xs
xsm
sm
md
lg

เนทันยาฮูทำให้ตัวประกันตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


เบนจามิน เนทันยาฮู
อิสราเอลแทบจะเป็นอัมพาตไปทั่วประเทศ, โดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ เช่น เทลอาวีฟ, เยรูซาเลม และเมืองท่าใหญ่ไฮฟา...นั่นคือการนัดหยุดงานใหญ่สุดที่จัดโดยสมาพันธ์สหภาพอีสตาครูส ซึ่งเป็นสหภาพที่ใหญ่ที่สุดของอิสราเอล ที่มีสมาชิกถึง 8 แสนคน

การนัดหยุดงานครั้งนี้ เริ่มเป็นทางการเวลา 6 โมงเช้าของวันจันทร์ที่ 2 กันยาฯ โดยมีสหภาพสมาชิกของสมาพันธ์ด้านบริการทั้งหมดเข้าร่วมเช่น รถโดยสาร, รถไฟ, สนามบิน, โรงแรม, โรงพยาบาล, มหาวิทยาลัย, ธนาคาร, ร้านอาหาร เป็นต้น โดยจะหยุดงาน 1 วันเต็มจนถึงดึกวันจันทร์

แต่เหล่าร้านค้าและกิจการต่างๆ ได้เริ่มอุ่นเครื่องเข้าร่วมอย่างคับคั่งตั้งแต่บ่ายจนถึงดึกวันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน โดยมีสหภาพข้าราชการตามกระทรวงทบวงกรมต่างๆ ของรัฐบาลเข้าร่วมด้วยอย่างคึกคัก แม้แต่ข้าราชการสำนักนายกฯ ก็เข้าร่วมด้วย รวมทั้งสำนักงานทนายความใหญ่ๆ ถึง 16 แห่งก็เข้าร่วม พร้อมประกาศจะให้ความช่วยเหลือด้านคดีความแก่ผู้ถูกดำเนินคดีในการเข้าร่วมชุมนุมนัดหยุดงานใหญ่ในครั้งนี้

นอกจากจะเป็นอัมพาตกันทั้งประเทศ เหล่าผู้โดยสารเครื่องบินก็ไม่สามารถใช้บริการเครื่องบินและบริการที่สนามบินก็หยุดหมด; มีผู้โดยสารตกค้างแออัดกันเต็มสนามบิน พร้อมกระเป๋าเดินทางกองระเกะระกะเต็มไปหมด

การนัดชุมนุมใหญ่ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมทั้งตัวสมาชิกสหภาพแล้ว ยังมีประชาชนมากมายเข้าร่วมอย่างล้นหลาม มีการจุดกองไฟใหญ่ประท้วงด้วย โดยตัวเลขของนสพ.หลายฉบับที่อิสราเอลรายงานว่า เหยียบ 1 ล้านคนทั้งประเทศ

นับเป็นการชุมนุมประท้วงรัฐบาลครั้งใหญ่สุดตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม; และมันไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นที่อิสราเอล แต่เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ก็ได้เกิดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเนทันยาฮูมาแล้ว...ครั้งนั้น เป็นการชุมนุมใหญ่ของสมาพันธ์สหภาพเดียวกันนี้ และมีประชาชนเข้าร่วมมหาศาล โดยเป็นช่วงที่รัฐบาลเนทันยาฮูพยายามรวบอำนาจจากฝ่ายตุลาการ (ที่เคยเป็นอิสระตามหลักการ 3 อำนาจที่ถ่วงดุลกันระหว่างตุลาการ-นิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร) ให้มาอยู่ใต้อำนาจฝ่ายบริหาร; โดยฝ่ายตุลาการกำลังดำเนินคดีต่อนายกฯ เนทันยาฮูกรณีคอร์รัปชัน และรับเงินจากฝ่ายธุรกิจ เป็นต้น

สำหรับการประท้วงใหญ่ครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่มีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลจากเหล่าญาติตัวประกัน โดยเป็นการประท้วงแทบทุกๆ สุดสัปดาห์ นับตั้งแต่รัฐบาลเนทันยาฮูส่งกองกำลัง IDF บุกตามล่าฆ่าฮามาส แต่กลับไปไล่ฆ่าพลเรือนที่เป็นเด็กและผู้หญิงปาเลสไตน์ และทำลายบ้านเรือนจนชาวปาเลสไตน์ต้องระเหเร่ร่อนทั้งอดอาหารและเกิดโรคระบาดทั่วไป

สมาพันธ์สหภาพฮีสตาครูสเรียกการชุมนุมนี้ว่า เป็น Day of Rage คือ วันแห่งความเคียดแค้นเพราะรัฐบาลของนายเนทันยาฮูได้พยายามขัดขวางขบวนการหยุดยิงในฉนวนกาซา จนล่าสุดในวันเสาร์ทหาร IDF ได้บุกไปทำลายเครือข่ายอุโมงค์ของฮามาสบริเวณด่านราฟาห์ จนได้พบกับตัวประกัน 6 คนเป็นหนุ่มสาว ตายอยู่ในอุโมงค์ โดยสันนิษฐานว่า ถูกฆ่าในเวลาเพียง 24-48 ชม.ก่อนที่หน่วย IDF จะขุดไปพบ (แต่แถลงการณ์ของฝ่ายฮามาสออกมาว่า ทั้ง 6 ศพถูกระเบิดและขีปนาวุธจากกองทัพอิสราเอลถล่มใส่)

3 คนใน 6 คนนี้ มีชื่ออยู่ในรายชื่อของตัวประกันที่กำลังเจรจาให้มีการแลกเปลี่ยนเชลยศึก ซึ่งตัวแทนฝ่ายเจรจาหยุดยิงกำลังจัดทำอยู่

สหภาพและเหล่าผู้ชุมนุมได้นำศพทั้ง 6 มาแสดงความไม่พอใจที่บ้านพักของนายเนทันยาฮู และเหล่าพ่อแม่ของผู้ตายได้กล่าวประณามนายเนทันยาฮูว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกของเขาต้องเสียชีวิต ทั้งๆ ที่ได้ทนลำบากมาถึง 11 เดือน และใกล้จะออกมาหลังการแลกเปลี่ยนเชลย...

ผู้ชุมนุมประณามนายเนทันยาฮู เพราะเขาคือผู้ขัดขวางการเจรจาหยุดยิง (ชั่วคราว) ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกในบันได 3 ขั้นที่ทั้งปธน.ไบเดน และตัวแทนผู้เจรจา (จากอียิปต์, กาตาร์, ผอ.ซีไอเอ, ผอ.มอสซาด, ตัวแทนฮามาส) ได้ตกลงกันหลายรอบเจรจาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม (นี่ก็ 3 เดือนแล้ว!!!) จนผ่านมติคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติด้วยซ้ำ และฝ่ายฮามาสก็ยินยอม

รมต.คลัง สมอร์ทริช ได้รีบร้องเรียนไปยังศาลแรงงาน ในเช้าวันจันทร์ที่มีการประท้วง และฟ้องศาลแรงงานว่า การเรียกชุมนุมของสมาพันธ์

สหภาพครั้งนี้ทำผิดกฎหมาย เพราะเป็นการประท้วงทางการเมือง; ไม่ใช่การประท้วงด้านแรงงานสัมพันธ์ (เช่นขอขึ้นค่าจ้างแรงงาน หรือข้อพิพาททางแรงงาน)…ศาลแรงงานได้ออกคำสั่งให้เลิกการชุมนุมภายในเวลาบ่าย 2 โมงของวันจันทร์...ทำให้สนามบินเบนกูเรียนต้องเปิดให้บริการการบิน หลังปิดไปกว่า 2 ชม.

สหภาพดื้อแพ่ง และยังชุมนุมต่อตามเมืองใหญ่ๆ (ซึ่งเทศบาลเมืองใหญ่ได้เข้าร่วมเกือบทั้งหมด) จนถึงดึกของวันจันทร์ (และต่อเนื่องไปจนถึงดึกวันอังคาร)

สื่อหลายแห่งของอิสราเอลรายงานถึงบรรยากาศการประชุม ครม.ความมั่นคงของรัฐบาลเนทันยาฮู มีการตะโกนเสียงดังโต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อน โดยมี รมต. 4 คนคือ รมต.คลัง, รมต.ความมั่นคง, รมต.ต่างประเทศ และนายกฯ ไม่เห็นด้วยที่นายกฯ จะไปลงนามหยุดยิงชั่วคราว

ขณะที่ รมต.กลาโหมนายโยอาฟ กัลแลนต์ เป็นผู้ที่เห็นว่า นายกฯ ควรรับข้อตกลงที่จะหยุดยิงชั่วคราว เพื่อช่วยชีวิตของเหล่าตัวประกัน...เขามีจุดยืนนี้มาตั้งแต่หลายเดือนที่แล้ว ที่ IDF ได้บุกไปถึงเมืองข่าน ยูนิสแล้ว โดยรมต.กลาโหมไม่เห็นด้วยที่จะกราดยิงหรือถล่มระเบิดเปรอะไปหมดจนพลเรือนต้องตายมากมาย

แต่ รมต.กลาโหมกลับกลายเป็นเสียงข้างน้อยใน ครม.ของเนทันยาฮู

ค่ำวันจันทร์นายกฯ เนทันยาฮูออกทีวีแถลงกับประชาชน เขากล่าวแสดงความเสียใจยิ่งที่เขาไม่สามารถรักษาชีวิตตัวประกันทั้ง 6 ไว้ได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็ตอกย้ำว่า กองทัพอิสราเอลจะหยุดยิงไม่ได้ เพราะจะทำให้ฮามาสมีการเปลี่ยนกำลังพลและรุกหนักยิ่งขึ้น...เขาบอกว่า ไม่มีใครจะมาหยุดยั้งเขาได้ เพราะเขาจะต้องปราบฮามาสให้ราบคาบ...และต่อแต่นี้ เขาจะยิ่งทุ่มกองกำลังให้หนักกว่าเดิมเพื่อจัดการกับฮามาสให้ราบคาบ...(ซึ่งก็จะยิ่งทำให้ตัวประกันจะต้องตายเพิ่มขึ้นแน่นอน)

กลุ่มผู้ชุมนุมและประชาชนชาวอิสราเอลส่วนใหญ่ (สะท้อนจากโพลต่างๆ) แทนที่จะประณามว่าฮามาสที่ฆ่าตัวประกัน (เพราะเขาตระหนักถึงฮามาสที่ได้กระทำการเมื่อ 7 ตุลาฯ เป็นความโหดร้ายอยู่แล้ว)...กลับหันมาประณามนายกฯ เนทันยาฮู ว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวประกันต้องตายมากยิ่งขึ้น เพียงเพื่อรักษาอำนาจความเป็นนายกรัฐมนตรีให้อยู่นานอีกต่อไป เพราะถ้ามีการลงนามหยุดยิงชั่วคราว และแลกเปลี่ยนเชลยศึก เหล่าตัวประกันก็จะรอดชีวิตได้ แต่เนทันยาฮูก็เลือกที่จะไม่ทำ

จนล่าสุด ปธน.ไบเดนก็ออกมากดดันโดยตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า นายเนทันยาฮู ยังทำไม่พอที่จะหาทางแลกเปลี่ยนตัวประกัน ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการหยุดยิงชั่วคราวก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น