xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ไทย Top 10 โลก ทิ้งพลาสติกลงทะเล แต่แก้ปัญหา “ขยะ” แบบ “ไฟไหม้ฟาง” !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประเทศไทย ทิ้งขยะพลาสติกสู่ทะเลสูงสุดเป็นอันดับ 10 ของโลก และติดอันดับผลิตขยะพลาสติกอยู่ในอันดับ 12 ของโลก สะท้อนการขับเคลื่อน Roadmap การจัดการขยะพลาสติก 2561-2573 ของรัฐสะดุด สถานการณ์ขยะพลาสติกของไทยจัดการแบบไฟไหม้ฟาง นำสู่ความพยายามครั้งใหม่ในการสร้างแนวทางการจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรมจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน 

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) เปิดเผยรายงาน ปี 2566 พบว่า 5 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดย ประเทศจีนถือเป็นประเทศที่สร้างขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก  ส่วนประเทศไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 10 ของโลก รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ล้วนติดอันดับประเทศปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลอันต้นๆ ของโลก

 โดยทุกๆ ปี จะมีขยะพลาสติกประมาณ 12 ล้านตัน ถูกทิ้งสู่ทะเล ซึ่งมีเพียงร้อยละ 5 ที่พบเห็นเป็นชิ้นส่วนลอยอยู่ในทะเล ส่วนที่เหลือมักจมลงบางส่วนคลื่นลมกระแสน้ำจะพัดพาออกไปไกล ขยะพลาสติกบางขางชนิดใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 450 ปี 

เรียกว่าสถานการณ์ขยะพลาสติกเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญระดับโลก หากยังไม่มีระบบการจัดการขยะที่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพได้มีการคาดการณ์ว่าภายใน 20 ปีข้างหน้า จะมีขยะหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมทั่วโลกจำนวนมากถึง 700 ล้านตัน

และบางชนิดอาจย่อยสลายจนกลายเป็นไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในระบบนิเวศ อันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศบนบกและระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ ซึ่งจากการศึกษางานวิจัยพบว่า มีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในร่างกายมนุษย์จากการบริโภคสัตว์น้ำมาอย่างต่อเนื่องและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี และอาจก่ออันตรายสะสมต่อสุขภาพในระยะยาว

นอกจากนี้ ย้อนกลับไปช่วงปี 2562 ประชาชนคนไทยตระหนักรู้ถึงสถานการณ์มลพิษขยะพลาสติกในทะเล สืบเนื่องจากเหตุการณ์การสูญเสียพะยูนขวัญใจมหาชน “มาเรียม” และ “ยามีล” ลูกพะยูนผู้พลัดหลงที่เกยตื้นขึ้นมา และเสียชีวิตจากการติดเชื้อจากขยะพลาสติกที่อุดตันในทางเดินอาหาร

จากการไปของลูกพะยูนทั้ง 2 ตัว ซึ่งแน่นอนว่าในความเป็นจริงมีมากกว่านั้น ทำให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พะยูน และการดูแลสิ่งแวดล้อมทางทะเลมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และเป็นสัตว์ป่าสงวน ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2535

โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดให้  วันที่ 17 สิงหาคม ของทุกปี เป็น “วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ”  เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของพะยูนที่มีต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเล และร่วมกันดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล

การจัดการสถานการณ์ขยะทางทะเลเป็นโจทย์ข้อใหญ่ของรัฐบาลทั่วโลก สำหรับประเทศไทย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้เข้าร่วมเวทีนานาชาติ CSIRO Ending Plastic Waste Symposium 2024 มีส่วนร่วมในการยกระดับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอันครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคตามมาตรฐานสากลที่ยึดมั่นในความเป็นกลาง เพื่อร่วมสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน

จากสถานการณ์ปัญหาขยะพลาสติกในภูมิภาคอาเซียน นำไปสู่ความร่วมมือในการจัดการขยะพลาสติกระดับภูมิภาค เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและสร้างเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จัดตั้ง  “เครือข่ายนวัตกรรมพลาสติกอินโด-แปซิฟิก (The Indo-Pacific Plastics Innovation Network หรือ IPPIN)”  ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับภูมิภาคที่ทำงานร่วมกันของประเทศต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือในการดำเนินการด้านการวิจัย การประกอบการ และการลงทุน รวมทั้ง ร่วมจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกในภูมิภาค โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย และดำเนินการโดยหน่วยงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย (The Commonwealth Scientific and Industrial Research Organization หรือ CSIRO) พร้อมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานในไทย เวียดนาม และ อินโดนีเซีย ก่อนจะขยายผลไปยัง ลาวและกัมพูชา ต่อไป ผ่านการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติเชิงพื้นที่


  ดร.วิจารย์ สิมาฉายา  ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) เปิดเผยเกี่ยวกับการดำเนินงานของ TEI ในการขับเคลื่อนเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกทั้งในเชิงระดับนโยบายและการปฏิบัติในพื้นที่ ได้แก่ โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติก และขยะอย่างยั่งยืน หรือ PPP Plastics เป็นการผนึกกำลังความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ในการเดินหน้าแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทย บนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน และการสร้างโมเดลการจัดการขยะและขยะทะเลในพื้นที่เกาะ
โดยมีต้นแบบการจัดการขยะพื้นที่ชายฝั่งทะเล  “เกาะลันเตา จ.กระบี่”  ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาพส่วน เป็นการพัฒนาต้นแบบการจัดการขยะบนเกาะเพื่อแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการขยะเกาะต่างๆ และแนวทางการจัดการขยะพลาสติกทะเล รวมถึง การพัฒนาโมเดลการจัดการขยะพลาสติกในชุมชนเมืองแบบครบวงจร และการสร้างต้นแบบการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน อันจะนำไปสู่การพัฒนาแบบแผนธุรกิจ (Business Model) ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ ลดปริมาณขยะพลาสติกของประเทศบนพื้นฐานของการจัดการขยะอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน ตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งได้แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์การจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทยร่วมกับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศ

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แนะนำการแก้ปัญหาทิ้งขยะพลาสติกไหลลงสู่ทะเล ซึ่งนอกจากจะช่วยทะเล สัตว์ทะเล และชายฝั่ง ให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์แล้ว ยังช่วยให้สถานการณ์ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และมลพิษของโลกดีขึ้นด้วย ดังนี้

1. ใช้วัสดุอื่นทดแทนพลาสติก ในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ใช้ถ้วย จาน และหลอดกระดาษ ใช้โฟมชานอ้อย หรือใบตองในการห่ออาหาร หรือลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง

2. ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายที่มีส่วนผสมของไมโครบีดส์

3. รีไซเคิล นำผลิตภัณฑ์พลาสติกเก่านำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle และ Reuse)

4. ติดตั้งทุ่นดักขยะ ในบริเวณคลองท่อระบายน้ำโดยใช้ตาข่ายและอวน หรือแห ดักขยะจากบริเวณปากแม่น้ำ หรือปากคูคลองระบายน้ำป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกหลุดไหลลงทะเล

5. เผาทำลายขยะอย่างถูกวิธี เผาทำลายเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าโดยใช้เตาเผาขยะที่ถูกหลักวิชาการ และนำพลังงานมาผลิตกระแสไฟฟ้า

6. การรณรงค์ร่วมกันเก็บขยะตกค้างในระบบนิเวศชายหาด ปะการัง และป่าชายเลน เพื่อลดปริมาณขยะลงสู่ทะเล

 จากข้อมูลข้างต้นชี้ชัดว่า ปัญหาขยะในทะเลเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศที่ไม่ควรมองข้ามและต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ซึ่งแหล่งที่มาของขยะพลาสติกล้วนเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และแน่นอนว่า การจัดการ “ขยะพลาสติก” นับเป็น “วาระสำคัญ” ของไทย ที่ต้องดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม 

ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยขับเคลื่อนแนวทางจัดการขยะพลาสติกอย่างน่าจับตา ย้อนกลับไปช่วงปีหลายปีก่อน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบ ร่างโรดแมป (Roadmap) การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อใช้เป็นกรอบนโยบายการบริหารจัดการขยะพลาสติกในภาพรวมของประเทศ ระบุให้มีการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 4 ชนิด ภายในปี 2565 เพื่อใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ (1) ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน (2) กล่องโฟมบรรจุอาหาร (3) แก้วพลาสติก ความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน และ (4) หลอดพลาสติก รวมทั้งส่งเสริมให้มีการนำพลาสติกกลับมารีไซเคิล ได้แก่ (1) ถุงพลาสติกหูหิ้ว (2) บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว (3) ขวดพลาสติก (ทุกชนิด) (4) ฝาขวด (5) แก้วพลาสติก (6) ถาด/กล่องอาหารและ (7) ช้อน/ส้อม/มีด กลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

และตั้งแต่ช่วงปี 2563 รัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ให้งดแจกถุงพลาสติกเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) เพื่อสร้างการรับรู้แก่สาธารณะตื่นตัวต่อปัญหาขยะพลาสติก

ขณะที่ ปี 2564 ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ อนุมัติแผน ลด-เลิกผลิตขยะพลาสติก เตรียมประกาศห้ามใช้ พลาสติก 4 ชนิด ได้แก่ โฟม ถุงหิ้ว แก้ว และหลอดพลาสติก แบบเด็ดขาดในปี 2565 พร้อมตั้งเป้าให้พลาสติกอีก 7 ชนิด เข้าสู่ระบบเศรษกิจหมุนเวียนให้ได้ไม่ต่ำกว่า 50%

นโยบายดังกล่าวนำมาซึ่งเสียงชื่นชมรัฐบาลที่จริงจังกับการแก้ปัญหามลพิษปัญหาขยะพลาสติก แต่ขณะเดียวกันก็ถูกปรามาสเป็นนโยบายผักชีโรยหน้า อีกทั้งยังเกิดดรามาประเด็นเรื่องที่ร้านค้างดให้ถุงพลาสติกแก่ประชาชนที่มาซื้อของ แต่กลับจำหน่ายเป็นทางเลือกแทนนั้น ซึ่งเอาเข้าจริงนอกจากไม่ช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกยังเป็นการผลักภาระให้ประชาชน

 ล่าสุด เป็นที่ประจักษ์ชัดแนวทางจัดการขยะพลาสติกของไทยเป็นในรูปแบบ “ไฟไหม้ฟาง” ไม่มีความยั่งยืนหรือเห็นผลเป็นรูปธรรมธรรมจากการกำหนดแนวทางโดยรัฐ  ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรการเรื่องการจัดการขยะพลาสติกมุ่งเน้นการข้อความร่วมมือในส่วนของผู้ผลิตผู้ประกอบการ อีกทั้ง กระแสแบนพลาสติกแผ่วไม่มีแรงขับเคลื่อนจากสาธารณะ ทำให้แนวทางดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร


นอกจากนี้ มีรายงานว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังกลายเป็น “ถังขยะโลก” ด้วยมีขยะล้นทะลักมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ “ขยะพลาสติก” และ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งมีผลคาดการณ์ว่าภายในปี 2573 จะกลายเป็นแหล่งพำนักของขยะกว่า 111 ล้านตัน

 งานวิจัยของกรีนพีซ ระบุว่า มาเลเซีย เวียดนามและไทย เป็นเป้าหมายลำดับแรกๆ ของขยะพลาสติก อีกทั้งหลังประเทศจีนแบนการนำเข้าขยะพลาสติก ช่วงปี 2560 ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2561 ประเทศไทยมีสถิติการนำเข้าขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็นต้นมา 

สถิติประเทศไทยผลิตขยะพลาสติกอยู่ในอันดับ 12 ของโลก ทั้งนี้ ไทยมีขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน (ร้อยละ 25) ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน (ร้อยละ 75) ซึ่งพลาสติกส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics) อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก กล่องโฟมบรรจุอาหาร ไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่

และทั้งหมดถูกทิ้งเป็นขยะมูลฝอยในปริมาณและสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ได้มีการศึกษาปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดขึ้น พบว่าช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีขยะพลาสติกประมาณ 6,300 ตันต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15 ของปริมาณขยะพลาสติกเมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันในสถานการณ์ปกติ เมื่อปี 2562 ซึ่งปริมาณขยะพลาสติกเฉลี่ย 2 ล้านตัน หรือประมาณ 5,500 ตันต่อวัน สืบเนื่องจากบริการ  Food Delivery และ Online Shopping เพิ่มขึ้น ประกอบกับการคัดแยกขยะมูลฝอยเพื่อนำมารีไซเคิลน้อยลง

ที่ต้องจับตาสถานการณ์ขยะในช่วงฤดูฝนอาจก่อให้เกิดปัญหาในการจัดการขยะมูลฝอยต่างๆ อาทิ ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชน ขยะพลาสติก ของเสียอันตรายทั้งจากชุมชนและปริมาณกากของเสียอุตสาหกรรม และปริมาณมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้น

 สุดท้ายการจัดการปัญหาขยะนับเป็นโจทย์ข้อยากของรัฐบาล เพราะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เมื่อมนุษย์เป็นปัจจัยการเพิ่มขยะพลาสติก มนุษย์ย่อมเป็นกลไกสำคัญในการลดปริมาณขยะพลาสติก.  



กำลังโหลดความคิดเห็น