เศรษฐกิจของยุโรปขณะนี้กำลังอ่อนแออย่างหนัก ทั้งๆ ที่ควรจะได้ฟื้นขึ้นหลังการระบาดของโควิดมา 3 ปีแล้ว
ส่วนสำคัญคือต้นทุนพลังงาน โดยเฉพาะแก๊สธรรมชาติที่ควรจะมีใช้อย่างเหลือเฟือและราคาถูกจากแหล่งรัสเซีย เพราะได้มีการสร้างท่อส่งแก๊สนอร์ดสตรีมถึง 2 ท่อยักษ์ที่วางอยู่ก้นทะเลบอลติก เพียงแค่เปิดวาล์วก็สามารถใช้แก๊สนี้ได้ทันทีอย่างง่ายดาย ทั้งตามโรงงานต่างๆ และบ้านเรือน
แต่เมื่อพี่ใหญ่สุดขององค์กรนาโตคือ สหรัฐฯ ได้หว่านล้อมและลงมติบังคับให้เหล่าประเทศสมาชิกนาโต และรวมถึงสมาชิกสหภาพยุโรป (รวมทั้งสมาชิกจี 7) ต้องลงโทษรัสเซีย (ที่บุกยูเครนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2022) ด้วยการคว่ำบาตรไม่ซื้อพลังงานจากรัสเซีย ทำให้ราคาแก๊สทั่วยุโรปแพงขึ้นหลายเท่าตัว ขนาดปลายฤดูหนาวปี 2022 รมต.คลังของเยอรมนีออกมาขอร้องและทำเป็นตัวอย่างว่าต้องช่วยกันประหยัดพลังงาน โดยการใช้เวลาอาบน้ำอุ่นให้สั้นมากแค่ 5 นาทีเท่านั้น
ไม่เพียงคว่ำบาตรไม่ซื้อพลังงานจากรัสเซีย แต่ยังต้องคว่ำบาตรจากการซื้อสินค้าพวกธัญพืช (ข้าวสาลี, ทั้งอาหารสัตว์, อาหารพืชพวกปุ๋ยด้วย) จากรัสเซียด้วย... ทำเอาราคาอาหารคน, อาหารพืช, อาหารสัตว์ในยุโรปถีบตัวขึ้นสูงมาก จนคนเยอรมัน (และแม้แต่ที่อังกฤษที่ไม่ได้อยู่ในสหภาพยุโรป) และหลายแห่งในสหภาพยุโรป ต้องปรับตัวด้วยการลดปริมาณอาหารในแต่ละวัน เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก โดยเฉพาะพวกมีรายได้น้อยจะยิ่งถึงกับอดมื้อกินมื้อทีเดียว
ต่อมา แม้จะมีการเจรจาผ่อนปรนให้ตุรเคียร่วมกับยูเอ็น เป็นตัวกลางเพื่อให้เรือบรรทุกธัญพืชและปุ๋ยออกมาจากรัสเซียและยูเครนได้ และทำให้ราคาอาหารลดลงจากจุดสูงสุด...แต่พลังงานก็ยังเป็นหัวใจที่ทำให้ราคาอาหารไม่สามารถลดลงมาได้เท่าก่อนรัสเซียบุกยูเครน
7 เดือนหลังรัสเซียบุกยูเครน ปรากฏว่าท่อส่งแก๊สนอร์ดสตรีมจากรัสเซียทั้งสองท่อมีการก่อวินาศกรรม ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมท่อทั้งสองถึงโดนระเบิดโดยกลุ่มนิรนามที่ไม่มีใครออกมายอมรับว่าเป็นฝีมือของตน
เพราะการปิดวาล์วเอาไว้จากฝั่งรัสเซียก็เพียงพอที่จะไม่ส่งแก๊สมายุโรป ซึ่งในอนาคตถ้าเหตุการณ์กลับเป็นปกติ ท่อทั้งสองก็สามารถนำมาส่งแก๊สได้
ท่อทั้งสองนี้ลงทุนร่วมระหว่างเยอรมนีและรัสเซีย ซึ่งเกิดขึ้นสมัยนางอังเกลา แมร์เคิล เป็นนายกฯ ของเยอรมนี และการที่เธอตัดสินใจร่วมลงทุนกับรัสเซียก็เพื่อเยอรมนีจะได้พลังงานราคาถูก เพิ่มขีดแข่งขันแก่สินค้าเยอรมนีในตลาดโลก
แปลกมากที่หลังท่อถูกวินาศกรรมกลับไม่มีประเทศในทะเลบอลติก รวมทั้งเยอรมนีเอง ก็ไม่มีการสอบสวนหาสาเหตุว่าทำไมท่อถูกวางระเบิด ซึ่งนักนสพ.อาวุโสนายSeymour Hersh จากนิวยอร์กไทมส์ (และเคยได้รับรางวัลพูลิตเซอร์) ได้ออกมาเปิดเผยฟันธงเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ปี 2023 ว่า การวินาศกรรมนี้อยู่ภายใต้การอำนวยการของซีไอเอ เพราะมีหลักฐานว่า ปธน.ไบเดนเคยกล่าวเตือนก่อนรัสเซียบุกยูเครนว่า ถ้าบุกละก็ระวังท่อแก๊สทั้งสองอาจถูกระเบิดได้ รวมทั้งปธน.โอบามาก็ได้พยายามคัดค้านไม่ให้นายกฯ แมร์เคิลไปยอมร่วมทุนกับรัสเซียเพื่อสร้างท่อแก๊สนี้ เพราะเยอรมนีจะกลายเป็นต้องพึ่งจมูกรัสเซียในการหายใจ และทำให้เยอรมนีไม่เป็นอิสระเมื่อต้องใช้แก๊สจากรัสเซียเพิ่มมากขึ้น
เดือนกันยายนนี้ก็ครบรอบ 2 ปีพอดีกับการวินาศกรรมท่อแก๊สนี้ ซึ่งทันทีที่ท่อแก๊สเกิดระเบิดเจาะเป็นรู ฝ่ายตะวันตกได้ชี้นิ้วไปที่รัสเซียว่าเป็นผู้ก่อวินาศกรรมเพื่อลงโทษยุโรปที่มาคว่ำบาตรไม่ซื้อแก๊ส
นายซีมัวร์ เฮิร์ช ได้วิเคราะห์ว่า เหตุผลที่รัสเซียจะระเบิดท่อแก๊สของตนนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะแค่ปิดวาล์วก็พอแล้ว... การเก็บรักษาท่อ (ซึ่งลงทุนไปมหาศาล) เอาไว้ก็ไม่เห็นเสียหาย และอาจนำมาใช้ในอนาคตได้ ซึ่งรัสเซียกลับเป็นฝ่ายเสียประโยชน์จากการวินาศกรรมนี้ต่างหาก
มีการพยายามสอบสวนถึงการวินาศกรรมครั้งนี้ถึง 3 ประเทศคือ สวีเดน, เดนมาร์ก และเยอรมนี โดยสวีเดนและเดนมาร์กก็เพราะอยู่ในเขตน่านน้ำของตน แต่ทางสวีเดนก็ได้ประกาศเลิกการสอบสวนในเดือนกุมภาพันธ์ปี 23 โดยอ้างว่า อยู่นอกเขตอำนาจศาล ซึ่งนายเฮิร์ช ฟันธงว่า เป็นการตัดสินใจทางการเมืองระหว่างประเทศมากกว่า
ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นายวิกเตอร์ ออร์บาน นายกฯ ฮังการี ที่เป็นมหามิตรกับปูติน ได้ออกมาพูดถึงวินาศกรรมครั้งนี้ว่า เป็น “การก่อการร้ายภายใต้การควบคุมดำเนินการของสหรัฐฯ นั่นเอง” เพื่อขัดขวางส่งแก๊สจากรัสเซียเข้าเยอรมนี (และส่งต่อไปยังยุโรป) อย่างถาวรตลอดไป
และมีรายงานเพิ่งออกมาจากนสพ.วอลล์สตรีท ด้วยว่า ปฏิบัติการวินาศกรรมครั้งนี้ ใช้เรือลำเล็ก 1 ลำมีคน 6 คนดำเนินการ ซึ่งประกอบด้วยนักประดาน้ำและทหารจำนวนหนึ่ง ภายใต้การสั่งการของผบ.ทบ.ของยูเครน (Zaluzhnyi) และปธน.เซเลนสกี้ของยูเครนเป็นผู้อนุมัติแผนนี้
ผบ.ทบ.ผู้นี้ ถูกปธน.เซเลนสกี้ ย้ายไปเป็นทูตยูเครนประจำลอนดอน โดยตั้งผบ.ทบ.คนใหม่มาแทน
สำหรับเยอรมนีได้มีการสอบสวนจนอัยการเพิ่งออกหมายจับกลุ่มผู้กระทำการทั้ง 6 ซึ่งหลังปฏิบัติการได้หลบไปอยู่โปแลนด์ ก่อนเดินทางกลับไปยังยูเครน
นับเป็นความย้อนแย้งสำหรับหมายจับส่งไปที่ยูเครน เพราะรัฐบาลเยอรมนียังยืนกรานให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธแก่รัฐบาลยูเครน (เพื่อสู้กับรัสเซีย) แต่อีกด้านก็ต้องการตัวผู้ที่ทำลายท่อแก๊ส ซึ่งเป็นการปิดทางในอนาคตที่รัสเซียจะส่งแก๊สมาให้เยอรมนี
แต่แน่นอนว่า ต้นทุนพลังงานของเยอรมนีที่สูงขึ้นมาก (ต้องไปหาแหล่งพลังงานแก๊สจากที่อื่นๆ ที่อยู่ไกลกว่า ทั้งจากนอร์เวย์ หรือสหรัฐฯ หรือจากอ่าวเปอร์เซีย) บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของเยอรมนีและยุโรป ซึ่งหมายถึงการเติบโตรุ่งเรืองมีการกินดีอยู่ดีของเยอรมนีด้วย
และถ้าย้อนมาดูไทยบ้าง ต้นทุนพลังงานที่แพงหูฉี่กว่าเพื่อนบ้าน (ทั้งๆ ที่เราส่งออกน้ำมัน) เพราะการผูกขาดและความร่วมสมคบระหว่างภาคธุรกิจพลังงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำให้เรามีต้นทุนพลังงานไฟฟ้าแพงจนกระทบกับขีดแข่งขัน ดังเช่นที่เยอรมนีกำลังเผชิญอยู่ขณะนี้