xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทัศนศึกษา “เลิก” หรือ “รื้อ”?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรณีรถบัสนำนักเรียน “โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี” มาทัศนศึกษา ประสบอุบัติเหตุเกิดเพลิงไหม้ ณ บริเวณใกล้ทางแยกต่างระดับอนุสรณ์สถานแห่งชาติ จ.ปทุมธานี ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ถือเป็น “โศกนาฏกรรม” อันนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างประเมินค่าไม่ได้

คำถามและหัวข้อถกเถียงสำคัญของสังคมไทยที่ถูกหยิบยกมามากที่สุดก็คือ กิจกรรม “ทัศนศึกษา” นั้น สมควรที่จะ “เลิก” หรือ “รื้อ” ครั้ง ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับทั้งสองแนวคิด
 
ทั้งนี้ ว่ากันตาม “หลักการ” แล้ว “ทัศนศึกษา” นั้น เป็น “สิ่งที่ดี” และมี “ประโยชน์” ต่อพัฒนาการของเด็ก ทำให้ได้รับประสบการณ์สำคัญที่ควรมีทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา

แต่ในประเทศที่ทุกอย่างดำเนินไปแบบ “ลูบหน้าปะจมูก” และเต็มไปด้วย “ผลประโยชน์” อย่างไทย ประโยชน์ที่เด็กๆ ได้รับดูจะน้อยกว่า “ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ”
 
ที่สำคัญคือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ นักเรียนและครูโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม ไม่ใช่ “ครั้งแรก” และย่อมไม่ใช่ “ครั้งสุดท้าย” ในบ้านนี้เมืองนี้เหมือนกับโศกนาฎกรรมอื่นๆ เช่น การลืมเด็กไว้ในรถรับ-ส่งนักเรียนจนเสียชีวิต ฯลฯ ที่แม้จะมี “การถอดบทเรียน” แต่ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มิได้เป็นหลักรับประกันใดๆ ว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก
 
พ่อแม่ ผู้ปกครอง จำนวนไม่น้อยถึงกับประกาศออกมาชัดเจนว่า จะไม่ยอมให้ลูกเดินทางไปทัศนศึกษา ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนยิ่งด้วยมีชีวิตของบุตรหลานเป็นเดิมพัน
 
ขณะที่เมื่อย้อนดูสิ่งที่เกิดขึ้นกับโศกนาฏกรรมครั้งล่าสุดหรือก่อนหน้านี้ ก็จะพบว่ามี “สารพัดปัญหา” และจำเป็นต้องได้รับการชำระสะสางตั้งแต่หัวยันหาง ซึ่งเชื่อว่า บรรดาผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบอย่าง “กระทรวงศึกษาธิการ” ซึ่งเป็นผู้จัดกิจกรรมและรับผิดชอบชีวิตของนักเรียน และ “กระทรวงคมนาคม” ที่เป็นผู้รับผิดชอบ “ยานพาหนะ” และ “คนขับรถ” รู้อยู่เต็มอก

ทว่า พอเกิดเหตุก็ “ล้อมคอก” กันที จากนั้นทุกอย่างก็ดำเนินไปตามยถากรรม

ยกตัวอย่างเช่น เคยมีระเบียบหรือมาตรการของทางโรงเรียนที่จะ “ตรวจสภาพรถ” ที่จะนำนักเรียนไปทัศนศึกษาหรือไม่ ขณะที่ “กรมการขนส่งทางบก” ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบรถทุกคันก่อนต่อภาษีประจำปี ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ เพราะรถบัสคันที่เกิดขึ้นพบว่า มีการติดตั้งถังก๊าซ CNG ถึง 11 ถัง ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายรถบัส 15 ตัน (40 ที่นั่ง) ติดได้เต็มที่ไม่เกิน 6 ถัง

ทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่ารถติดตั้งถังแก๊สมีสภาพเสมือนการบรรทุกระเบิดเคลื่อนที่ แต่ทำไมถึงไม่ตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกวินาทีกันให้ดี

ขณะที่ “นายชีพ น้อมเศียร” ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบกก็ยอมรับว่า พบถังก๊าซรั่วไหลจริง โดยเป็นถังหมายเลข 8 ซึ่งไม่ได้อยู่ในรายการตรวจสอบของวิศวกร ถังที่ได้รับการตรวจสอบ มีเพียงถังที่ 1-6 เท่านั้น

หนักไปกว่านั้นคือ ขณะที่ทางบริษัทเจ้าของรถยืนยันว่า ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุใดๆ ในการประกอบกิจการ แต่มีการเปิดเผยจาก “นายประจักร์ เอี้ยงเถื่อน” ผอ.โรงเรียนบ้านสระนารายณ์ จ.อุทัยธานี ผ่านเฟซบุ๊กว่า รถของบริษัทเดียวกันนี้เคยพานักเรียนไปทัศนศึกษาเมื่อ 7 ปีก่อนและได้ขับรถไปชนกับรถพ่วง ครั้งนั้นเด็กบาดเจ็บไปกว่า 10 คน

ทำให้เกิดคำถามตามมาด้วยว่า มิได้มีการขึ้น “บัญชีดำ” หรือ “แบล็กลิสต์” เอาไว้หรอกหรือ ทำไมโรงเรียนถึงยังคงเลือกใช้บริการของบริษัทชินบุตรทัวร์ มีใครมีนอกมีในมีส่วนได้เสียกับการว่าจ้างครั้งนี้หรือไม่ อย่างไร

และที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นคือ รถคันดังกล่าวจดทะเบียนครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2513 หรือเมื่อ 54 ปีแล้ว จากนั้นมีการนำรถคันนี้มาจดทะเบียนครั้งที่ 2 ในปี 2561 นั่นหมายความว่า จะต้องมีการดัดแปลงสภาพรถเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

คำถามสำคัญที่สังคมต้องการคำตอบที่สุดในเวลานี้ คือ ทำไมกรมการขนส่งทางบกถึงรับจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถเก่าที่เอามาดัดแปลงตัวรถ ซึ่งมีอายุการใช้งานนาน 54 ปีมาแล้ว การต่อทะเบียนไม่ได้มีการตรวจสภาพจริงใช่หรือไม่

เจ้าหน้าที่สำนักงานขนส่งจังหวัดสิงห์บุรี “ตรวจจริง” หรือ “ตรวจทิพย์” กันแน่


อย่างไรก็ดี กรณีนี้ ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก แจกแจงว่า รถจดทะเบียนครั้งแรกเมื่อปี 2513 และจดทะเบียนอีกครั้งในปี 2561 ซึ่งระยะเวลาค่อนข้างจะยาวนาน ด้วยหลักเกณฑ์ที่รถยังสามารถใช้งานอยู่ได้จนถึงปัจจุบันนี้ 54 ปีนั้น เพราะในระหว่างนี้ได้มีการจดทะเบียนเป็นรถประเภทอื่นๆ ไว้ และเมื่อดัดแปลงคลัสซีถือเป็นตัวหลักของรถ เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของคน เมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง ตัวถังผุกร่อนไม่สามารถใช้งานได้ เจ้าของก็จะไปแจ้งเปลี่ยนแปลงโดยนำรถคันดังกล่าวไปที่อู่ต่อรถ หรืออู่ปรับปรุงรถ สิ่งที่ยังคงอยู่คือโครงคลัสซีรถ และนำเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าใส่เข้าไป เปลี่ยนตัวถังเปลี่ยนเก้าอี้และติดตั้งอุปกรณ์ปรับอากาศ หากมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแล้ว เจ้าของรถก็จะให้วิศวกรตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงเพื่อจะนำมาตรวจสภาพและจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้ ส่วนประตูฉุกเฉินได้มีการให้ตรวจรถสาธารณะปีละ 2 ครั้ง

ขณะที่ได้รับการเปิดเผยจาก “พล.ต.อ.ไตรรรงค์ ผิวพรรณ” ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ในการแถลงข่าว เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 ว่า ไม่พบค้อนทุบกระจกอยู่บนรถบัสแต่อย่างใด

นั่นหมายถึงบริษัทเจ้าของรถบัสที่รับงานทัศนศึกษาครั้งนี้ หละหลวมเรื่องความปลอดภัยอย่างยิ่ง เพราะ 3 สิ่งสำคัญด้านความปลอดภัยที่รถบัสทุกคันจำเป็นต้องมี คือ ถังดับเพลิง, ค้อนทุบกระจก และประตูฉุกเฉินที่เปิดจากด้านในและด้านนอกได้ ซึ่งที่จะช่วยบรรเทาความร้ายแรงของเหตุฉุกเฉินที่กำลังเกิดขึ้น และเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยให้ออกจากห้องโดยสารได้

ดังนั้น การที่ “นายอรรถพล เรืองสารณ์” ทนายความ ซึ่งพาเจ้าของบริษัท ชินบุตรทัวร์เข้าพบตำรวจ สภ.คูคต จังหวัดปทุมธานี โดยยืนยันว่า ตัวรถมีการตรวจสอบตามระบบขนส่งตลอด การจดแจ้งทะเบียนต่างๆ ครบถ้วน และแจ้งต่อนายทะเบียนทุกครั้ง ส่วนการติดตั้งถังแก๊ส มีการติดตั้งตามระบบวิศวกรรมของขนส่ง สำหรับตัวรถมีการตรวจสภาพตลอดตามภาษีประจำปี และประตูฉุกเฉินได้รับการตรวจสอบตามปกติ แต่ประตูฉุกเฉินมีน้ำหนักมาก เด็กและครูอาจจะใช้แรงไม่เพียงพอนั้น จึงเป็นคำแก้ต่างหรือคำแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลออกมาด้วยว่า รถบัสส่วนใหญ่จะหมดอายุทะเบียนพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคมและมิถุนายน ซึ่งการตรวจสภาพรถบัสหนึ่งคันใช้เวลานานมาก ใน 1 วัน จะตรวจได้แค่ 10 คันเท่านั้น ถ้าไม่ผ่านการตรวจก็วิ่งรับงานไม่ได้ เพราะจะไม่ได้ต่อทะเบียน ต่อภาษี ดังนั้นจึงทำให้เกิดส่วยลัดคิวขึ้นมา เป็นการจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ขนส่ง เพื่อลัดคิวและย่นระยะเวลาการตรวจสภาพ โดยเจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องจะเรียกรับเงินกับผู้ประกอบการประมาณ 3,000-4,000 บาทต่อคัน แต่ถ้าหากจ่ายมากกว่า 4,000 บาทขึ้นไป ถือว่าเป็นราคา VIP จะได้สิทธิพิเศษ คือ สามารถเข้าช่วงตรวจได้ทันทีโดยไม่ต้องรอคิว

ดังนั้น ถึงเวลาทลาย “ขุมทรัพย์ขนส่ง” เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้บริการรถสาธารณะกันได้หรือยัง

โศกนาฏกรรมครั้งนี้ ทำให้หัวใจผู้คนแทบแตกสลาย เมื่อมีรายงานพวกเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาและครูไม่สามารถหนีออกมาจากทางประตูฉุกเฉินได้ และหมอบงอบริเวณด้านท้ายรถบัส หรือไม่ก็ในอ้อมแขนของคุณครู ท่ามกลางเปลวเพลิงที่ห้อมล้อมรถบัสไว้ทุกทิศทุกทาง

จากสภาพที่กู้ภัยเล่านาทีตรวจสอบรถบัสไฟไหม้ พบร่างครู-นักเรียน 23 คน รวมกันอยู่ที่ท้ายรถตรงประตูฉุกเฉิน โดยครูกันเด็กไว้ หากประตูฉุกเฉินเปิดได้จะรอดทั้งหมด

อีกเรื่องที่ชวนสลดหดหู่และอดสูใจอย่างยิ่ง ก็คือ คนขับรถหลบหนีระหว่างเกิดเหตุ แทนที่จะอยู่ช่วยเหลือเด็กนักเรียนและครูอย่างสุดความสามารถ

ดังนั้น สิ่งต้องมีการทบทวนนับจากนี้คือ “การจัดระบบทัศนศึกษาให้มีความเหมาะสมและปลอดภัย” สูงสุด

เริ่มจาก “อายุ” ของนักเรียนที่จะไปทัศนศึกษา ซึ่งหลายคนมองเห็นว่านักเรียน “ระดับอนุบาล” ไม่ควรเข้าร่วม เพราะการควบคุมดูแลเป็นลำบาก ขณะที่นักเรียน “ระดับประถมศึกษา” ถ้าจะเข้าร่วม ก็อย่างน้อยต้องเรียนอยู่ในระดับ “ประถมศึกษาปีที่ 5” เป็นต้นไป

ถัดมาคือ “ระยะทาง” ในการเดินทางไปทัศนศึกษาต้องมีความเหมาะสมกับช่วงอายุ ส่วน “สถานที่” ก็ต้องคัดเลือกที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับนักเรียนจริงๆ

สำหรับกระทรวงศึกษาธิการจะต้องจัดอบรมในเรื่องเกี่ยวกับการขึ้นลงรถอย่างปลอดภัย รวมทั้งซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ เช่น การหา ช่องทางออกฉุกเฉินจากรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือไฟไหม้ เป็นต้นและบอกให้ฝึกสังเกตสิ่งผิดปกติระหว่างการเดินทาง




ส่วน “รถ” ที่จะนำพาเด็กไปทัศนศึกษาถือว่ามีความสำคัญมาก ดังนั้น ต้องมีการตรวจสอบในเรื่องความปลอดภัยอย่างละเอียดถี่ถ้วนในทุกขั้นตอน โดยมีมาตรการภาคบังคับให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องนี้ต้องทำ ขณะที่ “คนขับ” ก็ต้องผ่านการอบรมมากกว่าระบบปกติที่เป็นอยู่

แน่นอน ไม่ใช่เฉพาะรถที่ไปทัศนศึกษาเท่านั้น หากรวมถึง “รถรับส่งนักเรียน” ที่จะต้องเข้าสู่มาตรการภาคบังคับในลักษณะเดียวกัน

“นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างมาตรฐานความปลอดภัยของรถบัสในการนำนักเรียนไปทัศนศึกษาในประเทศญี่ปุ่น กับรถบัสที่นำนักเรียนไปทัศนศึกษาของประเทศไทย มีความแตกต่างกันหลายประการ

กล่าวคือในประเทศญี่ปุ่นจะให้นักเรียนชั้นอนุบาลและประถมไปทัศนศึกษาภายในเมืองไม่ไกลจากโรงเรียนมากนัก เน้นเดินชมเมือง แต่หากเป็นชั้นมัธยมจะไปยังต่างเมืองได้ การใช้รถบัสสำหรับการเดินทางจะมีความเข้มงวดมากต้องมีระบบการตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยของรถบัสด้วย

นอกจากนี้ รถบัสทัศนศึกษาของญี่ปุ่นนั้น จะต้องการตรวจสอบสภาพรถอย่างละเอียดโดยบริษัทกลางที่ได้มาตรฐานก่อนเดินทางทุกครั้งทั้งระบบเบรก ยางรถยนต์ ไฟส่องสว่าง ระบบเชื้อเพลิง ระบบประตูฉุกเฉิน ระบบเครื่องยนต์และระบบความปลอดภัยต่างๆ รวมทั้งต้องมีการบันทึกรายงานผลการตรวจสอบและการซ่อมบำรุงตามรอบให้เห็นอย่างชัดเจน

ที่สำคัญคือ รถโดยสารที่จะนำนักเรียนไปทัศนศึกษาต้องติดตั้งระบบ GPS เพื่อติดตามตำแหน่งและความเร็วของรถได้ตลอดเวลารวมทั้งต้องมีการใช้ระบบบันทึกการขับขี่ (Digital Tachograph) เพื่อสามารถตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ของคนขับรถด้วยและมีการวางแผนกำหนดเส้นทางที่ปลอดภัยและความเร็วไว้ก่อน คนขับรถต้องมีใบอนุญาตขับขี่พิเศษสำหรับการขับรถโดยสารโดยต้องผ่านการอบรมและสอบด้านความปลอดภัยและการขับขี่เฉพาะพร้อม มีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและสุขภาพของคนขับรถทุกครั้งที่เช่ารถยนต์

นายสนธิกล่าวด้วยว่า ประเทศญี่ปุ่นบังคับให้รถโดยสารต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยในทุกที่นั่ง, มีอุปกรณ์ดับเพลิงและค้อนทุบกระจกวางไว้เป็นระยะพร้อมใช้งานได้ทันที และกำหนดให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดทั้งภาย ในและภายนอกรถ โดยก่อนการเดินทางจะต้องมีการสำรวจและวางแผนเส้นทางล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงจุดเสี่ยงอันตรายพร้อม มีแผนสำรองในกรณีที่ต้องเปลี่ยนเส้นทางฉุกเฉิน

“ก่อนออกเดินทางต้องเข้าห้องอบรมให้ความรู้แก่นักเรียนเกี่ยวกับการขึ้นลงรถอย่างปลอดภัยรวมทั้งซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ เช่นการหาช่องทางออกฉุกเฉินจากรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือไฟไหม้ เป็นต้นและบอกให้ฝึกสังเกตสิ่งผิดปกติระหว่างการเดินทาง และจะต้องแจ้งแผนการเดินทางให้กับหน่วยงานท้องถิ่นและตำรวจทราบล่วงหน้าก่อน 5 ถึง 7 วันเป็นอย่างน้อยและจัดให้มีระบบการรายงานและติดตามสถานการณ์ตลอดการเดินทางรวมทั้งจัดเตรียมยาทั่วไปและอุปกรณ์ปฐมพยาบาล โดยมีครูที่ผ่านการอบรมการปฐมพยาบาลร่วมเดินทาง” นายสนธิกล่าว

ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กล่าวว่า รถบัสทุกคันที่เดินทางต้องมีประกันภัยที่ครอบคลุมทั้งตัวรถและผู้โดยสารรวมทั้งจัดให้ มีการจัดทำประกันภัยเพิ่มเติมหากต้องเดินทางไกลหรือไปในที่มีความเสี่ยงอยู่บ้าง มีการบันทึกเหตุการณ์ทุกครั้งหลังการเดินทางรวมทั้งต้องการประเมินผลและวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยทุกครั้ง

นายสนธิกล่าวว่า แล้วหันกลับมาดูประเทศไทยว่ามีสิ่งเหล่านี้ด้วยหรือไม่ ตอบตามตรงคือ แทบจะไม่มีเลย

ด้าน “สารี อ๋องสมหวัง” เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค มีข้อเสนอต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นว่า ต้องรื้อระบบตรวจสภาพรถยนต์ทั้งหมด โดยเฉพาะรถที่เกี่ยวข้องกับบริการขนส่งสาธารณะซึ่งถูกละเลยมานาน และยกเลิกการใช้รถสองชั้นรับจ้างแบบไม่ประจำทาง ซึ่งองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศเสนอมาเป็นระยะเวลาหลายปี แต่ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งเพิ่มวงเงินประกันภัยภาคบังคับของรถโดยสารแบบไม่ประจำทางเป็น 30 ล้านบาท และพัฒนากฎหมายเรื่องความปลอดภัยของรถโดยสารควบคู่กับการบังคับใช้อย่างจริงจัง

...แน่นอนว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เป็นประเด็นที่ทั่วโลกตั้งคำถามอีกครั้งถึงความปลอดภัยบนท้องถนนของไทยที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุดเป็นลำดับที่ 9 ของโลก เป็นอันดับหนึ่งในเอเชียและภูมิภาคอาเซียน ว่าเมื่อไหร่จะแก้ไขปัญหานี้ให้ทุเลาเบาบางลงได้

เพราะไม่เพียงแต่ชีวิตที่ต้องสูญเสียไปเท่านั้น หากยังนำมาซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าปีละ 5 แสนล้านบาทหรือมากกว่า 3% ของจีดีพีเลยทีเดียว

“รัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร” ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในขณะนี้ คงต้องพิสูจน์ฝีไม้ลายมือในการบริหารจัดการเรื่องนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรมในเร็ววัน.


กำลังโหลดความคิดเห็น