xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ส่องวิกฤต “คนทิ้งหมา” “เจ้าตูบหาบ้าน” เข้าคิวรอ “นายใหม่”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -   สถานการณ์ “สุนัขจรจัดล้นเมือง” เป็นโจทย์ข้อยากที่ยังรอการแก้ไข้ เพราะเป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทย สุนัขจรจัดกระจายอยู่แทบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ขณะที่โลกออนไลน์เปิดเพจ “หาหมาบ้าน” ส่งมอบโอกาสแก่สุนัขจรจัดและสุนัขที่เจ้าของไม่พร้อมเลี้ยงให้เจอครอบครัวใหม่รับอุปการะ แต่มิวายเกิดดรามาเปิดช่อง “คนทิ้งหมา” สุดเวทนาสุนัขพันธุ์ราคาแพง ประกาศหาบ้านใหม่ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ที่ดูยังไงก็เป็นข้ออ้างผลักภาระให้พ้นตัว 

กล่าวสำหรับการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยงในเมืองไทย มีกฎหมายกำกับดูแลชัดเจนตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ตามมาตรา 22 เป็นส่วนที่เกี่ยวกับเจ้าของสัตว์ โดยระบุว่าเจ้าของต้องจัดให้สัตว์มีที่อยู่ น้ำ อาหาร ให้เหมาะสม และมาตรา 23 ระบุว่าเจ้าของห้ามปล่อยหรือละทิ้งสัตว์ ให้พ้นความดูแลของตนเอง ยกเว้นการยกให้คนอื่น ดังนั้นหากใครนำสัตว์ไปทิ้งตามวัดหรือตามชุมชน ก็จะมีโทษตามมาตรา 23 ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือถ้าดูแลสัตว์อย่างไม่เหมาะสมแล้วมีคนร้องเรียนก็จะมีโทษเช่นกัน

 นายพงษ์เทพ เอกอุดมชัย  นายสัตวแพทย์ ชำนาญการพิเศษ กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ เปิดเผยสถานการณ์สุนัขในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า จากการสำรวจปี 2566 มีจำนวนสุนัขที่มีเจ้าของ 600,068 ตัว ส่วนแมวมีเจ้าของ 114,522 ตัว ขณะที่สุนัขจรจัดมี 10,902 ตัว แมวจรจัดมี 19,046 ตัว โดยพบว่าสุนัขเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพฯ กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ อาศัยอยู่ตามป่าและกองขยะ ส่วนที่อาศัยอยู่ตามวัดประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ และอยู่ในชุมชน 20 เปอร์เซ็นต์

หากพิจารณาถึงสาเหตุของปัญหาสุนัขเร่ร่อนตามพื้นที่ต่างๆ สืบเนื่องจากเจ้าของเดิมไม่มีความรับผิดชอบ บางคนเลี้ยงสุนัขเป็นพันธุ์ต่างประเทศ แต่พอมีอาการติดสัดแล้วไปผสมพันธุ์กับหมาพันทาง ทำให้ลูกที่ออกมาไม่เหมือนกับสุนัขที่เลี้ยงไว้ เลยเอาลูกสุนัขที่คลอดออกมาไปปล่อยวัด หรือทิ้งตามป่ารกร้างจนกลายเป็นสุนัขเร่ร่อน อีกทั้งการเลี้ยงสุนัข 1 ตัว ต้องดูแลรับผิดชอบประมาณ 20 ปี บางคนเลี้ยงไปสักพักก็ไม่มีเงินในการดูแลก็นำมาปล่อยในพื้นที่สาธารณะ

นอกจากนี้ พบว่าสุนัขที่มีเจ้าของจะเป็นสายพันธุ์ต่างประเทศ ส่วนสุนัขสายพันธุ์ไทยมีลดลง

ประเด็นที่ต้องจับตาก็คือ สุนัขเร่ร่อนที่อยู่ในป่าและกองขยะค่อนข้างน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีโอกาสเกิดการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า และเมื่อไม่มีอาหาร สุนัขเหล่านี้จะเข้าไปในชุมชนเพื่อหาอาหาร พอไปกัดกับสุนัขในชุมชนทำให้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้

กล่าวสำหรับ  “โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)” หรือ “โรคกลัวน้ำ”  นั้น ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ในปี 2566 พบผู้เสียชีวิต 6 คน แบ่งเป็น ชลบุรี 2 คน, ระยอง 1 คน, สุรินทร์ 2 คน และสงขลา 1 คน ส่วนข้อมูลล่าสุด ปี 2567 พบผู้เสียชีวิตที่จังหวัดยโสธร 1 คน

สำหรับการดำเนินการของในการลดจำนวนสุนัขจรจัดในพื้นที่กรุงเทพฯ กรมปศุสัตว์ดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และเร่งทำหมันเพื่อควบคุมประชากรสุนัข แต่กลับพบสุนัขเร่ร่อนที่มาจากคนเลี้ยงที่ไม่รับผิดชอบนำสุนัขมาปล่อย อีกทั้งเกิดปัญหาเรื่องการทำหมันสุนัข เช่น เมื่อยิงยาสลบได้สุนัข 1 ตัว แต่ตัวอื่นเริ่มรู้ตัวและหลบหนีไป หลังจากนั้นมีการผสมพันธุ์ทำให้เกิดลูกครอกใหม่สร้างปัญหาเพิ่ม

นอกจากนี้ ยังมีแนวทางเรื่องศูนย์พักพิงสัตว์ในการจัดการปัญหาสุนัขจรจัด โดย นายพีระบุญ เจริญวัย ประธานมูลนิธิและองค์กรสวัสดิภาพสัตว์ The Hope Thailand เปิดเผยว่า ศูนย์พักพิงของทั้งรัฐ เอกชน และ NGO มีพื้นที่รองรับเพียง 10% จากประชากรสุนัขทั้งหมด การผลักไสสุนัขไปอยู่พื้นที่อื่นจึงเป็นไปไม่ได้ ทางออกที่ดีที่สุดคือการจัดการสุนัขชุมชนให้อยู่คู่เมือง ซึ่งเป็นความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ เทศบาล ปศุสัตว์ มูลนิธิช่วยเหลือสัตว์ และกลุ่มคนรักสัตว์ ช่วยกันแก้ปัญหาให้สัตว์อยู่ร่วมกันคนในชุมชนได้อย่างปกติสุข หรือมีปัญหาน้อยที่สุด

ยกตัวอย่าง โครงการ “จรจัดสรร” พื้นเมืองทองธานี มีการทำหมันสุนัขแล้วประมาณ 60% ตามหลักให้เกิดประสิทธิผลต้องได้ถึง 80% โดยจะเร่งทำหมันต่อไป เพื่อไม่ให้จำนวนสัตว์เพิ่มจนเกิดภาวะวิกฤต นอกจากนี้ ยังดำเนินการหาบ้านให้สุนัขควบคู่ไปด้วย ทั้งลูกสุนัข หรือสุนัขลักษณะดี ส่วนตัวไหนหาบ้านไม่ได้ ต้องทำวัคซีน-ทำหมัน หาที่อยู่ในจุดที่เหมาะสม

แต่ไม่ใช่ว่าสัตว์ทุกตัวจะโชคดีได้รับโอกาสในการใช้ชีวิตใหม่กับผู้รักสัตว์ที่รับอุปการะ มีเพียง 10 % เท่านั้นที่ได้บ้าน ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่สูงแล้ว เพราะปกติแล้วลูกสุนัขจะหาบ้านได้ง่ายกว่าสุนัขโต

ขณะเดียวก็พยายามรณรงค์ด้วยการสร้างทัศนคติใหม่ให้เปลี่ยนจาก “ซื้อ” มาเป็น “การหา” สุนัขมาเลี้ยงแทน เพราะเป็นแนวทางที่จะช่วยลดจำนวนสุนัขจรจัดลงได้

“เลียม กัลลาเกอร์” อดีตนักร้องนำวงโอเอซิส บินข้ามประเทศเพื่อรับเลี้ยง “บัตตันส์ สุนัขไทยพันธุ์ทาง


 สำหรับการรณรงค์ไม่ให้ซื้อสัตว์เลี้ยง หรือ Adopt, don’t shop อยู่ในกระแสสังคมอย่างต่อเนื่อง ช่วงกลางปี 2567 ที่ผ่านมา  “เลียม กัลลาเกอร์”  อดีตนักร้องนำวงโอเอซิส ได้รับเลี้ยง  “บัตตันส์ (Buttons)” สุนัขจรจัดพันธุ์ทางจากประเทศไทย ทำให้กระแสสัตว์จรจัดที่ต้องการบ้านได้รับการพูดอยู่ไปทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีชาวต่างชาติรับเลี้ยงสุนัขจรจัดของไทยอีกจำนวนไม่น้อย

ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ การถือกำเนิดของ  Pet Influencer  อดีตสุนัขหลงสุนัขจรสู่เส้นทางซุปตาร์ ดังได้เพราะมีสตอรีน่าสนใจ มีคาแรกเตอร์ชัด ก่อนแจ้งเกิดผ่านทางโซเลียลมีเดีย อัพเกรดมีมูลค่าทางธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น กรณีของหมาพันธุ์ไทย  “หมูทะ”  จากอดีตหมาจรจนกลายเป็นหมาเซเลบ ที่ได้รับการปลุกปั้น โดย  นายยุทธภูมิ แก้วเข้ม  ผู้จัดการดาราชื่อดัง จากไวรัลเมาอุ้มกลับบ้านไปเลี้ยง

หรือยุคบุกเบิก  “กลูต้า”  จากหมาหลงสู่ถนนซุปตาร์ หมาพันธุ์ไทยสุดพราวเสน่ห์ด้วยรอยยิ้มมัดใจ และท่าทางเป็นมิตร รับเลี้ยงโดย นายสรศาสตร์ วิเศษสินธุ์ ที่หลงมาใต้หอพักสมัยยังเป็นนักศึกษา จนนำไปสู่การเปิดเพจ Gluta Story ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 2 ล้านคน สร้างมูลค่าสู่การต่อยอดเปิด  “บริษัท กลูต้าสตอรี่ จำกัด”  ดำเนินธุรกิจการแสดงทางธุรกิจและการแสดงสินค้า

อย่างไรก็ดี เมื่อไม่นานมานี้ “กลูต้า” ได้เสียชีวิตจากอายุที่มาก แต่ก็ทิ้งภาพ  “หมาหน้ายิ้ม”  ที่อยู่ในใจของแฟนคลับแบบไม่มีวันลืมจากความทรงจำ


 อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจคือ ในปัจจุบันโลกออนไลน์เมืองไทยได้เปิดพื้นที่  “หมาหาบ้าน”  ซึ่งเป็นช่องทางส่งต่อสุนัขจรจัดและสุนัขที่เจ้าของเก่าไม่พร้อมเลี้ยงสู่ครอบครัวใหม่ มีอยู่หลายเพจ อาทิ หมาหาบ้าน adopt me please, petmeyou.com หาบ้านให้น้องหมาน้องแมว กทม.-ปริมณฑล, SOS Animal Thailand Foundation หรือ Gluta Story Club เป็นต้น

แต่ที่กำลังถูกจับตามอง คือ กรณีเจ้าของไม่ต้องการเลี้ยงอีกต่อไปและนำมาประกาศหาบ้าน โดยเฉพาะกรณีสุนัขสายพันธุ์ต่างประเทศค่าตัวแพงๆ กับการประกาศหาบ้านใหม่ อาจเข้าใจได้ด้วยเหตุผลต่างๆ นานาที่ยกมากล่าวอ้าง และแม้เป็นการแสดงความรับผิดชอบด้วยการหาเจ้าของใหม่เลี้ยงดู แต่ก็ไม่อาจลบตราบาปในใจของผู้เป็นเจ้าของเก่าได้ เพราะอย่างไรก็ถูกมองว่าเป็นการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นตัวโปรดแสนรัก 

เกิดกลายเป็นคำถามในสังคม กลุ่ม “หมาหาบ้าน” เปิดช่อง “คนทิ้งหมา” อย่างชอบธรรมหรือไม่?

เจ้าของสุนัขพันธุ์ cocker speniel ประกาศหาบ้านใหม่ ระบุเหตุผลต้องไปทำงานที่อื่นไม่สามารถพาน้องไปได้

.




อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารรุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มาตรา 23 ก็เปิดช่องให้มีการ “ยกให้คนอื่น” ได้ เพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหากเจ้าของไม่พร้อมเลี้ยง และเพื่อป้องกันการผลักภาระสังคมเพิ่มประชากรสัตว์จรจัด

ดังนั้น ยังคงต้องติดตามสำหรับสถาการณ์ “สุนัขจรจัด” การแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า การควบคุมประชากรสุนัขด้วยการทำหมัน รวมทั้งแนวทางการจัดระเบียบสู่ “สุนัขชุมชน” เพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมเมือง ตลอดจนการสร้างทัศนคติ “รับเลี้ยงสัตว์” เป็นทางเลือกใหม่ๆ นอกเหนือจาก “ซื้อสัตว์เลี้ยง”

สุดท้าย คงได้แต่ภาวนาให้สุนัขไร้บ้านทุกตัว “กินอิ่ม-นอนอุ่น” ระหว่างที่รอภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาสัตว์จรจัดอย่างเป็นรูปธรรม

เพจรับเลี้ยงสุนัข 

หมาหาบ้าน adopt me please
-  petmeyou.com หาบ้านให้น้องหมาน้องแมว กทม.-ปริมณฑล
SOS Animal Thailand Foundation
Gluta Story Club 


กำลังโหลดความคิดเห็น