คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ความโดดเด่นประการหนึ่งในพัฒนาการทางการเมืองการปกครองของสวีเดน นั่นคือ สวีเดนเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่ชาวนาไม่เคยตกเป็นทาสติดที่ดิน (serfdom) ชาวนาสวีเดนจะเป็นชาวนาเสรีมาโดยตลอด อีกทั้งชาวนายังมีสิทธิ์ในการเลือกกษัตริย์ด้วย โดยการมารวมตัวกันประชุม ซึ่งที่ประชุมที่ว่านี้มีคำเรียกในภาษาสวีดิชว่า ting ดังที่ได้กล่าวไปบ้างในตอนก่อนๆ และจะขอกล่าวเพิ่มเติมต่อไปในตอนนี้
อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนก่อนๆ แรกเริ่มเดิมที การเลือกตั้งกษัตริย์จะกระทำในแต่ละ ting ซึ่ง ting เป็นคำที่ใช้เรียกที่ประชุมท้องถิ่น ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงในการจัดการบริหารการปกครองในคริสต์ศตวรรษที่ 10 และ 11 อันเป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างการขยายตัวของอำนาจกษัตริย์ที่อิงกับคริสต์ศาสนากับกลุ่มตระกูลผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ซึ่งฝ่ายหลังอาจสวามิภักดิ์หรือต่อต้านอำนาจของกษัตริย์ผ่านการตั้งสภา ting ตามแบบคริสต์ศาสนาขึ้นมาใหม่ และมีอำนาจควบคุม ting ซึ่งถือเป็นการประกาศการมีอำนาจที่สำคัญท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและทางศาสนาในสวีเดน
ในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่สิบสามหรือตอนต้นศตวรรษที่สิบสี่ ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้การเลือกกษัตริย์เกิดขึ้นในระดับรัฐเท่านั้น โดยหลังจากศตวรรษที่สิบสาม เมื่อคริสต์ศาสนาได้ลงหลักปักฐานและเกิดการกระชับอำนาจจากส่วนกลางโดยกษัตริย์และกลุ่มพันธมิตรของกษัตริย์เหนือสภาท้องถิ่น ทำให้ ting ถูกลดบทบาททางการเมืองจนเหลือเพียงการทำหน้าที่ของศาลในช่วงครึ่งหลังของยุคกลาง และมีการบัญญัติกระบวนการการเลือกกษัตริย์เข้าไปใน “กฎหมายแห่งแผ่นดิน” (land law or landslag) ในปี ค.ศ. 1350 ด้วย
ตามกฎหมายแห่งแผ่นดิน ค.ศ. 1350 กำหนดให้ผู้ที่ทำหน้าที่ศาลทำหน้าที่ประธาน (the presiding judges/ lagmannen) ของ ting ในระดับภูมิภาคเก้าแห่ง และมีการแต่งตั้งผู้มีความรู้ 12 คนจาก ting ระดับภูมิภาค โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ จากนั้นประธานและตัวแทนที่ได้รับการแต่งตั้งจะเดินทางไปยังบริเวณที่เรียกว่า Mora ตามวันที่ได้กำหนดไว้เพื่อทำการเลือกกษัตริย์ ตัวแทนแต่ละแห่งจะประกอบไปด้วย สามัญชน 6 คน อภิชน 6 คน นอกเหนือไปจากประธานที่มาจากอภิชนฝ่ายทางโลก อันหมายความว่า สภาที่เลือกตั้งกษัตริย์นี้จะประกอบไปด้วยคนจำนวนทั้งสิ้น 117 คน รวมสามัญชน 54 คน จำนวนดังกล่าวถือเป็นการมีส่วนร่วมที่กว้างขวางมากกว่าที่พบในสภาอภิชนในที่อื่นๆในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งมีจำนวนคนเข้าร่วมน้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกกษัตริย์ยังให้ความสำคัญกับสายโลหิตอยู่ นั่นคือ ผู้ที่จะได้รับเลือกจะต้องเป็นโอรสของกษัตริย์พระองค์ใดก็ตามที่เกิดในอาณาจักร แต่เมื่อเกิดสหภาพสแกนดิเนเวียหรือที่เรียกว่า สหภาพคาลมาร์ (the Scandinavian Union, the Kalmar Union ระหว่าง ค.ศ. 1397-1521) ได้มีการเผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับกษัตริย์ที่มาจากการเลือกตั้ง (an elected monarch) และได้มีการวางรากฐานให้กับอาณาจักรอื่นๆในสหภาพด้วย ซึ่งในที่สุด ได้นำไปสู่การเกิด สภาแห่งอาณาจักร (the council of the realm) ที่มีตัวแทนจากแต่ละฐานันดรมารวมกันเพื่อเลือกกษัตริย์ และด้วยเหตุนี้ การเลือกตั้งกษัตริย์จึงเป็นกิจกรรมของพวกอภิชนมากขึ้นและมีฐานที่อิงอยู่กับการมีส่วนร่วมของประชาชนธรรมดาน้อยลง
ต่อมาในศตวรรษที่ 16-17 สวีเดนได้เข้าทำสงครามกับประเทศอื่นๆอย่างต่อเนื่อง ทำให้กษัตริย์จำเป็นต้องเรียกเก็บภาษีและเกณฑ์ประชาชนให้เป็นทหารติดต่อกันเป็นเวลานาน เพื่อทำสงครามเชิงรุกโดยอ้างว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนเพื่อแลกกับความคุ้มครองที่ได้รับจากรัฐ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว การเกณฑ์ประชาชนเป็นทหารเพื่อทำสงครามอย่างต่อเนื่องจะขัดกับข้ออ้างของกษัตริย์เรื่องพันธะในการให้ความคุ้มครองที่มีต่อมหาชนก็ตาม
แต่ในปี ค.ศ. 1655 – 1660 ในรัชสมัย พระเจ้า Charles X Gustav เมื่อสวีเดนตัดสินใจทำสงครามรุกโปแลนด์ อันนำมาซึ่งสงครามต่อเนื่องและภัยคุกคามจากการรุกรานจากชาติอื่นๆ เป็นเหตุให้กษัตริย์มีข้อเรียกร้องอื่นๆ ต่อประชาชนนอกเหนือไปจากเรื่องภาษีและการเกณฑ์ทหารมากยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้นคือ ขอให้ประชาชนทำการปกป้องชุมชนของตัวเอง อันเป็นประเด็นที่สภาฐานันดรไม่ยินยอมทำตาม และนำไปสู่การอภิปรายถกเถียงอย่างกว้างขวางในที่ประชุมของแต่ละแว่นแคว้น อันนำไปสู่การตั้งคำถามการลากเส้นแบ่งระหว่างปริมณฑลของการทำหน้าที่พลเรือนที่อยู่ใต้ปกครองกับหน้าที่ของทหารของฝ่ายผู้ปกครองให้ชัดเจน
ในช่วงปี ค.ศ. 1655-1660 การทำสงครามของกษัตริย์นำมาซึ่งข้อเรียกร้องที่มากขึ้นหลายประการ แม้หลายอย่างจะมีทั้งภาระที่เหนือบ่ากว่าแรงเมื่อเทียบกับพันธะที่ประชาชนมีอยู่เดิม นั่นคือ การจ่ายภาษีและการเกณฑ์ทหาร ภาระที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ การส่งเสื้อผ้าให้ทหารในช่วงฤดูหนาว การสร้างป้อมปราการ และภาระที่ต้องเสี่ยงชีวิตอย่างมาก เช่น ขอให้ประชาชนเป็นทัพหน้าในการบุกไปโจมตีนอร์เวย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนเห็นว่า ไม่ถูกต้องและได้ตั้งคำถามกับข้อเรียกร้องดังกล่าวของกษัตริย์ โดยประชาชนให้เหตุผลว่าการจ่ายภาษีและการเกณฑ์ทหารคือการกระทำที่มีขึ้นเพื่อที่ชาวนาจะไม่ต้องมาคอยทำหน้าที่ทหารด้วยในเวลาเดียวกัน
การกระทำดังกล่าวจึงถูกนำมาอภิปรายอย่างกว้างขวางในระดับท้องถิ่น โดยอ้างว่าเป็นการกระทำที่อยู่นอกเหนือสัญญาที่กษัตริย์ทำไว้กับประชาชน นั่นคือ กษัตริย์ให้ความปกป้องคุ้มครองเพื่อแลกกับการจ่ายภาษีและการเกณฑ์ทหาร ประกอบกับที่สภาฐานันดรไม่เห็นชอบกับข้อเรียกร้องดังกล่าวหลายประการ ทำให้กษัตริย์เองก็ไม่กล้าฝืนที่จะใช้กำลังบีบบังคับให้ประชาชนกระทำตามที่พระองค์ต้องการ
แต่เมื่อการรุกรานจากต่างชาติเริ่มปรากฏเด่นชัดมากยิ่งขึ้น ข้ออ้างของฝ่ายผู้ปกครองเรื่องภัยคุกคามจึงถูกนำมาใช้อีกครั้ง ผลลัพธ์อันย้อนแย้งที่ตามมาคือ ชาวนาสวีเดนที่ต้องแบกรับภาระในการจ่ายภาษีและการเกณฑ์ทหารเพื่อแลกกับความสะดวกสบายจากการได้รับการปกป้องคุ้มครองจากรัฐ อันทำให้พวกเขาโต้แย้งรัฐในบางครั้ง เมื่อเห็นว่ารัฐได้ละเมิดเส้นแบ่งดังกล่าว โดยการร้องขอให้พวกเขากระทำในสิ่งที่นอกเหนือไปจากพันธะสัญญาระหว่างพวกเขากับผู้ปกครอง และเรียกร้องให้มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างหน้าที่ของพลเรือนกับทหาร
แต่เมื่อทรัพยากรดังกล่าวถูกนำไปใช้ในการทำสงครามเชิงรุกของกษัตริย์จนหมด และสวีเดนถูกรุกรานจากต่างชาติ สิ่งเดียวที่หลงเหลืออยู่ที่รัฐเรียกร้องจากพวกเขา คือ ขอให้พวกเขาออกมาปกป้องมาตุภูมิของตนเองภายใต้ข้ออ้างเรื่องภัยคุกคามและความมั่งคั่งและความปลอดภัยร่วมกัน อันเป็นสถานการณ์ที่ชาวนาเหล่านั้นกลับไม่สามารถปฏิเสธได้ และส่งผลให้ประเด็นเรื่องเส้นแบ่งระหว่างหน้าที่ของพลเรือนกับทหารที่เคยถูกหยิบยกมาอภิปรายในยามสันติตกอยู่ในสภาวะคลุมเครือตามไปด้วยเช่นกัน
สิทธิ์ของชาวนาดำรงอยู่ในฐานะสิทธิชุมชน
ตามจารีตประเพณีการปกครองของสวีเดน ในการเมืองสวีแดนยุคกลาง สิทธิ์อำนาจตามกฎหมายของชาวนาที่เป็นมหาชนชาวสวีเดนในช่วงปลายยุคกลางดำรงอยู่ในฐานะสิทธิ์อำนาจของ “ชุมชน” (Community) ซึ่งมีรากฐานจากทั้งการเป็นชุมชนดั้งเดิมและชุมชนของชาวคริสต์ ชุมชนชาวนาในยุคกลางของสวีเดน ทำหน้าที่เป็นรากฐานของการใช้สิทธิ์อำนาจตามกฎหมายในด้านต่าง ๆ ซึ่งสามารถถ่ายโอนสิทธิ์อำนาจดังกล่าวไปให้คณะบุคคลหรือเอกบุคคลใช้ในการเฉพาะได้ เช่น การที่กษัตริย์สัมพันธ์กับมหาชนในลักษณะของการที่สองฝ่ายต่างมีพันธสัญญาต่อกัน ซึ่งในด้านหนึ่งเป็นการให้อำนาจแก่มหาชนเพื่อจำกัดอำนาจของกษัตริย์ และทำให้กษัตริย์ตามจารีตนี้มาจากการเลือกตั้ง (Elective kingship)
นอกจากนี้ ระบอบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism) ของสวีเดนยังมิได้มีความเข้มข้นมากหากเปรียบเทียบกับรัฐอื่น ๆ ในภาคพื้นทวีปของยุโรป ประกอบกับการที่ชาวนาส่วนใหญ่ในสวีเดนมีที่ดินเป็นของตนเอง ปัจจัยเหล่านี้ จึงยิ่งทำให้บทบาทของมหาชนสวีเดนในช่วงยุคกลางมีความโดดเด่นอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐอื่น ๆ ในยุโรปในช่วงเวลาเดียวกัน