ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถึงเวลาสังคายนาช้างเลี้ยงเพื่อการท่องเที่ยว จากเหตุสะเทือนใจคนรักสัตว์ กรณีช้างตาบอด “ช้างพังฟ้าใส” - “พังพลอยทอง” ของศูนย์บริบาลช้าง Elephant Nature Park ในพื้นที่ ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ จมน้ำตายเพราะเคลื่อนย้ายไม่ทัน นับความสูญเสียอันเป็นบทเรียนสำคัญ กระทั่งกลายเป็นดรามาสนั่นเมืองในประเด็น “ช้างเลี้ยงคน” ในธุรกิจ “คนเลี้ยงช้าง” จัดตั้ง “มูลนิธิ” ซุกธุรกิจท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หรือไม่?
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ เป็นผลจากภัยธรรมชาติที่เกิดจากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงสุดขั้ว นำมาซึ่งปริมาณน้ำฝนที่ไหลหลั่งลงสู่แหล่งน้ำจำนวนมหาศาล มวลน้ำไหลหลากจากป่าสู่เมือง ทะลักเข้าสู่พื้นที่ที่ลุ่มต่ำ ลำน้ำแม่แตงเอ่อล้นตลิ่ง ไหลบ่าเข้าท่วมปางช้างที่เรียงรายอยู่ริมน้ำ สร้างความเสียหายอย่างหนัก
5 ต.ค. 2567 สปอร์ทไลท์สาดแสงไปที่ศูนย์บริบาลช้าง “Elephant Nature Park” ว่า เหตุใดจึงเคลื่อนย้ายช้างไม่ทัน จนเกิดเหตุสลดสุดเวทนาช้างจมน้ำตาย “ช้างล้ม 2 เชือก” รวมทั้งระดมคนเข้าอพยพช้าง 126 เชือก และสัตว์เลี้ยงที่ป่วยพิการ เช่น สุนัข แมว หมู ควาย และอีกหลายพันตัว ด้วยความทุลักทุเล
คำถามมีอยู่ว่า เหตุใดจึงเป็นปางช้างแห่งเพียงแห่งเดียวจาก 20 กว่าปางในพื้นที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่เกิดการสูญเสียรุนแรง ทั้งที่มีประกาศเตือนล่วงหน้าจากทางการให้เร่งอพยพสัตว์ใหญ่จากภัยพิบัติน้ำท่วมภาคเหนือ อีกทั้งประเด็นดรามาเรื่องช้างเลี้ยงคน เรื่องการจัดโปรแกรมทัวร์ช้างในห้วงเวลาน้ำท่วม เรื่องวิธีการเลี้ยงช้างแบบสุดโต่ง
ทั้งหมดกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก นำสู่การถอดบทเรียนในสังคม
สพ.ญ.นฤพร กิตติศิริกุล – หมอมามี ทีมสัตวแพทย์หมอช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวอธิบายเกี่ยวกับกรณีน้ำท่วม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบกับปางช้างในพื้นที่ เป็นเหตุให้ช้างจำนวนมากจมน้ำ และล้มไปแล้ว 2 เชือก รวมทั้งยังสูญหายอีกหลายเชือก ความว่า
“ปางช้างในส่วนแม่แตงมีกว่า 20 ปาง ที่อยู่บนถนนเส้นเดียวกัน พื้นที่เดียวกัน และได้รับผลกระทบกันทั้งหมด มีตั้งแต่ปางที่มีช้างหลัก 2 - 3 เชือกไปจนถึง 100 เชือก คละกันไป แต่ปางที่ได้รับความสนใจทั้งการช่วยเหลือด้านการเงินอย่างมากล้น และความช่วยเหลือจากสื่อหลักกลับเป็นแค่ปางเดียว
“มีการแจ้งเตือนเรื่องน้ำล่วงหน้าแล้ว ทำให้แต่ละปางมีการเตรียมการตั้งรับ ย้ายช้างขึ้นที่สูง ทำให้ไม่เกิดอันตราย ซึ่งข้อนี้ต้องยกให้พี่ควาญช้างและเจ้าของ ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับช้าง ฝึกให้ช้างเข้าใจการจับบังคับ (เปรียบเทียบคล้ายกับฝึกให้น้องหมาเข้าใจการใช้สายจูง คำสั่งลุกนั่งนอน) สามารถขี่-จูงช้างไปได้อย่างปลอดภัยทั้งคนทั้งช้าง + เมื่อสามารถสื่อสารได้เข้าใจก็สามารถพาไปไหนก็ได้อย่างอิสระ ร่วมกับการใช้โซ่ลามไว้ในบริเวณที่ปลอดภัย ซึ่งสามารถปรับความยาวสั้นของโซ่ได้ ไม่ต้องพึ่งกรงหรือคอก”
จากข้อเท็จจริงข้างต้น สะท้อนกลับไปที่วิธีการเลี้ยงช้างของ Elephant Nature Park ซึ่งดำเนินงานอนุรักษ์ช้างไทยและช่วยเหลือช้างแก่และช้างพิการ รวมทั้งเปิดให้ผู้สนใจเข้าสัมผัสประสบการณ์ใกล้ชิดธรรมชาติและดูแลช้างอย่างใกล้ชิด ภายใต้การดูแลของ นางแสงเดือน ชัยเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริบาลช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม
หนึ่งในประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แนวคิดหลักการเลี้ยงช้างของ Elephant Nature Par แห่งนี้ “ช้างที่นี่ ไม่ติดโซ่ ไม่ใช้ตะขอ ไม่ทุบตี” ซึ่งทาง ผอ.แสงเดือน เปิดใจว่าเป็นประเด็นดรามามานาน ถึงขนาดมีการร้องเรียนหน่วยงานรัฐ กล่าวหาถึงขั้นว่าทำลายวัฒนธรรมไทยด้วยการไม่ใช้โซ่และตะขอ
อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ช้างเติบโตมากับแนวคิดห้ามใช้อุปกรณ์อะไร จับ แตะ สัมผัส ออกคำสั่ง เมื่อช้างไม่เคยชินกับสิ่งเหล่านี้ก็จะตั้งท่าเตรียมสู้ทันทีเพราะคิดว่าเป็นอันตราย ซึ่งในมุมหนึ่งการเลี้ยงแบบสุดโต่งนั้นเป็นปัญหา เมื่อช้างไม่เคยชินกับอุปกรณ์และคำสั่ง ก็ย้ายจะควบคุม เช่น กรณีการเคลื่อนย้ายช้างที่ถูกเลี้ยงแบบสุดโต่ง ต้องฝ่าน้ำสูงน้ำเชี่ยวไปยังพื้นที่ปลอดภัยเป็นสิ่งที่ยากมาก
“วิถีการเลี้ยงช้างดั้งเดิมของคนไทยทำให้เกิด bonding ระหว่างคนและช้าง จนสามารถอพยพช้างส่วนใหญ่ให้พ้นภัยได้เกือบทั้งหมด แต่กลับกันการเลี้ยงช้างอีกวิถีทำให้เกิดข้อจำกัดมากมายขึ้น ซึ่งถ้าวิถีการเลี้ยงช้างไม่สุดโต่งมากขนาดนี้ คนที่มีแนวคิดนี้ ไม่ไปว่าการเลี้ยงช้างดั้งเดิมจนเสียๆ หายๆ ลามไปถึงต่างประเทศแอนตี้การเลี้ยงช้างดั้งเดิม จนเลือกแบนและไม่เที่ยว มันก็น่าจะเป็นภาพที่ทุกคนร่วมด้วยช่วยกันฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้อย่างดี...” สพ.ญ.นฤพร กิตติศิริกุล ทีมสัตวแพทย์หมอช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ อธิบายวิธีการเลี้ยงช้างที่ทำให้เกิดข้อจำกัดในการช่วยเหลือในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
อีกกระแสที่มีการวิพากษ์วิจาณ์อย่างหนัก เรื่องโปรแกรมทัวร์ช้างในช่วงเวลาน้ำท่วม ซึ่งในประเด็น น.ส.แสงเดือน ชัยเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริบาลช้าง Elephant Nature Park อ.แม่แตง ชี้แจงประเด็นโปรแกรมทัวร์จองข้ามปี ความว่าเรื่องการขายทัวร์ในวันน้ำท่วม โปรแกรม Volunteer มีการจองล่วงกันมาข้ามปี จะมีปฎิทินในเว็บไซต์อย่างชัดเจน และวันที่เกิดอุทกภัยประกาศแจ้งปิดให้อาสาสมัคร และนักท่องเที่ยวได้ทราบในจดหมายข่าวอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตั้งข้อสังเกตเรื่องเรื่องระบบการเลี้ยงช้างที่เหมาะสม ความว่าปางแห่งอื่นๆ ได้รับการเตือนเรื่องน้ำป่าได้ขนย้ายช้างออกมาก่อนตั้งแต่ปลาย ก.ย. เขาฟังคำเตือนอพยพช้าง และให้ควาญพาช้างเดินออกมา แต่สำหรับปางที่เป็นข่าวกลับพบว่ายังเปิดรับนักท่องเที่ยวตลอดจนถึงวันที่ 4 ต.ค. 2567 ที่เพิ่งโพสต์ยกเลิกทั้งที่วิกฤตแล้ว
แม้ทางศูนย์ฯ แจ้งว่ามีควาญประจำทุกเชือก ทั้งที่รู้ว่ามีช้างป่วย พิการ ถ้ามีมากกว่าช้างที่ดูแลอยู่ คงไม่มีภาพที่สื่อมาคือช้างตาบอด ต้องลุยน้ำออกมาเอง เท่าที่ทราบตอนนี้ไม่ได้มีควาญประจำ เพราะถ้ามีควาญประจำช้างต้องเซฟช้าง
“ปางอื่นทำไมถึงรอดหมด แล้วทำไมปางนี้ถึงมีช้างล้ม ความสงสารภายหลังเป็นเรื่องที่เราเข้าใจได้ แต่สาเหตุเหล่านี้ก็สามารถป้องกันได้ ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ต้องมีเวลาในการอพยพ ไม่ใช่ทำได้ปุ๊บปับทันที อีกทั้งเครื่องมือที่ใช้ก็ไม่เหมือนสัตว์ทั่วไป การวางแผนรับมือจริงไม่มีควรลักษณะอย่างที่เกิดขึ้น” นายแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งคำถามเช่นกัน
ทั้งนี้ นายแทนคุณเรียกร้องให้มีมาตราการในการขึ้นทะเบียนช้างอย่างจริงจัง ตลอดจนมีแนวทางในการอพยพและการบังคับอพยพในกรณีผู้ที่บริบาลช้างดื้อแพ่ง หรือเกิดการปฏิเสธการช่วยเหลือ ในส่วนนี้กลไกของรัฐควรเข้ามากำกับดูแลคุณภาพชีวิตของสัตว์ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะช้างอย่างเข้มงวด
ประเด็นต่อมา เรื่องรายได้ของปางช้างเสนอว่าควรให้มีการเปิดเผย ให้มีความโปร่งใสตรวจสอบได้เพื่ออุดช่องโหว่หาผลประโยชน์ โดยเฉพาะสถานที่ที่จดทะเบียนทั้งมูลนิธิหรือในนามของคนรักสัตว์ แต่ในความจริงกลับสะท้อนให้เห็นเพียงแสวงหาผลประโยชน์จากสัตว์
“เลี่ยงไม่ได้ ช้างเลี้ยงคน คนเลี้ยงช้าง” น.ส.กัญจนา ศิลปะอาชา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวพร้อมให้ความเห็นว่า ถึงเวลาสังคายนาช้างเลี้ยงเพื่อการท่องเที่ยว ในมุมคนเลี้ยงต้องจัดสวัสดิภาพในการดูแลช้าง ซึ่งกรมปศุสัตว์มีมาตรฐานในการจัดการปางช้างแล้ว เมื่อยังต้องใช้ช้างทำงานต้องใช้อย่างมีคุณธรรม เพราะช้างเขาพูดไม่ได้
น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง มกษ 6413-2564 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับรองมาตรฐานด้านปศุสัตว์และได้รับมอบหมายจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ให้เป็นผู้ออกใบอนุญาตผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้างได้เปิดให้ผู้ประกอบการปางช้างขอใบอนุญาตผู้ผลิตสินค้าเกษตรและขอรับรองมาตรฐานปางช้างซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับแก่ผู้ประกอบการปางช้างทั่วประเทศ
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ กรมปศุสัตว์ สำรวจข้อมูลที่อยู่หรือที่พักช้างทั่วประเทศพบว่า มี 236 แห่ง ซึ่งสถานที่ที่ประกอบกิจการเลี้ยงหรือรวบรวมช้างเพื่อการท่องเที่ยว การแสดง หรือประกอบกิจการอื่นที่แสวงหาประโยชน์จากช้าง ที่เข้าข่ายมาตรฐานบังคับ ได้รับใบอนุญาตผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง 179 แห่ง ส่วนผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานปางช้างมี 54 ปาง ที่เหลืออยู่ระหว่างตรวจประเมินให้ครบทุกราย
การออกใบอนุญาตผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับและใบรับรองมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับปางช้าง มกษ 6413-2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการเลี้ยงและการจัดสวัสดิภาพช้าง ตลอดจนเป็นการป้องกันการทารุณกรรมช้างตามหลักสากล สืบเนื่องจากช้างมีบทบาทด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย และได้สร้างรายได้ที่สำคัญของประเทศ ทั้งในส่วนเศรษฐกิจ ภาพลักษณ์ และอัตลักษณ์ของการท่องเที่ยวของประเทศ จึงต้องกำหนดมาตรการความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว บุคลากรในปางช้างและช้าง การจัดการเลี้ยงที่ถูกต้อง การดูแลสวัสดิภาพและสุขภาพช้างให้เหมาะสม การป้องการทารุณกรรมช้าง ตลอดจนลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนในส่วนของการท่องเที่ยวที่เป็นระบบ
การกำหนดมาตรฐานปางช้างบังคับเป็นไปตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ปางช้างที่เข้าข่ายมาตรฐานบังคับได้แก่ สถานที่ที่ประกอบกิจการเลี้ยงหรือรวบรวมช้างเพื่อการท่องเที่ยว การแสดง หรือประกอบกิจการอื่นที่แสวงหาประโยชน์จากช้าง ไม่ว่าจะเก็บค่าดูหรือค่าบริการในทางตรงหรือทางอ้อมหรือไม่ก็ตาม หากผู้ประกอบการปางช้างไม่ได้รับใบอนุญาตผู้ผลิตฯ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานปางช้างต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท มาตรฐานบังคับดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงการเลี้ยงช้างในครัวเรือนและการเลี้ยงช้างไว้ใช้แรงงานเช่น การชักลาก อย่างไรก็ตาม เจ้าของช้างทุกรายจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557
ทั้งนี้ จากการสำรวจขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก พบว่าประเทศไทยได้รับการจัดว่าเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวช้างในเอเชีย โดยดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 39.8 ล้านคน ในปี 2562 แต่ข้อมูลที่น่าสนใจระหว่างปี 2553 – 2563 จำนวนช้างที่ตกอยู่ในสวัสดิภาพย่ำแย่ที่สุดได้เพิ่มขึ้นถึง 135%
ดังนั้น จะเห็นว่า ช้างไทยเป็นหนึ่งในแรงดึงดูดของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองสร้างสรรค์เศรษฐกิจท่องเที่ยว ดังนั้น มีความจำเป็นต้องกำกับดูแลสวัสดิภาพของช้าง
ล่าสุด กรมปศุสัตว์ จัดทำร่าง “พ.ร.บ.ช้าง พ.ศ. …” ฉบับแรก โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาแล้ว เห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงได้ส่งถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดทำร่าง “พ.ร.บ.ช้าง พ.ศ. …” ช้างเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญและเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไทย ดังนั้น เพื่อการคุ้มครอง และดูแลรักษาช้าง ป้องกันมิให้นำช้างป่ามาสวมสิทธิเป็นช้างบ้านโดยมิชอบ การนำช้างมาเร่ร่อนเพื่อแสวงหาประโยชน์ การนำช้างออกนอกราชอาณาจักรแล้วไม่นำกลับเข้ามาในราชอาณาจักร การกำกับดูแลให้ช้างเลี้ยง ได้รับการเลี้ยงดูและมีการจัดสวัสดิภาพอย่างเหมาะสม ป้องกันไม่ให้มีการทารุณกรรมช้าง ให้มีการจดทะเบียนช้าง
รวมทั้งการขอใบอนุญาตประกอบกิจการเกี่ยวกับช้าง การจัดทำมาตรฐานการเลี้ยงช้าง (ปางช้าง) รวมถึงการป้องกัน การลักลอบค้างาช้าง และผลิตภัณฑ์ช้าง โดยคำนึงถึงถึงวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตและอาชีพของราษฎร ตลอดจน การปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
บทเรียนจากกรณีการสูญเสีย “ช้างพังฟ้าใส” - “พังพลอยทอง” แห่งปางช้างชื่อดัง จากสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ ต.กื้ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อคุณภาพชีวิตช้างไทย และที่ต้องจับตา “คนเลี้ยงช้าง - ช้างเลี้ยงคน” ทั้งในรูปแบบมูลนิธิและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จะนำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีของช้างสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยได้หรือไม่?