xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไทยเสียแชมป์ส่งออกรถอาเซียนในรอบ 9 ปี “จีน” ใช้สิทธิ FTA ส่ง “อีวี” เข้าไทยมากสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ไม่เป็นที่ “น่าแปลกใจ” อะไรมากนัก สำหรับการที่ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ออกมาเปิดเผยว่า “ประเทศไทยกำลังจะเสียแชมป์ส่งออกรถยนต์ตลาดอาเซียนในรอบ 9 ปี” ด้วยถ้าหากพิจารณาจากตัวเลขที่ได้รับการเปิดเผยมาจากทั้งค่ายรถยนต์เองหรือสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทิศทางก็ดำเนินไปในลักษณะดังกล่าวให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยข้อมูลว่า ไทยมีบทบาทลดลงในการส่งออกรถยนต์ไปตลาดอาเซียน โดยในครึ่งแรกของปี 2567 ประเทศไทยมีสัดส่วน 23% จีน 27% อื่น ๆ 50% ลดลงจากเมื่อปี 2564 ซึ่งไทยมีสัดส่วนถึง 31% จีน 18% และอื่น ๆ 51% พร้อมทั้งระบุอีกว่า BEV ส่งออกจากจีนที่โตเร็ว ไม่เพียงกดดันการส่งออกรถยนต์นั่งไทย แต่ในอนาคตอาจกระทบแผนผลิต BEV ในไทยด้วย แต่ปิกอัพเป็นกลุ่มเดียวที่ไทยยังส่งออกไปตลาดอาเซียนได้ดี

ข้อมูลระบุอีกว่า มูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งของไทยปีล่าสุดมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับจีน โดยช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกที่ 1,447 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่งใช้น้ำมัน ขณะที่จีนมีมูลค่าการส่งออกถึง 1,731 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสัดส่วนกว่าครึ่งคือรถยนต์นั่ง BEV
 แตกต่างจากช่วงก่อนหน้าที่ประเทศไทยยังมีมูลค่าส่งออกรถยนต์นั่งนำหน้าจีน และสัดส่วนเกือบทั้งหมดคือรถยนต์นั่งใช้น้ำมัน 

อย่างไรก็ตาม ไทยยังเป็นผู้นำในการส่งออกปิกอัพ ขณะที่จีนครองตลาดรถบรรทุก โดยมูลค่าการส่งออกรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ประเทศไทยอยู่ที่ 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนใหญ่คือรถปิกอัพ ขณะที่จีนมีมูลค่าอยู่ที่ 865 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่คือรถบรรทุกขนาดมากกว่า 5 ตัน

สำหรับสถานการณ์การขาย  “ภายในประเทศ”  ก็มีสภาพที่  “ย่ำแย่”  มาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดย   “ศุภกร รัตนวราหะ” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์เดือนสิงหาคม 2567 มียอดขาย 45,190 คัน ลดลง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

กล่าวคือกลุ่มตลาดรถยนต์นั่ง ทำยอดขาย 18,305 คัน ชะลอตัวที่ 22.6% ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ มียอดขาย 26,885 คัน ชะลอตัวเช่นกันที่ 26.5% และตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน มียอดขาย 14,970 คัน เติบโตลดลง 39.2%

ในส่วนของตลาด xEV มียอดขายทั้งหมด17,090 คัน คิดเป็นสัดส่วน 38% ของตลาดรถยนต์ทั้งหมด เติบโตขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

ขณะที่รถยนต์ HEV ยังคงได้รับความนิยม โดยมียอดขายอยู่ที่ 8,658 คัน เติบโตขึ้น 33% คิดเป็นสัดส่วน 51% ของตลาด xEV และรถยนต์ BEV มียอดขาย 7,654 คัน เพิ่มขึ้น 16% คิดเป็นสัดส่วน 45% ของตลาด xEV ทั้งหมด

ส่วนตลาดรถยนต์ “เดือนกันยายน” มีแนวโน้มจะยังคงทรงตัว แต่ยังคงเติบโตลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

 ขณะที่ตัวเลขยอดขายสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม -สิงหาคม 2567 รวมทั้งหมด 399,611 คันลดลง 23.9 % โตโยต้า ขายได้มากสุด 151,907 คัน ลดลง 14.7 % อันดับสอง อีซูซุ ขายได้ 59,189 คันลดลง 45.9 % อันดับสาม ฮอนด้า 53,946 คัน ลดลง 11.2 % 

ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการของตลาดรถยนต์ไทยก็คือ สถิติเกี่ยวกับ  “รถอีวีจีน” ที่  สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  กระทรวงพาณิชย์ ได้วิเคราะห์สถานการณ์การขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างไทยและจีนในปี 2566 โดยหนึ่งในประเด็นที่ต้องขีดเส้นใต้ก็คือ ทั้ง 2 ประเทศใช้สิทธิในประเภทสินค้าใดมากที่สุด

และผลปรากฏว่า ไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในสินค้าทุเรียนสดสูงที่สุด ขณะที่จีนใช้สิทธิประโยชน์สูงที่สุดในรถยนต์ไฟฟ้า

 โดยประเทศไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในการส่งออกทุเรียน (HS 0810.60) เป็นมูลค่า 4,021 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 100 ของมูลค่าส่งออกสินค้าดังกล่าว ส่วนขณะเดียวกัน จีนใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า (HS 8703.80) เป็นมูลค่า 2,464 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 97 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากจีน 


แน่นอน แม้เมื่อพิจารณาตัวเลขแล้วจะเห็นว่า ไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในมูลค่าที่สูงกว่าจีน แต่การที่จีนมุ่งเน้นไปที่ “รถยนต์ไฟฟ้า” ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังในการส่งออกสินค้าประเภทนี้เข้าไทย

ดังนั้น ที่ผ่านมาจึงเห็นค่ายรถยนต์จีนสารพัดยี่ห้อดาหน้าเข้ามาขาย พร้อมทั้งใช้ “สงครามราคา” เป็นกลยุทธ์สำคัญในการทำตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกันก็เบียดค่ายรถยนต์หน้าเดิมให้มียอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี เมื่อมองภาพรวมของตลาดรถยนต์ในประเทศ ผลพวงจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงฟื้นตัวช้า และความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน รวมถึงภาวะอุทกภัย ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ซึ่งด้วยเหตุดังกล่าว แม้ค่ายรถส่วนใหญ่ต่างเร่งทำกลยุทธ์ราคา อัดแคมเปญ แจกแถม ก็ไม่สามารถดันยอดขายขึ้นได้มากมายนัก ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ รถไฟฟ้า รถไฮบริด แม้ 2 ประเภทหลังจะมียอดเพิ่มแต่เพียงน้อยนิด
เพราะฉะนั้นคงต้องตามมาลุ้นกันว่า ในช่วงเวลาที่เหลือ ตลาดรถยนต์จะจบที่ตัวเลข 600,000-700,000 คัน ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้หรือไม่ อย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น