xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทอง “แม่ตั๊ก” คนซื้อ “จน” คนขาย “รวย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่มีใครรู้ว่า “แม่ตั๊กและป๋าเบียร์” ขาย “ทอง” ออกไปเป็นจำนวนสักกี่มากน้อยตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยทองออนไลน์ที่ไลฟ์ขายส่วนใหญ่จะเป็นทอง “สายมู” อาทิ จี้ไอ้ไข่, ประคำปี่เซี้ยะ ฯลฯ

แต่การปรากฏภาพผู้คนจำนวนมากที่เป็น “ลูกค้า” ของ “แม่ตั๊ก” และ “ป๋าเบียร์” ผู้เป็นสามี แห่กันนำ “ทอง” ที่ซื้อไปขายคืนที่ “ห้างเพชรทองเคทูเอ็น” ย่านถนนประชาราษฎร์ จนถึงขนาดต้องกางเต็นท์และออกบัตรคิวรับซื้อทองคืน สะท้อนให้เห็นถึง “ความไม่ธรรมดา” ของดรามาที่นำไปสู่คดีความในท้ายที่สุด

ขณะที่เมื่อย้อนกลับไปดู “ความร่ำรวยของสองสามีภรรยา” ก็ยิ่งน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

แม่ตั๊กหรือตั๊ก มีชื่อจริงว่า “กรกนก สุวรรณบุตร” เกิดและเติบโตบนเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ครอบครัวทำธธุรกิจรับซื้อของเก่า
ชื่อของเธอเริ่มเป็นที่รู้จักจากการมาเป็นแม่ค้าออนไลน์ขายครีมกันแดด โดยที่ผ่านมานอกจากจะมีการโพสต์ภาพไลฟ์สไตล์ที่หรูหราแล้ว ก็ยังมีภาพและคลิปที่เธอนำเงินไปบริจาคช่วยเหลือคนอื่นๆ กระทั่งหลายคนยกฉายาให้เธอว่าเป็นแม่ค้านักบุญสู้ชีวิต

อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดกระแสดรามาเรื่องทองที่ขายร่วมกับสามี “เบียร์-กานต์พล เรืองอร่าม” ออกมา ทั้งเธอและสามีก็ต้องถูกตั้งข้อสงสัยมากมายในหลายๆ ประเด็น เช่น ช่วยเหลือคนเพื่อหวังเอากระแส หรือจะเป็นที่มาของรายได้จำนวนมหาศาลในระดับพันล้านบาท

เธอเคยเล่าว่าชีวิตต้องพลิกผันเมื่อบิดาเสียชีวิตตอนเธออายุเพียง 12 ปี ส่งผลให้ฐานะทางบ้านย่ำแย่ มีหนี้สิน อยู่ในภาวะล้มละลาย ทำให้เธอต้องดิ้นรนสู้ชีวิต ตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ ตอนอายุ 19 ปี มาเรียนรามคำแหงคณะมนุษยศาสตร์ เอกสื่อสารมวลชนจนจบในเวลาเพียง 2 ปีครึ่ง ก่อนจะหาเงินส่งตัวเองเรียนกระทั่งจบปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาสตร์ เอกกฎหมายการเมือง

จากการตรวจสอบพบว่า ตั๊ก กรกนก มีชื่อเป็นกรรมการบริษัท 3 แห่ง คือ บริษัท เลดี้ ไทยคลับ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558, บริษัท เลดี้ เคทูเอ็น จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 และบริษัท แม่ตั๊ก เลดี้ 888 จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 โดยบริษัทแรกเลิกกิจการไปแล้วส่วนอีก 2 บริษัทก็มีรายได้ที่ไม่ได้มากมายอะไรบางปีขาดทุนบางปีกำไรหลักหมื่น

ภาพชีวิตของ “แม่ตั๊ก” ที่สะท้อนถึงความร่ำรวยอันไม่ธรรมดา




แต่ที่น่าสนใจก็คือบริษัท เคทูเอ็น โกลด์ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับร้านทอง ซึ่งจดทะเบียนในปี 2562 กับบริษัท เลดี้คลับ ที่เพิ่งจดทะเบียนในปี 2563 ซึ่งไม่ปรากฏชื่อของเธอแ ต่มีชื่อของสามีนั่งเป็นกรรมการร่วมกับคนนามสกุลเดียวกัน โดยบริษัทแรกนั้นที่ผ่านมาสามารถทำรายได้รวมกว่า 1,000 ล้านบาทใน 5 ปี แต่กลับมีกำไรสุทธิเพียง 13 ล้านบาทเท่านั้น

เช่นเดียวกับรายได้ของบริษัท เลดี้คลับ ซึ่งมีรายได้รวม 4 ปีที่สูงถึง 751 ล้านบาท ทั้งที่สินค้าทั้งหมดที่ขายนั้นมีไม่กี่ชนิด อีกทั้งแบรนด์ก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนักและไม่ได้มีการโปรโมทหรือวางขายในช่องทางทั่วไป

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ทางด้านของเบียร์ได้ชี้แจงว่ารายได้เกือบพันล้านไม่ได้มาจากธุรกิจขายครีมกันแดดอย่างเดียวแต่ยังมีอาหารเสริมและสินค้าตัวอื่นๆ และความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากชื่อเสียงและความไว้วางใจที่ลูกค้ามีต่อภรรยานั่นเอง

ส่วนตั๊กเองก็ระบุว่าเหตุที่ไม่มีชื่อตนในบริษัททั้งสองก็เพราะตนจดทะเบียนสมรส ทำให้สามีต้องเป็นคนจัดการกับเอกสารทุกอย่าง ส่วนตนเองก็จะทำในส่วนของการจัดการ การตลาดตรงนั้นไป

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นเริ่มต้นจากการที่มีผู้ซื้อรายหนึ่งนำทองที่ซื้อมาจากร้านใน TikTok ไปขาย แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากทองไม่มีตราประทับ ไม่ระบุน้ำหนักและเปอร์เซ็นต์ทอง ทำให้ไม่สามารถขายได้ ร้านทองบอกว่าทองที่ซื้อจากร้าน TikTok มักจะขายไม่ออกเพราะคุณภาพไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จากนั้นดรามาก็บานปลายเมื่อคนในโซเชียลรู้ว่าทองที่พูดถึงมาจากร้านของ “แม่ตั๊ก” ซึ่งเป็นแม่ค้าออนไลน์และอินฟลูอินเซอร์ที่โด่งดัง

ทว่า แม่ตั๊กออกมาโต้กลับโดยยืนยันว่าทองของเธอเป็นทองแท้ 100% คนที่ซื้อทองจากแม่ตั๊กจึงพากันออกมาแชร์ประสบการณ์ของตนเอง

ยกตัวอย่างเช่น “สตางค์” ที่ได้รับของขวัญจากน้อง ซึ่งเป็นของที่ชื้อจาก “ร้านแม่ตั๊ก” โดยในเซทประกอบด้วย จี้ไอ้ไข่ ประคำปี่เซี้ยะ กุหลาบทอง รวมเป็นราคา 1,993 บาท แต่นำไปขายที่ร้านทอง กลับไม่มีร้านไหนรับชื้อ

ส่วน “ฝ้าย” ที่ซื้อปี่เซี้ยะไปบอกว่าทาง “แม่ตั๊ก” ไม่ได้แจ้งน้ำหนักของตัวทอง เพราะซื้อมาราคา 33,332 บาท โดยเข้าใจว่าเป็นทองน้ำหนัก 1 บาท แต่พอชั่งออกมา คือ 6-7กรัม

หรือผู้เสียหายอีกคนบอกว่า ตอนที่ “แม่ตั๊ก” ขาย โพสต์ แค่ ขาย 33,335 และบอกว่ามีปี่เซี้ยะ 8 ตัว ไม่ได้แจ้งรายละเอียดขนาดและน้ำหนัก ก็เข้าใจว่าเป็นทอง 1 บาท แต่ขายจริงได้แค่ 8,000 บาท

ทั้งนี้ แม่ตั๊กพยายามอธิบายโดยยอมรับว่า บางครั้งไปไลฟ์สดแล้วไม่ได้อธิบายชัดว่า อันนี้เป็นทองกี่กรัม มีพูดในไลฟ์ แต่ไม่ได้ขึ้นเป็นข้อความให้เห็นชัดๆ แต่ถ้าลูกค้าซื้อไปแล้ว เอาไปขายต่อร้านอื่นไม่ได้ ก็ให้เอามาขายคืนที่ร้าน

“เราไม่ได้ขายทองปลอม ไม่ได้ตั้งใจจะหลอกคน ณ วันนี้ตนขอประกาศรับซื้อคืนในราคาเต็มที่ขายไป ก็ขอให้เอามาขายคืนให้หมดเลย เพราะมันเป็นความผิดพลาดของตนเอง”แม่ตั๊กกล่าว

ขณะที่เมื่อมีการส่ง “ทองแม่ตั๊ก” ไปตรวจสอบจากสถาบันที่น่าเชื่อถืออย่าง “สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT” พบว่า ปี่เซียะ 8 ตัว หนักรวมประมาณ 25 สตางค์ หรือ 3.79 กรัม ทองที่พบ 99.83 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในไลฟ์บอก 99.99 เปอร์เซ็นต์ ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ ลูกปัดสีทองในกำไลข้อมือคั่นปี่เซียะ พบเป็นทองคำ 71.38 เปอร์เซ็นต์ ต้องตรวจสอบว่าในไลฟ์บอกว่ากี่เปอร์เซ็นต์ แต่ 71.38 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่าทอง 18K (75%)

สร้อยคอทองหนัก 50 สตางค์ หรือ 7.58 กรัม (ของแถม) ทองที่พบ 92.08 เปอร์เซ็นต์ ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือไม่ถึงตามเกณฑ์ที่ สคบ.กำหนดไว้ ที่ต้องเป็นทองคำ 92.50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย และแผ่นทองมงคล (ของแถม) ไม่พบเปอร์เซ็นต์ทอง ซึ่งในไลฟ์บอกเป็นทอง 99.99 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ ตามกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทองน้ำหนักน้อยกว่า 10 กรัม ต้องมีเปอร์เซ็นต์ทอง 92.5 เปอร์เซ็นต์ ทองน้ำหนักมากกว่า 10 กรัม ต้องมีเปอร์เซ็นต์ทอง 93.5 เปอร์เซ็นต์

มีการรวมตัวกันไปแจ้งความดำเนินคดีกับ “แม่ตั๊ก”
“นายสมบูรณ์ ภุชงค์โสภาพันธุ์” กรรมการสมาคมค้าทองคำ ประเมินกำไลปี่เซียะหลังจากนำไปชั่งน้ำหนักแล้ว ตีราคาต้นทุนจะอยู่ที่ประมาณ 12,000 บาท ไม่รวมค่าแรง พร้อมระบุว่า สาเหตุที่ร้านทองไม่รับซื้อ น่าจะเป็นเพราะไม่มีเครื่องเช็กเปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ ทองในตลาดที่มีการซื้อมาขายไป ร้านทองทั่วๆ ไปจะรับซื้อต้องเป็น ทองคำแท่ง หรือทองรูปพรรณที่เป็นสร้อยคอ กำไล แหวน ซึ่งไม่ค่อยมีปัญหา เพราะสมาคมค้าทองคำ จะมีร้านทองที่อยู่ในสมาคม เวลาขึ้นรูปเป็นทองรูปพรรณ ต้องมีการประทับตราร้าน มีการระบุเปอร์เซ็นต์ทอง ทำให้ไม่มีปัญหาเวลารับซื้อ แต่ทองที่เป็นประเด็นอยู่ตอนนี้ หลายชิ้นเป็นทองที่ขึ้นรูปจากเทคโนโลยี อิเล็กโตรฟอร์มมิง ขึ้นรูปโลหะต่างๆ มีทองเป็นส่วนผสม มาทำเป็นรูปทรงต่างๆ

ภายหลังประชาชนทราบเรื่อง กลุ่มผู้เสียหายรวมตัวนำทองมาขายคืน ณ ร้านทอง “แม่ตั๊ก” โดยทางร้านมีเงื่อนไขในการซื้อ-ขายคืนวันละ 200 คิว และให้ลูกค้าเซ็นเอกสารไม่ติดใจเอาความ พร้อมไม่ไปออกรายการใดๆ หากฝ่าฝืนจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุด

นอกจากนี้ ทางร้านยังติดป้ายประกาศ “ห้ามนักข่าวรุกล้ำความเป็นส่วนตัว” พร้อมโพสต์ข้อความ ระบุ “นักข่าวอย่ารุกล้ำความเป็นส่วนตัวของทางร้าน ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และหยุดมาเฝ้าที่บ้าน เรามีลูก มีครอบครัว และเป็นพื้นที่ส่วนตัว”

อย่างไรก็ดี เมื่อดรามาขยายวงกว้าง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ได้เข้ามาตรวจสอบว่าแม่ตั๊กได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ ทั้งเรื่องน้ำหนักทองและของแถมที่นำมาขาย รวมถึงความโปร่งใสในการทำโปรโมชั่นลดราคาทองในลักษณะที่สร้างความสับสนให้ผู้บริโภค

โดยเมื่อวันที่ 26 ก.ย.67 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เดินทางมาตรวจสอบภายในร้านทองของแม่ตั๊ก พร้อมกับนำหนังสือเชิญให้กรรมการบริษัทไปพบ

แน่นอน สิ่งที่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ยิ่งสำหรับ “แม่ตั๊กและป๋าเบียร์” ก็คือ “คดีความ” ที่จะตามมา เพราะมีผู้เสียหายจากคดีนี้ และอาจเข้าข่ายที่จะดำเนินในข้อหา “ฉ้อโกงประชาชน” ได้

โดยเมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา นายเกรียงไกรมาศ พจนสุนทร หรือ เคนโด้ พร้อมด้วย นายอนุสรณ์ อะสุระพงษ์ หรือทนายพัฒน์ พาตัวแทนผู้เสียหาย ได้เข้าพบ พ.ต.อ.ไกรวิศท์ แสนทวีสุข ผกก.1 บก.ปคบ. เพื่อเข้าแจ้งความเอาผิด ข้อหา “ฉ้อโกงประชาชน” พร้อมนำหลักฐานการซื้อขาย และผลตรวจปริมาณทองคำ มามอบให้กับพนักงานสอบสวนประกอบการพิจารณา

นายเอ (นามสมมติ) หนึ่งในตัวแทนผู้เสียหาย เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เคยไปแจ้งความไว้ที่สภ.บ่อวิน จ.ชลบุรี แต่ตำรวจไม่รับแจ้งความ ให้เหตุผลว่าไม่ได้เข้าข่ายความผิดฉ้อโกง เพราะผู้เสียหายได้รับสินค้าแล้วไม่ตรวจสอบน้ำหนักทองก่อนรับสินค้า สอดคล้องกับข้อมูลของผู้เสียหายอีกราย

“ยอมรับว่า ตัวเองเก็บเรื่องนี้มานานเกือบ 2 ปีไม่กล้าออกมาให้ข้อมูล เพราะกลัวถูกฟ้องฐานหมิ่นประมาท กระทั่งสังคมเริ่มให้ความสนใจ มีผู้เสียหายเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเริ่มมีความรู้ทางด้านกฎหมาย จึงกล้าออกมาเปิดหน้าเรียกร้องความเป็นธรรม และต้องการให้แม่ตั๊กได้รับโทษตามกฎหมายอีกด้วย”นายเอเปิดเผย

“พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ” ผบก.ปคบ. กล่าวว่า ทางตำรวจ ปคบ. ได้ประสานงานกับ สคบ. ในการนำทองจากร้านค้าดังกล่าวมาตรวจสอบเพื่อเก็บข้อมูล เนื่องจาก สคบ. มีหน้าที่ดูแลผู้บริโภคในเรื่องของทางแพ่ง รวมถึงข้อมูลเพื่อมาตรวจสอบถึงประเด็นต่าง ๆ ที่กำลังโต้แย้งกันอยู่ ซึ่งกำลังรอผลตรวจจาก สคบ.

“ส่วนการที่ไลฟ์สดแล้วบอกว่าทองแท้ 99.99% อาจเข้าข่ายหลายความผิดอาทิ ฉ้อโกง ขายสินค้าไม่มีคุณภาพ ตั้งราคาเกินจริง และโฆษณาทำให้หลงเชื่อในเรื่องของคุณภาพและแหล่งที่มาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค และอาจเข้าข่าย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ” พล.ต.ต.วิทยา กล่าว

ลูกค้าแห่นำทองไปขายคืน
ด้าน “นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง” อธิบดีอัยการสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี (สคช.) ได้ให้ความเห็นในฐานะอัยการคุ้มครองผู้บริโภคว่า การไลฟ์สดขายทองที่เป็นข่าวถ้าผู้ขายไม่บอกราคาให้ชัดเจน เเล้วคลิปไลฟ์สดถูกเซฟเอาไว้ อันนี้ก็เป็นพยานหลักฐานที่จะดำเนินคดีได้ อาจจะเข้าข่ายข้อหาฉ้อโกง หรืออาจจะถึงขั้นข้อหาฉ้อโกงประชาชนขึ้นกับจำนวนผู้เสียหาย

ในส่วนที่ผู้ขายมีการประกาศว่าผู้ที่ซื้อไปสามารถนำมาขายคืนได้ในราคาที่ซื้อไป ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นการบรรเทาผลร้ายโดยการรับซื้อคืน เเต่กระบวนได้ดำเนินการไปเเล้ว

สำหรับ “ทองคำ” นับเป็นหลักประกันมั่นคงที่ผู้คนนิยมซื้อ-ขาย และสะสมมาอย่างยาวนาน ขณะที่ราคาทองคำโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อ้างอิงข้อมูลความต้องการทองคำของไทย Q2/67 แม้ราคาทองคำจะพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ แต่คนไทยยังมีพฤติกรรมชอบเก็บออมทองคำ

รายงานของสภาทองคำโลก ระบุว่าความต้องการทองคำของผู้บริโภค ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สู่ระดับ 9 ตัน ซึ่งถือเป็นการเติบโตสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ขณะที่ภาพรวมความต้องการของโลกเพิ่มขึ้นแค่ 4% อยู่ที่ 1,258 ตัน

นอกจากนี้ ยังระบุว่าประเทศไทยมีความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำสำหรับการลงทุนเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยเพิ่มขึ้นถึง 22% เมื่อเทียบกับปีที่ 2566 ผ่านมา เป็นจำนวน 7 ตัน เนื่องจากนักลงทุนได้ใช้ทองคำเพื่อรักษามูลค่าเงินทุนจากค่าเงินบาทในช่วงที่อ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับระดับการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำทั่วโลกที่ลดลง 5% ความต้องการเครื่องประดับทองคำในประเทศไทยก็เพิ่มขึ้น 12% จากปีที่ผ่านมา เป็นจำนวน 2 ตัน เช่นกัน ขณะที่เวียดนามและอินโดนีเซียมีความต้องการลดลง

 กรณี “ทองแม่ตั๊ก” นั้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่า บทสรุปในเรื่องของคดีความจะจบลงอย่างไร ขณะเดียวกันปมประเด็นในเรื่อง “การซื้อทองคำออนไลน์” จากไลฟ์สด TikTok นับเป็นบทเรียนสำคัญของสังคมไทยที่จำต้องมีมาตรการออกมาควบคุมเพื่อให้เป็น “บรรทัดฐาน” ต่อไปเพื่อปกป้องมิให้เกิดความเสียหายกับผู้บริโภค 



กำลังโหลดความคิดเห็น