ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เกิดเหตุภัยพิบัติดินสไลด์บน เขานาคเกิด ต.ลกะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ดินสไลด์ลงมาทับบ้านเรือนประชาชน ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 13 คน มีการตั้งข้อสงสัยว่าเหตุการณ์ดัวกล่าว เป็นผลกระทบจากการก่อสร้างบนยอดเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของ วัดกิตติสังฆาราม หรือ วัดพระใหญ่ ภูเก็ต ที่มี Big Buddha เป็นแลนด์มาร์กไข่มุกอันดามัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุภัยพิบัติมีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Change ทั้งนี้ รายงานจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เปิดเผยว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติมากที่สุดของโลกจากสภาพอากาศสุดขั้ว ตั้งแต่ปี 2566
ขณะที่ประเทศไทยรับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ “ลานีญา” เกิดฝนตกหนักในหลายแห่ง ตามมาด้วยเหตุภัยพิบัติดินสไลด์ที่มีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ล่าสุด เหตุการณ์แผ่นดินถล่ม (landslide) บริเวณซอยปฏัก 2 หมู่ 2 ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2567 เวลาประมาณ 05.00 น. บริเวณที่เกิดเหตุเป็นชุมชน ตั้งอยู่บนเนินเขา ด้านหน้าเขานาคเกิด เกิดเหตุสลดแผ่นดินถล่มชนิดเศษวัสดุธรณีไหล (debris flow) ประกอบด้วย ก้อนหินขนาดใหญ่ประมาณ 10×10 เมตร กรวด ทราย และต้นไม้ ไหลลงมาพร้อมกับน้ำ ทับบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชน
เหตุการณ์ดังกล่าวได้คร่าชีวิตคนไทย แรงงานต่างด้าว และชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 13 ชีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 19 ราย โดยบ้านเรือนเสียหายกว่า 50 หลัง มีคนได้รับความเดือดร้อนไม่น้อยกว่า 250 ครัวเรือน
สำหรับสาเหตุการเกิดแผ่นดินถล่ม เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพธรณีวิทยาเป็นหินแกรนิต (แกรนิตกะตะ อายุประมาณ 91 – 105 ล้านปี) มีอัตราการผุพังสูงให้ชั้นดินทรายปนดินเหนียวที่ค่อนข้างหนาประมาณ 3 – 5 เมตร มีคุณสมบัติอุ้มน้ำได้ดีและเคลื่อนตัวได้ง่าย และมีความลาดชันสูง ประกอบกับมีฝนตกหนักต่อเนื่องตั้งแต่คืนวันที่ 22 ส.ค. 2567 ถึงเช้าวันที่ 23 ส.ค. 2567 วัดปริมาณน้ำฝนได้ 200 ม.ล. จึงเกิดเหตุการณ์แผ่นดินถล่มดังกล่าว โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินถล่มระดับสูงถึงสูงมาก
ประเด็นที่น่าสนใจ นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม โพสต์เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat ระบุว่า ดินโคลนถล่มภูเก็ต มีกฎหมายแต่ไร้การบังคับ? ความว่าพื้นที่เกาะภูเก็ตเป็นพื้นที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมทั้งเกาะ และมีการต่ออายุจนถึงปี 2560 มีผลถึงปัจจุบันกำหนดห้ามก่อสร้างบนพื้นที่ที่มีความลาดชันตั้งแต่ 35% ขึ้นไป
ส่วนเทือกเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต ถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2516 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้ป่าเทือกเขานาคเกิด ในท้องที่ ต.ป่าตอง และต.กะทู้ อ.กะทู้ และต.วิชิต ต.ฉลอง ต.กะรน และต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ให้ไว้วันที่ 26 พ.ย.2516 แต่มีการให้สร้างพระใหญ่ บนยอดเขานาค เกิดรวมทั้งสร้างถนนขึ้นถึงบนยอดเขาและมีการก่อสร้างวิลลาหรู และบ้านพักเชิงเขาจำนวนมมากได้อย่างไรใครหลับตา
กรณีเหตุการณ์ดินถล่มบนเทือกเขานาคเกิด และทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 คน นำมาสู่การตรวจสอบหาสาเหตุของดินถล่มว่าอาจมาจากการเปลี่ยนสภาพพื้นที่บนยอดเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดกิตติสังฆาราม (วัดกะตะ) ที่มีการก่อสร้างพระใหญ่บนเทือกเขาหรือไม่
พ.อ.ดุสิต เกษรแก้ว หัวหน้าชุดตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ กองทัพภาคที่ 4 เปิดเผยความคืบหน้าในการตรวจสอบพื้นที่เขานาคเกิด ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ด้าน พบว่าสภาพเขานาคเกิด เป็นเขาหินแปร ปกคลุมด้วยชั้นดิน บริเวณที่มีการก่อสร้างบนยอดเขา อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางที่ 375 เมตร
จากการเปรียบเทียบภาพถ่ายทางอากาศ พบว่าบริเวณดังกล่าวเริ่มมีการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2548 มีการปรับพื้นที่เพื่อเป็นที่ตั้งของพระใหญ่ รวมถึงปรับพื้นที่เป็นลานกว้างแต่ไม่พบหลักการปันน้ำ ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมการก่อสร้างบนที่สูง ซึ่งตามธรรมชาติแล้วบริเวณสันเขาหรือภูเขาสูง จะมีการปันน้ำตามธรรมชาติ โดยเขานาคเกิด ที่ด้านหลังองค์พระ พบร่องน้ำธรรมชาติจำนวน 2 ร่อง แต่เมื่อมีการก่อสร้างและปรับพื้นที่ได้มีการปิดกั้นทางน้ำทางธรรมชาติ เมื่อเกิดฝนตกหนักและมีน้ำต้องระบายลงจากภูเขา ดังนั้น จึงทำให้มวลน้ำต้องการช่องทางเดิน ซึ่งจุดที่เกิดดินสไลด์และพังลงมา เป็นทางเดินน้ำที่ธรรมชาติต้องการสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทน ซึ่งหน้าผาที่เกิดดินสไลด์มีความลาดชันประมาณ 80 องศา มีต้นไม้ปกคลุมเพียงชั้นผิวดินเท่านั้น
โดยทางเจ้าหน้าที่จากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่ กรมป่าไม้ สนธิกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ท้องถิ่น เข้าตรวจสอบวัดพิกัดพื้นที่วัด พร้อมใช้ GPS สัญญาณดาวเทียม เพื่อหาจุดพิกัดพื้นที่ 15 ไร่ ที่ได้มีการยื่นขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้เพื่อทำประโยชน์ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต
จากการตรวจพิกัด GPS พื้นที่บนเขานาคเกิด จุดที่ตั้งพระใหญ่ พบว่ามีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เกินจากที่ขอไว้ และบุกรุกพื้นที่ป่าไม้อีก 5 ไร่ 19 ตารางวา พบหลักฐานสิ่งก่อสร้าง 6 รายการ มีการก่อสร้างทั้งในส่วนของลานจอดรถ ห้องน้ำ และอาคารบางส่วน
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ จังหวัดภูเก็ต แจ้งความดำเนินคดี กับประธานมูลนิธิพระพุทธมิ่งมงคลศรัทธา 45 ในข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าไม้
นายสมชาย นุชนานนท์เทพ ผอ.สำนักจัดการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่ เปิดเผยว่า ปี 2545 ทางวัดเคยได้รับการอนุญาตให้ใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์เพียง 15 ไร่ ภายใต้โครงการพระสงฆ์กับกรมป่าไม้ตามมาตรา 19 จากเดิม 42 ไร่ในการเข้าช่วยฟื้นฟูรักษาป่า และต่อโครงการทุกๆ 5 ปี
ต่อมาในปี 2563 -2564 เริ่มพบมีการก่อสร้างพระใหญ่ โดยจังหวัดหวังให้ทำแลนด์มาร์กร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนา ระหว่างนั้นปี 2565 มีมติ ครม.ปี 2563 - 2564 นิรโทษกรรมให้กับหน่วยงานที่ทำประโยชน์ มีการทำอาคาร และวัด แต่เมื่อมีการส่งมาตรวจสอบ และต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพราะทำบนพื้นที่ต้นน้ำ
ทั้งนี้ กรมป่าไม้ เคยให้ยุติการก่อสร้างพระใหญ่ อาคารลานจอดรถมาตั้งแต่ปี 2565 เพราะก่อสร้างในจุดพื้นที่ต้นน้ำ และนอกเหนือจากพื้นที่ 15 ไร่ที่เคยอนุญาตให้ใช้พื้นที่ โดยเป็นห่วงว่าการก่อสร้างพระองค์ใหญ่บนต้นน้ำ และมีความลาดชันสูงเกิน 35 และสร้างในพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม ดังนั้น กรมป่าไม้จึงต้องสั่งเด็ดขาดให้ยุติการก่อสร้างทั้งหมดเอาไว้ก่อน
ขณะที่ ร.อ.เจด็จ วชิรศรณ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลกะรน เปิดเผยว่าผู้ดูแลพระใหญ่บนเทือกเขานาคเกิด ไม่เคยส่งหนังสือขออนุญาตก่อสร้างพระใหญ่ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ดังนั้น เทศบาลตำบลกะรน จึงไม่เคยอนุญาตให้สร้างสิ่งก่อสร้างทั้งหมดบนเขานาคเกิด และได้ทำเรื่องให้ผู้ดูแลรื้อถอนสิ่งก่อสร้างตั้งแต่ปี 2566 แต่กลับไม่ได้รับความร่วมมือ ทั้งนี้ ได้แจ้งความกับ สภ.กะรน ตั้งแต่ปี 2566
คำถามสำคัญ จะมีคำสั่งรื้อถอน พระใหญ่ หรือ Big Buddha และอาคาร ลานจอดรถที่อยู่ในบนเขานาคเกิดทั้งหมดหรือไม่นั้น ยังเป็นประเด็นที่ต้องหาข้อสรุป เบื้องต้นมีการเสนอตามขั้นตอนเหมือนกับคดีการบุกรุกรีสอร์ตบนป่าต้นน้ำ
สำหรับการสูญเสียรุนแรงที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากเครื่องวัดการเคลื่อนตัวของมวลดินไม่มีการแจ้งเตือนภัย โดยประเด็นนี้ นายสมศักดิ์ วัฒนปฤดา ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี ยอมรับว่าสถานีเครื่องวัดการเคลื่อนตัวของมวลดิน บนเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็น 1 ใน 25 สถานีที่ติดตั้งไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มทั้งภาคเหนือ และภาคใต้ตั้งแต่ช่วงปี 2557-2558 ไม่เตือนภัยเหตุการณ์ดินถล่มบนเขานาคเกิดเมื่อ 23 ส.ค. 2567
จากการตรวจสอบพบว่า 25 สถานีในภาคเหนือ ภาคใต้ ใช้งานได้ 6 แห่ง ใช้ไม่ได้ 19 แห่ง โดย 2 จุดตั้งที่เขานาคเกิด จ.ภูเก็ต และกระบี่ เพิ่งตั้งเรื่องของบเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา นำงบหลือจากการจัดซื้อเครื่องวัดแผ่นดินไหวของปี 2567 มาซ่อมแซมรวม 3 จุดอยู่ระหว่างการประมูล ซ่อมแซมและติดตั้งภูเก็ต 2 จุด และกระบี่ 1 จุด หากเป็นไปตามแผนจะเริ่มติดตั้งภายในเดือน ก.ย.นี้ แต่มาเกิดเหตุดินถล่มเสียก่อน
ที่ต้องจับตา จ.ภูเก็ต มีพื้นที่จุดเสี่ยงดินถล่มซ้ำ อ้างอิงจากแผนที่เสี่ยงดินถล่มพื้นที่สีแดง จ.ภูเก็ต มีหลายจุดครอบคลุมกะตะน้อย กะตะ กะรน ป่าตอง และกมลา ซึ่งช่วงเดือน ก.ค. 2567 เคยเกิดดินโคลนไหลมาแล้ว ทั้งนี้ เขานาคเกิดมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดดินถล่มซ้ำลงมาได้อีก เนื่องจากเป็นร่องหุบเขาที่มีความลาดชัน และชุดหินแกรนิตชุดกะตะที่เริ่มผุพัง เคยมีประวัติดินถล่มเมื่อหลายปีก่อน บวกกับการตัดเขา และก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เป็นแรงกดทับดินบนภูเขา มีการทิ้งน้ำเสียลงในภูเขา และปัจจัยประกอบ 3 สาเหตุ คือ ปัจจัยทางธรรมชาติ ทั้งความผุของดิน ความลาดชันสูงของพื้นที่ การรับน้ำฝนของพื้นที่แสดงให้รู้ว่าจุดนั้นมีโอกาสเกิดภัยพิบัติสูง
คาดการณ์ว่า ปี 2567 - 2568 มีโอกาสเกิดปรากฎการณ์ลานีญา ทำให้มีโอกาสฝนตกหนักและตกแช่ในพื้นที่เดิม จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มที่รุนแรง เบื้องต้นกรมทรัพยากรธรณีได้มีการทำแผนที่เสี่ยงภัยระดับชุมชน เพื่อให้เป็นข้อมูลในการตั้งรับและบางจุดอาจต้องอพยพ รวมทั้ง มีการทำแผนที่เสี่ยงภ้ยดินถล่มครอบคลุม 54 จังหวัด 463 อำเภอ 1,984 ตำบล
ชัดเจนว่า... เทือกเขานาคเกิด จ.ภูเก็ต ถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2516 แต่กลับมีการให้สร้างพระใหญ่ มีการก่อสร้างรุกพื้นที่ป่าฯ รวมถึง สร้างถนนบนยอดเขา ซึ่งส่งผลกระทบให้ปิดกั้นทางน้ำทางธรรมชาติเดิม และเมื่อเกิดฝนตกหนักและมีน้ำต้องระบายลงจากภูเขา จึงทำให้มวลน้ำต้องการช่องทางเดิน ซึ่งจุดที่เกิดดินสไลด์และพังลงมา เป็นทางเดินน้ำที่ธรรมชาติต้องการสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทน.