ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่ว่าจะใช้คำว่า “ครอบครอง” แทนคำว่า “ครอบงำ” ที่ส่อให้มีปัญหาทางกฎหมาย แต่ใครก็คงสัมผัสได้ถึงความมีอยู่ของอิทธิพลของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีต่อ และอาจอยู่เหนือรัฐบาล “ลูกอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร
การที่ “ทักษิณ” มีส่วนสำคัญในการผลักดันบุตรสาวคนเล็กในทางการเมือง จนสร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดของไทย และจะเป็นผู้นำหญิงอายุน้อยที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ก็ถือเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ชั้นดี นำมาซึ่งสมญา “รัฐบาลสืบสันดาน” ที่อาจยากจะรับ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้
ไม่เพียงเท่านั้นในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ที่เป็นพิธีการสำคัญก่อนการเริ่มบริหารราชการแผ่นดิน นโยบายที่ร่างขึ้น และถ่ายทอดผ่านปากของ “แพทองธาร” ก็ยังมีหลายเรื่องที่ “ซ้ำ” กับวิสัยทัศน์ของ “พ่อทักษิณ” ที่กล่าวในงานดินเนอร์ทอล์ก Vision for Thailand 2024 จัดโดยสื่อเครือเนชั่น เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 67 ที่ผ่านมา ก่อนการแถลงนโยบายของรัฐบาลไม่นาน
ขณะเดียวกันหน้าตาของรัฐมนตรีใน “รัฐบาลอิ๊งค์ 1” หลายคนไม่เพียงแต่เป็นหน้าเก่าๆในทางการเมือง แต่ก็ยังเคยผ่านการเป็นรัฐมนตรีใน “รัฐบาลทักษิณ” เมื่อกว่า 20 ปีก่อนมาก่อน ทั้ง ภูมิธรรม เวชชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม, อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย และ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ส่วนอีกค่อนคณะรัฐมนตรีก็เป็น “สมุนพ่อ” มาก่อนทั้งสิ้น
ทำให้เห็นว่า การสืนสันดานจาก “ทักษิณ” มาถึง “แพทองธาร” ไม่ใช่แค่เรื่องอำนาจ, ดีเอ็นเอ หรือแค่แนวคิด ยังมี “มรดกการเมือง” ที่มาในรูปแบบ “ทีมงาน” อีกด้วย
เพิ่มน้ำหนักไปอีกขั้นหลังจากที่ “นายกฯ อิ๊งค์” สะบัดปากกาเซ็นคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 317/2567 เรื่องแต่งตั้งคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี อันประกอบด้วย พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษา, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษา และ ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ธงทอง จันทรางศุ และ พงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นที่ปรึกษา
ในคำสั่งระบุหน้าที่ “ทีมกุนซือ” ว่า ให้คำปรึกษา และพิจารณาเสนอความเห็นข้อเสนอแนะต่าง ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย วิเคราะห์ และศึกษาโอกาสในการพัฒนาประเทศ พร้อมทั้งให้คำปรึกษา และเสนอแนะแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านนโยบายของรัฐบาล
เข้าใจได้ว่า การมีกุนซือ-ที่ปรึกษา เป็นเรื่องปกติทั่วไปของผู้บริหารระดับสูง หรือแม้แต่คนทำงานในแทบทุกระดับ แต่สำหรับ “นายกฯอิ๊งค์” ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ก็เพราะทุกฝักฝ่ายต่างจับจ้อง “จุดอ่อน” ในแง่ประสบการณ์ทำงานของเจ้าตัวเป็นพิเศษ จนอาจต้องมี “พี่เลี้ยง” คอยประคับประคอง
ซ้ำเมื่อปรากฎชื่อ “พันศักดิ์” ผู้มีเอกลักษณ์ในการผูก “หูกระต่าย” แทนการผูกเนกไททั่วไป มาเป็นประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ ทุกคนก็ต่างฟันธงว่า “พ่อทักษิณ” ส่งมา ตอกย้ำครหา “สืบสันดาน-มรดกการเมือง” และพาลให้นึกถึงการคืนชีพของ “ระบอบทักษิณ” ไปอีก
เหตุเพราะ 3 ใน 5 ของ อันได้แก่ “พันศักดิ์-สุรพงษ์-พงศ์เทพ” ต่างก็เคยเป็นขุนพลคนสำคัญในยุคที่ “ทักษิณ” เรืองอำนาจมาก่อน โดยเฉพาะ “พันศักดิ์” เจ้าของฉายา “กุนซือหูกระต่าย” ที่ถือเป็นมือนโยบายคู่ใจ “ทักษิณ” ในช่วงรัฐบาลไทยรักไทย ปี 2544-2549
ชื่อของ “พันศักดิ์” เริ่มโลดแล่นในยุทธจักรการเมือง โดยเป็นประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สมัย “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อยู่เบื้องหลังนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ที่เป็นนโยบายเรือธงของ “น้าชาติ”
สมัยนั้นคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่มี “พันศักดิ์” เป็นประธาน ร่วมด้วย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศ, ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ, ชวนชัย อัชนันท์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย, สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศ และ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นักวิจัยประจำคณะที่ปรึกษา ได้ใช้ "บ้านพิษณุโลก" ที่เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสำนักงาน เป็นที่มาของชื่อเรียก “ที่ปรึกษาบ้านพิษฯ” ที่ย่อมาจาก “ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก”
กระทั่งเกิดรัฐประหาร 2534 “พันศักดิ์” ที่โดนหางเลขไปด้วย ก็เฟดตัวออกมาทำงานสื่อ โดยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Asia Time ในเครือผู้จัดการ ก่อนที่จะได้รับการทาบทามให้ไปเป็นประธานที่ปรึกษาด้านนโยบายให้แก่ “ทักษิณ” ช่วงรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ปี 2544 พร้อมดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ Thailand Creative and Design Center (TCDC) และประธานกรรมการบริหาร สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) ก่อนถูกรัฐประหารอีกครั้งเมื่อปี 2549
“พันศักดิ์” ยังกลับเข้ามามีบทบาทในรัฐบาลที่มาจาก “ระบอบทักษิณ” ทั้งในช่วงรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ที่ได้เข้าร่วมคณะที่ปรึกษาของ สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และ รมว.คลัง ขณะนั้น รวมทั้งยังร่วมทำนโยบายให้กับพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งปี 2554 ที่ได้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วย
อย่างไรก็ดี ชื่อของ “พันศักดิ์” หายไปจากสปอตไลท์การเมืองตลอดช่วงหลังการรัฐประหารปี 2557 และช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีเพียงการมาร่วมวงสนทนา “CARE Clubhouse x CARE Talk : คิดเคลื่อนไทย“ กับ ”ทักษิณ“ อยู่บ้าง
การปรากฎชื่อ “พันศักดิ์” มาร่วมกับรัฐบาลแพทองธาร ก็แสดงให้เห็นว่า “ทักษิณ” ยังคงให้ความไว้วางใจ “กุนซือหูกระต่าย” คนนี้อย่างสูง จึงส่งมาทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” ประคองรัฐบาลลูกสาว
ทำให้ “พันศักดิ์” สร้างประวัติศาสตร์เป็นประธานที่ปรึกษา 3 นายกฯ ตั้งแต่ “พล.อ.ชาติชาย” มาถึง “ทักษิณ” และ “แพทองธาร” ในครั้งนี้
เช่นเดียวกับ “หมอเลี้ยบ-นพ.สุรพงษ์” ก็เป็นอีกคนที่ “ทักษิณไว้ใจ” และมีบทบาทสำคัญในพรรคเพื่อไทยมาตลอด เพียงแต่ติดขัดเรื่องคุณสมบัติที่เคยจำคุกในคดีแก้สัญญาสัมปทานไทยคมเอื้อชินคอร์ป ทำให้ไม่สามารถเข้าตำแหน่งรัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมือง เหมือนเพื่อน “นักรบห้องแอร์” อย่าง “บิ๊กอ้วน-ภูมิธรรม” หรือ “หมอมิ้ง” พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ ได้ จึงได้ตำแหน่งรองประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกฯมาปลอบใจ
ส่วน “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงในรัฐบาลทักษิณ และอดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยร่วมงานกับ “ทักษิณ” ตั้งแต่สมัยพรรคพลังธรรม จนกระทั่งมาร่วมงานที่พรรคไทยรักไทย เคยผ่านตำแหน่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2539 มาก่อน จึงคาดว่าถูกวางตัวมาช่วยดูเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ ของรัฐบาล
ขณะที่ “ธงทอง จันทรางศุ” อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ปี 2554-2557 นอกเหนือจากมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และเคยเป็น ส.ส.ร.ปี 2539 เช่นกัน ก็ยังมีความรู้ลึกในเรื่องพระราชพิธีประวัติศาสตร์, ศาสนา และวัฒนธรรม แบบหาตัวจับยาก ปัจจุบันก็ยังร่วมเป็น กรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 8 อยู่ มองกันว่ามาเป็นตัวตายตัวแทน วิษณุ เครืองาม อดีตที่ปรึกษานายกฯช่วงรัฐบาลเศรษฐา
มาถึงรายสุดท้าย “อาจารย์เปี๋ยม” ศุภวุฒิ สายเชื้อ เป็นบุตรชายของ “เชาวน์ สายเชื้อ” อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดย “ศุภวุฒิ” ที่สร้างชื่อและเป็นที่ยอมรับในวงการเศรษฐศาสตร์การเงินช่วงที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันก็ยังเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) และเพิ่งเข้ามามีบทบาทเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย ร่วมกับ “เศรษฐา” ช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 โดยการทาบทามของ “หมอเลี้ยบ-สุรพงษ์”
นอกจากนี้ “ดร.ศุภวุฒิ” ก็เคยมีชื่อปรากฏในโผว่าจะได้รับการแต่งตั้งเป็น รมว.คลัง ในช่วงตั้งรัฐบาลเศรษฐา ด้วย
เช่นเดียวกัน “พันศักดิ์” ที่ก็เคยมีกระแสข่าวว่า “ทักษิณ” พยายามผลักดันให้มาเป็นช่วยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษานายกฯ ให้ “นายกฯ นิด” เศรษฐา ทวีสิน แต่ครั้งนั้นเป็น กิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่มีความคุ้นเคยกันส่วนตัวกับ “เศรษฐา” เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แทน
ส่วน “พันศักดิ์” ได้เป็นแค่ที่ปรึกษา และกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ร่วมกับ “แพทองธาร” ที่เป็นรองประธาน และมี “สุรพงษ์” เป็นเลขานุการ ซึ่งกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาตินั้น ก็ถูกมองว่า เป็นสนามทดลองงานให้ “ลูกอิ๊งค์” เตรียมตัวสำหรับการขึ้นสู่ตำแหน่งเบอร์ 1 ของประเทศ จึงส่ง “พันศักดิ์” รวมถึง “สุรพงษ์” ไปเป็นพี่เลี้ยงประกบตั้งแต่ตอนนั้น ก่อนจะต้องมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเร็วกว่าที่คาด
อีกนัยหนึ่งก็อ่านได้ว่า สมัย “นายกฯ เศรษฐา” นั้นก็ไม่ได้รับลูกจาก “ทักษิณ” ที่พยายามส่งค นของตัวเองเข้าไปในกลไกของรัฐบาลทั้งหมด เมื่อเป็นคิวของ “นายกฯลูกสาว” จึงส่งทีมงานเข้าไปแบบเบ็ดเสร็จ
เพราะไม่เพียงแต่ที่ทำเนียบรัฐบาล ทีมงาน ”นายกฯ อิ๊งค์“ เท่านั้น หันไปดูที่ กระทรวงกลาโหม ก็ใช้โมเดลเดียวกัน กับชื่อ “บิ๊กหมี“ พล.อ.ไตรศักดิ์ อินทรรัสมี อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ กองบัญชาการกองทัพไทย ที่คาดว่า จะได้รับการเสนอชื่อเป็นเลขานุการ รมว.กลาโหม แล้วยังมีชื่อ “บิ๊กต่วย” พล.ร.อ.ชัยวัฒน์ พุกกะรัตน์ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ รมว.กลาโหม (พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์) และ พล.อ.วุทธิ์ วิมุกตะลพ เป็นที่ปรึกษา รมว.กลาโหม
โดยทหารเก่าทั้ง 3 คนเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร (ตท.) 10 ของ “ทักษิณ” และเคยเป็นทีมงาน รมว.กลาโหม ยุค “บิ๊กโอ๋” พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เพื่อน ตท.10 ของ “ทักษิณ” สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์มาก่อน รวมถึง “บิ๊กกุ้ง” พล.อ.วรวิทย์ ชินะนาวิน อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เคยเป็นเลขานุการ รมว.กลาโหม ยุค พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็มีชื่อจะได้ตำแหน่งเช่นกัน
สอดรับกับกระแสข่าวว่า “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ส่งสัญญาณไปถึงบรรดารัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยว่า รอบนี้จะมีการรื้อการแต่งตั้งข้าราชการการเมืองโดยจะเป็นคนที่ “ส่วนกลาง” ส่งไปทั้งหมด ไม่เหมือนช่วงรัฐบาลเศรษฐาที่รัฐมนตรีหลายคนสามารถเลือกอดีต สส.หรือเลขานุการส่วนตัวที่ใกล้ชิดเข้าไปเป็นข้าราชการการเมือง
เข้าใจว่า แง่หนึ่ง เป็นแนวทางเพื่อบริหารจัดการบุคลากรภายในพรรค เพราะรอบนี้ พรรคเพื่อไทย ถือว่ามี “สส.สอบตก” ที่สามารถดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองมากเป็นพิเศษ “ส่วนกลาง” จึงต้องวางคนตามยุทธศาสตร์ทำพื้นที่เพื่อช่วงชิงที่นั่ง สส.คืนมา
แต่อีกแง่พูดกันอื้ออึงทั้งพรรคว่า จะเป็นการส่งคนมาเพื่อดูแล และนำส่งเข้า “ส่วนกลาง” ให้เป็นระบบ เหมือนโมเดลที่เคยทำมาในสมัยรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ถึงขั้นมีเรื่องเล่าว่า บางกระทรวง รัฐมนตรี กับเลขานุการรัฐมนตรี ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
ที่เป็นตำนานคลาสสิกที่สุด ไม่พ้นสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กรณี “หมอโด่ง” พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ ที่ “ส่วนกลาง” ส่งไปเป็นเลขานุการ รมว.พาณิชย์ ของ “เสี่ยฮุก” บุญทรง เตริยาภิรมย์ กระทั่งเกิดคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบจีทูจี จน “บุญทรง” ต้องโทษจำคุก 48 ปี และติดคุกมานานตั้งแต่ปี 2560 โดยหลังได้รับการอภัยโทษเหลือจำคุก 10 ปี กำหนดพ้นโทษช่วงปี 2571
แต่ “หมอโด่ง” ที่ถูกระบุว่าเป็น “คีย์แมน” ในการทุจริตจีทูเจี๊ยะ และถูกตัดสินลับหลังให้จำคุก 72 ปี แต่หลบหนีไปก่อน จนป่านนี้ก็ยังตามตัวกลับมารับโทษไม่ได้ ส่วน “นายกฯปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ปล่อยให้ “บุญทรง” รอเก้อที่ศาล ก็ยังใช้ชีวิตหรูหราอยู่สบายในต่างแดน และกำลังรอ “พี่ชาย” เดินเกมพากลับประเทศแบบเท่ๆ อยู่
พลันที่ “นายใหญ่” ปัดฝุ่นการบริหารจัดการรัฐบาลแบบเดิม ก็ทำเอารัฐมนตรีหลายคนเริ่มหนาวๆ ร้อนๆ จะตกพุ่มซวยแบบ “บุญทรง” เข้าซักวัน
ถึงวันนี้บรรยากาศ-ทิศทางลมจะดูเป็นใจกับ “รัฐบาลลูกสาวทักษิณ” จนเชื่อว่า “นายกฯ อิ๊งค์” แทบไม่มีความเสี่ยงอุบัติเหตุการเมือง แต่เหลิงอำนาจรื้อฟื้น “ระบอบทักษิณ” และทำแบบที่เคยในอดีต อะไรที่ไม่คิดจะเกิดก็เกิดได้ทุกเมื่อ
แถม “อาถรรพ์” อาจไม่ใช่แค่ “ตระกูลชินวัตร” ที่อำนาจหลุดมือแบบไม่รู้ตัวมาแล้ว 2 หนจากการถูกรัฐประหาร
เพราะย้อนดูประวัติ “พันศักดิ์” ที่ตกงานจากประธานที่ปรึกษานายกฯ 2 หน ก็จากสาเหตุเดียวกัน จนน่าเป็นห่วง “นายกฯลูกอิ๊งค์” ชอบกล.