xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

OR กำจัดจุดอ่อน “อาหาร-เครื่องดื่ม” หืดจับ มุ่งเป้าบุกความงาม-สุขภาพ - Virtual Bank

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกเสียงฮือฮาอยู่ไม่น้อยสำหรับการเขย่าพอร์ตลงทุนของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่ตัดสินใจปิดร้าน Texas Chicken ทุกสาขา ด้วยไม่คิดว่า บริษัทค้าน้ำมันยักษ์ใหญ่ของไทยที่แตกไลน์ธุรกิจออกมาจะตกอยู่สภาพเช่นนี้ 

อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า นี่คือ “การจำกัดจุดอ่อน” ครั้งสำคัญของ OR นับตั้งแต่มีการแยกบริษัทออกมา และ “แต่งตัว” เพื่อนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งในห้วงนั้นมีการทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อซื้อกิจการ หรือเข้าถือหุ้นในบริษัทต่างๆ นอกเหนือจากพื้นฐานเดิมคือ “ปั๊มน้ำมัน”

ว่ากันว่า ในช่วงนั้น OR เคยคิดที่จะใช้เงินถึงราว 4,000 ล้านบาทเพื่อซื้อกิจการ “ร้านติ่มซำ-ซาลาเปาชื่อดัง” ก่อนที่จะยับยั้งเอาไว้ก่อน เฉกเช่นกับอีกหลายกิจการที่ตั้งงบซื้อในราคาที่แวดวงธุรกิจใช้คำว่า “แพงเวอร์”

ยิ่งเมื่อพิจารณาธุรกิจต่าง ๆ ที่ OR ได้เข้าไปลงทุนก่อนหน้านี้ ก็เห็นชัดว่า ไม่หมูเหมือนกับการขายน้ำมัน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ของ OR ซึ่งนอกเหนือจาก Café Amazon แล้ว ยังไม่มีธุรกิจใดที่สร้างกระแสหรือผลตอบแทนที่เป็นกอบเป็นกำ

“....OR อยู่ระหว่างการทบทวนและปรับปรุงการลงทุน (Revisit investment portfolio) ในธุรกิจต่าง ๆ ที่ OR ได้เข้าไปลงทุนก่อนหน้านี้ เพื่อประเมินความเหมาะสม และปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและเป้าหมายในอนาคต รวมถึงการกระจายการลงทุนไปสู่ธุรกิจใหม่ของ OR นอกเหนือจากธุรกิจหลักด้านน้ำมันและค้าปลีก เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ OR ให้ความสำคัญ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่อย่างครบวงจร”

 ดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ชี้แจงแถลงไข หลังบริษัทได้พิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบแล้ว และตัดสินใจที่จะยุติการดำเนินธุรกิจร้านไก่ทอด เท็กซัส ชิคเก้น (Texas Chicken)

ทั้งนี้ ถ้าพิจารณาจากคำประกาศของ “ซีอีโอคนใหม่” ของ OR ก็คงได้เห็นการปรับแผนการดำเนินธุรกิจ   “ครั้งใหญ่”  ของ OR ที่วางไว้ก่อนหน้านี้ในช่วง 5 ปี (2566-2570) และคาดว่า ต้องใช้เงินลงทุนรวม 1.01 แสนล้านบาทในอีกไม่ช้าอย่างแน่นอน

Texas Chicken จะทยอยปิดทุกสาขาภายในเดือนกันยายน 2567

ดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR
 ไม่ใช่แค่ Texas Chicken ที่ต้องกำจัดจุดอ่อน 

กล่าวสำหรับ Texas Chicken นั้นจะทยอยปิดทุกสาขาภายในเดือนกันยายน 2567 ถือเป็นการปิดฉากการรุกธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน หรือ QSR ในกลุ่มไก่ทอดโดย OR อย่างสมบูรณ์ หลังทำตลาดในไทยมากว่า 9 ปี เป็นตัวชี้วัดว่าธุรกิจร้านไก่ทอดในไทย มูลค่าตลาดกว่า 27,000 ล้านบาท ที่มีเบอร์หนึ่งอย่าง KFC เป็นเจ้าตลาดครองส่วนแบ่งอยู่ประมาณ 65% อยู่นั้น แข่งขันกันดุเดือดเลือดพล่านเพียงใด หลายแบรนด์ต่างพาเหรดเข้าร่วมชิงแชร์ แต่ยังไม่มีเจ้าไหนเบียดขึ้นแข่งกับ KFC ได้ โดยปัจจุบัน KFC มี 333 สาขา และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 335 สาขาภายในสิ้นปีนี้

ขณะที่ว่ากันตามตรง แม้หลายคนจะชื่นชอบ Texas Chicken แต่ในภาพรวมของการทำธุรกิจ คงต้องยอมรับกันว่า  “รสชาติไก่ของ OR”  นั้น ไม่ถูกปากคนหมู่มากในประเทศไทยสักเท่าไหร่

การทยอยปิดสาขาของ เท็กซัส ชิคเก้น นับจากปี 2566 ที่มีอยู่ 107 สาขา ลดลงมาเหลือ 97 แห่ง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 หรือลดลง 10 แห่ง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และลดลง 4 แห่ง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ตามรายงานที่เผยแพร่ในงาน Opportunity Day ที่ OR จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา บ่งชี้ถึงอนาคตที่ไม่ค่อยสดใสและท้ายที่สุดก็ต้องเลิกรากันไป

 และว่ากันว่า ตลอด 9 ปีของเท็กซัส ชิคเก้นนั้น ตัวเลขขาดทุนรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งหากยังจะทำต่อก็คงต้องแบกรับภาระขาดทุนอีกไม่น้อยเลยทีเดียว 

ทั้งนี้ Texas Chicken เป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ของ OR โดยในส่วนของธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่มที่ OR ลงทุน ดูเหมือนจะมีเพียง  ร้านคาเฟ่ อเมซอน  เท่านั้นที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยร้านคาเฟ่ อเมซอน ให้บริการเครื่องดื่มกาแฟและชา ตั้งแต่ปี 2545 เริ่มจากการเป็นร้านกาแฟใน PTT Station ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวน 4,552 สาขา แบ่งเป็นสาขาในประเทศไทย 4,159 สาขา เป็นร้านคาเฟ่ อเมซอน ที่จำหน่ายโดยตัวแทนจำหน่าย (Franchisees) จำนวน 3,353 สาขา และมีสาขาในต่างประเทศ 393 สาขา

ส่วนธุรกิจอีกจำนวนไม่น้อยส่อเค้าว่า “มีปัญหาหนักหน่วง” ในระดับที่ชะตากรรมอาจรอย เท็กซัส ชิคเก้นก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น   “ร้านสะดวกซัก otteri” ที่เต็มไปด้วยคู่แข่งมากมายในตลาด และมีข้อมูลยืนยันจากวงใน OR ว่า สถานการณ์อยู่ในขั้น  “ฝืนสู้” เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มการซื้อขายรถยนต์มือสองออนไลน์  “CARSOME” ที่ไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะหลังจากที่ขาใหญ่อย่าง  “CARS 24” บริษัทสตาร์ทอัพระดับ ยูนิคอร์น ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจำหน่ายรถยนต์มือสองชื่อดังประกาศปิดกิจการทุกสาขาทั่วประเทศอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567

ที่ย่ำแย่และน่าเป็นห่วงพอๆ กันก็คือ  “Flash Express”  อีกหนึ่งธุรกิจขนส่งที่ OR เข้าไปลงทุน เนื่องด้วยในปี 2566 ที่ผ่านมา แม้รายได้รวมจะมากถึง 18,511 ล้านบาท แต่กลับขาดทุนปาเข้าถึง 7,093 ล้านบาทเลยทีเดียว

นอกจากนี้ อีกหลายธุรกิจของ OR ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด ไม่ว่าจะเป็น เพิร์ลลี่ ที(Pearly Tea)  ของ OR ให้บริการเครื่องดื่มชานมไข่มุก ปัจจุบันมีจำนวน 97 สาขา ทั่วประเทศ นั้น หากส่องตลาดชานมไข่มุกที่แข่งขันกันดุเดือดยิ่งกว่าร้านไก่ทอด ก็ต้องบอกว่าชื่อชั้นของ Pearly Tea ยังไม่ใช่ผู้นำตลาดที่โดดเด่น

ตลาดชานมไข่มุกในประเทศไทย ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องและใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 749 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.64 หมื่นล้านบาท มีร้านชานมไข่มุกมากกว่า 31,000 ร้านกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งแบรนด์ท้องถิ่นและแบรนด์ต่างประเทศ เช่น Ochaya, Seoulcial Club (Fire Tiger), Gaga, The Alley, Coco Fresh Tea, และ KOI The (โคอิเตะ) เป็นต้น

ถึงแม้ว่าแนวโน้มตลาดชานมไข่มุกในไทยยังคงเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต และมีโอกาสในการขยายตลาดต่อไปในอนาคต แต่ Pearly Tea ที่มีจำนวนสาขาไม่มากนัก ยังต้องเร่งสปีดอีกไม่น้อยหากต้องการขึ้นมายืนอยู่แถวหน้า

เช่นเดียวกันกับ  “Pacamara Coffee Roasters” ซึ่งให้บริการกาแฟ Specialty Coffee ที่มีคุณภาพ เมล็ดจากหลากหลายแหล่งที่มา และสามารถเลือกวิธีชงที่แตกต่างตามความต้องการของผู้บริโภค ปัจจุบันมีจำนวน 24 สาขา ทั่วประเทศ ยังเป็นนิช มาร์เก็ต (Niche Market) เจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะเจาะจง คงไม่ได้ทำกำไรอะไรมากมายนัก

 กลุ่มอาหาร-เครื่องดื่ม มีแต่คาเฟ่ อเมซอน ปังสุด 

ถามว่า OR ดำเนินธุรกิจอะไรบ้าง?

ก็ต้องตอบว่า หลากหลายพอสมควร แบ่งเป็นธุรกิจที่ดำเนินการโดยตรง ได้แก่ Café Amazon,FIT Auto ศูนย์บริการยานยนต์ที่มีทั้งในประเทศและต่างประเทศ,Jiffy,Moo & More หรือที่หลายคนเรียกว่า หมูปิ้งจิฟฟี่,Pearly Tea

ที่เหลือเป็นการดำเนินธุรกิจในลักษณะของการที่ OR เข้าซื้อหุ้น-จับมือกับธุรกิจอื่นที่เป็น non-oil ประกอบด้วย ร้านกาแฟพาคามาร่า(ถือหุ้น) 81%, “คามุ ที” (ถือหุ้น 25%),ร้านโอ้กะจู๋(ถือหุ้น 20%),ร้านอาหารญี่ปุ่นพรีเมียม แบรนด์ โคเอ็น ซูชิบาร์(ถือหุ้น 25%) , เข้าลงทุน 40% ผ่านทาง Modulus Venture ใน บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เจ้าของร้านสะดวกซักอ๊อตเตอริ,แฟลชกรุ๊ป(ถือหุ้น 8.8%)

นอกจากนั้น ก็ยังมีการร่วมมือกับทางร้านอาหารจีนฮั่วเซ่งฮง ต่อยอดเปิดแบรนด์ใหม่คือ ฮั่วเซ่งฮงติ่มซำ เปิดในปั๊มปตท., ลงทุนใน Traveloka หนึ่งในผู้นำแพลตฟอร์มออนไลน์ด้านการจองบริการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านบริษัท PTTOR International Holdings (Singapore) Pte. Ltd. (“SGHoldCo”),เข้าลงทุน “GoWabi” แอปพลิเคชัน จองบริการความสวยความงามผ่านกองทุน “ORZON Ventures”ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัป

รวมทั้งการให้บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด (Modulus) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ OR ถือหุ้น 100% จัดตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) ร่วมกับบริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด (บุญรอดฯ) ซึ่ง Modulus ถือหุ้นในสัดส่วน 50% และบุญรอดฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 50% ของทุนจดทะเบียน, OR ให้ “มอดูลัส เวนเจอร์” (Modulus) บริษัทย่อยของ OR เข้าลงทุน ใน “ดุสิตฟู้ดส์” บริษัทย่อยของ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT ในวงเงินไม่เกิน 299.6 ล้านบาท หรือเกือบ 300 ล้านบาท

ครึ่งแรกของปี 2567 ร้านคาเฟ่ อเมซอน จำหน่ายเครื่องดื่มไปกว่า 201 ล้านแก้ว

found & found  ร้านค้าปลีกด้านสินค้าสุขภาพและความงามที่ OR กำลังให้ความสำคัญ
นอกจากนั้น ยังมีการลงทุนในโพเมโล แพลตฟอร์มด้านฟาสต์แฟชั่น ,การลงทุนในคาร์ซัม แพลตฟอร์มการซื้อขายรถยนต์มือสองออนไลน์, การลงทุนในเฟรชเค็ต แพลตฟอร์มจำหน่ายวัตดิบอาหารครบวงจร, การลงทุนในโปรโตเมท ผู้พัฒนาฮาร์ดแวร์เทคโนโลยีเอไอ, การลงทุนในฮังกรี้ฮับ แฮนกรี สตาร์ทอัปแพลตฟอร์มจองร้านอาหารและโรงแรม, ลงทุนในสตาร์ทอัปด้านอาหารพัฒนาระบบคลาวด์คิทเช่น เป็นต้น

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2567 OR มีรายได้ขายและบริการ 183,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,055 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.4% จากไตรมาสก่อนหน้า ปรับเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยกลุ่มธุรกิจ Mobility เพิ่มขึ้น 2.6% กลุ่มธุรกิจ Lifestyle เพิ่มขึ้น 1.0% จากทั้งธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจค้าปลีกอื่น ๆ กลุ่มธุรกิจ Global ปรับเพิ่มขึ้น 23.2% ตามปริมาณจำหน่ายน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์และกัมพูชา

ส่วนผลการดำเนินการครึ่งแรกของปี 2567 OR มีรายได้ขายและบริการ 361,922 ล้านบาท ลดลง 23,517 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมี EBITDA จำนวน 11,016 ล้านบาท ลดลง 121 ล้านบาท หรือลดลง 1.1% โดยลดลงจากกลุ่มธุรกิจ Mobility

อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจ Lifestyle เพิ่มขึ้นจากทั้งธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจค้าปลีกอื่น ๆ กลุ่มธุรกิจ Global ที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์เป็นหลัก อีกทั้งค่าใช้จ่ายดำเนินงานสุทธิปรับลดลง 6.1%

ในครึ่งแรกของปี 2567 OR มีกำไรสุทธิ จำนวน 6,260 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 528 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.2% คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.52 บาท

 หากจำเพาะเจาะจงลงไปในส่วนธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม ครึ่งแรกของปี 2567 นี้ ทำรายได้ 7,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.2% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่รายได้ส่วนนี้เกือบทั้งหมดมาจากร้านคาเฟ่ อเมซอน ซึ่งครึ่งแรกของปี 2567 จำหน่ายเครื่องดื่มไปกว่า 201 ล้านแก้ว เพิ่มขึ้น 9.2% 

สำหรับปี 2566 ที่ผ่านมา OR มีรายได้รวมในปี 769,224 ล้านบาท เป็นรายได้ที่มาจากธุรกิจ Mobility รวม 717,038 ล้านบาท ลดลง 2.6% จากปี 2565 ส่วนกลุ่ม Lifestyle มูลค่า 22,365 ล้านบาท เติบโต 6.5% และกลุ่มธุรกิจ Global มูลค่า 49,240 ล้านบาท ลดลง 5.6%

สแกนเฉพาะกลุ่มธุรกิจ Lifestyle ในปี 2566 มีรายได้ขายและบริการ 22,365 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.1% จากปี 2565 ที่มีรายได้ 21,082 ล้านบาท ขณะที่ EBITDA ปี 2566 อยู่ที่ 5,677 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% จากปี 2565 อยู่ที่ 5,238 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานปี 2566 อยู่ที่ 3,731 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.3% จากปี 2565 อยู่ที่ 3,321 ล้านบาท

ส่วนรายได้ขายและบริการในธุรกิจค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม ในปี 2566 อยู่ที่ 15,325 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.5% จากปี 2565 ที่อยู่ระดับ 13,993 ล้านบาท

 พุ่งเป้าใหม่บุกธุรกิจสุขภาพและความงาม 

ในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ในกลุ่มธุรกิจ Lifestyle นอกเหนือจากกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ทาง OR เดินหน้าบุกตลาดสุขภาพและความงาม ผ่านการเปิดร้าน  “found & found” ร้านค้าปลีกด้านสินค้าสุขภาพและความงาม ซึ่งมีแผนจะเปิดให้บริการครบ 10 สาขา ภายในกลางปี 2567 และขยายเป็น 500 สาขา ภายในปี 2573 ซึ่งร้าน “found & found” จะตั้งอยู่ในเครือข่ายของสถานีบริการ พีทีที สเตชัน รวมถึงคอมมูนิตี้มอลล์ทั่วประเทศ

ก่อนหน้านี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 OR ประกาศลุยธุรกิจเฮลท์แอนด์เวลเนส ผ่านบริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด บริษัทย่อยที่ OR ถือหุ้น 100% จัดตั้ง  บริษัท โออาร์ เฮลท์ แอนด์ เวลเนส จำกัด หรือ ORHW  ทุนจดทะเบียน 523 ล้านบาท เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567

ซีอีโอ OR วางเป้ามุ่งขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มที่ใส่ใจสุขภาพและความงาม เนื่องจากประเทศไทยเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับเทรนด์ด้านสุขภาพและความงาม กำลังเป็นที่นิยมผู้บริโภคหันมาใส่ใจดูแลตัวเองมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตลาดผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามของไทย มีมูลค่าราว 2.64 แสนล้านบาท และคาดว่าในปี 2567 จะเติบโตขึ้นราว 9.5% โดยข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย ระบุว่า เซ็กเม้นท์ใหญ่สุดและมีการเติบโตมากสุดคือ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือสกินแคร์ ที่มีสัดส่วน 44% ตามมาด้วย แฮร์แคร์ 16.7%, บอดี้แคร์ 13.7%, ออรัลแคร์ 12.3%, เครื่องสำอาง 9.3%, สินค้าสำหรับผู้ชาย 7.5% และน้ำหอม 4.3%

 ณัฐพล ชูจิตารมย์  กรรมการผู้จัดการ บริษัทโออาร์ เฮลท์ แอนด์ เวลเนส จำกัด (ORHW) วางเป้ารุกตลาดสุขภาพและความงามผ่านร้าน “found & found” ร้านค้าปลีกที่วางขายสินค้าด้านสุขภาพและความงามที่หลายหลาย ทั้งเครื่องสำอาง สกินแคร์ อาหารเสริมและวิตามินจากคู่ค้าธุรกิจชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ โดยหนึ่งในพันธมิตรสำคัญของ OR คือ  สุกิ โฮลดิ้งส์  เครือข่ายร้านขายยาและผู้นำด้านแพลตฟอร์มนาโนเทคโนโลยีรายใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น

สุกิ โฮลดิ้งส์ มีบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจหลากหลาย เช่น สุกิ ฟาร์มาซี ซึ่งมีร้านค้ามากกว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น สุกิ เมดิคอล ให้บริการด้านการรักษาพยาบาล

นอกจากนั้น สุกิ โฮลดิ้งส์ ยังมีพันธมิตรเป็นโรงงานผลิตสินค้าประเภทอาหารและยา คือ  บริษัท ฟาร์มา ฟู้ดส์ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด และบริษัท คอสเมด ฟาร์มาซูติคอล จำกัด  โรงงานผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวด้วยเทคโนโลยีไมโครนีดเดิล รวมถึงบริษัท เคียววะ คอสเมติกส์จำกัด ผู้ผลิตสินค้าประเภทเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ซึ่งเป็นผู้ผลิตให้กับแชมพูแบรนด์ T3 เป็นต้น

 หนีความเสี่ยงธุรกิจน้ำมัน เข้าสู่ Virtual Bank  

ไม่เพียงแต่ธุรกิจด้านสุขภาพและความงามเท่านั้น แนวรุกใหม่ของกลุ่ม OR คือ “เวอร์ชวล แบงก์” (Virtual Bank) ซึ่งซีอีโอ OR มองเห็นโอกาสจะนำข้อมูลที่ได้จากการมาใช้บริการของลูกค้า มาประมวลผลเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ จากฐานข้อมูลพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้า รวมทั้งความพร้อมด้านเงินทุน OR จึงพร้อมเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับธนาคารกรุงไทยและเอไอเอส ในการทำธุรกิจ Virtual Bank เพื่อเข้าสู่บริการทางการเงินอย่างเต็มตัว เสริมสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจให้โออาร์

 ผยง ศรีวณิช  กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้ยื่นใบขออนุญาต Virtual Bank กับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 โดยในกลุ่ม ประกอบด้วย  บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) , บริษัท ปตท. (PTT) โดยบริษัท ปตท. นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR)  หลังได้รับใบอนุญาตจะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมกันในนามของกลุ่มเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไป

กลุ่มเอไอเอส โออาร์ และกรุงไทย ชูจุดแข็งในเชิงโครงสร้างของพันธมิตรทั้ง 3 ราย ที่มีความแข็งแกร่ง และตอบโจทย์เป้าประสงค์ของนโยบาย Virtual Bank ที่ต้องการให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยี บริการดิจิทัลและข้อมูล เข้ามาช่วยพัฒนาบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน และช่วยกระตุ้นการแข่งขันในระบบสถาบันการเงิน
 
 เป็นที่น่าจับตาว่าการขยายรุกลงทุนไปทุกทิศทางของ OR เพื่อลดความเสี่ยงในธุรกิจน้ำมันที่กำลังเป็นเทรนด์ขาลง จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่มาเร็ว และการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จะเติบโตเบ่งบาน หรือว่าจะมีบทสุดท้ายเฉกเช่น Texas Chicken 




กำลังโหลดความคิดเห็น