ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้ “ครม.อิ๊งค์ 1” ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แต่ดูเหมือนว่า จะมี “ซูเปอร์เอฟเฟ็กต์” ที่สั่นสะเทือน “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่” ที่ชื่อ “เดชอิศม์ ขาวทอง” อยู่ไม่น้อย จนเจ้าตัวต้องออกมาชี้แจงแถลงไขเป็นฉากๆ ว่า มิได้มีสายสัมพันธ์อันใดกับ “นายโทนี่ เตียว” ผู้ต้องหาคดีฟอกเงินและทำธุรกิจผิดกฎหมายทั้งในประเทศจีนและมาเลเซีย
กระทั่งคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารถึงกับต้องไปใช้ค้นหาข้อมูลกันยกใหญ่ว่า “โทนี่ เตียว” คือใคร เหตุไฉน “สส.สงขลา” และ “เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์” ผู้นี้ถึงกับไม่สามารถนิ่งเฉยเลยผ่านได้
หรือที่หลายคนใช้คำว่า “เต้นเป็นเจ้าเข้า”
นายเดชอิศม์อธิบายว่า นายโทนี่ เตียว เป็นนักธุรกิจใหญ่มาจากมาเลเซีย ลงทุนทำธุรกิจที่จังหวัดสงขลากว่าพันล้านบาท ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก็ไปอำนวยความสะดวก ตนเองในฐานะคนสงขลาจึงมีหน้าที่อำนวยความสะดวก แต่ต้องทำธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ทำผิดกฎหมายไทย
ทั้งนี้ ส่วนตัวรู้จักกับนายโทนี่ เตียวเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ต่อมานายโทนี่ เตียวได้อุปสมบท ในฐานะคนรู้จักกันจึงไปช่วยอำนวยความสะดวก แต่เมื่อทราบว่านายโทนี่ เตียว ทำผิดกฎหมายที่ประเทศไทยจะต้องถูกจับกุม และรับโทษที่ประเทศไทยก่อน ไม่สามารถส่งนักโทษไปที่ประเทศจีน จึงไม่ได้เกี่ยวอะไรกันเลย
นั่นคือคำอธิบายของนายเดชอิศม์ พร้อมโยงใยไปถึง “สื่อใหญ่” ค่ายหนึ่งว่า มีกระบวนการอยู่เบื้องหลัง เพราะจ้องมาที่ตนเองและนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพิเศษ
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “นายโทนี่ เตียว” ในแง่มุมี่น่าสนใจไม่น้อย
กล่าวคือ ย้อนกลับไปเมื่อไม่นานมานี้ รายงานข่าวแจ้งว่า กองการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (FADRTP) เข้ารับตัวนายเตียว ฮุยฮวด หรือเสี่ยวจาง ชาวมาเลเซีย เจ้าของอาณาจักรเอ็มบีไอกรุ๊ป (MBI Group) ผู้ต้องหาตามหมายแดงของตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) ข้อหาฟอกเงิน นำตัวส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้กับประเทศจีน ตามคำสั่งอัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมา
โดยสถานทูตจีนประจำประเทศไทย จัดเจ้าหน้าที่มารับตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่งห้องควบคุมชั่วคราวที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก่อนนำตัวขึ้นเครื่องบินสายการบินเซี่ยงไฮ้แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ FM 834 เมื่อเวลา 17.34 น. ปลายทางนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ท่ามกลางการอารักขาอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ทางการไทยและจีน
แม้จะมีสื่อมวลชนไทยอย่างหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และสื่อต่างประเทศอย่างเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (SCMP) ของฮ่องกงรายงานตรงกัน แต่เมื่อสำนักข่าวเบนาร์นิวส์ของสหรัฐฯ สอบถาม พล.ต.ต.สุระพันธุ์ ไทยประเสริฐ ผู้บังคับการกองการต่างประเทศ กลับได้รับคำตอบว่า “กองการต่างประเทศ ไม่เคยมีใครเปิดเผย และผมก็ไม่มีหน้าที่ให้ข่าวด้วย”
แต่เมื่อวันที่ 28 ส.ค. เว็บไซต์ไชน่าเดลี่ (China Daily) ระบุในตอนหนึ่งว่า กระทรวงความมั่นคงสาธารณะ (The Ministry of Public Security) ได้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนามสกุลจาง (Zhang) ซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นผู้จัดหาและนำขบวนการแชร์ลูกโซ่จากประเทศไทยกลับประเทศจีน แม้ในข่าวไม่ระบุวันที่ส่งตัวอย่างชัดเจน แต่ก็เป็นที่แน่นอนว่าได้กลับไปรับโทษในประเทศจีนแล้ว
มีรายงานว่า ขั้นตอนรับตัวผู้ต้องหาจากเรือนจำนำส่งประเทศจีน กระทรวงการต่างประเทศของไทย มีคำสั่งกำชับเรื่องให้ข่าวผู้ต้องหา จึงไม่ปรากฎเป็นข่าวแพร่หลายทั้งในประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย และสื่อต่างประเทศ
สำหรับรายละเอียดของคดีอันนำไปสู่การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปจีนก็เพราะชาวเมืองเทียนจินกับมาเก๊า 400-500 คน ได้รับความเดือดร้อนจากการร่วมลงทุน เสียหายนับพันล้านบาท ซึ่งประเทศจีนออกหมายจับเมื่อปี 2563 มีอายุความ 15 ปี
ลักษณะการกระทำความผิดก็คือ บริษัท เอ็มบีไอ อินเตอร์เนชันแนล โฮลดิ้ง ในประเทศจีน ได้ออกแพลตฟอร์มชื่อ NSC ชวนคนจีนมาลงทุนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ แบ่งสมาชิกออกเป็น 8 ระดับ ใช้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรเป็นตัวล่อ และจัดทัวร์พาผู้ร่วมลงทุนจากจีนไปท่องเที่ยวในอาณาจักรของเครือบริษัทในประเทศต่างๆ
บริษัทแม่ เอ็มบีไอ อินเตอร์เนชันแนล โฮลดิ้ง ทำธุรกิจโดยเน้นการชวนคนเข้ามาร่วมลงทุนกับการสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่แบบครบวงจร ใช้ที่ดินนับร้อยนับพันไร่ แต่หลังจากบริษัทแม่ในประเทศมาเลเซียถูกอายัดทรัพย์ ทำให้ไม่มีเงินที่จะเอาไปต่อเงิน จึงเกิดการฟ้องร้องขึ้นมา นำมาสู่การออกหมายจับแดงของอินเตอร์โพล
นอกจากนี้ ยังถูกหมายจับประเทศมาเลเซียพร้อมถูกอายัดทรัพย์สินตรวจสอบข้อหาทำธุรกิจแชร์ลูกโซ่ จากการขายหุ้นธุรกิจในเครือเอ็มบีไอกรุ๊ปให้กับประชาชนในมาเลเซีย
เมื่อธุรกิจในประเทศมาเลเซียและในประเทศจีนไม่สามารถเดินต่อไปได้ นายโทนี่ เตียวก็ได้ย้ายเข้ามาทำมาหากินในประเทศไทยนานร่วม 10 ปี เป็นเจ้าของอาณาจักรเอ็มบีไอกรุ๊ป มีบริษัทในเครือประกอบกิจการโรงแรม สถานบันเทิง สวนสนุก ตลาด ธุรกิจก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และเฟอร์นิเจอร์ รวมมูลค่านับหมื่นล้านบาท ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษบ้านด่านนอก ต.สำนักขาม พื้นที่กว่า 100 ไร่ สร้างและซื้อกิจการโรงแรมระดับ 5 ดาว 6 โรงแรม และสถานบันเทิงต่างๆกว่า 10 แห่ง รวมทั้งสร้างพระพิฆเนศองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยสูงกว่า 59 เมตร มูลค่า 50 ล้านบาท และสร้างพระพรหมประดับด้วยอัญมณีมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท ให้ประชาชนชาวไทยและนักท่องเที่ยวสักการะบูชาที่เทวสถานพระพิฆเนศบ้านด่านนอก
ทั้งนี้ มีข้อมูลจาก “สำนักข่าวอิศรา” รายงานเอาไว้ว่า ‘เอ็มบีไอกรุ๊ป’ เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย ครั้งแรกปี 2545 กระทั่งปัจจุบันมีทั้งสิ้น 15 บริษัท แบ่งเป็นใน อ.สะเดา และ อ.นาทวี จ.สงขลา 14 บริษัท และกรุงเทพฯ 1 บริษัท ได้แก่
1.บริษัท บิลเลี่ยนคอนโด จำกัด 2.บริษัท จีไนน์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด 3.บริษัท เอ็มวัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด 4.บริษัท แปซิฟิค เน็ต จำกัด 5.บริษัท เค.เอ.ดับเบิลยู จำกัด 6.บริษัท รีแล็กซ์เรสซิเด้นท์ จำกัด 7.บริษัท เอ็มบีไอ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 8.บริษัท ฮั่วหลีรุ่งเรือง จำกัด 9.บริษัท เอ็มมอลล์ โอทูโอ (ประเทศไทย) จำกัด 10.บริษัท เอ็ม สปา ด่านนอก จำกัด 11.บริษัท เอ็มบีไอ พาวิเลี่ยน แมนเนจเม้นท์ จำกัด 12.บริษัท ด่านนอก ทีค จำกัด 13.บริษัท เอ็มบีไอ เรสซิเด้นท์แมนเนจเม้นท์ จำกัด 14.บริษัท เอ็ม คอนโดเรียลลิตี้ จำกัด 15.บริษัท เซาท์เทิร์น เอเซีย จำกัด
ทั้ง 15 บริษัทฯ รวมทุนจดทะเบียน 662.5 ล้านบาท โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าธุรกิจที่จดทะเบียนก่อนช่วงปี 45-56 มีผลประกอบการขาดทุน กระนั้น ‘เอ็มบีไอกรุ๊ป’ สามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใหม่ในช่วงปี 2558 ไล่เลี่ยกันถึง 8 บริษัท
ที่ต้องขีดเส้นใต้ก็คือ นายโทนี่ เตียว รู้จักนักการเมืองแทบทุกคนในภาคใต้ ได้เชื่อมสายสัมพันธ์ไปยังผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะคนของพรรคประชาธิปัตย์ อย่างนายเดชอิศม์ ขาวทอง ผู้ที่เติบโตมากับธุรกิจการค้าชายแดน ดังปรากฏภาพเป็นหลักฐานว่า เป็นเจ้าภาพงานบวชให้
นายเดชอิศม์เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนท้องถิ่นไว้ครั้งหนึ่งว่า ภายหลังได้สนิทสนมกับนายทุนเจ้าของอาณาจักรเอ็มบีไอมูลค่าหลายพันล้านที่ด่านนอก อ.สะเดา จ.สงขลา เขายังได้ชวนให้ “โทนี่ เตียว” ร่วมหุ้นในธุรกิจสนามวัวชนใหญ่สุดของภาคใต้ด้วย โดยเขาออกสถานที่ ส่วนฝ่ายนักธุรกิจใหญ่มาเลย์ใส่เงินลงทุน
หลังนายโทนี่ เตียว ถูกจับกุม วันที่ 2 ส.ค. 2565 นายเดชอิศม์ให้สัมภาษณ์กับเพจสงขลาโฟกัส ออกมาปกป้องว่า เอ็มบีไอกรุ๊ปเข้ามาลงทุนในไทยอย่างถูกต้อง ต้องอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนต่างชาติ เขาเป็นนักบุญ และทำบุญกับวัดต่างๆ ในจังหวัดสงขลาจำนวนมาก ยืนยันว่าไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจ ท่อน้ำเลี้ยงไม่มีสักบาทเดียว และไม่เคยได้รับเงินสนับสนุน
และที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ เป็นที่รับรู้ว่า ก่อนหน้านี้นายเดชอิศม์มีความสัมพันธ์อันดีกับ “บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล” เพราะนอกจากจะมีพื้นเพเป็นคนสงขลาด้วยกันแล้ว หน้าที่การงานก็ทำให้ติดต่อใกล้ชิดกันมานาน แต่นับตั้งแต่ต้นปี 2565 ดูเหมือนว่า พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ จะคอยตามล้างตามเช็ด นายเดชอิศม์แบบไม่ยอมให้มีช่องโหว่ ที่เห็นกันชัดๆ คือ คดีบุกรุกทำลายโบราณสถานเขาแดงและเขาน้อย จ.สงขลา ที่ผู้ต้องหาหลายคนคือ ญาติสนิทชิดเชื้อกับนายเดชอิศม์
ต้องไม่ลืมที่มีข่าวร่ำลือกันว่า นายเดชอิศม์สมัยยังไม่เป็น “บิ๊กเนม” เคยไปขอพึ่งอำนาจบารมี “ลุงหยุม” แต่ภายหลังหันไปยืนฝั่งตรงข้ามแล้วประกาศเดินหน้าปะทะนับตั้งแต่ในการเลือกตั้งใหญ่ในปี 2562 เป็นต้นมา
ก่อนหน้านี้ นายเดชอิศม์ เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่น เช่น สมาชิกสภาจังหวัดสงขลา เขตอำเภอรัตภูมิ และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา โดยสังกัดพรรคไทยรักไทยระหว่างปี 2542 – 2550
กระทั่งในปัจจุบัน นายเดชอิศม์มีความก้าวหน้าในทางการเมือง โดยเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และก้าวขึ้นสู่เก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเมื่อถูกลากให้ไปพัวพันกับผู้ต้องหารายสำคัญอย่าง “โทนี่ เตียว” จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมถึงต้องเปิดหน้าออกมาอธิบายและปฏิเสธความเกี่ยวข้องแบบ “เต้นเป็นเจ้าเข้า” ในครั้งนี้