คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงความโดดเด่นประการแรกในพัฒนาการทางการเมืองการปกครองของสวีเดน นั่นคือ สวีเดนเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่ชาวนาไม่เคยตกเป็นทาสติดที่ดิน (serfdom) ชาวนาสวีเดนจะเป็นชาวนาเสรีมาโดยตลอด ในสังคมสวีเดนยุคไวกิ้งมีลักษณะของการเป็น “ชุมชนชาวนาที่มีการจัดองค์กรแบบหลวมๆ”
ภายใต้สังคมดังกล่าวนี้ ถึงแม้ว่าจะมีชนชั้นสามชนชั้น อันได้แก่ กษัตริย์หรือหัวหน้าเผ่าในเขตปกครองเล็กๆในท้องถิ่น (jarl) ชนชั้นระดับกลางอันได้แก่ หัวหน้าครัวเรือน และชนชั้นต่ำสุดคือ ทาส แต่ความแตกต่างเหลื่อมล้ำภายในเผ่าหรืออาณาจักรเล็กๆ นี้ จะยังมีไม่มากนักและไม่ชัดเจนตายตัวและยังสามารถมีการเลื่อนขึ้นและลงทางช่วงชั้นได้
สวีเดนในช่วงก่อนศตวรรษที่สิบเอ็ด จึงประกอบไปด้วยเผ่าต่างๆ (chiefdoms) และอาณาจักรเล็กๆ (petty kingdoms) ที่มีผู้ปกครองที่ใหญ่กว่าหัวหน้าเผ่า แต่ก็ไม่เท่ากับกษัตริย์เสียทีเดียว (petty kings) สภาพดังกล่าวนี้เองที่เป็นเงื่อนไขของ “สภาพการปกครองก่อนยุคกลางของสวีเดน ที่อยู่ในลักษณะที่อำนาจยังกระจัดกระจาย” อีกนัยหนึ่งคือ ยังไม่มีการรวมศูนย์อำนาจ ผู้คนดำรงชีวิตอยู่ภายใต้โครงสร้างทางชนชั้นที่ไม่เคร่งครัดตายตัว
มีหลักฐานโบราณกล่าวถึงชนเผ่าสองเผ่าใหญ่ๆ ในสวีเดน อันได้แก่ ชนเผ่าที่เรียกว่า Svear และ Gota และมีการกล่าวถึง Svear มากกว่า Gotar ชื่อเผ่าทั้งสองนี้ไม่ได้บ่งบอกถึงความแตกต่างทางชาติพันธุ์ แต่น่าจะเกี่ยวกับกิจกรรมทางสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมากกว่า และกระบวนการการรวมตัวกันทางการเมืองในพื้นที่นี้จะเป็นเรื่องในพื้นที่ของสองเผ่านี้เป็นหลัก
และในช่วงก่อนที่คริสต์ศาสนาจะเข้ามามีอิทธิพลในสวีเดน มีหลักฐานกล่าวถึงผู้ที่ขึ้นเป็นกษัตริย์ของพวก Svear ในขณะที่ไม่มีหลักฐานทางฝั่งของ Gotar แต่กษัตริย์ในหมู่พวก Svear นี้ก็มิได้หมายถึงผู้เป็นใหญ่เหนือชนชาว Svear ทั้งหมด แต่ในหมู่ชาว Svear ยังแบ่งออกเป็นเผ่าและอาณาจักรย่อยๆ (petty kingdoms) และมีกษัตริย์ของตนเอง (petty kings) โดยมีหลักฐานบ่งชี้ว่า ในศตวรรษที่หก มีอาณาจักรย่อยๆ หรือเผ่าอยู่ในราว 13 เผ่าในสวีเดน
ต่อมา เมื่อสวีเดนในยุคไวกิ้งมีพัฒนาการทางสังคมมากขึ้น เริ่มมีการรวมศูนย์อำนาจหรืออำนาจเริ่มกระจุกตัวอยู่ในมือของผู้นำอภิชนที่เข้มแข็งไม่กี่คน มีการรวมเขตแคว้นแดนเล็กๆ เข้าด้วยกันทำให้สวีเดนเริ่มมีความเป็นเอกภาพมากขึ้นภายใต้ผู้นำที่เข้มแข็ง ผู้ซึ่งต่อมาจะเป็นกษัตริย์ ที่เป็นการปกครองโดยเอกบุคคล (the one) ที่เริ่มเกิดขึ้นในสวีเดนในราวศตวรรษที่เก้า แต่การปกครองของกษัตริย์สวีเดนในช่วงแรกนี้ก็มิได้มีอำนาจมากแต่อย่างใดเมื่อเทียบกับในช่วงเวลาต่อๆ มา
และเมื่อสังคมสวีเดนในยุคไวกิ้งได้พัฒนามาถึงจุดที่มีคนในชนชั้นระดับกษัตริย์หรือหัวหน้าเผ่าบางคนที่สั่งสมความมั่งคั่ง กำลังคนและทรัพยากรกำลังต่างๆ ที่จำเป็นและเพียงพอ รวมทั้งมีความสามารถและมีบุคลิกภาพเฉพาะตัวที่จะรวบรวมเขตแคว้นแดนเล็กๆในสวีเดนให้เป็นเอกภาพเข้าด้วยกันได้ เมื่อถึงจุดนี้ ภาพของตัวแสดงทางการเมืองทั้งสาม อันประกอบไปด้วย เอกบุคคล (the one) กลุ่มคนหรือคนส่วนน้อย (the few) และคนส่วนมาก (the many) ในสังคมการเมืองสวีเดนก็จะปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนขึ้น อันได้แก่
หนึ่ง กษัตริย์หรือที่เรียกกันในภาษาในแถบสแกนดิเนเวียว่า Konnungar ที่มีอำนาจครอบคลุมเหนืออาณาจักรดินแดนของตนในฐานะผู้ปกครอง และจัดอยู่ในช่วงชั้นระดับสูงสุดของยอดปิรามิดช่วงชั้น
สอง กลุ่มคนระดับหัวหน้าเผ่าที่เรียกว่า jarl ที่ปกครองเหนือเขตแดนเล็กๆที่ต่อมาถูกรวมเข้าเป็นหนึ่งในอาณาจักรใหญ่ มีสถานะเป็นหัวหน้าหรือผู้นำของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ และคนกลุ่มหรืออภิชนเป็นช่วงชั้นที่รองต่อจากกษัตริย์
สาม กลุ่มคนระดับหัวหน้าครัวเรือนที่เรียกว่า karl ที่เป็นคนส่วนมากในสังคมที่ดำเนินชีวิตอย่างอิสระชน อันได้แก่ ชาวนา ชาวประมง ช่างตีเหล็ก ช่างไม้ ช่างต่อเรือ ฯลฯ
และถ้ารวมกลุ่มทาสเข้าไปก็จะมี กลุ่มที่สี่ คือ พวกที่เรียกว่า thrall ที่ไม่มีเสรีภาพและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน
สภาพทางสังคมการเมืองของสวีเดนที่กล่าวไปข้างต้นนั้น จะพบว่า ไม่แตกต่างอะไรจากสังคมอื่นๆ ในยุโรปหรือที่อื่นๆ มากนัก แต่ที่เป็นลักษณะพิเศษของสังคมสวีเดนและสังคมในแถบสแกนดิเนเวีย คือ การที่สังคมในแถบสแกนดิเนเวียมีองคาพยพทางสังคมการเมืองที่เรียกว่า ting
ที่สำคัญคือ ting ในสวีเดนมีความเข้มแข็งกว่าที่อื่นๆ ซึ่ง รศ. ประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ผู้บุกเบิกการสอนวิชาการเมืองการปกครองประเทศสแกนดิเนเวียที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้ว เรียกองคาพยพหรือ ting นี้ว่า “สภาท้องถิ่น”
สภาท้องถิ่นหรือ ting ถือเป็นรากฐานสำคัญในทางการเมืองการปกครองของสวีเดนมาตลอดตั้งแต่ก่อนยุคกลางและน่าจะมีส่วนสำคัญต่อการก่อตัวของวัฒนธรรมทางการเมืองของสวีเดน
เงื่อนไขของการเมืองการปกครองของสวีเดนก่อนเข้าสู่การปกครองแบบ “สมบูรณาญาสิทธิ์ราชย์” ประกอบไปด้วยตัวแสดงทางการเมืองสามตัวแสดง อันได้แก่ ผู้นำ (the one) กลุ่มอภิชน (the few) และชาวนาที่เป็นชาวบ้านทั่วไป (the many)
สิ่งที่น่าสังเกตและเป็นลักษณะที่โดดเด่นของสวีเดนก็คือ วัฒนธรรมทางการเมืองของสวีเดนที่เปิดพื้นที่ให้มีส่วนร่วมและการมีบทบาทของคนส่วนใหญ่หรือคนระดับ “ชาวบ้าน” หรือ “สามัญชน” ในแต่ละท้องถิ่นมาตั้งแต่ยุคโบราณ ซึ่งแตกต่างจากหลายๆ ประเทศในโลกที่เมื่อย้อนเวลากลับไปในยุคโบราณ จะไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนของการมีส่วนร่วมของคนส่วนใหญ่หรือไม่ปรากฏให้เห็นถึงบทบาทของคนส่วนใหญ่อย่างในกรณีของสวีเดน
ที่กล่าวมาเช่นนี้ มิได้หมายความว่า ในกรณีของประเทศอื่นๆ ที่ไม่ปรากฏหลักฐานของการมีส่วนร่วมของคนส่วนใหญ่ในยุคโบราณของประเทศเหล่านั้น จะส่งผลให้ทฤษฎีการปกครองแบบผสม (การแชร์อำนาจระหว่างผู้นำที่เป็นคนๆเดียว กับกลุ่มอภิชนและชาวบ้าน) ที่ผู้เขียนใช้เป็นกรอบในการศึกษาสังคมการเมืองสวีเดนใช้ไม่ได้ เพราะตามทฤษฎีการปกครองแบบผสม มีสมมติฐานว่า การปกครองแบบผสมเป็นการปกครองตามธรรมชาติที่มีองค์ประกอบของตัวแสดงสามตัวแสดง เพราะในการปกครองของประเทศต่างๆ ในทุกยุคทุกสมัยย่อมจะต้องมีประชาชนหรือผู้ใต้ปกครองที่เป็นคนส่วนใหญ่เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยเสมอ เพียงแต่จะมีบทบาทมากน้อยแค่ไหนเพียงไร และมีช่องทางหรือมีการเปิดพื้นที่ให้มีส่วนร่วมและหรือให้แสดงออกทางการเมืองอย่างเป็นทางการและถาวรหรือไม่
ในยุคโบราณของบางประเทศ ไม่ได้มีช่องทางหรือมีการเปิดพื้นที่อย่างเป็นทางการ แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังสามารถแสดงออกหรือมีส่วนร่วมได้อย่างไม่เป็นทางการ และเป็นบางครั้งบางคราวขึ้นอยู่กับสถานการณ์
อย่างในกรณีของไทย หากข้อมูลหลักฐานถูกต้อง ในสมัยสุโขทัย ที่มีการแขวนกระดิ่งเพื่อให้ผู้ใต้ปกครองที่เดือดร้อนสามารถสั่นกระดิ่งส่งเสียงร้องเรียนหรือร้องทุกข์ต่อผู้ปกครองได้ ซึ่งถือว่าเป็นช่องทางที่เป็นทางการ แต่ขอบเขตหรือพื้นที่ในการมีส่วนร่วมในกรณีนี้ก็ถูกจำกัดอยู่เฉพาะเรื่องการร้องเรียนร้องทุกข์เท่านั้น
ข้อดีในกรณีนี้ก็คือ คนส่วนมากสามารถติดต่อกับเอกบุคคลที่เป็นผู้ปกครองได้โดยตรง และการรับฟังเรื่องร้องทุกข์ถือได้ว่า ผู้ปกครองมิได้ใช้อำนาจอย่างสมบูรณ์เด็ดขาดโดยไม่ฟังเสียงของคนส่วนมากเสียเลย หรือไม่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างเอกบุคคลและคนส่วนมากเสียเลย
ในกรณีของสวีเดน ผู้เขียนจะขอเริ่มกล่าวถึงพื้นที่หรือช่องทางของการมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือ
การแสดงออกซึ่งอำนาจและความต้องการของตัวแสดงของคนส่วนมากก่อน เพราะถือว่าเป็นเงื่อนไขทางการเมืองการปกครองที่โดดเด่นแตกต่างจากอีกหลายประเทศในโลกที่ส่วนใหญ่จะปรากฏตัวแสดงหลักให้เห็นเพียงสองตัวแสดง นั่นคือ เอกบุคคลและคณะบุคคล เช่น กษัตริย์ ขุนศึก อำมาตย์ ขุนนาง เจ้าที่ดิน เป็นต้น
การพิจารณาพฤติกรรมของตัวแสดงทางการเมืองที่เป็นคนส่วนมากย่อมจะพิจารณาที่ผู้นำหรือผู้มีอิทธิพลในคนหมู่มากไม่ได้ เพราะจะเป็นการไปเจาะจงดูที่เอกบุคคลเสียมากกว่า ดังนั้น เราจะต้องไปดูที่พฤติกรรมร่วมหรือการตัดสินใจร่วมกัน (collective behavior or decision) ซึ่งในสวีเดนตั้งแต่ยุคโบราณมา มีองค์กรหรือพื้นที่ที่สามัญชนมาประชุมร่วมกัน อันเป็นจารีตประเพณีที่เข้มแข็ง และที่ประชุมที่ว่านี้มีชื่อเรียกกันในภาษาแถบสแกนดิเนเวียว่า ting ซึ่งผู้เขียนจะได้กล่าวในรายละเอียดในตอนต่อไป