ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ที่ผ่านมาเกิดเสียงคัดค้านจากแทบทุกชุมชุนที่มีการปักหมุดจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ (Waste to energy) นวัตกรรมพลังงานทดแทนจากเทคโนโลยีเตาเผาขยะมูลฝอย (Incineration) ที่มีการนำขยะหมุนเวียนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้า
โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 2558 - 2579 (AEDP 2015) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน (มท.) ทดลองลงทุนผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ ตามโครงการศึกษาและจัดทำข้อมูลการลงทุนด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สนับสนุนและส่งเสริมภาคเอกชนร่วมลงทุนกับท้องถิ่น (อปท.) ภายใต้แนวคิดกำจัดขยะจากปัญหาขยะล้นเมือง ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี นำขยะมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้า
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะเริ่มต้นตามแผนอย่างเป็นรูปธรรมในช่วง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งถ้าหากยังจำกันได้ก็ต้องบอกว่า “ปักหมุดที่ไหน ถูกคัดค้านที่นั่น”
ความเคลื่อนไหวคัดค้านล่าสุด เกิดกระแสต่อต้านโรงงานผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าขยะจากเชื้อเพลิงอุตสาหกรรม 3 แห่ง ผู้ดำเนินโครงการประกอบด้วย บ. พราวฟ้า พาวเวอร์ จำกัด บ.กรีนแคร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และบ. มี พรีม เอ็นเนอร์ยี่จำกัด ซึ่งแต่ละโรงมีกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนที่ดิน 62 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคกบินทร์ ต.ลาดตะเคียน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
โดย “กลุ่มปราจีนเข้มแข็ง” ประกอบด้วยอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และชาวบ้านตำบลลาดตะเคียน ตำบลหาดนางแก้ว และตำบลใกล้เคียง จ.ปราจีนบุรี ออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านตั้งแต่ต้น และมีการยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กรณีการขออนุญาตสร้างโรงไฟฟ้าขยะอุตฯ รวม 29.7 เมกกะวัตต์ 3 โรง กังวลสร้างผลกระทบรัศมี 3
สำหรับสาเหตุที่คัดค้านการก่อสร้างโครงการดังกล่าว เพราะไม่มีความเชื่อมั่นว่าบริษัทผู้ดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะอุตสาหกรรม จะมีการบริหารจัดการที่ดีไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และสุขภาพอนามัยของประชาชน
ขณะที่ ตัวแทน บ.กรีน แคร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ระบุว่าโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมจะใช้เชื้อเพลิงเฉพาะเศษวัสดุที่เหลือใช้จากการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมประเภท เศษกระดาษ เศษไม้ เศษผ้า เศษยาง เศษหนัง และพลาสติกเท่านั้น และยืนยันว่าไม่ใช่ขยะจากครัวเรือน ขยะพิษ หรือขยะอิเล็กทรอนิกส์แต่อย่างใด
และการตรวจสอบแหล่งที่มาของเชื้อเพลิงและจำนวนควบคุม จะถูกตรวจสอบโดยหน่วยงานราชการ ซึ่งทางโรงงานจะมีกรรมวิธีในการคัดแยกเศษวัสดุที่สับหรือตัดให้ละเอียดก่อนอัดก้อนเพื่อควบคุมความชื้นไม่เกิน 20% จึงทำให้ไม่มีน้ำหรือของเสียเหลวออกมา ขณะที่ในส่วนของเทคโนโลยีผลิตกระแสไฟฟ้าจะใช้การเผาไหม้เพื่อต้มน้ำและนำไอน้ำไปปั่นไดนาโมเพื่อกำเนิดกระแสไฟฟ้า
โดยกระบวนการผลิตยังมีระบบกรองฝุ่นละอองที่ละเอียดถึง PM 2.5 เพื่อป้องกันฝุ่นละอองที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ และชุมชนสามารถตรวจสอบได้จากการติดตั้งระบบ CEMs สำหรับใช้ในการตรวจวัดสารต่างๆ ที่ปล่อยออกจากปล่องของโรงไฟฟ้าตลอดเวลา หรือแบบเรียลไทม์
นอกเหนือจากนี้ ยังเรื่องของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่บริษัทจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น (อัตราตามกฎหมายกำหนด) สร้างโอกาสเกิดการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการลดปริมาณขยะอุตสาหกรรมของประเทศ และเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของจังหวัดและประเทศตามยุทธศาสตร์และนโยบายของประเทศ
โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เป็นส่วนหนึ่งในแผน AEDP 2015 ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน (มท.) สนับสนุนและส่งเสริมภาคเอกชนร่วมลงทุนกับท้องถิ่น (อปท.) ภายใต้แนวคิดกำจัดขยะจากปัญหาขยะล้นเมือง ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี นำขยะมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้า
แม้ว่าโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเป็นพลังงานทางเลือกในการจัดหาพลังงานให้มีปริมาณที่เพียงพอต่อการใช้งานของประชาชน แต่มีข้อเสียที่หลายฝ่ายมีความกังวล เพราะพบว่าโรงไฟฟ้าขยะบางแห่งมีสารพิษอันตรายสูงมาก อาทิ ไดออกซิน, สารหนู, แบริลเลียม, แคดเมียม, ฝุ่นละอองขนาดเล็ก และก๊าซมีฤทธิ์เป็นกรด ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนรอบโรงไฟฟ้า มีส่วนในการก่อให้เกิดมะเร็ง เป็นพิษต่อระบบประสาท รวมถึงทำให้เกิดความผิดปกติในทารก
ในปัจจุบันประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเพิ่มจำนวนขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมีโครงการก่อตั้งอีกหลายแห่งท่ามกลางเสียงคัดค้านจนเป็นเหตุให้หลายพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้ ถึงขั้นต้องระงับโครงการชั่วคราวเพราะเกิดความกังวลเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยรอบบริเวณ และสารพิษตกค้างเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนรอบโรงไฟฟ้า
ท่ามกลางความขัดแย้งเสียงคัดค้านโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ กระทรวงมหาดไทย (มท.) เร่งเครื่องตาม Roadmap ดำเนินโครงการกำจัดขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า สนับสนุนส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ร่วมทุนกับเอกชน โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) มีหนังสือด่วนที่สุด ถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด 50 จังหวัด ให้เร่งจัดส่งข้อมูลรายละเอียดโครงการกำจัดขยะเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า หรือ “โรงไฟฟ้าขยะชุมชน” ของ อปท. ที่ร่วมทุนกับเอกชน
มีการกำหนดมาตรการและอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ FiT เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)พิจารณา ตามมติ กพช. ปี 2565 อัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 11 (PDP20118 Rev.1) โดยอัตราดังกล่าว ใช้สำหรับ 34 โครงการ ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 282.98 เมกะวัตต์ ระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ เชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2568 – 2569
โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกลางจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือเวียนข้อสั่งการถึงท้องถิ่น 40 แห่ง ใน 30 จังหวัด ให้เข้าสำรวจโครงการกำจัดขยะมูลฝอยของ อปท. ที่ร่วมดำเนินการกับภาคเอกชน
ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้รับการสนับสนุนโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของ อปท. จากกระทรวงพลังงาน โดยต้องการเพิ่มเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่มเติมตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) รวมถึงได้ดำเนินการตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับพื้นที่กำจัดขยะของกลุ่มพื้นที่ (Clusters) ทั้ง 324 กลุ่ม ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงกันเพื่อกำหนดในแผน PDP
ตามข้อมูล มท. เห็นชอบ ตาม กพพ. อนุมัติจัดตั้ง “โรงไฟฟ้าขยะชุมชน” โครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของ อปท. ไปแล้ว อย่างน้อยใน 20 จังหวัด มูลค่าลงทุนมากกว่า 13,101 ล้านบาท
คงต้องติดตามว่าการเดินหน้าจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานขยะทั่วประเทศ ภายใต้การผลักดันของกระทรวงมหาดไทย ท่ามกลางกระแสคัดค้านของชุมชนจะดำเนินไปอย่างไร