xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“กนง.” ลดดอก “อิ๊งค์” คิกออฟฟื้นศก.แสนล. ดันไทยพ้น “แชมป์โตต่ำบ๊วย” ได้ “กี่โมง”?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อต่อยอดการแจกเงินหมื่น
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ต้านกระแสไม่ไหว สุดท้ายคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปี จาก 2.50 เป็นร้อยละ 2.25 ต่อลมหายใจลูกหนี้ที่แบกดอกบานมายาวนาน และน่าสังเกตว่าเป็นจังหวะเดียวกันกับที่รัฐบาลคิกออฟโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต่อยอดแจกเงินหมื่น พอดิบพอดีเป็นการจบศึกยกแรกหลังไฝว้กันมาหลายยก ถึงขั้นที่รัฐบาลจะส่งคนการเมืองเข้าไปเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติกันเลยทีเดียว 

การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อผ่อนแรงกดดันครั้งนี้ เรียกว่าสร้าง เซอร์ไพรส์ พอสมควร เพราะหลายฝ่ายคาดหมายว่ากนง.คงจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงประมาณปลายปี 2567

 สักกะภพ พันธ์ยานุกูล  ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ กนง. แถลงผลการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ว่า กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.50 เป็นร้อยละ 2.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ถือเป็นการลดแรงกดดันจากรัฐบาล และลดแรงเสียดทานจากภาคเอกชนที่ร่ำร้องให้ กนง.ลดดอกเบี้ยลงเช่นกัน เพราะธุรกิจแบกต้นทุนการเงินจากดอกเบี้ยสูงไม่ไหวแล้ว สวนทางกับกำไรของบรรดาแบงก์พาณิชย์ที่เติบโตเบ่งบาน

 อย่างไรก็ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่า การที่ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมรอบนี้ ไม่ใช่เพราะแรงกดดันทางการเมือง แม้จะมีภาพการหารือระหว่าง พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ซึ่งการลดดอกเบี้ยรอบนี้เกิดขึ้นหลังประมวลภาพแล้วมองว่ามี room เพียงพอที่จะสามารถปรับสมดุลในการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน และลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลงได้ และรอดูว่าการก่อหนี้ใหม่จะเป็นอย่างไร 

สำหรับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.จะพิจารณาจาก 3 ด้านหลักคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน หรือหนี้ครัวเรือน ซึ่งขณะนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อไม่ได้แตกต่างไปจากที่คาดการณ์ไว้

กนง. คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้จะอยู่ที่ 2.7% จากประมาณการเดิม 2.6% และในปี 2568 ขยายตัว 2.9% จากประมาณการเดิม 3.0% ซึ่งแรงขับเคลื่อนหลักยังมาจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคเอกชน และมีปัจจัยเสริมจากภาคการส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งผลจากมาตรการเงินโอนของภาครัฐ 10,000 บาท ที่ให้กับกลุ่มเปราะบาง

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อใกล้เคียงกับที่เคยประเมินไว้ คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ อยู่ที่ 0.5% และปี 2568 อยู่ที่ 1.2% การที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำมีปัญหามาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง และการนำเข้าสินค้าที่มีต้นทุนต่ำ อย่างไรก็ดี คาดว่าเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่ขอบล่างของเป้าหมาย 1-3% ในช่วงปลายปีนี้

สักกะภพ ยืนยันว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการปรับลดเพื่อรอดูผล กนง. คาดหวังว่าจะเห็นการส่งผ่านสถาบันการเงินไปถึงประชาชนในอัตราใกล้เคียงกันกับในช่วงที่ผ่านมาที่มีการปรับลดดอกเบี้ยในอดีต คือ อย่างน้อยเกือบครึ่งหนึ่ง คาดว่าการส่งผ่านคงจะไม่ช้านัก

ทันทีที่ กนง.ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ตลาดหุ้นดีดตัวขึ้นอย่างแรง โดยตลาดหุ้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ปิดที่ 1,485.01 จุด เพิ่มขึ้น 19.98 จุด (+1.36%) มูลค่าซื้อขาย 77,221.07 ล้านบาท

 ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า กนง. มีมติลดดอกเบี้ย 0.25% สร้างเซอร์ไพร์ซให้ตลาด ส่งผลให้ performance ดีกว่าตลาดหุ้นเอเชียที่อ่อนตัวตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยตลาดหุ้นมีแรงซื้อเข้ามามากในกลุ่มไฟแนนซ์ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทที่มีหนี้สูง โดยเฉพาะ TRUE หวังช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายลง

 บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ประเมิน การลดดอกเบี้ย0.25% หุ้นไทยมีโอกาสทะยาน 1,490-1,500จุด โดยหุ้น 4 กลุ่มได้ประโยชน์ คือ ไฟแนนซ์ เช่น บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (MTC), บมจ. เงินติดล้อ (TIDLOR), บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) กลุ่มโรงไฟฟ้า และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เช่น บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) (AP), บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) (SIRI) และกลุ่มได้ประโยชน์จากบาทอ่อน เช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (CPF) เป็นต้น

 รัฐศักดิ์ พิริยะอนนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย มองว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอยู่เหนือความคาดหมายที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นบวกต่อหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ จากต้นทุนการเงินของบริษัทที่ลดลง และช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับภาคประชาชน โดยเฉพาะตัวที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งเช่น AP และ SIRI

ก่อนหน้าที่ กนง. จะเคาะลดดอกเบี้ยหนึ่งวัน  พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หวังเห็น กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบายลงในวันที่ 16 ตุลาคม 2567 และในช่วงปลายปีควรลดอีก 0.25% เพราะการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ถือเป็นเรื่องที่ธนาคารกลางเข้ามาช่วยดูแลเศรษฐกิจเมื่อมีปัญหาหรือเติบโตต่ำกว่าที่ควร ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จะเข้ามาช่วยอัดฉีด เช่น ธนาคารกลางของจีนที่อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเพิ่ม 2 ล้านล้านหยวน ทำให้เศรษฐกิจจีนยังเติบโตได้ถึง 4% ต่อปี ส่วนเศรษฐกิจไทยตลอดสิบปีที่ผ่านมาขยายตัวได้แค่ 1% กว่าๆ เท่านั้น ขณะที่ค่าบาทแข็งส่งผลกระทบภาคส่งออก

 เขามองว่า นับแต่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนนี้เข้ามาเศรษฐกิจไทยโดยรวมไม่ขยายตัวเลย จากปี 2563 ที่เจอโควิด-19 ติดลบไป 6.1% ปีต่อมาขยายตัวได้ 1.5% ปี 2565 ขยายตัว 2.6% ปี 2566 ได้แค่ 1.8% โดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยยังไม่ถือว่าขขยายตัวจากช่วงก่อนโควิดเลย แบงก์ชาติก็ต้องทราบและต้องหาทางมาช่วยกันทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นดีกว่า ส่วนกรอบเงินเฟ้อที่เหมาะสมควรอยู่ที่ประมาณ 2-3% จากเดิมที่กำหนดไว้ 1-3% ความหมายคือ หากกำหนดกรอบเงินเฟ้อแคบขึ้นจะทำให้การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้นซึ่งจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจ 

พิชัย ยังเสนอแนะให้มีข้อกำหนดให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหน้าที่ต้องไปแถลงตัวเลขเศรษฐกิจ และตอบคำถามเรื่องเศรษฐกิจที่รัฐสภา เหมือนกับที่ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ต้องมารายงานให้รัฐสภาทราบ และเปิดโอกาสให้ สส. และ สว.ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชนได้ซักถามแนวคิดและการตัดสินใจต่างๆ ของธปท. หากมีข้อกำหนดแบบนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการที่การเมืองเข้าไปแทรกแซงการทำงานของธปท. แต่อย่างใด เพราะคนที่ถามถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชน

 สนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เชื่อการลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.เป็นตัวเลขที่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยตอนนี้ และทำให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป เอื้อต่อการส่งออกและภาคท่องเที่ยวแข่งขันได้ดีขึ้น ต้นทุนผู้ประกอบการและประชาชนที่แบกรับภาระดอกเบี้ยลดลง จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น

การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. สอดประสานไปในทิศทางเดียวกันกับ สหรัฐฯ หรือ จีน ที่ดำเนินการล่วงหน้าก่อนแล้ว โดยธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.30% สู่ระดับ 2.00% เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 เป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ส่วนคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00% เมื่อวันที่ 17-18 กันยายน 2567 เป็นการครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2563 ที่ Fed ได้ปรับลดดอกเบี้ยลงใกล้ 0% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นเดียวกันธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 โดยเป็นการปรับลดครั้งที่สองของปีนับจากเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ในวันเดียวกันที่ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้คิกออฟ  “โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ”  เพื่อต่อยอดการแจกเงินหมื่น โดยคาดหมายว่าจะเกิดเม็ดเงินสะพัดสูงถึงแสนล้านเลยทีเดียว

“นายกฯ อิ๊งค์” ประกาศส่งไม้ต่อด้วยโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เน้นไปยังผู้ประกอบการรายเล็ก ที่มีอยู่มากถึง 95% ของผู้ประกอบการทั้งหมด ถือเป็นรากฐานของเศรษฐกิจไทย กำหนดเวลาโครงการนี้ 5 เดือน เริ่มกันยายน 2567 สิ้นสุด มกราคม 2568

 ส่วนแรก ลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการรายเล็ก เช่น ลดค่าเช่าแผงและพื้นที่ของหน่วยราชการและมีเอกชนเข้าร่วมด้วย โดยลดค่าเช่า 50% ในตลาดใหญ่ 12 แห่งในกรุงเทพฯ ให้พ่อค้าแม่ค้าประมาณ 11,000 ราย และกระทรวงพาณิชย์ หน่วยราชการ ยกเว้นค่าเช่าให้ผู้ประกอบการกว่า 3 พันราย อีกทั้งยังร่วมกับไปรษณีย์ไทยและหน่วยราชการ สภาเกษตรกรแห่งชาติ หอการค้าไทย สำนักงานส่งเสริมฯ SMEs ลดค่าส่งสินค้า

 สอง  เพิ่มพื้นที่ขายให้ผู้ประกอบการรายเล็ก เช่น กระทรวงกลาโหม นำพื้นที่ค่ายทหารมาทำเป็นตลาดนัด มหาดไทย ใช้ลานหน้าศาลากลางจังหวัด จัดตลาดพาณิชย์กว่า 1,300 ครั้งในพื้นที่ทั่วไทย และส่วนที่สาม คือ ลดค่าครองชีพให้ประชาชน จัดมหกรรมสินค้าลดราคา มีเอกชนผู้ผลิตสินค้า ห้างฯ ปั๊มน้ำมัน แพลตฟอร์มขายออนไลน์ รวม 130 ราย ซึ่งมีสาขาย่อยกว่าแสนสาขาเข้าร่วมลดราคาสินค้าในโครงการนี้ โดยรัฐบาลคาดว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากถึง 110,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่ารัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร จะเร่งปั๊มเศรษฐกิจ แต่รายงานอัพเดทเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (East Asia and Pacific Economic Update) จัดทำและเผยแพร่โดยธนาคารโลก (World Bank) ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม 2567 กลับปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีไทย ปี 2567 ลดลงจากที่เคยประเมินก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ 2.8% มาอยู่ที่ 2.4% แม้ว่าจะมีโครงการ Digital Wallet ส่วนคาดการณ์ปี 2568 ประเทศไทยจะขยายตัวได้ที่ 3.0%

 เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียน พบว่า ปี 2567 ไทยยังมีอัตราการขยายตัวของจีดีพีต่ำกว่าประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 6.0% มาเลเซีย 4.9% อินโดนีเซีย 5.0% เวียดนาม 6.1% ส่วนจีน 4.8% 

ธนาคารโลกชี้ว่า การบริโภค การลงทุน การส่งออก การใช้จ่ายภาครัฐ ภาคบริโภคเอกชนหลายประเทศยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ไทยเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม คือการบริโภคของเอกชนลดลง การส่งออกมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้เล็กน้อยมากต่างจากมาเลเซีย

ในปี 2568 เอเชียและไทยต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงและความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจสูงมาก ทำให้ภูมิภาคนี้แม้จะเติบโตแต่ก็เป็นอัตราชะลอตัวที่ 4.4% เนื่องจากการชะลอตัวของจีนจากปัจจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์อ่อนแอ ความเชื่อมั่นบริโภคและนักลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำ ยังไม่รวมปัญหาสังคมสูงวัยและความตึงเครียดทั่วโลก แม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาแต่เป็นการยกระดับการเติบโตในระยะสั้น ขณะที่การเติบโตในระยะยาวยังต้องดูการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง จึงคาดกว่าปี 2568 เศรษฐกิจจีนจะเติบโตได้เพียง 4.3%

ขณะที่  KKP Research เกียรตินาคินภัทร  ระบุว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว แต่ KKP Research ปรับประมาณการเศรษฐกิจสำหรับปี 2567 ขึ้นจาก 2.6% เป็น 2.8% และปี 2568 ขึ้นจาก 2.8% เป็น 3.0% เพื่อสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น จากสองปัจจัยบวกที่สำคัญ คือการแจกเงินหมื่น และงบกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมทั้งการส่งออกในสินค้าบางกลุ่ม ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ภาคการผลิตบางกลุ่ม และการบริโภคสินค้าคงทนยังคงเป็นปัจจัยฉุดเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา

 รอติดตามกันต่อไปว่า เมื่อดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงแล้ว เงินหมื่นแจกกลุ่มเปราะบางไปแล้ว ตามด้วยโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะช่วยให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นสักกี่มากน้อย  


กำลังโหลดความคิดเห็น