xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

Google ช่วยปั่น “รัฐบาลอิ๊งค์” ล่าฝัน “ฮับดิจิทัลอาเซียน” คนไทยได้อะไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงรับรองแก่ Mrs. Ruth Porat ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุนบริษัท Alphabet และ Google ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 30 กันยายน 2567
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจุดพลุแจกเงินหมื่นกลุ่มเปราะบางกวาดคะแนนนิยม “นายกฯอิ๊ งค์” ก็ขี่กระแสการทุ่มลงทุนดาต้า เซ็นเตอร์ ของ “Google” ชวนคนไทยล่าฝัน “ฮับดิจิทัลอาเซียน” เก็บแต้มต่อ แต่ทว่าช้าก่อน! อย่าเพิ่งมโนไปไกล ไทยยังห่างชั้นเมื่อเทียบคู่แข่งขันอย่างมาเลเซียที่ก้าวล้ำกว่า เนื้อหอมกว่า 

และคำถามที่สำคัญยิ่งกว่าเรื่องไหนๆ ก็คือ  ความพยายามเป็นศูนย์กลาง หรือ “ฮับ” ที่ว่านั้น ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการลงทุนต่างๆ จะกระจายมาถึงประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่ และทุกคนในประเทศนี้จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนได้อย่างไร ตามที่  ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เคยตั้งคำถามกับ “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” เมื่อครั้งโชว์วิสัยทัศน์ดันไทยเป็นฮับ 8 ด้าน ซึ่งรวมถึง “ฮับดิจิทัล” อยู่ด้วย

 รูธ โพรัท  ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุน Alphabet และ Google เข้าพบปะหารือกับ  แพทองธาร ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 เพื่อประกาศสานต่อแผนลงทุนของกูเกิลในโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ (Cloud Region) ที่กรุงเทพฯ และ “ดาต้า เซ็นเตอร์” หรือศูนย์ข้อมูล ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ (WHA) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดชลบุรี ซึ่งจะมาช่วยรองรับการใช้งานกูเกิลคลาวด์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงบริการต่างๆ ทั้งกูเกิล เสิร์ช กูเกิลแมปส์ และ กูเกิล เวิร์กสเปซ

 จากการศึกษาของ ดีลอยท์ คาดว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว จะมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 1.4 แสนล้านบาท แก่จีดีพีประเทศไทย ภายในปี 2572 พร้อมสร้างตำแหน่งงานเฉลี่ย 14,000 ตำแหน่งต่อปี ในช่วงปี 2568 - 2572 หรือกว่า 70,000 ตำแหน่ง ในช่วง 5 ปีข้างหน้า 

รูธ โพรัท เชื่อมั่นว่า การลงทุนนี้และการเดินหน้าโครงการต่างๆ ของกูเกิล จะส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีคลาวด์และ AI ได้มากขึ้นตามพันธกิจ “Leave No Thai Behind”

ขณะที่ “นายกฯ อิ๊งค์” มองว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของกูเกิล จะช่วยผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างรวดเร็ว การพัฒนาด้าน Cloud Computing และ AI ยังสอดคล้องกับนโยบาย Cloud-First Policy ของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยเร่งการพัฒนาบริการดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อปลดล็อกโอกาสทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน

เมื่อปี 2565 กูเกิล วางแผนเปิดตัว Cloud Region แห่งแรกในไทย เพื่อให้หน่วยงานรัฐ ธุรกิจขนาดเล็ก สตาร์ทอัพ และองค์กรขนาดใหญ่สามารถใช้ประโยชน์จาก AI/ML (Machine Learning) และการประมวลผลแบบออนดีมานด์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา Google ได้ฝึกอบรมคนไทยกว่า 3.6 ล้านคน ทั้งนักเรียน นักการศึกษา ผู้ประกอบการ SME และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ พร้อมเปิดตัวหลักสูตรใหม่ เช่น AI Essentials โครงการ Samart Skills และโครงการ Gemini Academy เพื่อช่วยพัฒนาทักษะให้กับนักการศึกษาไทยกว่า 20,000 คน

Google มีแผนที่จะลงทุนและสนับสนุนทักษะด้าน AI ในประเทศไทย โดยตั้งเป้าฝึกอบรมคนไทย 150,000 คน ภายในปี 2569

นอกจากนี้ Google ยังเดินหน้า Project SEALD (Southeast Asian Languages in One Network Data) โดยความร่วมมือกับ AI Singapore เน้นพัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) เพื่อศึกษาภาษาที่ใช้ในอาเซียนร่วมกัน

การเข้ามาลงทุนของกูเกิล ถือเป็นบริษัทยักษ์เทค รายที่ 2 ต่อจาก  อเมซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS) ที่ประกาศลงทุนในไทย 1.9 แสนล้านบาท ภายในปี 2580 เมื่อช่วงกลางปี 2567 ที่ผ่านมา ก่อนจะเริ่มให้บริการ AWS Asia Pacific (Bangkok) Region ในช่วงต้นปี 2568

ส่วน  ไมโครซอฟท์ (Microsoft) แม้  สัตยา นาเดลนา  ซีอีโอไมโครซอฟท์ จะมาเยือนไทย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และประกาศตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย แต่ยังไม่มีการเปิดเผยเม็ดเงินลงทุนที่ชัดเจน

บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า การลงทุนของกูเกิลดังกล่าว จะส่งผลเชิงบวกต่อหุ้นไทยในหลายอุตสาหกรรม ทั้งกลุ่มโรงไฟฟ้า, นิคมอุตสาหกรรม, สื่อสาร และรับเหมาก่อสร้าง โดยเฉพาะ GULF ได้อานิสงส์ทั้งจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและเป็นพันธมิตรร่วมลงทุนกับ บริษัท กูเกิ้ล เอเชีย แปซิฟิก จำกัด

 บีโอไอปั้นฮับดิจิทัล ส่งเสริม 46 โครงการ 1.4 แสนล้าน 

 นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์  เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เชื่อมั่นว่า การมาของกูเกิล สะท้อนศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัลของภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันมีโครงการ Data Center และ Cloud Service ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ รวม 46 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 167,989 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง

เช่น Amazon Web Service (AWS) ที่ประกาศลงทุนในไทยกว่า 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2580 โดยในเฟสแรก ได้ลงทุนสร้าง Data Center แล้ว 3 แห่ง เงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท, โครงการ NextDC จากออสเตรเลีย ลงทุน 13,700 ล้านบาท, CtrlS จากอินเดีย ลงทุน 5,000 ล้านบาท, STT GDC จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,500 ล้านบาท, Evolution Data Center จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,000 ล้านบาท, Supernap (Switch) จากสหรัฐอเมริกา ลงทุน 3,000 ล้านบาท, Telehouse จากญี่ปุ่น ลงทุน 2,700 ล้านบาท และ One Asia จากฮ่องกง ลงทุน 2,000 ล้านบาท

สำหรับธุรกิจการให้บริการคลาวด์ มีบริษัทชั้นนำที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เช่น Alibaba Cloud ลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท และ Huawei Technologies ลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังมีผู้ประกอบการไทยที่ลงทุนในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service เช่น บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์, บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย และ บริษัท GSA ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Gulf, Singtel และ AIS

บีโอไอ ยังส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างครบวงจร ทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล ดิจิทัลคอนเทนต์ และกิจการสนับสนุนระบบนิเวศด้านดิจิทัล เช่น Innovation Park, Maker Space กิจการพัฒนาพื้นที่ และระบบ Smart City เป็นต้น

เลขาฯ บีโอไอ ยังจาระไนข้อได้เปรียบของไทยหลายด้านที่ดึงดูดการเข้ามาลงทุนของบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ เช่น โครงสร้างพื้นฐานมีคุณภาพสูง ทั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดในอาเซียน ระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร มีศักยภาพในการจัดหาพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการลงทุน Data Center และกฎระเบียบด้านดิจิทัลที่มีมาตรฐานสากล รวมถึงด้านบุคลากรมีคุณภาพและมีทักษะด้านดิจิทัล

อีกทั้งยังมีความมั่นคงปลอดภัยและเป็นกลางในเวทีระหว่างประเทศ ทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน และมีสิทธิประโยชน์ที่จูงใจและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน เพื่อดึงดูดบุคลากรทักษะสูงเข้าสู่ประเทศ

ส่วนตลาดในประเทศขยายตัวสูง ทั้งดีมานด์จากการยกระดับองค์กรต่างๆ ไปสู่ยุคดิจิทัล การกำหนดนโยบาย Cloud First Policy ของรัฐบาล สัดส่วนการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอยู่ในระดับสูงถึง 88% ของประชากร มีผู้ใช้งาน Social Media กว่าร้อยละ 70 ของประชากร ประชาชนมีทักษะทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบดิจิทัล

เลขาฯ บีโอไอ ชี้ว่า Data Center และ Cloud Service ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ จะทำให้เกิดการทำงานประสานกันระหว่างคนและเทคโนโลยี เพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ประโยชน์ที่คนไทยจะได้รับมีมากมาย โดยเฉพาะการสร้างงานทักษะสูงทั้งทางตรงและทางอ้อม

นอกจากนั้น ยังช่วยส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การผลิต การเงิน เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ธุรกิจด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว อีคอมเมิร์ซ และธุรกิจบริการต่างๆ ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเข้าถึงบริการ Cloud ที่มีคุณภาพสูง และเทคโนโลยีดิจิทัลอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น ช่วยเร่งกระบวนการ Digital Transformation และสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจในโลกยุคใหม่ที่จำเป็นต้องมีทั้งความเร็วและความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล ยกระดับไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค

ทว่า ในมุมมองของ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กลับเห็นว่า ประเทศไทยไม่ได้มีพื้นฐานที่เข้มแข็งนักที่จะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล ขาดทั้งทักษะในระดับผู้ประกอบการและแรงงาน ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนอย่างเพียงพอ อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ต้องอาศัยการลงทุนอย่างยาวนานต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10 ปี จึงจะสามารถขึ้นมาอยู่ในระดับที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางหรือฮับในอนุภูมิภาคได้

 ไทยยังห่างชั้น ท้าชิงมาเลเซีย 

ขณะที่ เลขาฯ บีโอไอ และ “นายกฯ อิ๊งค์” ปั่นกระแสตามล่าฝันดันไปไทยสู่ฮับดิจิทัลแห่งอาเซียน ด้วยจุดแข็งและข้อได้เปรียบต่างๆ นาๆ แต่หันมาดูความเป็นจริงแล้ว จะพบว่า บิ๊กเทคระดับโลก ต่างพิสมัยการเข้าไปลงทุนในมาเลเซียมากกว่าไทย

ดังเช่น AWS ที่วางแผนลงทุนในมาเลเซีย มากกว่า 6.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.1 แสนล้านบาท จนถึงปี 2581 ส่วนการลงทุนในไทยนั้น AWS มีแผนลงทุนประมาณ 1.9 แสนล้านบาท ภายในปี 2580

 สำหรับ Google ที่เพิ่งประกาศลงทุนในไทย ประมาณ 36,000 ล้านบาท ได้ทุ่มลงทุนเท่าตัวในมาเลเซีย คือ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7.3 หมื่นล้านบาท สร้างดาต้า เซ็นเตอร์ และ Cloud Region คาดกระตุ้นการจ้างงาน 26,000 ตำแหน่งภายในปี 2573 และสร้างจีดีพีมากถึง 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.1 แสนล้านบาท  

เช่นเดียวกันกับไมโครซอฟท์ ที่เตรียมลงทุน 2,200 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 81,000 ล้านบาท ตลอด 4 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI และคลาวด์ในมาเลเซีย สร้างศูนย์ความเป็นเลิศด้าน AI และฝึกการใช้ AI ให้ชาวมาเลเซีย 200,000 คน ขณะที่ไทย ไมโครซอฟท์ มีแผนตั้งดาต้า เซ็นเตอร์ และลงทุนด้านคลาวด์และAI พร้อมเสริมสร้างทักษะ AI ให้คนไทย 1 แสนคน แต่ยังไม่ระบุตัวเลขการลงทุนที่ชัดเจน

Microsoft ยังเตรียมลงทุนด้าน Cloud และ AI ในอินโดนีเซีย มูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.25 หมื่นล้านบาท อีกด้วย
 หากรวมตัวเลขการลงทุนของ 3 บิ๊กเทค จะเห็นว่า มาเลเซียดึงเม็ดเงินลงทุนรวม 3.43 แสนล้านบาท ส่วนไทยอยู่ที่ประมาณ 1.98 แสนล้านบาท 

 ข้อได้เปรียบสำคัญประการหนึ่งของมาเลเซีย คือ ต้นทุนราคาพลังงานที่ถูกกว่า โดยค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของมาเลเซีย อยู่ที่ 3.74 บาทต่อหน่วย ส่วนไทยเวลานี้อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ยังไม่นับว่า มาเลเซียมีสายเคเบิ้ลใต้น้ำเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตระหว่างภูมิภาค 20 เส้น มากกว่าไทย 12 เส้น และประชากรเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากกว่าอยู่ที่ 96.8% ส่วนไทยมี 89.5%  

อย่างไรก็ดี  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  ระบุว่า ประเทศไทย เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของการลงทุนในธุรกิจ Data Center ทั้งจากผู้เล่นระดับท้องถิ่นและผู้เล่นระดับโลก โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขนาด Data Center ต่อจำนวนประชากรในไทยเติบโตกว่า 54% และไทยอยู่อันดับ 3 ของอาเซียน คาดว่า ช่วงปี 2567-2570 การลงทุนดาต้า เซ็นเตอร์ ของไทย จะมีมูลค่ามากกว่า 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.1% ของ GDP แต่ยังเป็นรองมาเลเซีย โดยตลาดบริการ Data Center ของไทยคาดเติบโตเฉลี่ยกว่า 31.2% ต่อปี บ่งชี้ถึงโอกาสที่เป็นไปได้สำหรับนักลงทุนที่จะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

 การตามล่าฝันสู่ฮับดิจิทัลแห่งอาเซียน แม้จะยังห่างไกลความจริง แต่ “นายกฯอิ๊งค์” ปั่นกระแสตีกินกำคะแนนนิยมขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งของนิด้าโพลเรียบร้อย 


กำลังโหลดความคิดเห็น