xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

BYD มาแรงแซงขึ้นอันดับ 7 ของโลก ยอดขายชนะ “ฮอนด้า-นิสสัน” ครั้งแรก จับตาสถานีต่อไปเบียด “ฟอร์ด” ตกอันดับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  แม้จะต้องเผชิญกับสงครามกีดกันทางการค้าจากบรรดาประเทศต่างๆ อย่างหนัก โดยเฉพาะใน “สหรัฐอเมริกาและยุโรป” แต่ “BYD” ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำสัญชาติจีนก็ยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถ กวาดยอดขายไตรมาส 2 แซงค่ายยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง “ฮอนด้าและนิสสัน” ได้เป็นครั้งแรก ส่งผลให้อันดับโลกไต่ขึ้นจากที่ 10 มาอยู่อันดับ 7 กันเลยทีเดียว 

จากรายงานของนิกเกอิที่อิงกับข้อมูลของมาร์กไลนส์ ยอดขายรถใหม่ของ BYD ระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายนพุ่งขึ้นถึง 40% เป็น 980,000 คัน แซงยอดขายของฮอนด้า มอเตอร์ และนิสสัน มอเตอร์ของญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ส่งผลให้ BYD ขึ้นเป็นผู้ผลิตรถใหญ่อันดับ 7 ของโลก จากไตรมาส 2 ปีที่แล้วที่อยู่อันดับ 10 ด้วยยอดขาย 700,000 คัน

ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญของ BYD คือรถยนต์ไฟฟ้าราคาจับต้องได้ แถมบริษัทแห่งนี้ยังลดราคาต่อเนื่องควบคู่กับการเปิดตัวอีวีราคาถูกรุ่นใหม่ๆ โดยรุ่นที่ถูกที่สุดคือ Seagull ที่ราคาเริ่มต้นแค่ 9,700 ดอลลาร์ (323,000 บาท) ในจีน นอกจากนั้นยังสืบเนื่องมาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นในตลาดต่างแดน

BYD มียอดขายนอกจีน 105,000 คัน คิดเป็นสัดส่วนราว 4% ของยอดส่งออกรถยนต์จีนทั้งหมด 2.79 ล้านคัน หรือเกือบ 3 เท่าของยอดขายของบริษัทในไตรมาส 2 ปีที่แล้ว นอกจากนั้น BYD ยังก้าวขึ้นเป็นแบรนด์อีวีแถวหน้าเป็นที่เรียบร้อย หลังจากเปิดตัวเข้าสู่ตลาดสำคัญอย่างเม็กซิโก บราซิล ญี่ปุ่น ยุโรป ไทย และประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ แม้บริษัทรถชั้นนำระดับโลกอย่างโฟล์คสวาเกนและโตโยต้า มอเตอร์ มียอดขายลดลงในไตรมาสที่ผ่านมา แต่ดีมานด์อีวี BYD ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระนั้น โตโยต้าเป็นค่ายรถญี่ปุ่นแห่งเดียวที่ทำยอดขายได้มากกว่า BYD ในไตรมาสที่แล้ว และครองอันดับ 1 ด้วยยอดขาย 2.63 ล้านคัน

การสยายปีกทั่วโลกของ BYD เป็นสัญญาณว่า อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า และแม้จีนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ปัจจุบันหลายประเทศกำลังกำหนดเป้าหมายอีวีเชิงรุกเพื่ออนาคตที่สะอาดและยั่งยืนยิ่งขึ้น

อนึ่ง ขณะที่ยอดขายของ BYD ในจีนเดือนมิถุนายนทะยานขึ้น 35% ยอดขายของฮอนด้าและค่ายรถต่างชาติอีกหลายแห่งกลับร่วงลงในอัตราเลขสองหลัก และไม่ใช่ในจีนเท่านั้น ฮอนด้ายังมีแผนลดกำลังผลิตกว่า 50% ในไทยที่ BYD กำลังผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาด




 ที่น่าสนใจคือ BYD ยังกำลังวางแผนเปิดโรงงานนอกประเทศหลายแห่ง โดยเดือนที่แล้วเพิ่งเปิดโรงงานแห่งแรกในไทย เป้าหมายต่อไปคือฮังการี บราซิล ตุรกี เม็กซิโก และปากีสถาน หลังจากโค่นฮอนด้าและนิสสันในไตรมาสที่ผ่านมา BYD กำลังเร่งเครื่องไล่จี้ค่ายรถเก่าแก่อื่นๆ ที่รวมถึงฟอร์ด มอเตอร์ และอีก 2 บริษัทในก๊วนบิ๊กทรีของอเมริกา 

สำหรับฟอร์ดนั้นมียอดขาย 1.14 ล้านคันในไตรมาสที่แล้ว เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.12 ล้านคันในช่วงเดียวกันปี 2023

สัปดาห์ที่ผ่านมา ฟอร์ดประกาศเลื่อนการเปิดตัวอีวีหลายรุ่นจนถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2027 หรือช้ากว่าที่คาดไว้ 2 ปี ในจำนวนนี้รวมถึงรถกระบะไฟฟ้า

นอกจากนั้นฟอร์ดยังยกเลิกแผนสำหรับ SUV ไฟฟ้า 3 แถวเพื่อหันมาโฟกัสรถไฮบริด ซึ่งจะเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้คู่แข่งอย่างเกียและวอลโว่เข้ามาเสียบแทนในเซ็กเมนต์นี้ โดยฟอร์ดบอกว่า จะอัพเดตกลยุทธ์อีวีอย่างครบถ้วนมากขึ้นในปีหน้า

ขณะเดียวกัน BYD เล็งบุกถิ่นฟอร์ดด้วยการส่งรถไปตีตลาดแคนาดา และเตรียมตั้งโรงงานในเม็กซิโกที่จะผลิตรถได้ 150,000 คันในระยะแรก ก่อนเพิ่มเป็น 400,000-500,000 คัน

อนึ่ง แม้ระยะหลังมานี้สื่อโหมกระพือข่าวว่า กระแสอีวีเริ่มชืดชาลง แต่ในความเป็นจริงยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ายังคงไต่ขึ้น สวนทางกับความนิยมในรถเครื่องยนต์สันดาปที่กำลังลดลง ดังนั้น ผู้ผลิตที่ตามกระแสนี้ไม่ทันจึงพากันสูญเสียส่วนแบ่งตลาด ขณะที่บริษัทอีวีชั้นนำอย่าง BYD และเทสลาผงาดขึ้นมาเป็นแบรนด์รถระดับโลก

ความแรงของ BYD ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า บริษัทรถจีนแห่งนี้อาจแซงหน้าฟอร์ดเป็นรายต่อไป

อิเล็กเทร็ครายงานว่า ฟอร์ดประกาศหันไปทุ่มเทกับอีวีขนาดเล็กลงและราคาถูกลงเพื่อแก้ปัญหาการขาดทุน โดยช่วงครึ่งแรกของปีนี้บริษัทขาดทุนกับอีวีไป 2,500 ล้านดอลลาร์ เพิ่มจาก 4,700 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว

ขณะเดียวกัน รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ของโรเดียม กรุ๊ประบุว่า BYD มีรายได้กว่า 15,000 ดอลลาร์จาก Seal U ทุกคันที่ขายในสหภาพยุโรป

 คำถามคือ ฟอร์ดจะแก้เกม BYD ได้หรือไม่ หรือจะตกที่นั่งเดียวกับฮอนด้าและนิสสัน ทั้งนี้ แม้โด่งดังจากอีวีราคาถูก แต่ BYD ยังแตกไลน์อย่างรวดเร็วไปพัฒนารถกระบะ รถหรู และซูเปอร์คาร์ไฟฟ้า โดยเมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมาเพิ่งเปิดตัวรถกระบะปลั๊กอินไฮบริด Shark ในเม็กซิโกซึ่งจะเป็นคู่แข่งกับฟอร์ด เรนเจอร์และโตโยต้า ไฮลักซ์ 

นอกจากนี้ ข่าวดีอีกประการหนึ่งของ BYD ก็คือ การที่สหภาพยุโรปประกาศเมื่อวันอังคารว่าจะปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากจีน ซึ่งพบว่า “ได้ประโยชน์อย่างมากจากการอุดหนุนที่ไม่เป็นธรรม” และเป็น “ภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจ” ของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในยุโรป

แน่นอน แม้ผู้ที่ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ คือ TESLA และแม้จะเป็นการปรับลดเพียง “เล็กน้อย” สำหรับยานยนต์จากจีน แต่ก็ต้องถือว่า ยังมีกว่าที่ผ่านมาพอสมควร
กล่าวคือ BYD อัตราภาษีลดลงจาก 17.4% เหลือ 17% Geely ลดลงจาก 19.9% เหลือ 19.3% และ SAIC ลดลงจาก 37.6% เหลือ 36.3%

ทว่า ท่ามกลางข่าวดีเล็กน้อย ก็มี “ข่าวร้าย” ที่หนักหนาสาหัสเช่นกัน เมื่อรัฐบาลแคนาดาประกาศเก็บภาษีรถยนต์ไฟฟ้าที่นำเข้าจากจีนในอัตรา 100% แถมพ่วงด้วยภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจีนอีก 25%โดยเดินตามแนวทางของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่ใช้บทลงโทษทางภาษีตอบโต้สินค้าจากแดนมังกรไปแล้วก่อนหน้า

อัตราภาษีใหม่นี้จะถูกเรียกเก็บจากรถอีวีทุกคันที่ส่งมาจากจีน รวมถึงเทสลา (Tesla) ด้วย

 อัตราภาษีใหม่จะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป 



กำลังโหลดความคิดเห็น