xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“หมอบุญ” กระอัก อาณาจักร THG สะเทือน แบกหนี้ ลงทุนใหญ่ ไปไม่รอด? กลุ่ม “รพ.รามคำแหง” เคลื่อนทัพคุมอำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 นางจารุวรรณ วนาสิน ภรรยาหมอบุญ อดีตประธานกรรมการ THG | .นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ ประธานกรรมการ THG คนใหม่ | นพ.บุญ วนาสิน
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  การเร่งเคลียร์ปัญหาธุรกรรมอำพรางในบริษัทย่อยของกลุ่มธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป เจ้าของโรงพยาบาลธนบุรี ที่ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นอกจากจะเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ให้ลุกลามเกิดความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้นแล้ว ปฏิบัติการครั้งนี้ยังเท่ากับเป็นการบีบบังคับให้ นพ.บุญ วนาสิน หรือ “หมอบุญ” ต้องถอยห่างออกจากอาณาจักรธุรกิจหมื่นล้านที่ปลุกปั้นมากับมือ 

หมัดน็อกสุดท้ายคือ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ครั้งที่ 16/2567 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 มีมติอนุมัติแต่งตั้ง  นายแพทย์เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์  อดีตประธานกรรมการบริษัท และประธานกรรมการบริหารของ บมจ.โรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริษัท THG แทน  นางจารุวรรณ วนาสิน  โดยนางจารุวรรณ ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท มีผลตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นต้นไป

 แม้บอร์ด THG จะแจงว่านางจารุวรรณ ซึ่งเป็นภรรยาของหมอบุญ วนาสิน ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท เพื่อให้คณะกรรมการของบริษัทฯ หาทางแก้ไขเหตุการณ์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากธุรกรรมผิดปกติอย่างโปร่งใสก็ตาม แต่เบื้องลึกแล้วนี่คือการกันไม่ให้คู่ชีวิตหมอบุญ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในระหว่างการตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น 

เวลานี้ อำนาจบอร์ด THG คุมโดย “กลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหง” หรือ RAM ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งใน THG มีสัดส่วนการถือหุ้น 208,378,474 หุ้น หรือคิดเป็น 24.59% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ออกมาประกาศแล้วว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับหมอบุญ อดีตประธานกรรมการ THG เป็นการส่งสัญญาณว่ากลุ่ม RAM จะเดินหน้าดำเนินการเพื่อเอาผิดกับหมอบุญ อย่างมิพักต้องสงสัย ใช่หรือไม่?

นั่นเป็นคำถามที่คาดว่าน่าจะได้รับคำตอบในอีกไม่ช้า

ต้องไม่ลืมว่า หลังจากบริษัทฯ แจ้งต่อ ตลท. เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 ว่าพบความผิดปกติของธุรกรรมการกู้ยืมเงิน และการสั่งสินค้าของบริษัทย่อย 2 แห่ง ได้แก่  บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำกัด (THB)  ซึ่ง THG ถือหุ้นอยู่ 83.03% และ  บริษัท ที เอช เฮลท์ จำกัด (THH)  ซึ่ง THG ถือหุ้นอยู่ 51.22% โดยพฤติการณ์น่าสงสัยคือ

 หนึ่ง   ทั้ง THB และ THH ได้ปล่อยกู้เงินกับบริษัท บริษัท ราชธานีพัฒนาการ (2014) จำกัด (RTD) ซึ่งมี “ครอบครัววนาสิน” เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ถึงปี 2566 ทั้งหมด 6 รายการ เป็นเงินจำนวนทั้งหมด 145 ล้านบาท

 สอง  THB ให้กู้ยืมเงินแก่บริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด (TMG) ซึ่งเป็นบริษัทที่ RTD เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 1 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวมทั้งหมด 10 ล้านบาท

 และสาม  THH สั่งซื้อสินค้าจากบริษัทซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศสิงคโปร์ แต่ไม่ได้มีการรับมอบสินค้าจริง ในปี 2566 จำนวนทั้งสิ้น 2 รายการ คิดเป็นยอดเงินรวมทั้งสิ้น 55 ล้านบาท รวมธุรกรรมน่าสงสัยทั้งหมด 210 ล้านบาท

ทาง นพ.บุญ วนาสิน อดีตประธานกรรมการ และเป็นผู้ก่อตั้ง THG ออกมาสวนหมัดทันควันผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อว่า เป็นเพียงเรื่องการเข้าใจผิดภายในองค์กร THG ไม่มีการทุจริต และเงินไม่ได้หาย แต่ยอมรับว่ามีการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศสิงคโปร์จริง แต่บริษัทไม่ได้รับมอบสินค้าดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเข้ามารับผิดชอบค่าเสียหายดังกล่าวแล้ว คิดเป็นจำนวนเงินเสียหาย 110 ล้านบาท ไม่ใช่ 210 ล้านบาท โดย THG ไม่ต้องแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมกับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แล้ว เพราะมีการคุยกันภายในเรียบร้อยแล้ว

คล้อยหลังหมอบุญออกมาแก้ข่าวผ่านสื่อว่าเคลียร์กันแล้ว THG ไม่ต้องแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมอะไรกับ ตลท.แล้ว ทาง ตลท.ก็ให้สงสัยจึงถามกลับไปยัง THG อีกครั้ง จากนั้น  ณัฐธกานต์ จิตติณพัฒน  เลขานุการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด ตอบกลับไปว่า บริษัทฯ ยืนยันข้อมูลและข้อเท็จจริงของเรื่องธุรกรรมที่ชวนสงสัยตามที่ปรากฏในหนังสือที่แจ้งต่อ ตลท.ทุกประการ และให้ติดตามข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนเป็นทางการผ่านเว็บไซต์ของบริษัทฯ และตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้น

นอกจากนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างวิเคราะห์ผลกระทบของเหตุการณ์ที่อาจมีต่อฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน และความเสี่ยงโดยรวมของบริษัทฯ และวิเคราะห์กระบวนการควบคุมภายใน เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

ณ ปัจจุบัน ยอดหนี้คงค้างของรายการอันควรสงสัยดังกล่าว รวมทั้งสิ้นประมาณ 105 ล้านบาท (ไม่นับรวมดอกเบี้ย) ซึ่งบริษัทฯได้แจ้งผู้สอบบัญชีของบริษัทฯทราบถึงรายการอันควรสงสัยแล้ว คาดว่าหากมีผลกระทบจะสามารถเปิดเผยได้ในงบการเงินไตรมาส 3/2567 ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำและเปิดเผยให้ผู้ลงทุนทราบต่อไป

 หุ้นดิ่งลึก - คาดไตรมาส3/2567ขาดทุนยับ 

ไม่ว่าเบื้องลึกเบื้องหลังเรื่องราวที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร แต่ราคาหุ้นของ THG ดิ่งลงรับข่าวร้ายหลังเกิดเรื่องสองวัน โดยปิดตลาดอยู่ที่ 19.5 บาท ลดลงจากราคาปิดวันก่อนหน้าที่ 25.25 บาท หรือลดลง -20% ก่อนเด้งกลับมาติดลบที่ -13% มูลค่าบริษัทหายวับไปกับตาในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง จาก 21,400 ล้านบาท เหลือเพียง 18,500 ล้านบาท

 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี วิเคราะห์ สถานการณ์ THG มีมุมมองลบต่อผลการดำเนินงานปี 2567 จะแย่กว่ากลุ่มฯ จากผลกระทบปรับโครงสร้าง รพ.ธนบุรี บำรุงเมือง, ธุรกิจที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ และค่าใช้จ่ายพิเศษ โดยไตรมาส 3 ปี 2567 มีโอกาสขาดทุน หากต้องตั้งสำรองค่าใช้จ่ายหนี้สูญราว 110 ล้านบาท

และปัญหาการควบคุมภายในบริษัทฯ กรณีธุรกรรมสองบริษัทย่อยผิดปกติ ส่งผลลบต่อภาพลักษณ์บริษัทฯ เพิ่มเติมจากกรณีผู้บริหาร (นพ.บุญ วนาสิน) ถูก ก.ล.ต สั่งปรับฐานให้ข้อมูลมีผลต่อราคาหุ้น (เมื่อเดือนสิงหาคม 2565) เป็นความเสี่ยงด้านอันดับเครดิตองค์กร ซึ่งอาจกระทบต้นทุนเงินทุนในอนาคต

นอกจากนี้ THG มี Valuation แพงสุดในกลุ่ม รพ.ที่ศึกษาจากซื้อขาย PE ปี 2568 ที่ 63 เท่า สูงกว่า PE เฉลี่ย 34 เท่า ของกลุ่มโรงพยาบาลที่ศึกษา

กรุงศรีฯ ปรับคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2567 ลงจากเดิม -69% เป็น 122 ล้านบาท (เดิม 393 ล้านบาท) ส่วนปี 2568 - 2569 ปรับกำไรสุทธิลง -43% / -40% เป็น 340 ล้านบาท (เดิม 600 ล้านบาท) /กำไรสุทธิ 495 ล้านบาท (เดิม 825 ล้านบาท) ตามลำดับ

หมอบุญ มีคดีค้างอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในความผิดฐานให้ข้อมูลมีผลต่อราคาหุ้น จากการให้ข่าวจะนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และถูก ก.ล.ต.ลงโทษปรับ 2.34 ล้านบาท แต่หมอบุญไม่ยอมจ่ายค่าปรับ ก.ล.ต.จึงส่งเรื่องให้อัยการฟ้องบังคับคดีทางแพ่ง ผลแห่งคดี ทำให้หมอบุญพ้นจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท และปัจจุบันไม่มีตำแหน่งใดๆ ใน THG แต่มีตัวตายตัวแทน คือ  นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์  ที่นั่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO)

 “หมอบุญ” วางเป้าลงทุนใหญ่ ไม่ฉลุยดังคาด 

ธุรกิจของธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ธุรกิจให้บริการทางการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ ธุรกิจการบริบาลผู้ป่วยและเครื่องมือแพทย์ และธุรกิจอื่นๆ

หมอบุญ ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท ไทย เมดิเคิล กรุ๊ป จำกัด (TMG) ประกาศแผนลงทุน 1.6 หมื่นล้านบาท ทั้งในและต่างประเทศ เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย  ศูนย์มะเร็ง  บนพื้นที่ 7 ไร่ ย่านปิ่นเกล้า ใช้งบลงทุนราว 4,000 ล้านบาท  โครงการศูนย์ดูแลสุขภาพ หรือเวลเนส เซ็นเตอร์  ตั้งอยู่บนพื้นที่ 5 ไร่เศษ ย่านพระราม 3 ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นอาคารสูง 52 ชั้น รองรับกลุ่มผู้สูงอายุ พร้อมศูนย์ดูแลสุขภาพครบวงจร บริหารจัดการโดย THG ใช้งบลงทุนราว 4,000-5,000 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังมีแผนลงทุนตั้งโรงพยาบาลใน สปป.ลาวอีก 3 แห่ง ใช้งบ 2,000 ล้านบาท และเตรียมร่วมลงทุนกับโรงพยาบาลในเวียดนามอีก 4,000 – 5,000 ล้านบาท โดยแผนลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของ TMG และจะให้ THG เข้ามาบริหาร ทั้งเตรียมนำ TMG เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2567 หลังจากมีผลประกอบการดีและมีกำไรกว่า 700 ล้านบาท ในปี 2566 และคาดว่าจะเพิ่มเป็นพันล้านในปี 2567

ภายใต้เทรนด์สังคมสูงวัย หมอบุญยังกล่าวถึงการลงทุนของเครือธนบุรี ซึ่งได้ลงทุนศูนย์ดูแลผู้สูงอายุใน โครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้  เนื้อที่ 140 ไร่ ย่านรังสิต และยังมี เดอะฮิลล์  ที่เชียงใหม่ เป็นวิลล่าให้เช่า 80 ห้อง พร้อมตั้งเป้าใน 3 ปีนี้จะนำแลนด์แบงก์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ มาลงทุนอีก 2 หมื่นล้านบาท โดยในเดือนสิงหาคม 2567 เปิดบริการที่พัทยาเป็นอพาร์ทเมนต์ให้เช่าและซื้อขาด 3,000 ห้อง รองรับคนจีน

ส่วนที่หัวหิน 2,000 ไร่ มีทั้งโรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาล ศูนย์สุขภาพ อพาร์ทเมนต์ผู้สูงอายุ รองรับคนจีน อยู่ระหว่างสร้างเฟสแรก 80 ไร่ จะเปิดปี 2567 ส่วนเวลเนส เซ็นเตอร์ ที่พระราม 3 มีอาคารที่พักอาศัย 52 ชั้น 376 ยูนิต ศูนย์สุขภาพ ฟิตเนส เป็นศูนย์ดูแลสุขภาพองค์รวมในทุกช่วงวัย จะเปิดปี 2568

อย่างไรก็ดี นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THG ยอมรับว่า การขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องของกลุ่ม ทำให้ผลประกอบการถูกกดดันจากต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น ทั้งการก่อสร้างอาคารและติดตั้งเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาลธนบุรีวัฒนา และโรงพยาบาลในภูมิภาคหลายแห่ง รวมทั้งผลกระทบจาก 2 โครงการขนาดใหญ่ คือ โครงการจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ และโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ซึ่งลงทุนและเปิดตัวช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ภาวะเศรษฐกิจชะงัก ทำให้การเติบโตไม่เป็นตามเป้าหมาย

 ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 ของ THG มีรายได้รวม 2,362 ล้านบาท กำไรสุทธิ 52 ล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2567 ของ THG ทำรายได้รวม 4,699 ล้านบาท กำไรสุทธิงวด 6 เดือนแรก อยู่ที่ 74 ล้านบาท

ส่วนผลการดำเนินงานปี 2566 THG มีรายได้รวมอยู่ที่ 9,844 ล้านบาท ลดลง 15% จากปี 2565 ที่ทำได้ 11,540 ล้านบาท สำหรับกำไรปี 2566 ทำได้ 393 ล้านบาท ลดลง 76.6% จากปี 2565 ที่ทำได้ 1,677 ล้านบาท 

การทุ่มลงทุนขยายธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ผลประกอบการไม่เติบโตตามเป้าหมาย ทำให้มีกระแสข่าวว่า หมอบุญ มีหนี้สินส่วนตัวและหนี้สินที่เกี่ยวกันพันกับ THG ช่วงนั่งบอร์ดบริหารทั้งในระบบและนอกระบบ รวมกันสูงกว่า 7,000 ล้านบาท โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ที่มากกว่า 4,000 ล้านบาท และ โครงการ จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ มูลค่าลงทุนกว่า 4,400 ล้านบาท (เฟสแรก) บนพื้นที่ 140 ไร่ ริมถนนพหลโยธิน ย่านรังสิต จังหวัดปทุมธานี

 อย่างไรก็ดี หมอบุญโต้ข้อกล่าวหาว่านำเงินไปลงทุนจำนวนมากจนแบกหนี้และขาดสภาพคล่อง ว่าเป็นเรื่องที่คนไม่รู้จริงพูดกันไป บริษัทฯ เตรียมแผนลงทุนไว้ 8 โครงการ วงเงินลงทุน 20,000 ล้านบาท เพียงแต่ยังไม่ได้แถลงข่าวให้ชัดเจน ข้อมูลข้อเท็จจริงมีอยู่จะขอแถลงเอง 

เอาเป็นว่าเรื่องธุรกรรมอำพรางที่เกิดขึ้น ยังต้องติดตามกันต่อไปว่าจะลงเอยเช่นใด

 ก.ล.ต.เชือด NUSA – ลงดาบซ้ำ STARK 

แต่เคสที่แน่ๆ ซึ่ง ก.ล.ต.กล่าวโทษ ทั้งการไซฟ่อนเงินและธุรกรรมอำพราง คือ NUSA โดย ก.ล.ต. กล่าวโทษกรรมการ อดีตกรรมการและผู้บริหาร  บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) (NUSA)  และพวกรวม 6 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีธุรกรรมการเข้าลงทุนซื้อโรงแรมที่ต่างประเทศในราคาไม่สมเหตุสมผล ธุรกรรมการขายห้องชุดของ NUSA ในราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมิน รวมทั้งการผ่องถ่ายเงินจาก NUSA เข้าบัญชีส่วนตัวและบุคคลใกล้ชิด และกรณีการแสดงเอกสารและข้อมูลเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่และ/หรือ ก.ล.ต. และผู้สอบบัญชี พร้อมกับส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

NUSA เป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีข่าวฉาวโฉ่อย่างต่อเนื่องช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ถูก ก.ล.ต.และ ตลท. สั่งให้ชี้แจงข้อมูลในหลายธุรกรรมที่ถูกตั้งข้อสงสัยในความไม่โปร่งใส ขณะที่ผลประกอบการขาดทุนมายาวนาน แต่ราคาหุ้นในบางช่วงกลับถูกลากขึ้นสวนทาง

 ปัจจุบัน กลุ่มนายประเดช กิตติอิสรานนท์ เป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ครองอำนาจบริหาร NUSA เบ็ดเสร็จ หลังจากขจัดคู่ขัดแย้งกลุ่ม “เทพเจริญ” พ้นจากการเป็นกรรมการ นายประเดช ใช้ NUSA เป็นกลไกควบคุมการบริหาร บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH โดยให้ NUSA เข้าไปถือหุ้น แต่ยังมีข้อพิพาทกับ นายณพ ณรงค์เดช ผู้ถือหุ้นใหญ่ WEH อีกกลุ่มที่มีคดีฟ้องร้องกันมากมาย 

น่าสังเกตว่า การกล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร NUSA ครั้งนี้ มีแต่กลุ่ม “เทพเจริญ” เท่านั้นที่ติดร่างแห กลุ่มนายประเดชไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงมีข้อกังขาว่าอาจมีคดีอื่นที่ยังซุกซ่อนใน NUSA และไม่ใช่แค่คดีของกลุ่ม “เทพเจริญ” เท่านั้น

ปัญหาของ NUSA ที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวนกว่า 1 หมื่นชีวิต ที่ติดหุ้นต้นทุนสูง และไม่เห็นความหวังว่าหุ้นตัวนี้จะฟื้น

นอกจากกรณี THG และ NUSA แล้ว ช่วงเดือนกันยายน 2567 นี้ ก.ล.ต.ยังตามล้างตามเช็ด  STARK  โดยกล่าวโทษคณะผู้บริหาร STARK ปมเปิดเผยข้อมูลเท็จ ซ้ำเติมคดีโกงบัญชีที่สร้างความเสียหายกว่า 3 หมื่นล้านบาท โดย ก.ล.ต. ส่งเรื่องให้ DSI สอบสวน พร้อมแจ้ง ปปง. ตรวจสอบเส้นทางการเงินแล้ว

 สำหรับผู้บริหารที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษ ประกอบด้วย บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK, นายชนินทร์ เย็นสุดใจ, นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ, นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ และ นายประกรณ์ เมฆจำเริญ 

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ตรวจสอบพบว่า STARK เปิดเผยข้อมูลเท็จผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้เงินเพิ่มทุน PP จำนวน 5,580 ล้านบาท และแผนการซื้อหุ้นคืน ในช่วงวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ถึง 30 มกราคม 2566 ทั้งที่ความจริงแล้ว ในขณะนั้น STARK ได้ใช้เงินเพิ่มทุน PP จนหมดแล้ว และไม่มีเงินซื้อหุ้นคืน ถือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงทำให้นักลงทุนเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับสถานะทางการเงินและผลประกอบการของบริษัท

 ชำระล้างบริษัทหุ้นในตลาดฯที่ซุกซ่อนกลโกง ปล้นนักลงทุนรายย่อย ขานรับการกลับมากระดานเขียวบ้าง นับเป็นเรื่องที่สมควรทำอย่างยิ่ง 


กำลังโหลดความคิดเห็น