ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ยังอยู่ท่ามกลางมรสุมหนี้รุมเร้ากันถ้วนหน้า ทั้งรัฐบาลที่สวมบทนักสู้กู้สิบทิศ โดยปีงบประมาณ 2568 จะมีเงินกู้ก้อนใหม่มา 1.05 ล้านล้านบาท ขณะที่ประชาชนคนไทยแบกหนี้กันฉ่ำๆ เฉลี่ย 6 แสนบาทต่อครัวเรือน
การก่อหนี้สาธารณะใหม่ของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) ขยับขึ้นใกล้ชนเพดานเร็วกว่าที่คาด และเป็นภาระให้คนรุ่นหลังมาตามใช้หนี้ที่นับวันพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ
จาก ณ สิ้นปีงบประมาณ 2548 มียอดคงค้างอยู่ที่ 3,388,991 ล้านบาท มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 45.46% ถึงปัจจุบัน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 มียอดคงค้างอยู่ที่ 11,474,154 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 63.37% ต่อ GDP
แผนก่อหนี้สาธารณะรอบนี้ พิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (คนน.) เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 ว่า ภายใต้แผนบริหารหนี้สาธารณะระยะปานกลาง (4 ปี) ตั้งแต่ปี 2567-2570 มีการคำนวณสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีออกมาว่ายังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินคลัง
ทั้งนี้ มีการประเมินว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2568 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะอยู่ที่ราว 66% ภายใต้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ระดับ 3% ซึ่งถือว่ายังต่ำกว่ากรอบวินัยการคลังที่รัฐบาลกำหนดไว้ไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี จากปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 63% ต่อ GDP และ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 คาดว่าหนี้สาธารณะ จะอยู่ที่ 65% ต่อ GDP โดยประเมินว่าตัวเลขหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2569 จะเริ่มนิ่งขึ้น จากนั้นในปีงบประมาณ 2570 สัดส่วนหนี้สาธารณะจะเริ่มปรับตัวลดลง
สำหรับกรอบการบริหารหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2568 จะอยู่ที่ประมาณ 2.586 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการก่อหนี้ใหม่ประมาณ 1.05 ล้านล้านบาท เพื่อเป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลของรัฐบาล ในวงเงิน 8.65 แสนล้านบาท และเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 2.79 แสนล้านบาท ขณะที่เป็นการ roll over (การกู้เงินใหม่เพื่อนําไปชําระเงินกู้ที่ครบกำหนดชําระเพื่อให้เงินกู้ดังกล่าวมีระยะเงินกู้สอดคล้องกับระยะคืนทุน) วงเงิน 1.52 ล้านล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ 1.24 ล้านล้านบาท การออกตั๋วเงินคลัง จำนวน 5.2 แสนล้านบาท การออกพันธบัตรรัฐบาล 3.27 แสนล้านบาท การออกพันธบัตรออมทรัพย์ 1.24 แสนล้านบาท และการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวน 2.77 แสนล้านบาท
พิชัย ชุณหวิชร มองว่า ความเสี่ยงในการบริหารหนี้สาธารณะ มีเพียงไม่กี่ปัจจัย เช่น ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการกู้เงินต่างประเทศน้อยมาก จึงบริหารจัดการในส่วนนี้ได้ไม่ยาก ส่วนความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย ได้หารือว่าจะกำหนดสัดส่วนการจ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว และอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่อย่างไร โดยทิศทางของดอกเบี้ยหลังจากนี้น่าจะเข้าสู่ช่วงขาลง จากการประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งแนวโน้มดอกเบี้ยของไทยน่าจะปรับลดลงเช่นกัน
ขณะที่ ขุนคลัง เชื่อมั่นว่าการก่อหนี้สาธารณะก้อนใหม่ในปีงบประมาณ 2568 เพื่อชดเชยการขาดดุลของรัฐบาล ที่นำงบประมาณมาบูทเศรษฐกิจ ซึ่งหนึ่งในโครงการสำคัญคือ โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท สามารถบริหารความเสี่ยงได้ และเชื่อว่าจะดันจีดีพีโตประมาณ 3% แต่บทวิเคราะห์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) สะท้อนว่าอาจไม่เป็นดังคาดหวังและจะทำให้หนี้สาธารณะใกล้ชนเพดานเร็วขึ้น
SCB EIC ประเมินว่า หากภาครัฐสามารถดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ โดยแบ่งใช้วงเงิน 450,000 ล้านบาท 2 ระยะ ในปีงบประมาณ 2567 และปีงบประมาณ 2568 ตามแผนล่าสุด จะช่วยสนับสนุน GDP ปี 2568 ราว 0.5-0.7% ภายใต้คาดการณ์ว่าทั้งปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำราว 2.6% เท่านั้น โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ใช้วงเงินสูง แต่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่เต็มที่และชั่วคราว อาจส่งผลให้หนี้สาธารณะไทย มีแนวโน้มชนเพดานในปี 2570 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดประเมินไว้ก่อนหน้าราว 1 ปี
“SCB EIC ประเมินว่าหนี้สาธารณะจะชนเพดาน 70% ของ GDP ช่วงปี 2569-2570 ซึ่งเร็วกว่าประมาณการเดิม 1 ปี ผลจากประมาณการ GDP ต่ำลง ส่งผลให้ข้อจำกัดการคลังของไทยปรับสูงขึ้น ... จุดกลับตัวของหนี้สูงขึ้นและเลื่อนเวลาออกไป จึงมีความเสี่ยงที่อาจไม่สามารถกลับตัวได้จริง”
สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศที่สูง อาจมีปัญหาเรื่องการชำระหนี้คืน และกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศลดลง ส่งผลต่อการลงทุนทั้งภายในประเทศและจากต่างชาติ และการก่อหนี้ในอนาคตอาจมีต้นทุนที่สูงขึ้น รัฐบาลในภายภาคหน้าอาจมีปัญหาเรื่องงบประมาณใช้จ่ายไม่เพียงพอ ขณะที่การก่อหนี้สาธารณะควรใช้ในการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในระยะยาว เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต ช่วยให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศลดลงในอนาคต ไม่เช่นนั้นการสร้างภาระหนี้สาธารณะที่มากเกินไป ทำให้คนรุ่นหลังต้องมาแบกรับ โดยไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากก้อนหนี้ที่รัฐบาลไปก่อหนี้ยืมสินเอาไว้
นอกจากการก่อหนี้ใหม่ในปีงบประมาณ 2568 แล้ว ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ยังอนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นแหล่งเงินสำคัญของการแจกเงินใน “โครงการหมื่นดิจิทัล” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้กับกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน
สาระสำคัญของการปรับปรุงแผนฯ ตามที่คณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะ เสนอ ในส่วนของแผนการก่อหนี้ใหม่ ปรับเพิ่มสุทธิ 112,000 ล้านบาท จากเดิม 1,030,580ล้านบาท เป็น 1,142,580 ล้านบาท, เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (เพิ่มเติม) และปรับปรุงแผนการบริหารหนี้เดิม โดยปรับลดสุทธิ 12,603.87 ล้านบาท จากเดิม 2,042,314,06 ล้านบาท เป็น 2,029,710 ล้านบาท
ภายหลังการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 3 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 65.74% จากเดิมที่อยู่ที่ 65.06% ขณะที่สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณจะอยู่ที่ 33.76% จากเดิม 32.14%
“หนี้ครัวเรือน” อ่วม ท่วมหัว
ไม่เพียงแต่ “หนี้สาธารณะ” เท่านั้นที่เบ่งบาน ในส่วนของ “หนี้ครัวเรือน” ก็ยิ่งเบ่งบานล้ำหน้าไปมากกว่า
สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบัน ว่าจากข้อมูล ณ สิ้นเดือนกรฎาคม 2567 หรือ 7 เดือนของปีนี้ พบว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนในฐานข้อมูลสถิติเครดิตบูโร เท่ากับ 13.6 ล้านล้านบาท แทบไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนมิถุนายน 2567
แต่หากดูด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ “เอ็นพีแอล” พบว่าขยับขึ้นต่อเนื่อง เพิ่มจาก 1.16 ล้านล้านบาท มาเป็น 1.19 ล้านล้านบาท คิดเป็น 8.7% ของหนี้รวม ซึ่งคาดว่าคงจะไปถึง 1.2 ล้านล้านบาท ในเวลาไม่ช้าไม่นาน
ในด้านหนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Stage 2 หรือ SM) ที่น่าสนใจคือเดือนมิถุนายน 2567 ปรับลดลงมาจากไตรมาสก่อนอย่างมากจนเหลือ 5แสนล้านบาท แต่ผ่านไป 1 เดือน เข้าเดือนกรกฎาคม กลับกระโดดเป็น 6.7 แสนล้านบาท หรือเพิ่ม 1.7 แสนล้านบาท แยกเป็น สินเชื่อบ้านเพิ่มจาก 1.43 แสนล้านบาท เป็น 1.69 แสนล้านบาท โตขึ้น 18% สินเชื่อส่วนบุคคล เพิ่มจาก 8.5 หมื่นล้านบาท เป็น 1.13 แสนล้านบาท โตขึ้น 33% สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีจาก 2.6 หมื่นล้านบาท มาเป็น 4.4 หมื่นล้านบาท โตขึ้น 69% สินเชื่อรถยนต์, บัตรเครดิตนิ่งๆ กับลดลง
สงครามการสู้รบระหว่างหนี้ปกติไหลมาเป็นหนี้กำลังจะเสีย, หนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษหรือหนี้ SM โดยมีอาวุธคือการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน Preemptive Debt Restructure หรือที่เรียกว่า DR. ภายใต้มาตรการการให้กู้อย่างมีความรับผิดชอบหรือ RL มีความเข้มข้นมากในเวลานี้ และจะเพิ่มมากขึ้นแน่ๆ จนถึงสิ้นปีแน่นอน
“แต่เอ๊ะ.. ตัวเลขของหนี้เรื้อรัง, หนี้เรื้อรังรุนแรง ที่เข้ามาตรการช่วยเหลืออันเป็นเรือธงของการสู้รบตอนนี้ไปได้เท่าไหร่แล้ว เพราะ Ploan แบบหมุนเวียนของลูกหนี้รายได้น้อยที่มีลักษณะจ่ายดอกสะสมมาในอดีตที่มากกว่าจ่ายเข้าต้นนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของ Ploan ที่มีการไหลมาเป็น SM เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญในเดือนเจ็ดนี้” ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร ตั้งคำถาม และมีข้อสังเกต “ความโปร่งใสในตัวเลขจะสร้างความเชื่อถือให้กับเรือธงนะครับ ....”
ก่อนหน้านี้ อุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2567 ที่สำรวจความเห็นจากกลุ่มตัวอย่าง 1,300 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-7 กันยายน 2567 พบว่า ครัวเรือนไทยมีหนี้สินเฉลี่ย 606,378 บาท เพิ่มขึ้น 8.4% เมื่อเทียบปี 2566 ที่มีเฉลี่ย 559,408 บาท ถือเป็นยอดหนี้สูงสุดในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจในปี 2551 ขณะนั้นครัวเรือนไทยมีหนี้สินเฉลี่ยเพียง 143,476 บาท โดยเป็นหนี้บัตรเครดิตมากที่สุด ตามด้วยหนี้เช่าซื้อยานพาหนะ สินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อการอุปโภคบริโภค สินเชื่อที่อยู่อาศัย การประกอบธุรกิจ และการศึกษา
สาเหตุก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้น มาจากเศรษฐกิจชะลอตัว รายได้ไม่พอรายจ่าย ใช้เงินฉุกเฉิน ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำธุรกิจล้มเหลว ลงทุนธุรกิจเพิ่ม ซื้อสินทรัพย์ถาวร ค่าเล่าเรียนบุตรหลาน ตกงาน ผ่อนสินค้ามากเกินไป ติดการพนัน เป็นต้น
กำลังซื้อที่เปราะบางจากความกังวลเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.8% ต่อ GDP ในไตรมาสที่ 2/2567 ซึ่งกดดันการบริโภคในประเทศ บวกกับปัจจัยอื่นๆ ยังกดดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนสิงหาคม 2567 ให้ต่ำลงอยู่ที่ระดับ 87.7 ปรับตัวลดลงจาก 89.3 ในเดือนกรกฎาคม 2567 ตามถ้อยแถลงของ เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567
ช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2567 ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เผยภาวะสังคมไทยในไตรมาส 2/67 หนี้สินครัวเรือน (ไตรมาส 1) มีมูลค่า 16.37 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.5% ชะลอลงจาก 3% ในไตรมาสก่อน (ไตรมาส 4/66) คิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP ที่ 90.8% ลดลงจาก 91.4% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยหนี้ครัวเรือนขยายตัวชะลอลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ส่วนหนึ่งเกิดจากครัวเรือนมีภาระหนี้ในระดับสูง และคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลง จึงทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อแก่ครัวเรือน
ด้านคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่อง โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารพาณิชย์ มีมูลค่า 1.63 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.99% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.88% ในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน
“หนี้เอ็นพีแอล” แบงก์พาณิชย์ ยังขาขึ้น
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 2/2567 ที่ผ่านมา ขยายตัวชะลอลง 0.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.4 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมที่ 2.84% ขยับขึ้นจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคเป็นสำคัญ
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. มองไปข้างหน้าคาดว่าเอ็นพีแอลยังมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่ายังสามารถบริหารจัดการได้ และไม่เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยหนี้กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Stage 2 หรือ SM) ปรับเพิ่มขึ้นจาก 6.38% เป็น 6.50% หลักๆ มาจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ยังชำระได้ ส่วนสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้นจาก 7.34% เป็น 7.60% ซึ่งการเพิ่มขึ้นมาจากลูกหนี้รายได้ไม่พอ ผ่อนชำระล่าช้า
ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองภาพรวม NPL และสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Stage 2 หรือ SM) ในไตรมาส 3/2567 ยังเห็นการตั้งสำรองในระดับสูงใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ในไตรมาส 4/2567 อาจจะเห็นปรับลดลงได้เล็กน้อยจากการบริหารจัดการหนี้ช่วงปลายปี และการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ตามนโยบายของ ธปท.
เรียกได้ว่ายังจมอยู่ในวังวนแห่งหนี้สินกันถ้วนหน้า หาแสงสว่างปลายอุโมงค์ไม่เจอ