xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ลุ้นค่าแรง400บาทสิ้นปีนี้ ทำได้จริง? เพื่อไทยได้หน้า ลูกจ้างได้เฮ นายจ้างได้เจ๊งเห็นๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  การเข็นโครงการแจกหมื่นดิจิทัลว่ายากแล้ว การผลักดันนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ยากยิ่งกว่า เพราะเรื่องนี้ไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ ไทม์ไลน์ที่รัฐบาลเพื่อไทยสัญญาว่าจะปรับขึ้นแน่ วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึงตอนนี้ก็เห็นแล้วว่า มีแต่ราคาคุย 

เมื่อดูจากการประชุมบอร์ดค่าจ้างที่ล่มแล้วล่มอีก และคำสัญญาลมๆ แล้งๆ ของ  แพทองธาร ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี ที่ออกมารับปากว่าตั้งใจจะให้ทันในสิ้นปี 2567 นี้ ไม่ได้มีการเตะถ่วงอะไร แต่การปรับขึ้นค่าแรงต้องอาศัยไตรภาคีว่าจะคิดเห็นอย่างไร และให้เป็นไปตามกฎหมาย บ่งบอกเป็นนัยล่วงหน้าแล้วว่า การปรับขึ้นค่าแรง 400 บาท ยังหาความแน่นอนอะไรไม่ได้ ไม่ต่างอะไรกับโครงการแจกหมื่นดิจิทัลที่เลื่อนแล้วเลื่อนอีก ปรับเงื่อนไขการแจกเงินครั้งแล้วครั้งเล่า กระทั่งได้แน่แค่กลุ่มเปราะบางเท่านั้น

นี่ยังไม่นับคำคุยเขื่องคราวที่ แพทองทอง ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นำทีมโชว์วิสัยทัศน์รัฐบาลเพื่อไทยในปี 2570 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ขายฝันในประเด็นปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนผู้จบการศึกษาปริญญาตรี 25,000 บาท ว่ารัฐบาลเพื่อไทย คิดใหญ่ ทำเป็น และทำได้แน่ เราต้องเป็นทุนนิยมที่มีหัวใจ ค่าแรงต้องปรับขึ้นเมื่อเศรษฐกิจพร้อม เช่นเดียวกับช่วงสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท

การที่จะปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไปให้ถึงเป้าหมาย รัฐบาลเพื่อไทย ตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตถึงปีละ 5% เป็นอย่างน้อย แต่ที่เห็นและเป็นอยู่ตอนนี้จีดีพีของไทยเติบโตต่ำสุดในอาเซียน โดยตัวเลขที่สภาพัฒน์ แถลงภาวะเศรษฐกิจไทย หรือ GDP ในไตรมาสที่ 2/2567 ขยายตัวเพียง 2.3% จากไตรมาส 1/2567 ที่โตแค่ 1.6% ส่วนปี 2566 นั้น GDP ขยายตัวแค่ 1.9% ต่ำกว่าระดับคาดการณ์ที่ 2.0-2.2% อีกทั้งยังชะลอตัวลงจากปี 2565 ที่ขยายตัว 2.5% จึงนับว่ายังห่างไกลเป้าหมายอักโข ครั้นจะหวังโครงการแจกหมื่นดิจิทัลมาปั่นพายุหมุนเศรษฐกิจก็เป็นได้แค่ลมโชยเท่านั้น

เมื่อเศรษฐกิจไม่เฟื่องฟู การดึงดันปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ตามนโยบายที่หาเสียงไว้ จึงทำให้เกิดแรงต้านจากภาคเอกชนที่ออกมาสวนกลับแบบไม่เกรงใจรัฐบาลในทำนองที่ว่า ฝ่ายการเมืองกำลังบงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ แทนที่จะเป็นการพิจารณาตามกลไกไตรภาคีของบอร์ดค่าจ้าง และตามกฎหมาย

ต้องไม่ลืมว่าปี 2567 มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว 2 ครั้ง มากที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา โดยวันที่ 1 มกราคม 2567 ปรับขึ้นประมาณ 345 บาท และวันที่ 12 เมษายน 2567 ปรับขึ้น 400 บาท เฉพาะธุรกิจ พอจะปรับอีกเป็นครั้งที่ 3 ดีเดย์ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 จึงมีเหตุล่มและเลื่อนไม่มีกำหนด

ย้อนไทม์ไลน์ คณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) นัดประชุมเมื่อวัน 16 กันยายน 2567 เพื่อปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ให้มีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป มีเหตุล่มเนื่องจากกรรมการฝ่ายนายจ้าง 5 คน ไม่เข้าร่วมประชุมโดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจ ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ขณะที่ฝ่ายลูกจ้างและภาครัฐเข้าร่วมครบทั้ง 10 คน

ต่อมา นัดหมายประชุมบอร์ดค่าจ้าง ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2567 มีเหตุล่มอีกครั้ง โดย ไพโรจน์ โชติเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดค่าจ้าง แจ้งว่า มีตัวแทนราชการไม่เข้าร่วมประชุม 4 คน และลูกจ้างไม่เข้าร่วมประชุม 2 คน ทำให้ไม่ครบองค์ประชุม 2 ใน 3 ที่ต้องมีผู้เข้าร่วมประชุม 10 คนขึ้นไป

ส่วนนัดหมายการประชุมครั้งที่สาม วันที่ 24 กันยายน 2567 มีเหตุต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด โดย ประธานบอร์ดค่าจ้าง แจ้งว่า องค์ประชุมไม่ครบ และ  เมธี สุภาพงษ์ ไม่ได้เป็นตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว จึงต้องรอให้ ธปท.ส่งผู้แทนคนใหม่มาเป็นบอร์ดค่าจ้าง ซึ่งก็มีคนตั้งคำถามว่า เป็นการวางแผนเล่นละครตบตาพี่น้องผู้ใช้แรงงานหรือไม่

ไม่เพียงแต่ต้องรอคนใหม่ที่จะมาแทน เมธี สุภาพงษ์ เท่านั้น ในส่วนของปลัดกระทรวงแรงงาน ที่เป็นประธานบอร์ดค่าจ้าง ก็ต้องรอคนใหม่ เนื่องจาก  ไพโรจน์ โชติเสถียร  เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2567 นี้แล้ว

ความวุ่นๆ ของการประชุมบอร์ดค่าจ้างที่ล่มแล้วล่มอีก  พิพัฒน์ รัชกิจประการ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ต้องออกมาขอโทษที่ไม่สามารถทำตามที่สัญญาได้ว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ วันที่ 1 ตุลาคม 2567 แต่ยืนยันจะเดินหน้าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อไป เพราะตระหนักดีถึงความลำบากของผู้ใช้แรงงาน รัฐบาลจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หาค่าจ้างในอัตราที่เหมาะสมเพื่อให้ทุกฝ่ายเดินหน้าต่อไปได้

เห็นได้ชัดเจนว่า นโยบายหาเสียงด้วยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยนั้นไม่หมู รัฐบาลจะหาเสียงประกาศปรับขึ้นค่าแรงเท่าไหร่ก็ได้ แต่สภาพความจริงจะทำได้หรือไม่ จะต้องผ่านคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ขึ้นมาถึงบอร์ดค่าจ้างระดับประเทศ ที่มีตัวแทน 3 ฝ่าย หรือไตรภาคี คือ ภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง อีกทั้งต้องนำปัจจัย ทั้งเงินเฟ้อ ดัชนีค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต ผลิตภาพแรงงาน สภาพเศรษฐกิจและสังคม ฯลฯ มาพิจารณา ตามมาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

ที่ผ่านมา ฝ่ายลูกจ้างมองว่าตัวแทนภาครัฐ มักยืนอยู่ข้างนายจ้าง แต่คราวนี้ภาครัฐมีจุดยืนอยู่ข้างแรงงาน จะหักดิบดันปรับขึ้นให้ได้ แต่สุดท้ายหากฝ่ายนายจ้างไม่เอาด้วยก็ยากจะสำเร็จ ดูจากการไม่เข้าร่วมประชุม หรือ  “บอยคอย”  จนทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ล่มแล้วล่มอีกเป็นตัวอย่าง

 ธนิต โสรัตน์  รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ตีแผ่เบื้องหน้าเบื้องหลังการเมืองบงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ระเบิดเวลากระทบเศรษฐกิจไทยในอนาคต ว่า ภาคการเมืองเข้าครอบงำเพื่อปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 400 บาท ให้เป็นไปตามที่หาเสียงไว้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2567 และจะไปให้ถึงอัตรา 600 บาท ในปีสุดท้ายของรัฐบาล โดยไม่สนใจภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และกลไกไตรภาคีที่เป็นผู้พิจารณาปรับอัตราค่าจ้าง ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อประเทศในระยะยาว กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งด้านการลงทุนและการส่งออกที่ขยายตัวได้ต่ำกว่าศักยภาพ

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของไทยมีความอ่อนแอ และติดหล่มแม้หลังโควิด-19 ก็ยังไม่ฟื้น เห็นได้จากการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) อยู่ในระดับที่ต่ำค่อนข้างมาก ปี พ.ศ.2565 ขยายตัวได้ร้อยละ 2.5 ปี ปี 2566 ร้อยละ 1.9 และปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.65-2.7 (รวมงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.45 แสนล้านบาท) กำลังซื้อในประเทศอ่อนแอ โดยเฉพาะจากกับดักหนี้ครัวเรือนและธุรกิจ รวมถึงภาวะน้ำท่วมสร้างความเสียหายมากกว่า 46,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.7 ของ GDP ซึ่งจะซ้ำเติมกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจ จากสภาวะดังกล่าวการปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดด โดยไม่ได้นำปัจจัยทางเศรษฐกิจ และความสามารถของนายจ้างมาเป็นตัวตั้งจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย

แพทองธาร ชินวัตร

 พิพัฒน์ รัชกิจประการ
รองประธานสภาองค์การนายจ้างฯ ให้ภาพว่าการปรับค่าจ้างเกี่ยวข้องกับตลาดแรงงานของไทย ประกอบด้วย สถานประกอบการ จดทะเบียนนิติบุคคล (30 เมษายน 2567) 917,916 กิจการ โดยร้อยละ 77.85 เป็นบริษัทจำกัด โรงงานอุตสาหกรรม 72,699 แห่ง ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (MSMEs) 3.225 ล้านกิจการ สถานประกอบการเหล่านี้มีแรงงานในภาคเอกชนและแรงงานอิสระ ประมาณ 22.73 ล้านคน (ไม่รวมภาคเกษตร-วิชาการ-บุคลากรทางการแพทย์) โดยอยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 ประมาณ 12.043 ล้านคน

อีกทั้งยังมีแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย ประมาณ 3.342 ล้านคน โดย 70.1% เป็นเมียนมา (2.3 ล้านคน) แรงงานเหล่านี้จะได้รับอานิสงส์จากค่าจ้างที่ปรับขึ้น โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านคน ระยะสั้นมีผลต่อรายได้สูงขึ้น แต่จะตามมาด้วยเงินเฟ้อ การจ้างงานในตลาดแรงงานในอนาคตที่จะหดตัวลง

 เขายังเตือนสติรัฐบาลเพื่อไทย ว่าการหาเสียงด้วยการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท และจะไปให้ถึง 600 บาท ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ กล่าวคือ ภาคการเมืองหาเสียงโดยกำหนดค่าจ้างเท่าใดก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้สูตรค่าจ้าง หรือสภาวะเศรษฐกิจ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ว่าอะไรเท่ากับยอมรับว่าหาเสียงได้ไม่ผิดกฎหมาย อนาคตอาจเห็นนโยบายค่าจ้างวันละ 1,000-2,000 บาท หรือมากกว่าเพื่อแลกกับ Voter ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังต้องแข่งขันกับประเทศต่างๆ ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย โดยเฉพาะจีน ซึ่งปัจจุบัน ทุ่มสินค้าราคาถูกเข้ามาขายจนทำให้โรงงานปิดตัวแต่ละปีมากกว่า 1,300 แห่ง  

ประเด็นต่อมา การประชุมบอร์ดค่าจ้าง องค์ประชุมไม่จำเป็นต้องครบ 3 ฝ่าย คือ นายจ้าง-ลูกจ้าง-ตัวแทนรัฐบาล หากฝ่ายใดไม่เข้าประชุม สามารถใช้มติ 2 ใน 3 พิจารณาปรับค่าจ้างได้ ซึ่งยังต้องตีความว่าสามารถทำได้หรือไม่

ขณะที่การกำหนดอัตราค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศ จะทำให้การลงทุนกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจ จังหวัดห่างไกลจะพัฒนาได้ช้า เพราะไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุน โดยเฉพาะการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมทั้งการปรับค่าจ้างยังทำได้หลายครั้งขึ้นอยู่กับความต้องการของฝ่ายการเมือง และยังสามารถแยกตามประเภทธุรกิจ แยกพื้นที่ ซึ่งไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ

เสียงสะท้อนของภาคเอกชนฝ่ายนายจ้างดังกล่าวข้างต้น คล้ายส่งสัญญาณเตือนว่า การดันทุรังปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน และจะดันไปให้ถึง 600 บาทต่อวัน นั้น นำมาซึ่งหายนะมากกว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

ส่วนเสียงสะท้อนจากฝ่ายลูกจ้าง  สาวิทย์ แก้วหวาน  ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) มองอีกมุมว่า การปรับขึ้นค่าแรงวันละ 400 บาท อยู่บนเงื่อนไขหลักการในสภาพเศรษฐกิจที่เป็นจริง ปัจจุบันราคาสินค้าได้ปรับตัวสูง กำลังซื้อไม่มี รายได้ไม่พอ จะฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างไร การแก้ไขต้องเพิ่มรายได้ เพิ่มค่าจ้าง ทำให้ต้นทุนค่าครองชีพค่าพลังงานถูกลง การขึ้นค่าแรงไม่ใช่ว่าแรงงานต่างด้าวจะได้ประโยชน์เพราะมีเพียง 2-3 ล้านคน เท่านั้น แต่แรงงานไทยโดยเฉพาะลูกจ้างภาครัฐ ยังไม่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำด้วยซ้ำไป

สาวิทย์ ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้แรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33, 39 และ 40 รวมทั้งสิ้น 24,633,584 คน ลูกจ้างภาครัฐอีกกว่า 1 ล้านคน ส่วนที่เหลือจ้างเหมารายวันไม่ได้อยู่ระบบ ซึ่งรับค่าจ้างตามทักษะเฉพาะ เช่น คนงานก่อสร้าง ซึ่งค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

“...นายจ้างต้องใจกว้างและมองผลรวมทางเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า .... ค่าแรงวันละ 400 บาท แบบไม่ต้องเลี้ยงดูใคร แค่เลี้ยงดูปากท้องตัวเองคนเดียว ก็แทบไม่รอดแล้ว” ประธาน สสรท. กล่าว

ทางด้าน  พนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองเพื่อพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ชี้ว่า ตัวเลขที่ศึกษาและพิจารณาตามสูตรที่ใช้คำนวณ ตามมาตรา 87 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ จะปรับขึ้นได้ไม่ถึง 400 บาท ตามที่รัฐบาลหาเสียง นายจ้างเขาต้องย้อนถามรัฐบาลว่าจะให้จ่ายค่าแรง 400 บาทต่อวัน เอาอะไรมาคำนวณ รัฐบาลจะแทรกแซงไม่ได้ กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจรัฐบาลมาเปลี่ยนสูตรการคำนวณ ฝ่ายองค์กรนายจ้างบอกว่าถ้ารัฐบาลบังคับให้จ่ายค่าแรง 400 บาท เตรียมยื่นฟ้องศาลกันแล้ว

นับเป็นลูกล่อลูกชนของคณะกรรมการไตรภาคี ที่เกิดขึ้นแทบจะทุกครั้งเมื่อจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เพียงแต่คราวนี้จะดุเดือดกว่า เพราะรัฐบาลเพื่อไทยปั่นเศรษฐกิจไม่ขึ้น แต่ยังจะยืนเป้าปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นเรื่องยากยิ่งที่ภาคเอกชนจะยินยอมโดยง่าย

 รอลุ้นกันไปอีก 3 เดือนข้างหน้า ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ณ สิ้นปี 2567 จะทำสำเร็จดังที่ แพทองธาร ชินวัตร ให้คำมั่นสัญญาหรือไม่ 



กำลังโหลดความคิดเห็น