xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“สีน้ำเงิน”กินรวบ-สวบทุกวงการ จับตา “นายใหญ่เพื่อไทย” แก้เกม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - วาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกวางไว้เป็น “วาระการเมือง” ตั้งแต่ช่วงตั้งรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่ดูเหมือนว่าทุกพรรคจะเห็นพ้องว่าต้องมีการแก้ไขกฎหมายสูงสุดของประเทศ ในหลายประเด็น และยังเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลด้วย

กระทั่งเกิด “เศรษฐาเอฟเฟกต์” หลัง “นายกฯ นิด-เศรษฐา” ต้องกระเด็นออกจากเก้าอี้ผู้นำประเทศแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีแต่งตั้ง “พิชิต ชื่นบาน” เป็นรัฐมนตรี ที่ถือเป็นกระทำที่ขัดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง

ก็ทำให้ฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะ “พรรคเพื่อไทย”ออกมาจุดพลุโหมกระแสผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “รายมาตรา” ใน 6 ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับคุณสมบัติ-มาตรฐานจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศักดิ์ของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

หลักใหญ่ใจความก็เพื่อ “เซฟ” ทั้ง “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และบรรดารัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ ที่กำลังถูกร้องเรื่องคุณสมบัติ-จริยธรรม อุตลุดในตอนนี้ ไม่ให้ตกม้าตายตาม “เศรษฐา” ไป

เดิมทีหลายพรรคการเมือง ไม่เว้นกระทั่ง “พรรคประชาชน” ในซีกฝ่ายค้าน ก็เห็นดีด้วย จนคะเนกันว่า เกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “รายมาตรา” ที่ไม่รอกระบวนการควบคู่ไปกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ที่อยู่ระหว่าง รอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภาและประกาศใช้ นั้น อาจจะ “ผ่านตลอด”

จนหลายฝ่ายหวั่นใจว่า อาจมีรายการ “ลักไก่” แก้ไขเรื่องคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแบบ “สุดซอย” เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับ “เถ้าแก่เพื่อไทย” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คู่ไปเสียงครหากว้างขวางที่ว่า เป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง ที่ประชาชนไม่เห็นจะได้ประโยชน์อะไรด้วย

ทว่า ไม่ทันไรวาระแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราไม่เพียงแต่จะไปไม่ถึงสุดซอย เพราะยังไม่ทันเข้าซอย ก็ล้มคว่ำไปไม่เป็นท่า หลังพรรคเพื่อไทยประกาศ “ถอย” ไม่เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ “รายมาตรา” ต่อ

ว่ากันว่า เหตุที่ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องเสียรังวัด เลี้ยวรถกลับ พับแผนเก็บใส่ลิ้นชักนั้น ก็มาจาก “เพื่อน” อย่าง “ค่ายสีน้ำเงิน” พรรคภูมิใจไทย เบี้ยวไม่ยอมขึ้นรถตามนัด

รับกับอีกฟากที่ “สภาสูง” วุฒิสภา ที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ก็ลงมติเสียงข้างมาก 17 ต่อ 1 เสียงให้ทบทวนมติที่เคยเห็นชอบหลักการในร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ในการประชุมครั้งก่อนๆ จนมองว่าเป็นการยื้อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ให้เสร็จทันสภาชุดนี้

อันเป็นที่รู้กันว่า “สภาสูง” ก็มีอิทธิพล “ค่ายสีน้ำเงิน” ครอบงำ-ครอบครองอยู่เสียด้วย

เหตุที่เกิดขึ้นกับวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งใน “สภาล่าง” ที่พรรคเพื่อไทยตีธงถอย และใน “สภาสูง” ที่จู่ๆ มีการกลับมติอย่างน่าเคลือบแคลง ก็สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของ “ค่ายสีน้ำเงิน” กับการเมือง พ.ศ.นี้ได้เป็นอย่างดี

เชื่อว่าการเดินหมากเกมแก้รัฐธรรมนูญของพรรคภูมิใจไทยครั้งนี้ สร้างความขุ่นเคืองใจให้กับพรรคเพื่อไทยไม่น้อย หากถอดรหัสจากคำพูดของแกนนำพรรคเพื่อไทย อย่าง “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เป็นเจ้าภาพเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค ที่แจ้งกับที่ประชุมพรรคว่า จริงๆ พรรคเพื่อไทย ไม่ได้เป็นคนเปิดประเด็น หรือเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ประเด็นจริยธรรมนักการเมือง แต่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ในรัฐบาลเป็นผู้เสนอเข้ามา ทำให้สส.ในพรรคเห็นตรงกันว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น พรรคเพื่อไทยก็จะไม่ควรผลักดันต่อ เพราะถึงอย่างไรเพื่อไทยก็ไม่ใช้คนริเริ่ม

แม้ในรายงานจะไม่ระบุว่า “หัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ในรัฐบาล” แต่ก็เดากันไม่ยากว่าหมายไปถึง “เสี่ยหนู-อนุทิน” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

สิ่งที่พรรคเพื่อไทยพยายามสื่อออกมา ก็เพื่อ “ตลบหลัง” พรรคภูมิใจไทย ที่ในวันเดียวกันตั้งโต๊ะแถลง “หล่อๆ” ว่า ที่ประชุมพรรคภูมิใจไทย มีมติเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการยอมรับจากคนในสังคม และเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จะเป็นวิธีการที่ทำให้สังคมเกิดการยอมรับในกติกาการอยู่ร่วมกัน

“เราคิดว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญ ควรแก้ไขทั้งฉบับ ทางที่ดีการแก้รัฐธรรมนูญควรจะเป็นคนกลางจากทุกภาคส่วนในรูปแบบของ สสร.ที่เคยทำกันมา” กรวีร์ ปริศนานันทกุล สส. และกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย เป็นผู้แถลง โดยมี “เสี่ยนก” ไชยชนก ชิดชอบ เลขาธิการพรรค และบุตรชาย “ครูใหญ่เนวิน” ร่วมแถลงอยู่ด้วย

วงแถลงพรรคภูมิใจไทย ยังได้พูดไปถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ต้องเดินหน้าสู่การทำประชามติ ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ได้ผ่านชั้น สส.เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สว. คาดว่าอีกไม่นานจะมีการบังคับใช้

ประเด็นหนึ่งคือ ไม่เห็นด้วยกับวิธีการแก้ไขรายมาตราของพรรคเพื่อไทย

ซึ่งตรงนี้เองที่ พรรคเพื่อไทย อยาก “ฟ้องโลก” ว่า หน้าฉาก-หลังฉาก พรรคภูมิใจไทย พูดไม่ตรงกัน แต่ด้วยสถานะ “พรรคร่วมรัฐบาล” ทำให้ไม่สามารถซัดกันตรงๆได้

ประเด็นสองคือ พรรคภูมิใจไทย สนับสนุนการร่างใหม่ทั้งฉบับ โดยการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เรื่องวิธีการแก้ไข เปิดทางให้มี สสร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยกเว้นแก้ไขหมวด 1-2

แต่ต้องถือว่า พรรคภูมิใจไทย “ไม่เนียน” เพราะให้หลังวันเดียวก็ถูก “แฉ” ถึงความไม่ชอบมาพากลในชั้นการพิจารณาของ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ วุฒิสภา ที่มี “พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร” สว.สายกฎหมาย ที่เคยรับราชการในพื้นที่ “เมืองหลวงภูมิใจไทย” จ.บุรีรัมย์ กว่า 20 ปี เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ

เหตุเกิดในการประชุมคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 25 ก.ย.67 ถือเป็นการประชุมนัดสุดท้ายของคณะกรรมาธิการฯ ที่โดยปกติจะไม่มีอะไรพิเศษ เป็นเพียงการตรวจทานเนื้อหารายงานที่ผ่านการประชุมและลงมติมาแล้ว 4 นัด ก่อนเสนอต่อที่ประชุมใหญ่วุฒิสภา

แต่ปรากฎเกิดรายการ “กลับลำ” ขึ้น โดยมีการเสนอขอลงมติทบทวนมติเดิมที่เกี่ยวกับเกณฑ์การผ่านประชามติที่ สภาผู้แทนราษฎร แก้ไขให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว เพื่อประหยัดเวลาและงบประมาณ ให้กลับไปใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ในกระบวนการทำประชามติ เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ผู้ที่ยื่นคำแปรญัตติทำให้ต้องลงมติคือ “เสี่ยตั้ง” พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว.สายผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยว เจ้าของที่พักโฮมสเตย์อ่าวนาง จ.กระบี่ ที่ถูกมองว่าเป็น “สว.สีน้ำเงิน” เช่นเดียวกับ “พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ” ประธานคณะกรรมาธิการฯ

ทั้งที่การประชุมครั้งก่อนๆ ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากสนับสนุนเกณฑ์การผ่านประชามติโดยให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวไปแล้ว

และน่าสนใจไม่น้อยกับมติ 17 ต่อ 1 เสียงที่สนับสนุนให้แก้ไขตามญัตติของ “สว.ตั้ง-พิสิษฐ์” ที่แม้ว่ากรรมาธิการที่หนุนให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวหลายรายจะไม่ได้เข้าร่วมประชุมและลงมติ แต่หากเข้าร่วมประชุมก็ลงมติสู้ไม่ได้อยู่ดี

และเชื่อได้ว่าเมื่อรายคณะกรรมาธิการฯ เสนอเข้าที่ประชุมวุฒิสภา ก็น่าจะได้รับความเห็นชอบ และทำให้ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ อีกครั้ง และคงไม่ทันนำไปทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศตามไทม์ไลน์เดิม หรือว่ากันว่าต้องอีกอย่างน้อย 1 ปี ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ถึงจะคลอดได้

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงถูกมองว่ามี “มือที่มองไม่เห็น” พยายาม “ยื้อ” กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือดีไม่ดีไม่คต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ “ใครบางคน” อยู่เบื้องหลังในการดีไซน์

ตามรูปการณ์ที่เกิดขึ้นที่เดิมการลงมติในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติ วุฒิสภา มักจะเฉือนกันไม่กี่เสียง จนต้องถกเถียงกันหน้าดำหน้าแดง กลับกลายเป็นมติแบบแทบจะเอกฉันท์ ที่ทางการเมืองมองเป็นอื่นไม่ได้นอกจากมี “ใบสั่ง”

แน่นอนหากไปเค้นคอถาม พรรคภูมิใจไทย ที่ถูกเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเดียวกับ “สว.สีน้ำเงิน” ก็คงไม่ยอมรับ และอ้างว่าเป็นกระบวนการของ “สภาสูง” ที่ไม่อาจไปแทรกแซงได้

ขัดแย้งกับหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ชัดว่า “ค่ายสีน้ำเงิน” กดปุ่ม “สภาสูง” ได้แบบซ้ายหันขวาหัน ทั้งเสียงโหวตเลือก “มงคล สุระสัจจะ” เป็นประธานวุฒิสภา รวมถึง 2 รองประธานวุฒิสภา ที่ท่วมท้นแบบคู่แข่งสู้ไม่ได้

หรือผลการเลือกประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาทั้ง 21 คณะ ที่จำนวนนี้ 20 คณะล้วนแล้วเป็นไปตาม “โผ” มี สว.สีน้ำเงิน เป็นประธานเรียบวุธ เหลือเพียงคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง ที่ อังคณา นีละไพจิตร จากกลุ่ม สว.เสียงข้างน้อย ได้เป็นประธาน ด้วยการจับสลาก

เป็นภาพที่ “สีน้ำเงิน” กินรวบเบ็ดเสร็จในวุฒิสภา และคงเป็นเช่นนี้ไปตลอดอายุวุฒิสภา เสริมส่งอำนาจต่อรองของ “ค่ายสีน้ำเงิน” พรรคภูมิใจไทย มากยิ่งขึ้น

ดังจะเห็นได้จากเกมยื้อ-สกัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เพิ่งเกิดขึ้น ที่เหตุก็มาจากพรรคภูมิใจไทยที่แม้จะป่าวประกาศว่าต้องมีการรื้อแก้กฎหมายสูงสุดที่ดูมีความลักลั่นหลายประการ แต่ลึกๆ ก็ไม่ต้องการให้มีการแก้ไข เพราะด้วยกติกานี้ทำให้ตัวเองมีอำนาจต่อรองสูง

เพราะหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ย่อมมีการแก้ไปถึงกติกาเลือกตั้ง สส. ที่ไม่รู้จะเข้าทาง “ค่ายเซราะกราว” หรือไม่ หรือระบบคัดสรร สว. ที่อาจส่งผลให้ต้องโละ “สว.สีน้ำเงิน” ยกชุด เป็นต้น

สู้อยู่ในกติกาปัจจุบันที่ว่ากันว่า “บิ๊กเซราะกราว” มีส่วนสำคัญในการออกแบบกติกาเลือกตั้ง สส.-คัดสรร สว.ดีกว่า
เดิมที พรรคภูมิใจไทยถูกจับตามองในฐานะตัวแปรสำคัญของรัฐบาลชุดนี้อยู่แล้ว กับจำนวน สส. 71 ที่นั่ง และแม้ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ 2 ราย คงเหลือทำหน้าที่ได้ 69 ราย ก็ยังคงมีจำนวน สส.เป็นอันดับ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร รองจาก พรรคประชาชน (ก้าวไกลเดิม) แกนนำฝ่ายค้าน และ พรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาล
ไม่เท่านั้น “ค่ายสีน้ำเงิน” ยังแผ่ขยายอิทธิพลไปที่ “สภาสูง” โดยอาศัยจังหวะชุลมุนส่งเครือข่ายเข้าไปยึดที่นั่งวุฒิสมาชิกผ่านกระบวนการสรรหาแบบพิสดารพันลึก จนได้มากกว่า 150 ที่นั่งจากทั้งหมด 200 ที่นั่ง
จนเป็นที่คาดหมายว่า พรรคภูมิใจไทย และเครือข่ายสีน้ำเงิน ที่วันนี้มีสถานะเป็น “ฝ่ายรัฐบาล” จะเป็นจุดชี้เป็น-ตายที่สำคัญของ “รัฐบาลคุณหนูอิ๊งค์”

ที่สำคัญ พรรคภูมิใจไทย ภายใต้การนำของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ที่ปัจจุบันกินตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ถือว่าขึ้นชื่อเรื่องการต่อรองทางการเมืองเบอร์ต้นๆ โดยมีร่างเงาของ “ขงเบ้งเซราะกราว” เนวิน ชิดชอบ เจ้าของพรรคตัวจริง ที่วันนี้เลือกหลบอยู่เบื้องหลังใช้ฐานะครูใหญ่ภูมิใจไทย ทาบทับอยู่

จะเห็นได้ตั้งแต่สมัยเข้าร่วม “รัฐบาลลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อหลังเลือกตั้งปี 2562 พรรคภูมิใจไทย ที่ สส.เริ่มแรก 51 เสียง สามารถเจรจาต่อรองได้รัฐมนตรีมาถึง 7 ตำแหน่ง อีกทั้งยังได้ดูแลกระทรวงสำคัญระดับเกรดเอ อย่าง “กระทรวงคมนาคม” ขุมทรัพย์ของฝ่ายการเมืองตลอด 4 ปีของรัฐบาลอีกด้วย

มาถึง “รัฐบาลพี่นิด” เศรษฐา ทวีสิน แม้ผลการเลือกตั้งจะไม่เข้าเป้า ได้มา 71 ที่นั่ง เป็นได้เพียงพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็ใช้จำนวน สส.ที่มีอยู่ เจรจาอย่างเหนือชั้น คว้ามาได้ 8 โควตารัฐมนตรี โดยเป็น “ว่าการ” ใน 4 กระทรวงใหญ่ ทั้ง กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงแรงงาน, และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)

ซึ่งเหตุที่ พรรคภูมิใจไทย ฟาด “กำไร” ในการต่อรองโควตารัฐมนตรี ไม่ใช่แค่จำนวน สส.ที่มีอยู่เท่านั้น ยังเคลมด้วยว่า เพราะเป็นตัวตั้งตัวตีขวางลำไม่เข้าร่วมการตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล (ขณะนั้น) ทำให้ส้มหล่นมาถึงพรรคเพื่อไทย
ไม่เท่านั้น พรรคภูมิใจไทยก็ไม่ยอมเป็น “ลูกไล่” ที่ต้องคอยตามน้ำไปกับพรรคแกนนำ แต่อะไรที่ไม่เห็นด้วยและกระทบผลประโยชน์ตัวเอง ก็กล้าเปิดหน้าท้าชน
อย่างกรณี “กัญชา” ที่สมัย ”นายกฯ เศรษฐา” สั่งนำกลับบัญชียาเสพติด แต่ พรรคภูมิใจไทย สู้กลับ ถึงขั้นทำให้ “นายกฯ เศรษฐา” ต้องยอมลดระดับเหลือแค่แก้ไขกฎกระทรวงสาธารณสุขเพื่อควบคุมเท่านั้น
มาหนนี้ก็เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ดูเหมือน พรรคภูมิใจไทย จะทำตัวเป็น “จระเข้ขวางคลอง” จนเชื่อว่า จะแก้ไขไม่สำเร็จในช่วงสภาชุดนี้
เอาเข้าจริง พรรคเพื่อไทยหรือพูดง่ายคือ “ทักษิณ” ก็รู้มือ พรรคภูมิใจไทย ภายใต้การนำของ “อนุทิน-เนวิน” ที่เคยเป็นลูกน้องเก่าเป็นอย่างดี และก็ยังมองว่า “วางใจไม่ได้” เหมือนที่เคยทำเจ็บแสบมาแล้วสมัยพลิกไปจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล ตามตำนาน “มันจบแล้วครับนาย”
ทำให้ในการตั้ง “รัฐบาลลูกอิ๊งค์” ที่มีเหตุต้องอัปเปหิ “ก๊วนลุงป้อม” พรรคพลังประชารัฐ ออกไปเผ็นฝ่ายค้าน ทำให้รัฐบาลเหลือ สส.เพียงราว 300 เสียงเท่านั้น ซึ่งจริงๆก็มีเสถียรภาพสำหรับรัฐบาล
แต่ไม่ใช่กับรัฐบาลที่มี 71 เสียงของพรรคภูมิใจไทยร่วมด้วย
นำมาซึ่งการเปิดประตูให้คู่แค้นอย่าง “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมรัฐบาล ท่ามกลางเสียงโห่ฮาของ สส.เพื่อไทย แต่ต้องทำตามบัญชาเด็ดขาดจาก “บ้านจันทร์ส่องหล้า”
ตามโจทย์ที่ว่า ต้องมีเสียง สส.รัฐบาลมากกว่า 321 เสียง หากวันดีคืนดี พรรคภูมิไทยตุกติก หรือขู่จะถอน 71 เสียงออกจากการร่วมรัฐบาล ก็ยังมีเสียงมากพอในการประคองรัฐบาลต่อไปได้ อย่างน้อยก็ไม่ทำให้ “นายกฯ ลูกอิ๊งค์” ต้องถูกน็อกกลางสภานั่นเอง
สำคัญที่มานาทีนี้ “ค่ายสีน้ำเงิน” ไม่ได้มีแค่ 71 เสียงใน “สภาล่าง” เท่านั้น แต่ยังคุม “สภาสูง” แบบเบ็ดเสร็จด้วย และเริ่มแผลงฤทธิ์ให้เห็นแล้วกับการขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ก็ต้องดูว่า “นายใหญ่เพื่อไทย” จะงัดไม้ไหนมาแก้เกม ไม่ให้ถูก “ค่ายสีน้ำเงิน” คอยจ้องสวบ และขี่คอไปตลอดอายุรัฐบาล.


กำลังโหลดความคิดเห็น