam) มักใช้เทคนิคทางจิตวิทยาสร้างความเชื่อใจเหยื่อหลอกให้รัก โดยมีเป้าหมายหลอกให้รักแล้วชวนลงทุน (Hybrid scam) หลอกให้รักแล้วกดลิงก์/ดาวน์โหลดแอปรีโมท (Remote access scam) ทำการดูดเงินในบัญชี หรือหลอกให้รักแล้วแบล็คเมล์ (Sextortion) ขู่กรรโชกทางเพศ เป็นต้น

โรแมนซ์สแกมจะเลือกเหยื่อที่เป็น  คนโสด หย่าร้าง เป็นม่าย หรือเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง  หนุ่มใหญ่สาวใหญ่แสวงหารักแท้ แทรกซึมความเหงาหลอกให้เหยื่อเคลิบเคลิ้มหลงรัก รูปแบบของโรแมนซ์สแกมจะสร้างโปรไฟล์ปลอม ใช้ภาพถ่ายคนอื่นให้ดูดีน่าเชื่อถือ หรือสร้างคาแรกเตอร์ AI หลอกลวง บวกกับใช้คำหวานหว่านล้อมให้รัก จากนั้นล่อลวงแล้วโอนเงิน

ที่น่าสนใจคือรูปแบบ  “ไฮบริดสแกม”  ที่มีชั้นเชิงกว่า “โรแมนซ์สแกม” โดยหลอกให้วาดฝันนำเงินมาสร้างชีวิตร่วมกัน การลงทุนต่างๆ เทรดหุ้น เทรดทอง สกุลเงินดิจิทัล จากแอปฯ ปลอม เป็นต้น

 พล.อ.ต. อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การหลอกลวงออนไลน์ที่พบว่ายังเป็นปัญหาที่รุนแรงและแก้ไขได้ยากคือ เรื่องของโรแมนซ์สแกมเพราะเมื่อเหยื่อหลงเชื่อแล้วเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เหยื่อเลิกเชื่อ

ยกตัวอย่างคือ มีเคสเข้ามาปรึกษา แต่เมื่อกลับไปก็ยังคงหลงเชื่อมิจฉาชีพที่มาหลอกให้รัก แม้ สกมช. จะมีการนำรูปภาพของผู้ที่ถูกสวมรอยบุคคลในต่างประเทศมายืนยันกับเหยื่อ ก็ไม่สามารถทำให้เหยื่อเชื่อคำพูดของเจ้าหน้าที่ได้

เคสของ สกมช. พบผู้เสียหาย อายุ 70 ปี โอนเงินไปให้กับมิจฉาชีพแล้ว 34 ล้านบาท และกำลังจะขายบ้านเพื่อนำเงินไปให้อีก 5 ล้านบาท เหยื่อส่วนมากกว่าจะรู้สึกตัวว่าถูกหลอกก็หมดตัว ซึ่งมูลค่าความเสียหายของโรแมนซ์สแกมถือเป็นยอดที่สูงมาก

พล.อ.ต. อมร เปิดเผยว่าโลกปัจจุบันที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่กับความเหงา ทำให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพประเภทหลอกให้รักแล้วให้โอนเงินหรือชวนลงทุนหรือโรแมนซ์สแกมอย่างง่ายดาย

ยกตัวอย่าง มิจฉาชีพจะนิยมเล็งเหยื่อที่มีสามีหรือมีภรรยาแล้ว อาศัยการจับตาความเคลื่อนไหวของเป้าหมายบนสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ผู้หญิงคนหนึ่งมีสามีแต่ไม่โพสต์ภาพสามี ชีวิตมีแต่ตนเองกับลูก หรือผู้ชายคนหนึ่งมีภรรยาแต่ไม่โพสต์ภาพภรรยา มีแต่ภาพตนเองไปตีกอล์ฟ ลักษณะนี้คือความเหงากำลังได้ที่ มิจฉาชีพก็จะค่อยๆ คืบคลานเข้ามา และเมื่อติดกับดักโรแมนซ์สแกมไปแล้วจะแก้ยากอย่างยิ่ง นอกจากเหยื่อจะปักใจเชื่ออย่างไม่สมเหตุสมผล ยังมีเรื่องของสารเคมีในสมองการเติมเต็มสารโดปามีนทำเหยื่อรู้สึกถวิลหา ส่งผลต่อพฤติกรรมยอมโอนเงินตามที่มิจฉาชีพต้องการ

 พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน  รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เปิดเผยว่า โรแมนซ์สแกม ไฮบริดสแกม คือ รูปแบบหนึ่งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปีๆ หนึ่งมีเหยื่อสูญเงินให้กับขบวนการนี้ ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เฉพาะในเรื่องของการหลอกลงทุนอย่างเดียว ขณะที่ภาพรวมของการหลอกทุกรูปแบบของแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะอยู่ประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี หรือ 80-100 ล้านต่อวัน

จากข้อมูลข้างต้น โรแมนซ์สแกมจะเลือกเหยื่อที่เป็น คนโสด หย่าร้าง เป็นม่าย หรือผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง สบช่องความเปลี่ยวเหงาเข้ามาหลอกให้รักเพื่อโอนเงิน

ที่น่ากังวลอย่างที่สุด คือ “กลุ่มคนสูงวัย” ซึ่งเป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ของมิจฉาชีพออนไลน์ ข้อมูลจากตำรวจไซเบอร์เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่าผู้สูงอายุวัยเกษียณส่วนใหญ่ ยังการขาดความรู้ทางเทคนิคในการใช้โซเชียลมีเดีย มีอุปนิสัยไว้ใจคนง่าย ใช้ชีวิตโดดเดี่ยวเผชิญความเปลี่ยวเหงา ที่สำคัญคือมีเงินเก็บ และมักติดโทรศัพท์มือถือ แก๊งโรแมนซ์สแกมจะทำงานเป็นขบวนการ คอยจับตาดูพฤติกรรมและเจาะฐานข้อมูลออนไลน์ของเหยื่อ โดยวิธีการหลอกผู้สูงอายุของกลุ่มมิจฉาชีพยังคงเป็นวิธีการเดิมๆ เช่น หลอกให้รัก, หลอกเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ, หลอกให้กดลิงก์ซื้อสินค้า, หลอกทำธุรกรรม เป็นต้น

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสิงคโปร์ และอีกไม่ถึง15 ปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุของไทยจะแซงหน้าสิงคโปร์

อ้างอิงข้อมูลจากโครงการศึกษาสถานการณ์ภัยคุกคามทางออนไลน์ ปี 2567 โดย สสส. และ จุฬาฯ พบว่า คนไทยกว่า 36 ล้านคน ถูกหลอกลวงออนไลน์และตกเป็นผู้เสียหาย 18.37 ล้านคน โดยพบผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อเพิ่มสูงขึ้นถึง 22 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ สาเหตุที่กลุ่มผู้สูงอายุตกเป็นเป้าจนกลายเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางการเงินทางออนไลน์จำนวนมาก มีเหตุผลรองรับ คือ 1. ภาวะที่ความสามารถทางสติปัญญาของผู้สูงอายุลดลง สมองเสื่อม การฝ่อของสมองส่วนหน้า โดยเฉพาะสมองส่วนหน้าฝ่อ เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้มนุษย์คิดอย่างมีเหตุมีผล การคิดเชิงตรรกะ (Logical Thinking) 2. ความยืดหยุ่นของระบบประสาทลดลง ทำงานได้ช้าไม่ดีเท่าเดิม 3. การเลือกจำ 4. ความเหงา ผู้สูงอายุบางคนอยู่คนเดียว บ้างอยู่กับลูกหลานแต่ส่วนใหญ่ก็ออกไปทำงานกันหมด เพราะฉะนั้นความเหงา พอใครที่เข้ามาคุยด้วยก็จะเชื่อ 5. รอคอยไม่ได้ตัดสินใจทันที ทำให้ผู้สูงอายุโดนหลอกง่าย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลุ่มสูงวัยหัวใจเปลี่ยวกำลังตกเป็นเป้าของ “โรแมนซ์สแกม” ปั้นโปรไฟล์ หลอกให้รัก หลอกเปย์จนหมดตัว หรือที่จริงแล้ว “ยิ่งแก่ - ยิ่งเหงา” ยินยอมตกเป็นเหยื่อ “โรแมนซ์สแกม” แบบรู้ว่าเขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก

 น่าติดตามว่า ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะหยุดยั้งมูลค่าความเสียหายคดีโรแมนซ์สแกมที่พุ่งไม่หยุดนับหมื่นล้านได้หรือไม่? อย่างไร?  



กำลังโหลดความคิดเห็น