xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศึกไฝว้ “เพื่อไทย” แทรก “แบงก์ชาติ” เดิมพันเศรษฐกิจเสี่ยงหายนะ “รัฐบาลอิ๊งค์” จะดันทุรังต่อหรือพอแค่นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 แพทองธาร ชินวัตร
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกว่าไฝว้กันมาหลายยกระหว่างแบงก์ชาติกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่สมัยอดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน มาจนถึง “รัฐบาลอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ที่ประจวบโอกาสเหมาะเพราะประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนเก่าหมดวาระลง การเมืองจึงเล็งส่งขุนพลคนสำคัญคือ “เดอะโต้ง” - กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน) และอดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาเสียบแทน 

แต่การวางหมากครั้งนี้ มิใช่เรื่องง่ายแค่ดีดนิ้วก็ผ่านฉลุยตามกระบวนการที่เซทกันมาล่วงหน้า อย่างที่รู้กันว่าแบงก์ชาตินั้นปราการสกัดกั้นการเมืองเข้าแทรกแซงสูงใช่ย่อย ไม่เช่นนั้น  เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ คงหลุดจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปแล้ว จากการออกมาขวางนโยบายเรือธงแจกเงินหมื่นดิจิทัลของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และนโยบายตรึงดอกเบี้ยนโยบายที่ไปคนละทางกับรัฐบาลที่อยากให้ลดดอกเบี้ยลง

หวยล็อกประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ที่ชื่อ  กิตติรัตน์ ณ ระนอง  จึงเกิดการพลิกล็อกและเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด ทั้งที่เตรียมการกันมาดิบดี

การคัดเลือกประธานคณะกรรมการแบงก์ชาติ หรือบอร์ดแบงก์ชาติ มาแทนที่  ปรเมธี วิมลศิริ ที่หมดวาระลงช่วงกลางเดือนกันยายน 2567 นั้น โชยกลิ่นการเมืองแทรกตั้งแต่การตั้งคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อดูจากรายชื่อ 7 อรหันต์ชุดนี้ จะเห็นว่าไม่มีอดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เข้ามาร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งผิดปกติไปจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ ชุดก่อนๆ หน้านี้

 สำหรับรายชื่อคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติครั้งนี้ มี สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์, วิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, วรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ, อัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสุทธิพล ทวีชัยการ อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) 

ส่วนบุคคลที่ถูกเสนอชื่อชิงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ มีทั้งหมด 9 คน แบ่งเป็นสัดส่วนของ ธปท. 6 คน และกระทรวงการคลัง 3 คน ซึ่งเต็งหนึ่งที่กระทรวงการคลัง เสนอ คือ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ทว่า การประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ที่มีรายงานเคาะกันเสร็จสรรพว่า กิตติรัตน์ นอนมา กลับกลายเป็นว่ายังไม่ได้ข้อสรุป

 วิเรขา สันตะพันธุ์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า ฝ่ายเลขานุการฯ ขอขยายระยะเวลาเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเพื่อให้การพิจารณาคัดเลือกมีความรอบคอบที่สุด และจะรวบรวมกลับมานำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยเร็ว

ถือเป็นการแตะเบรกหลังมีกระแสคัดค้านดังระงมว่าการเมืองแทรกแซงแบงก์ชาติ และตั้งคำถามถึงคุณสมบัติของผู้ได้รับการคัดเลือก ซึ่งเป็นนักการเมืองจากค่ายเพื่อไทยชัดเจน

เมื่อย้อนกลับไปดูระเบียบว่าด้วยการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือก การเสนอชื่อ การพิจารณา และการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานกรรมการ หรือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เอาไว้ 8 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ (4) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่ง มาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

ประเด็นสำคัญที่ต้องตรวจสอบให้ชัดเจน คือ ในฐานะ “ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน)” ที่ กิตติรัตน์ เพิ่งพ้นจากตำแหน่งไปพร้อมกับการสิ้นสุดของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นั้น เป็นคุณสมบัติต้องห้ามตามระเบียบดังกล่าว (4) ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า “เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่ง มาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี” หรือไม่

 กิตติรัตน์ ณ ระนอง

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

 สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์
 หากย้อนกลับไปพินิจคำให้สัมภาษณ์ของ เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12มิถุนายน 2567 ช่วงที่มีกระแสข่าวว่า กิตติรัตน์ จะไปนั่งเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาตินั้น อดีตนายกฯ เศรษฐา ระบุชัดเจนว่า “นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นไม่ได้อยู่แล้ว เพราะนายกิตติรัตน์ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งตามความเข้าใจของตนเองถ้าจะมาเป็นตำแหน่งนี้ (ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ) ก็ต้องออกจากทุกตำแหน่งมาระยะเวลา 1 ปี”  

หากชัดเจนเช่นนั้นแล้ว คำถามคือ แล้วเหตุไฉน รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ถึงดึงดันส่ง กิตติรัตน์ ขึ้นประธานบอร์ดแบงก์ชาติอีก? 

ในเส้นทางการเมืองนั้น กิตติรัตน์ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2554 ต่อมาในเดือนมกราคม 2555 โยกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และในเดือนตุลาคม 2555 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

และเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 กิตติรัตน์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในการโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยขาดความชอบธรรม

ต่อมาในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 กิตติรัตน์ ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 11 แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคเพื่อไทยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ล่าสุดปี 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โดยมีชื่อของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานที่ปรึกษา

เรื่องคุณสมบัติต้องห้ามก็ต้องตรวจสอบกันไป แต่ที่เป็นประเด็นใหญ่มากหาก กิตติรัตน์ ขึ้นเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ได้จริงนั่นคือการทลายปราการสกัดกั้นการเมืองเข้าแทรกแซงแบงก์ชาติ เพราะต้องไม่ลืมว่าคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไป ซึ่งกิจการและการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551

นั่นหมายถึงแม้ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ จะไม่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายการเงินโดยตรง แต่มีอำนาจในการประเมินผลงานของผู้ว่าการธปท. มีส่วนร่วมคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกเข้ามาเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายชุดต่างๆ การกำกับดูแลสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ตลอดจนการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศ และการสรรหาผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่ ที่จะมาแทน เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ คนปัจจุบัน ซึ่งจะหมดวาระลงในเดือนกันยายน 2568

หากประตูบานแรกถูกเปิด ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เป็นคนของรัฐบาล ประตูบานถัดไป การสรรหาผู้ว่าแบงก์ชาติ มาแทน “ผู้ว่าฯ เศรษฐพุฒิ” ยิ่งน่ากังวลกว่าหลายเท่าตัว

นอกจากนั้น ยังต่อเนื่องไปถึงนโยบายการให้ใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ที่ฝั่งการเมืองเห็นว่าควรเปิดเสรี แต่แบงก์ชาติจะเปิดให้แค่ 3 ราย และนโยบายผลักดันประเทศไทยให้เป็น “ศูนย์กลางทางการเงินของโลก” หลัง “นายกฯ อิ๊งค์” เพิ่งโชว์วิสัยทัศน์ในเวที ACD ที่กาตาร์ เมื่อไม่นานมานี้

เมื่อย้อนกลับไปดูศึกไฝว้ของ กิตติรัตน์ กับแบงก์ชาติ ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนมาถึงรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ก็จะเห็นว่า กิตติรัตน์ กับแบงก์ชาติ เป็นดั่งขมิ้นกับปูน ซึ่งช่วงที่เขานั่งเป็นรัฐมนตรีคลัง ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็คิดจะปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติในขณะนั้น ทั้งยังเสนอเอาทุนสำรองระหว่างประเทศบางส่วนออกมาใช้ และออกพ.ร.ก.โอนหนี้ของกระทรวงการคลัง ไปให้แบงก์ชาติดูแล เพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินเพิ่มได้ ฯลฯ

ในสมัยรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นั้น กิตติรัตน์ ก็ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อหลายครั้งว่าอยากเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนปัจจุบัน เช่นกัน เพราะแนวคิดที่สวนทางกันทั้งการลดดอกเบี้ย การแจกเงินหมื่นกระตุ้นเศรษฐกิจ ฯลฯ

คำเตือนดังๆ หากการเมืองแทรกแบงก์ชาติ จะก่อให้เกิดหายนะต่อเศรษฐกิจของประเทศนั้น มาจาก  ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โพสต์เตือนเรื่องเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ว่าที่ผ่านมารัฐบาลแสดงความไม่พอใจชัดเจนต่อ ธปท.ทั้งไม่ลดดอกเบี้ย และการคัดค้านนโยบายการแจกเงินหนึ่งหมื่นบาท และคาดหมายว่ารัฐบาลจะส่งคนของตนเข้าไปนั่งเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เพื่อจะใช้ธปท.เป็นเครื่องมือสนองนโยบายรัฐบาล

หากภาพนี้เกิดขึ้นหายนะของเศรษฐกิจไทยจะตามมาอย่างแน่นอน เหมือนที่เห็นในต่างประเทศที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงธนาคารกลาง ทำให้ความเชื่อมั่นของต่างประเทศต่อระบบเศรษฐกิจสั่นคลอน เพราะธนาคารกลางที่ถูกแทรกแซงจะไม่สามารถมีบทบาทในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว เศรษฐกิจจึงเสี่ยงที่จะเสียหายจากนโยบายที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเพียงอย่างเดียว

ในกรณีของไทย นโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ซึ่งจะเป็นภาระการคลังมหาศาลได้สร้างความเสี่ยงที่ประเทศจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่แล้ว ดังนั้น หากแบงก์ชาติถูกแทรกแซงจนขาดความเป็นอิสระ ความเสี่ยงของการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจากนานาประเทศยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีก ผลเสียต่อธุรกิจ และเศรษฐกิจ ย่อมตามมาอย่างแน่นอน

วงการเศรษฐกิจไทยชี้ให้เห็นถึงผลเสียหายอันใหญ่หลวงของการแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทย แต่รัฐบาลก็ไม่ต้องการรับฟังคำเตือนเหล่านี้ ขณะนี้จึงมีเพียงแต่จิตสำนึกของคณะกรรมการสรรหาประธานธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการยับยั้งไม่ให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจนี้

อันที่จริง กฎหมายของ ธปท.ได้คำนึงถึงความเสี่ยงของการที่กรรมการสรรหาจะถูกแทรกแซงจากทางการเมืองหากกรรมการยังอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ กฎหมายจึงได้กำหนดให้กรรมการสรรหาเป็นอดีตข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานสำคัญทางเศรษฐกิจที่เกษียณอายุ เพื่อจะได้ปลอดภัยจากการถูกแทรกแซง ที่ผ่านมาคณะกรรมการสรรหาตำแหน่งสำคัญของ ธปท.ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยอิสระไม่ยอมรับการแทรกแซง ผู้ที่ได้รับการสรรหาจึงเป็นผู้ที่เหมาะสมเข้าใจบทบาทธนาคารกลาง และปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสมเป็นที่ยอมรับของสังคม จึงได้แต่หวังว่าคณะกรรมการสรรหาจะทำหน้าที่สำคัญนี้ด้วยหลักการเดียวกัน คงไม่มีใครอยากถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบในการทำให้เศรษฐกิจไทยพลิกผันสู่ก้าวแรกของความหายนะ

ขณะเดียวกัน ตัวแทนคณะศิษยานุศิษย์ที่น้อมนำธรรมองค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้ทำหนังสือถึง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คัดค้านบุคคลซึ่งเกี่ยวโยงการเมืองเข้ามาแทรกแซงธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งในที่สุดจะส่งผลร้ายเป็นการบั่นทอนความเข้มแข็งของธนาคารกลาง หากธนาคารกลางไม่อาจคะคานอำนาจของรัฐบาลที่มุ่งสร้างภาพด้วยนโยบายประชานิยม หวังผลเพียงผลประโยชน์ของกลุ่มก้อนพวกพ้องและภาพลักษณ์ทางการเมือง จนสุ่มเสี่ยงก่อความหายนะแห่งอธิปไตยทางการเงินของชาติให้พังพินาศไปสิ้นได้

 ติดตามกันต่อไป อีกไม่นานก็คงรู้ว่าศึกไฝว้การเมืองVSแบงก์ชาติ จะลงเอยเช่นใด 


กำลังโหลดความคิดเห็น