xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดแผน “ปั้มลูกช่วยชาติ” รับเงิน 3 พัน 7 ปี เน้นปริมาณ “ฝันค้าง…หนุนคุณภาพเด็ก”?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ไม่แน่แน่ใจว่านโยบาย “มีลูกเพิ่ม รับเงิน 3,000 บาท” ไอเดียของ “นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน “โยนหินถามทาง” มุ่งแก้โจทย์วิกฤตประชากร หนุน “แรงงานไทยมีลูกช่วยชาติ” รับมือสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานอย่างยั่งยืน เป็นการ “แก้วิกฤต” หรือ “ก่อวิกฤต” เพราะอีกมุมหนึ่งนอกจากเพิ่มภาระทางการคลัง ยังไม่สามารถการรันตีว่าเด็กจะเติบโตเป็นแรงงานคุณภาพ 

คงต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์  “เด็กเกิดน้อย” ติดอันดับกลุ่ม 23 ประเทศ ประชากรลด 50% ภายในปี 2643 กระทบโครงสร้างประชากรวัยแรงงานลดระดับต่ำสุดภายใน 60 ปี ซึ่งคาดการณ์เด็กไทยจะลดลง 9 เท่า จาก 10 ล้านคน เหลือเพียง 1 ล้านคนเท่านั้น

จากวิกฤตการณ์ดังกล่าว รัฐบาลไทยยกระดับการแก้ปัญหาเป็น “วาระแห่งชาติ” โดยเมื่อช่วงปลายปี 2566 กระทรวงสาธารณสุขได้ทำคลอดแคมเปญส่งเสริมการมีบุตร “ส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ”ภายใต้แนวคิด “Give Birth Great World การเกิดคือการให้ที่ยิ่งใหญ่”ทั้งนี้เพื่อยับยั้งปัญหาด้านโครงสร้างประชากรวัยแรงงาน

เรียกว่าส่งเสริมให้คนไทย “มีลูกช่วยชาติ”อย่างมีคุณภาพโดยรัฐพยายามสร้างกลไกพัฒนาประชากร ทั้งเรื่องความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตร รวมถึงการช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก แต่ยังไม่เห็นผลเชิงประจักษ์เท่าใดนัก

ล่าสุด กระทรวงแรงงาน มีแนวคิดเพิ่มอัตราการเกิดผ่านการยกระดับเงินสงเคราะห์บุตร สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 เตรียมทำคลอดนโยบายปั้มเด็ก  “แรงงานไทยมีลูกเพิ่ม รับเงินสงเคราะห์บุตร 3,000 บาท ตลอดระยะเวลา 7 ปี”  (จากเดิม 1,000 บาท) โดยเป็นแนวคิดของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

และถือเป็นการ  “โยนหินถามทาง”  อยู่ระหว่างหารือว่าเป็นไปได้หรือไม่?

สำหรับเงินสงเคราะห์บุตร ของสำนักงานกองทุนประกันสังคม ก่อนหน้านี้ให้ 800 บาทต่อเดือน แต่ในปี 2568 ให้เพิ่มเป็น 1,000 บาทต่อเดือน และผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกองทุนประกันสังคมเรียบร้อยแล้ว

ทว่า หากต้องการเพิ่มแรงจูงใจในการให้ผู้ใช้แรงงาน ตามมาตรา 33 มีบุตรเพิ่มอีก ก็ต้องเข้าใจถึงความกังวลของแรงงาน เมื่อคลอดบุตรแล้วจะมีภาระการเลี้ยงดูบุตร ทั้งการเรียนในสังคมเมือง มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง จึงมีแนวความคิดเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร จึงฝากฝังไปยังปลัดกระทรวงแรงงาน ให้หารือกับ บอร์ดประกันสังคม ผู้ใช้แรงงานตามมาตรา 33 พิจารณานโนยายมีบุตรเพิ่มจะให้ค่าสงเคราะห์บุตร

โดยเงื่อนไขเน้นรณรงค์ให้นำเด็กไปเลี้ยงดูในต่างจังหวัดหรือชนบท เพราะมองว่าสังคมชนบทจะได้เปรียบต้นทุนการเลี้ยงดูบุตรในชนบทถูกกว่า ดังนั้น ต้องสร้างจากชนบทกลับเข้ามาสู่เมือง เพราะสร้างจากเมืองไปสู่ชนบทยาก กล่าวคือ หากผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทํางานในเมือง เมื่อมีบุตรขอให้นําบุตรไปให้กับปู่ย่าตายายเลี้ยงดูในสังคมชนบท ก็จะได้สิทธิในการเลี้ยงดูบุตรทันที 3,000 บาท 7 ปี

 “ยอมรับว่าประกันสังคมต้องควักเงินอีกก้อนใหญ่ใหญ่ก้อนหนึ่ง แต่เป็นการสร้างความถาวร ให้กับแรงงานของประเทศไทยโดยการเพิ่มประชากรคนไทย ปัจจุบันนี้มีผู้ที่เกิดใหม่ กับผู้ที่เสียชีวิตไปไม่เท่ากัน ผู้เสียชีวิตมีมากกว่าคนที่เกิดใหม่ ดังนั้น คิดว่าประกันสังคมต้องสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกันตนว่าถ้าสามารถกําเนิดบุตรเพิ่มขึ้นหนึ่ง คนค่าเลี้ยงดูบุตรจะให้เพิ่มจาก 1,000 บาทต่อเดือน เป็น 3,000 บาทต่อเดือน” นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผย 

แนวคิดเพิ่มอัตราการเกิดผ่านการยกระดับเงินสงเคราะห์บุตร สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 แม้เป็นแนวคิดที่มีเจตนาดีในการยับยั้งปัญหาประชากรในอนาคต แต่ขณะเดียวกันเรื่องผลกระทบก็ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน

ในมิติเชิงบวกเป็นการกระตุ้นให้คนไทยมีบุตรมากขึ้น เป็นการเพิ่มจำนวนประชากรรับมือสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เป็นการลดภาระค่าครองชีพ สร้างคุณภาพชีวิตของครัวเรือน แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตร เสริมศักยภาพการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กทั้งด้านการศึกษาและสุขอนามัย รวมทั้ง เป็นการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท

แต่ในมิติเชิงลบจะเพิ่มภาระทางการคลัง กระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศ รวมทั้ง การจัดสรรงบประมาณของรัฐเพื่อการพัฒนาในด้านอื่นๆ และที่ต้องพิจารณาคือเรื่องของความยั่งยืนของนโยบายการเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร กล่าวคือต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาศักยภาพของเด็กให้เติบโตเป็นแรงงาน นอกจากนี้ การมุ่งเน้นเพิ่มปริมาณประชากรอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพ ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก ก่อให้เกิดปัญหาสังคมในระยะยาว เป็นต้น

อย่างไรก็ดี นโยบาย “มีลูกเพิ่ม รับ 3,000W มุ่งหวังแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน แต่การมุ่งเพิ่มจำนวนประชากรเพียงอย่างเดียว ไม่อาจตอบโจทย์ปัญหาประชากรในระยะยาวได้

อีกทั้งสถานการณ์ด้านประชากรที่สังคมไทยที่ผ่านมา นอกจากเด็กเกิดน้อยแล้ว เด็กเกิดใหม่ยังด้อยคุณภาพ เนื่องมากจากจำนวนไม่น้อยเกิดจาก  “วงจรพ่อแม่วัยใส”  มีลูกไม่พร้อม เผชิญปัญหาความยากจน

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
 แม้สถิติคุณแม่วัยใสลดลงเกินกว่าครึ่ง ในรอบ 10 ปี ล่าสุด อัตราการคลอดในวัยรุ่นของไทยลดลงกว่าเท่าตัวเหลือ 21 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน จากปี 2565 จากเดิมอยู่ที่ 53.4 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ในปี 2555 โดยภาครัฐตั้งเป้าหมายลดอัตราการคลอดของวัยรุ่นไม่เกิน 15 ต่อประชากรหญิง อายุ 15-19 ปี 1,000 คน ภายในปี 2570  

การคุมกำเนิดเด็กเกิดใหม่จากวงจรพ่อแม่วัยใส นับเป็นโจทย์ข้อใหญ่ที่ต้องทุกภาคส่วนต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ เพื่อป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อม ซึ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาประชากร

 สำหรับสถิติการเกิดย้อนหลัง 10 ปีของกรมการปกครอง พบว่าจำนวนการเกิดทั่วประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่ในปี 2557 มีเด็กเกิด 7.7 แสนคน เหลือ 5.1 แสนคนในปี 2566 ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุไทยในปี 2567 มีมากกว่า 13 ล้านคน 

บทความเรื่อง ระเบิดเวลาประชากร : เกิดน้อย แก่มาก ความท้าทายอนาคตไทย เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ tdri.or.th โดย

 ดร.สมชัย จิตสุชน  ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์สาเหตุที่คนไทยไม่อยากมีลูกมีอยู่หลายปัจจัย สภาพของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในปัจจุบัน เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่คู่สามีภรรยาบางคู่คิดว่า สังคมไทยอาจจะไม่ใช่สังคมที่น่าอยู่อีกต่อไป โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ต้นทุนในการเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพต้องมีค่าใช้จ่ายที่แพงมากขึ้นเรื่อยๆ และจะยิ่งแพงมากขึ้นต่อไปอีก ถ้าพ่อแม่มีความคาดหวังต่อลูกสูง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่เกี่ยวกับโครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่มีปู่ย่าตายายพี่ป้าน้าอาช่วยเลี้ยงเด็กได้ แต่ปัจจุบันครอบครัวเป็นครอบครัวขนาดเล็กลง ความช่วยเหลือดังกล่าวจึงน้อยลง

ทั้งนี้ ในหลายประเทศออกมาตรการสร้างแรงจูงใจให้คนมีลูก แต่ผลตอบรับไม่เป็นไปตามเป้ามากนัก เช่น ในสิงคโปร์ ได้สนับสนุนเงินจำนวนมากถึง 6 หลักและให้สวัสดิการอื่นๆ บางประเทศอนุญาตให้แม่ลาคลอดได้นานถึง 6 -12 เดือน หรือเปิดโอกาสให้พ่อใช้สิทธิลาคลอดแทนแม่ได้ เช่นเดียวกับรัฐบาลไทยที่เร่งทำคลอดนโยยายกระตุ้นการเพิ่มประชากรเด็กเกิดใหม่

 ดร.สมชัย มองว่า หากมาตรการของรัฐดำเนินได้ดี ก็อาจจะ “ตอบโจทย์” ให้คนตัดสินใจมีลูกได้มากขึ้น ซึ่งหนึ่งคือเรื่อง “การพัฒนาระบบการศึกษา” ให้โรงเรียนทุกแห่งมีคุณภาพที่ดีรวมถึงโรงเรียนรัฐที่ไม่ดัง ด้วย เพราะจะทำให้พ่อแม่รู้สึกมั่นใจว่าถ้ามีลูกๆ จะได้รับการศึกษาที่ดีโดยไม่ต้องจ่ายแพง 

ขณะเดียวกัน ควรสนับสนุนให้พ่อแม่ให้มีความสามารถในการเลี้ยงลูกระหว่างการทำงาน ด้วยการตั้งศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพในหน่วยงานหรือบริษัท เพื่อให้พ่อแม่นำลูกมาทำงานได้และฝากไว้กับศูนย์เด็กเล็กและเมื่อเลิกงานก็กลับบ้านพร้อมกัน หรือมีสถานรับเลี้ยงเด็กคุณภาพสูงใกล้ที่บ้านหรือที่ทำงาน รวมทั้งการส่งเสริมทักษะการเลี้ยงเด็กให้กับพ่อแม่ หรือคนเลี้ยงอย่างปู่ย่าตายายในครอบครัวแหว่งกลาง ที่มีช่องว่างระหว่างวัยของผู้เลี้ยงดู คือปู่ย่าตายาย กับตัวเด็กค่อนข้างมาก เพื่อให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสม

ดร.สมชัย เสนอแนะว่ารัฐควรมีนโยบายเชิงรุกสำหรับการจัดการปัญหาด้านประชากร ประการแรก คือรัฐบาลควรกำหนดให้การพัฒนาเด็กเยาวชนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยผู้ใหญ่ให้เป็นวาระแห่งชาติ และระดมทุกภาคส่วนราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมดำเนินการผลักดัน มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพของเด็กและเยาวชนทั้งที่เกิดแล้วและกำลังจะเกิดใหม่


 ชัดเจนว่าที่ผ่านมา รัฐบาลไทยสอบตกแก้โจทย์เพิ่มจำนวนประชากร และข้อสำคัญต้องเพิ่มปริมาณประชากรที่มีคุณภาพไม่ใช่มุ่งเน้นที่เพิ่มจำนวน และแม้จะทำคลอดนโยบายกระตุ้นการมีบุตร แต่ยังขาดมาตรการที่เป็นรูปธรรมรองรับประชากรเกิดใหม่ให้มีคุณภาพ ยิ่งไปกว่านั้นไม่มีอะไรการันตีว่าจะไม่มีเด็กเกิดใหม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

และนับเป็นโจทย์ข้อยาก ภาครัฐจะทำอย่างไรให้คนไทยอยากมีลูกมากขึ้นโดยสมัครใจ?  


กำลังโหลดความคิดเห็น