ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้ยังวัดผลอะไรไม่ได้ แต่อย่างน้อยผล “นิด้าโพล” รอบล่าสุดที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับคะแนนนิยมทางการเมือง รอบไตรมาส 3/2567 ก็ทำให้ “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร หน้าบานไปหลายวัน
กับผลโพลที่ตัวเธอ “เด้ง” ขึ้นมายืนหนึ่งสำหรับบุคคลที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ถึง 31.35% ทิ้งอันดับ 2 ยังไม่มีคนที่เหมาะสม ที่ได้ 23.50% ส่วนอันดับ 3 กับ 22.90% เป็น “เสี่ยเท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ที่เพิ่งขึ้นทำเนียบผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย
แม้ตัวเลขจะเป็นที่น่าพอใจ และควรจะเป็นสำหรับบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มักมีคะแนนนิยมมาเป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะในช่วงต้น-กลางเทอมของรัฐบาล แต่หาก “ยอมความรับจริง” ก็ต้องบอกว่า ไม่ได้มาความนิยมชมชอบศรัทธาในตัวเธอโดยตรง
ด้วยก่อนหน้าที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยจะเข้ารับตำแหน่งนายกฯคนที่ 31 ของประเทศ นั้น “ต้นทุน” คะแนนนิยมส่วนตัวถือว่าต่ำมากอยู่ที่ราว 5-6% เท่านั้น โดยครั้งล่าสุด รายไตรมาส 2/2567 ของนิด้าโพล ถึงขั้นหลุดไปที่ 4.85% ตามหลัง “เฮียตุ๋ย” พีระพีนธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ 6.85% ด้วยซ้ำ
จึงไม่ผิดหากจะบอกว่า มีปัจจัยที่ทำให้คะแนนนิยมของ “แพทองธาร” จากที่ต่ำกว่า 5% ขึ้นมามากกว่า 30% ในเวลาเพียงไม่กี่เดือนนั้น มีสถานการณ์-ปัจจัยแวดล้อมอื่นเป็นตัวสนับสนุนมากกว่า
ตั้งแต่การก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ผู้นำประเทศคนใหม่ หลังเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับ “เศรษฐา ทวีสิน” ที่ทำให้เปลี่ยนสถานะ “แพทองธาร” จากคนนอกกระดาน กลับเข้ามาสู่คนในกระดาน อีกครั้ง และด้วยควาทเป็น “คนใหม่” ก็ย่อมมีแรง “เห่อ” ช่วยพอสมควร
ผนวกกับการที่ตัวเลือกผู้ที่เคยติดโผบุคคลที่คนไทยสนับสนุนให้เป็นนายกฯ หายไปพร้อมๆ กัน 2 ราย ทั้ง “เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่พรรคถูกยุบ และเจ้าตัวถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง รวมถึง “นายกฯ นิด-เศรษฐา” ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกฯ ในช่วงที่ผ่านมา
การขาดหายไปของ 2 ตัวละครสำคัญ นี่เองที่อานิสงส์ตกมาถึง “นายกฯ อิ๊งค์” เต็มๆ ไม่ว่าจะเป็นคะแนนนิยมในส่วนของ “เศรษฐา” ที่มีต้นทุนในนิด้าโพลอยู่ที่ 22.35% ในไตรมาส 4/2566, 17.75% ในไตรมาส 1/2567 และ 12.85% ในไตรมาส 2/2567 ที่คงเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่เทกลับมาที่ตัว “หัวหน้าอิ๊งค์” เกือบทั้งหมด
หรือจะเป็นการขาดหายไปของอันดับ 1 โพลการเมืองช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา อย่าง “พิธา” ผู้มีหนึ่งในสมญาว่า “นายกฯโพล” ที่มีแต้มความนิยมที่ 39.40% ในไตรมาส 4/2566, 42.75% ในไตรมาส 1/2567 และ 45.50% ในไตรมาส 2/2567 แต่คะแนนตรงนี้มีเพียงราวครึ่งเดียวเท่านั้นที่โอนถ่ายไปที่ “หัวหน้าเท้ง” ผู้นำคนใหม่ของพรรคสีส้ม
ด้วยในโพลเดียวกันคะแนนนิยมของ พรรคประชาชน ที่ได้ 34.35% แม้จะไม่เท่าของเดิมของพรรคก้าวไกล ที่ได้ระดับเกิน 40% และเคยสูงไปถึง 49.20% ก่อนถูกยุบ ยังเพียงพอกับการเป็นที่ 1 เหนือพรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาล และก็ไม่ได้ลดฮวบฮาบเหมือนโพลบุคคล
เมื่อคู่เทียบคนใหม่ไม่มีกระแสแรงเหมือนคนเก่าก็เลยเป็นโอกาสดีที่ทำให้คะแนนของ “นายกฯ อิ๊งค์” เด้งขึ้น เพราะเชื่อกันวาา หากยังคู่เทียบยังชื่อ “พิธา” อยู่ ผลโพลคงออกมาอีกแบบ
อีกปัจจัยสำคัญที่มองว่ามีผลต่อคะแนนนิยม “นายกฯ อิ๊งค์” ไม่พ้นการสำรวจความคิดเห็นเป็นจังหวะเดียวกับที่กำลังจะมีการคิกออฟแจกเงิน 10,000 บาทตามนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ในเฟสแรก ซึ่งหากการสำรวจกลุ่มเป้าหมายราว 2 พันตัวอย่าง ไปตกที่กลุ่มกลุ่มผู้พิการ-กลุ่มเปราะบาง 14.05 ล้านคน ก็เชื่อว่าคะแนนย่อมตกมาที่ “แพทองธาร” แน่
คำถามที่ตามมาคือ เมื่อขึ้นมาเป็นที่ 1 แล้ว “นายกฯ อิ๊งค์” จะยังยืนระยะต่อไปได้หรือไม่ คล้ายกันกับสมัยที่ “เศรษฐา” ขึ้นเป็นนายกฯ แม้จะไม่ได้เป็นที่ 1 ในโพลการเมือง แต่ก็สตาร์ทด้วยตัวเลขน่าพอใจที่ 22.35% ก่อนจะสาลวันเตี้ยลงเหลือ 17.75% และ 12.85% ตามลำดับก่อนพ้นตำแหน่ง
เป็นเรื่องที่ทีมงานรัฐบาลต้องถอดบทเรียนถึงสาเหตุที่คะแนนนิยมของ “เศรษฐา” ลดลงเกือบครึ่งต่อครึ่ง ทั้งที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นนายกฯ ที่มีวิสัยทัศน์ และขยันที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ เพื่อแก้เกมให้กับนายกฯ คนปัจจุบันให้ได้
มองตามฟอร์มแล้วก็ต้องบอกว่า ในช่วงแรก “นายกฯ อิ๊งค์” ยังทำได้ดี ทั้งการแถลงข่าว-ตอบคำถาม ที่ยังเป็นไปได้ด้วยดี อาจจะ “เสียหลัก” ไปบ้างกับการถูกจ้องจับผิดระหว่างการลงพื้นที่น้ำท่วมที่ภาคเหนือ แต่ก็ได้ภาพการเข้าถึงลงพื้นที่ทันท่วงที หรือการหล่นความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่า ที่สับสนเรื่องการน้ำเข้า-ส่งออก ก่อนรีบออกมาแก้ไข
นอกจากนี้ยังมีซีนระดับโลก เมื่อ “นายกฯ อิ๊งค์” มีโอกาสเปิดทำเนียบรัฐบาลต้อนรับ “รูธ โพรัท” ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุนของ Alphabet และ Google ร่วมกันประกาศความร่วมมือด้าน AI และการลงทุนของ Google มูลค่าถึง 3.6 หมื่นล้านบาท ในการก่อตั้ง Data Center แห่งแรก ที่นิคมอุตสาหกรรม WHA จ.ชลบุรี แม้จะเป็นผลพวงมาจากนายกฯคนก่อนๆที่เริ่มดีลไว้ แต่ก็ถูกนับรวมเป็นผลงานของ “รัฐบาลแพทองธาร”
หรือการแสดงออกกับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเหตุรถบัสโรงเรียน ที่พานักเรียนอนุบาลจาก จ.อุทัยธานี เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ เป็นเหตุให้มีนักเรียนเสียชีวิตหลายราย ซึ่ง “นายกฯ อิ๊งค์” ที่เป็นคุณแม่ลูกสอง เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถึงขั้นเสียน้ำตา แต่ก็ยังสามารถสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง ก่อนที่จะเดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจเด็กนักเรียนและครูที่รอดชีวิต
ในแง่การเมืองก็ต้องถือว่า สถานการณ์ค่อนข้างเข้าทางพรรคเพื่อไทย จากผลการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น หรือการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.พิษณุโลก ที่เอาชนะพรรคประชาชน ได้อย่างไม่มีปัญหา และก็ยังเอาตัวออกห่างสนาม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีได้ทัน ทำให้ไม่เสียรังวัดไปมาก
ด้านเสถียรภาพรัฐบาลยังแข็งแกร่ง จากจำนวน สส.ที่มีมากกว่า 320 เสียง แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลเต็มไปด้วยเสือสิงห์กระทิงแรด แสดงให้เห็นไปแล้วกับรายการที่ “ค่ายสีน้ำเงิน” พรรคภูมิใจไทย โชว์พลังขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ต่อเนื่องไปถึงการเตะถ่วงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับผ่านการประชาติในชั้นวุฒิสภา
แม้ภาพรวมจะยัง “เอาอยู่” หากแต่ระหว่างยังมีประเด็นแหลมคมที่รออยู่ ทั้งการยื่นร้องเรียนต่างๆ การแสดงวิสัยทัศน์-ภาวะผู้นำ โดยเฉพาะในเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ที่เหมือนหมดโปรฯ เงิน 10,000 บาท แล้วจะมีการผลักดันนโยบายอะไรในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ต่อเนื่อง
ตลอดจนประเด็นการครอบงำ-ครอบครองของ ทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดา ที่ดูเหมือนว่าเดือนเศษที่ผ่านมาจะอยู่ในที่ตั้งเปิดทางให้ลูกสาว ”ฉาย“ เต็มที่
ซึ่งเรื่องบทบาทของ “ทักษิณ” นี่เองที่ถือว่าหลายฝ่ายเป็นห่วงมากที่สุด หากว่าวันหนึ่ง “นายใหญ่ตัวจริง” อดรนทนไม่ไหว และออกมาแสดงอิทธิฤทธิ์เหนือรัฐบาล ยาวไปถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง หรือการพา “น้องปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับบ้านแบบเท่ๆ ตลอดจนเรื่องทุจริตคอรัปชันในรัฐบาลที่ถูกจับจ้องเป็นพิเศษ
หันมาดูที่ “หัวหน้าเท้ง” กันบ้าง แม้ในทางกรรเมืองมักกล่าวว่า การเป็นฝ่ายค้านทำงานง่ายกว่าเป็นรัฐบาบ แต่ดูจะไม่ใช่สำหรับ พรรคประชาชน ในตอนนี้ ที่จำเป็นต้องผลัดใบใช้ “แกนนำรุ่น 3” ขึ้นมานำทัพ
ปัญหามีว่า แฟนคลับสีส้ม อาจมองว่า “เท้ง-ณัฐพงษ์” ยังไม่อยู่ในระดับที่จะมาเป็นต้วตายตัวแทน “พิธา” หรือรวมไปถึง “ศาสดาเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ผู้ให้กำเนิดพรรคสีส้ม ได้ คะแนนจึงดำดิ่งหายไปฮวบฮาบ
จริงๆ คะแนนนิยมของ “เท้ง-ณัฐพงษ์” ที่เพิ่งมีชื่อเข้าทำเนียบนิด้าโพล ที่ 22.90% ก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่ หากแต่ไม่ได้มาตรฐานเดิมของ “ผู้นำค่ายส้ม” เท่านั้น
โดยว่ากันว่า ทั้งคนทั่วไป-ติ่งส้ม ต่างอ่านออกว่า “หัวหน้าเท้ง” และกรรมการบริหารชุดใหม่อาจไม่ใช่ “ตัวจริง” ที่วางไว้ให้เป็นผู้นำทัพในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะยังมีคดี 44 สส.ลงชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายมาตรา 112 ที่คาดว่าจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองรออยู่ จึงไม่ได้เทใจให้เต็มที่
เมื่อคะแนนจาก “ติ่งส้ม” ไม่ได้ส่งต่อกันแบบมรดกตกทอด ก็ทำให้ “นายกฯ อิ๊งค์” ที่มีปัจจัยบวก-หนุน มากกว่าพลิกแซงขึ้นไปเป็นเบอร์ 1 โพลการเมืองแทน ซึ่งทางพรรคประชาชนก็คงประเมินออก เลยจัดแคมเปญ “เท้งทั่วไทย” เดินสายทั่วประเทศ เพื่อหวังสร้างแนวร่วมใหม่-ตรึงแนวร่วมเดิมไว้
อีกทั้งเมื่อส่องกล้องมองทางเดินของพรรคประชาชน ก็ดูว่า จะเต็มไปด้วยอุปสรรค ยังไม่เห็นทางที่จะปั่นกระแสให้กลับมาเปรี้ยงปร้างได้เหมือนเดิม บรรดาร่างกฎหมาย หรือประเด็นที่เสนอ ก็ถูกฝ่ายรัฐบาลตีตกโดยไม่ใยดี นโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายมาตรา 112 ที่ไม่สามารถนำมาเป็นจุดขายได้อีกต่อไป
ความหวังกับการสยายปีกเข้าสู่เวทีการเมืองท้องถิ่นก็ดูตีบตีน สนาม อบจ.ที่หมายมั่นก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อนายก อบจ.หลายจังหวัดแก้เกม โดยการลาออกก่อนครบวาระ เพื่อตัดความเสี่ยงที่ พรรคประชาชน จะสร้างกระแสได้เหมือนการเลือกตั้งใหญ่ ทำให้พังพาบในทุกสนามแบบไม่มีลุ้นด้วย
อีกทั้งคะแนนสงสารเห็นใจจากกรณียุบพรรคก้าวไกลก็ไม่มาตามนัด เพราะการเลือกตั้งหลังยุบพรรคก้าวไกล ทั้งที่ นายก อบจ.ราชบุรี ก็ไม่ใกล้เคียงจะเป็นผู้ชนะ หรือชัดๆ ที่การเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 ที่พรรคสีส้มชนะขาดมา 2 สมัย ก็กลับแพ้ให้กับ พรรคเพื่อไทย ที่ไม่เคยเจาะเขตนี้ได้มาก่อน
แล้วยังประสบปัญหาคุณภาพ สส.ในพรรคที่ขยันสร้างดรามา มักทำ “โอกาสให้เป็นวิกฤต” เห็นจากทั้งเหตุการน้ำท่วมภาคเหนือ ที่พยายามเข้าไปมีซีน แต่ย้อนแย้งในตัวเอง เกี่ยวกับการบริจาคสิ่งของช่วยเหบือผู้ประสบภัย และยังถูกจับผิดในหลายเรื่อง
ถัดมากรณีรถทัศนาจรนักเรียน จ.อุทัยธานี เกิดเพลิงไหม้ ก็ดันมีคิวที่ ณกร ชารีพันธ์ ส.ส.มุกดาหาร พรรคประชาชน ไป "กดขำ" ในโพสต์ของสำนักข่าวแห่งหนึ่ง เป็นภาพของ ชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นั่งก้มหน้าหลังเข้าไปให้การช่วยเหลือที่หน้างงาน ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างดุเดือดในโลกออนไลน์ ก่อนที่ “ณกร” จะโพสต์ชี้แจง และยังขอใช้เวลาอภิปรายชี้แจงในที่ประชุมสภาฯ ด้วยว่า เป็นการกดผิด
รวมทั้งยังมีกรณีที่ สส.หรือคนพรรคประชาชนหลายคนที่แสดงความเห็นโดยพยายามหามุมเหน็บแนมการทำหน้าที่ของรัฐบาล ในการเข้าไปเยี่ยมเด็กที่รอดชีวิต ทั้งที่ไม่ใช่เวลามาจ้องจับผิด หรือคิดทุกเรื่องให้เป็นประเด็นการเมือง
แม้ผล “นิด้าโพล” จะสำรวจความคิดเห็นแค่ 2 พันตัวอย่าง และเป็นครั้งแรกของ “แพทองธาร” ในฐานะนายกฯ รวมถึง “ณัฐพงษ์” ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชน ทั้งยังมีปัจจัยที่คะเนไม่ได้เต็มไปหมด จึงอาจจะมองทิศทางทางการเมือง หรือยึดเป็นแต้มต่อทางการเมืองไม่ได้
และอาจรอผลโพลการเมืองทั้งของนิด้าโพล หรือสำนักอื่นๆ ตลอดจนโพลลับของฝ่ายการเมืองมาประเมินร่วมด้วย ถึงจะสามารถสรุปได้ถึงทิศทางการเมืองไทย
แต่ก็ต้องยอมรับว่า เมื่อคะเนด้วยสายตา ผลโพลการเมืองที่คะแนนนิยม “อิ๊งค์” เด้งขึ้น “เท้ง” ดิ่งลง ค่อนข้างสะท้อนความจริงในปัจจุบันพอสมควร.