xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ครม. “มู มินิฮาร์ท”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นอันว่า เข้าสู่กระบวนการเป็น “นายกรัฐมนตรี” เต็มตัวแล้ว สำหรับ “นายกฯ อิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร” หลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา พร้อมกับการเฝ้าจับตาของ “ประชาชน” ตลอดรวมถึง “ฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น” ว่า จะยืนระยะอยู่ได้นานสักแค่ไหน

อย่างไรก็ดี นอกเหนือ “ฉายา” อย่างเป็นทางการของรัฐบาลคือ “ครม.สืบสันดาน” แล้ว เวลานี้ยังมีอย่างน้อยอีก 2 ฉายาที่มาแรงและเป็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ดังอึงมี่ไม่แพ้กันคือ “ครม.มู” และ “ครม.มินิฮาร์ท”

“ครม.มินิฮาร์ท” นั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ ซึ่งถือเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกหลังจากเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนตามรัฐธรรมนูญ เมื่อ “นายกฯ อิ๊งค์” ชักชวนให้บรรดารัฐมนตรี ทำมือเป็นรูป “มินิฮาร์ท” ระหว่างการถ่ายรูปหมู่คณะรัฐมนตรีที่ด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล และก็มีรัฐมนตรีหลายคนทำตาม

“ขอภาพมินิฮาร์ทสักภาพได้ไหมคะ”

ทว่า เจ้าหน้าที่กองพิธีการทำเนียบรัฐบาล ถึงกับร้องห้ามว่า “ชุดขาวไม่ค่ะ ชุดขาวไม่” นายกรัฐมนตรีแพทองธารจึงรีบเอามือลง และหยุดชะงักไปชั่วครู่ ก่อนพยักหน้า และพาคณะรัฐมนตรีลุกขึ้น แล้วทยอยเดินออกจากสนามหญ้า ไปยังตึกบัญชาการ 1 เพื่อเตรียมเข้าประชุม ครม.นัดพิเศษต่อไป
เรื่องที่หลายคนมองว่า ไม่เป็นเรื่องก็กลายเป็นเรื่องขึ้นมาเมื่อข่าวแพร่สะพัดออกไปอย่างรวดเร็ว ด้วยตกเป็นเป้าถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
ฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้นก็บอกในทำนองว่า “ไม่เหมาะสม ไม่รู้จักกาลเทศะ”
ขณะที่ฝ่ายเชียร์ก็บอกว่า ไม่เห็นจะมีอะไร

แต่สุดท้ายก็นำไปสู่การที่ “นักร้องตัวพ่อ” อย่าง “นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” สมาชิกพรรคพลังประชารัฐของ “ลุงป้อม” ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตรวจสอบว่ามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมฯ ข้อ 17 ข้อ 21 ประกอบข้อ 27 วรรคสอง หรือไม่ และต้องส่งศาลฎีกาพิพากษาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) หรือไม่ และจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไปตามมาตรา 235 วรรคสี่ หรือไม่

ส่วน “ครม.มู” ก็มาจากการที่ “นายกฯ อิ๊งค์” มีการปรับเปลี่ยนฤกษ์การเข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบรัฐบาล จากเดิมมีกำหนดการวันที่ 16 กันยายน 2567 ไปเป็นวันที่ 13 กันยายน 2567 เวลา 07.30 น.

ทั้งนี้ วันดังกล่าวตามโหราศาสตร์ไทย ถือเป็นวันโชคดีที่สุด (ดิถีสิทธิโชค) ขณะที่ทางโหราศาสตร์จีน ถือเป็นวันมังกร

“ตามตำราโหราศาสตร์จีน วันศุกร์ที่ 13 กันยายน เป็นวันมังกร และในเวลา 07.30 น. ถือเป็นฤกษ์มังกร และปีนี้ก็เป็นปีมังกร แต่มองว่า เดือนนี้อาจจะไม่ดีสำหรับผู้หญิง เข้าใจว่าคงจะมีซินแสดูฤกษ์ดูยามให้นายกรัฐมนตรีมาแล้ว จึงเลือกใช้ฤกษ์มังกรนี้ ส่วนตัวมองว่า เป็นฤกษ์ดี ใช้ได้ แต่ยังไม่ครบ ต้องมีเรื่องฮวงจุ้ยมาประกอบด้วย แต่ที่สำคัญปีนี้ นางสาวแพทองธารอายุเข้าเคราะห์เดือนนี้ จึงเป็นเดือนที่วุ่นวาย และจะพ้นเคราะห์ในเดือนพฤศจิกายน ประกอบกับนายทักษิณ ก็ดวงเข้าเคราะห์ด้วย จึงทำให้เหนื่อยและวุ่นวายหน่อย” “นายภาณุวัฒน์ พันธุ์วิชาติกุล” ซินแสชื่อดัง ในฐานะประธานสถาบันศาสตร์แห่งชีวิต และอดีต สว.ให้ความเห็น

ส่วนชุดโต๊ะทำงานได้นำมาตั้งที่ห้องทำงานบนตึกไทยคู่ฟ้าเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน และก็มี “ความมู” ปรากฏอยู่เช่นกัน โดย “โต๊ะของนายกฯ อิ๊งค์” ตั้งหันหน้าไปยังตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นเปลี่ยนมุมตั้งโต๊ะทำงานใหม่ จากเดิมในสมัยนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ตั้งโต๊ะทำงานหันหน้าไปยังตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล รวมถึงได้มีการติดผ้าม่านสีงาช้าง ซึ่งเป็นผ้าม่านเดิม แต่ได้มีการถอดออกในสมัยนายเศรษฐาอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนป้ายที่จอดรถของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและคณะทำงานต่างๆ โดยจะเปลี่ยนพื้นป้ายจากเดิมสีขาว เป็นสีเขียว รวมถึงเปลี่ยนสีตัวอักษรจากเดิมสีน้ำเงิน เปลี่ยนเป็นสีขาวด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นจะว่าไปก็ไม่แปลกอะไรนักสำหรับ “ความมู” ที่อยู่คู่กับนักการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่เฉพาะกับ “นายกฯ อิ๊งค์” เท่านั้น แม้แต่ “นายกฯ คนอื่นๆ” ก็ล้วนแล้วแต่ “มู” ไม่แพ้กัน

ยกตัวอย่างเช่น สมัย “นายกฯ ตู่” ที่มีการตั้งอ่างบัวตามจุดต่างๆ เสริมสิริมงคล หรือการนำองค์นรสิงห์มาตั้งบนตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย จนมารัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” จึงได้นำออกไป

สมัย “นายกฯปู-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มีการย้ายศาลพระภูมิและศาลตายาย ที่ทักษิณ ชินวัตร พี่ชาย เคยย้ายไปไว้ในมุมอับ ที่เต็มไปด้วยมลพิษ เพราะติดกับถนนพิษณุโลก ติดหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่และใกล้กับบ่อบำบัดน้ำเสียโดยทำพิธีอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ออกมาไว้ให้ในที่โล่ง ด้วยการสร้างศาลพระภูมิและศาลตายายใหม่ให้เด่นตระหง่านด้านหน้าฝั่งขวาของตึกไทยคู่ฟ้า ปรับย้ายต้นไม้ เช่น ต้นปาล์มหมี ไปอยู่บริเวณสนามหญ้าข้างตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อความเหมาะสมสวยงาม และซ่อมแซมบริเวณทางเดินหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ที่ชำรุดแตกหัก พร้อมลงต้นไม้ในกระถางไว้บริเวณดังกล่าว คือต้นชาฮกเกี้ยน ซึ่งเป็นต้นไม้ประเภทชาดัดใบ โดยดัดเป็นรูปช้าง เพราะเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง

ด้านหน้าสนามหญ้า ตึกไทยคู่ฟ้า มีการปรับองศาของปืนใหญ่ ซึ่งมีอยู่ 2 กระบอก ทางด้านข้างที่จะหันหน้ายิงเข้ามาในบ้านของตัวเอง ซึ่งถือเป็นหลักความคิดตามหลักยุทธวิธี จะต้องยิงออกนอกบ้าน

สมัย “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เคยมีการนำลูกแก้วมาวางในจุดต่างๆ ในตึกไทยคู่ฟ้า นำไม้บรรทัดสีทองมาติดเหนือประตูทางเข้าตึกไทยคู่ฟ้า และยังนำเหรียญแบบจีน วางลบเหลี่ยมมุมที่จะทิ่มแทงรัฐบาล

ขณะเดียวกันให้สวนนงนุชพัทยา นำต้นปาล์มหลายชนิด 70 ต้นเข้ามาปลูก โดยเฉพาะ ปาล์มยะวา จำนวน 13 ต้น ที่ลักษณะของใบเป็นเหมือนใบพัดที่คอยพัดสิ่งชั่วร้ายให้ออกจากทำเนียบฯ

ส่วนสมัย “นายเศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรีก็ถือฤกษ์ยามไม่ต่างกัน การสั่งปรับปรุงห้องบนตึกไทยคู่ฟ้าเพื่อใช้เป็นห้องนอน ก็ยึดฤกษ์ยาม ทำตามที่ซินแสแนะนำ เป็นต้น

หรือถ้าหากย้อนกลับไปไกลกว่านั้น สมัยรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ก็มีปรับภูมิทัศน์หลายครั้ง ซึ่งไม่อาจมองเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากต้องการ “แก้ฮวงจุ้ย” เช่น การปรับเปลี่ยนทางเข้า รื้อต้นไม้เก่าออก นำไม้ดอกทางภาคเหนือมาปลูกแทน ทุบทำลายกำแพงคอนกรีตรอบทำเนียบรัฐบาลที่เป็นกำแพงทึบ ให้เป็นรั้วเหล็กดัด ที่มีความโปร่ง มีรูระบาย เพื่อให้คนภายนอกมองเห็นความสวยงาม รวมทั้งยังย้ายศาลพระภูมิและศาลตายายที่ตั้งอยู่บริเวณรั้วหน้าทำเนียบฯ กว่า 50 ปีออก แล้วย้ายไปไว้ข้างตึกสันติไมตรีหลังนอกแทน

ขณะที่ในสมัยรัฐบาล “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” มีการปรับเปลี่ยนนำอ่างน้ำพุมาวางไว้หน้าห้องสีม่วงในตึกไทยคู่ฟ้า เอาต้นโมกและโกสนมาตั้งเรียงในตึก ติดหมุดสะท้อนแสงหน้าบันไดทางขึ้นตึก มีการนำรูปปั้นพระสังกัจจายน์และปี่เซียะตั้งบนหลังคาตึกไทยคู่ฟ้าตามความเชื่อแบบจีน

หากย้อนไปตั้งแต่สมัยรัฐบาล “ชวน หลีกภัย” ที่นิยมนำต้นไม้สูง เช่น ต้นปาล์ม มาปลูก รัฐบาล “บรรหาร ศิลปะอาชา” ใช้ต้นข่อยทรงพุ่ม ในความหมายจะทำให้เกิดความมั่นคงช่วยป้องกันศัตรูหรือภยันตรายต่างๆ จากภายนอกได้

เรียกว่า “มู” กันแบบไม่มีข้อยกเว้นกันสักรัฐบาล

แน่นอน “มู” แล้วช่วยได้หรือไม่ เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็เห็นว่า แม้จะ “มู” เพียงใด แต่ “อดีตนายกรัฐมนตรี” หลายคนก็ “มีอันเป็นไป” ก่อนครบกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง หรือขณะดำรงตำแหน่งก็เผชิญกับปัญหามารุมเร้าไม่ได้หยุดไม่ได้หย่อน
ทว่า คงช่วยในเรื่อง “จิตใจ” บ้างไม่มากก็น้อย


กำลังโหลดความคิดเห็น