xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ส่อง “แสนสิริ” หลัง “เศรษฐา” พ้นทำเนียบฯ ตรวจ “เอส.ซี.แอสเสท” รับ “นายกฯอิ๊ง” โกยกำไรอู้ฟู่ในยุคอสังหาริมทรัพย์ “ขาลง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 แพทองธาร ชินวัตร
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถึงแม้ว่า  เศรษฐา ทวีสิน  จะหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ด้วยคดีตั้ง “ทนายถุงขนม” เป็นรัฐมนตรี แต่หุ้นที่โยงการเมืองอย่าง  บมจ.แสนสิริ (SIRI)  ยังคงแข็งแกร่ง ยืนหนึ่งหุ้น SETHD จ่ายปันผลสูง และกวาดรายได้ครึ่งปี 2567 กว่า 20,000 ล้านบาท ฟันกำไร 2,700 ล้านบาท เรียกว่าไม่แผ่วลงแม้แต่น้อย

ในวันตัดสินคดี14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินคดี หุ้นบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) (SIRI) ปรับตัวลงรับข่าวร้ายอยู่ที่ 1.55 ลบ -0.04 (-2.52%) มูลค่าซื้อขาย 540 ล้านบาท แต่คล้อยหลังเพียงสัปดาห์เดียว เมื่อ SIRI ประกาศผลประกอบการ เป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ และปิดดีลขายหุ้นโรงแรม The Standard บรรดาโบรกเกอร์ต่างให้คำแนะนำนักลงทุนในการ “ซื้อ” เข้าพอร์ต

สำหรับผลประกอบการรอบ 6 เดือนแรกของปี 2567 ตามที่ วิชาญ วิริยะภูษิต ประธานผู้บริหารสายงานการเงิน บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดเผยถึงผลงานยอดขายที่ได้รับอานิสงค์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ว่าสร้างยอดขายรวมได้ถึง 25,000 ล้านบาท คิดเป็น 48% ของเป้าทั้งปีที่ตั้งไว้ 52,000 ล้านบาท รายได้ร่วม 20,000 ล้านบาท คิดเป็น 47% ของเป้าทั้งปีที่ 43,000 บาท เติบโตขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (YOY)

ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,700 ล้านบาท เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2567 ที่ทำกำไรสุทธิ 1,315 ล้านบาท และไตรมาสสอง กำไรสุทธิ 1,387 ล้านบาท หากพิจารณาด้านกำไรสุทธิจากธุรกิจหลัก (Core Profit) พบว่าเติบโตขึ้น 5% (YOY)

ผลประกอบการข้างต้น เป็นผลจากกลยุทธ์รักษาระดับผลประกอบการให้เติบโตอย่างสม่ำเสมอ การใช้เงินลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งสร้างผลตอบแทนสูงสุดกับผู้ถือหุ้น จากกำไรที่เติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้แสนสิริ ติดอันดับ 1 ในหุ้นกลุ่ม SETHD ที่จ่ายปันผลสูง (ข้อมูล ณ วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 อยู่ที่ 11.38%)

ล่าสุด คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล (Interim dividend) จากผลการดำเนินงานงวดวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2567 ในอัตรา 0.07 บาทต่อหุ้น ขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 28 สิงหาคม 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลแก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 11 กันยายน 2567 สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยพื้นฐานและผลประกอบการที่ดีของแสนสิริในอนาคต

 ความสำเร็จในครึ่งปีแรกของแสนสิริ มาจากการปิดการขาย (Sold Out) รวม 19 โครงการ มูลค่ารวม 15,200 ล้านบาท เช่น BuGaan พระราม 9-เหม่งจ๋าย, เศรษฐสิริ กรุงเทพ-ปทุมธานี, เอ็กซ์ที เอกมัย รวมถึง Business Model ใหม่ที่ตอบโจทย์ของลูกค้า และ Niche Market เช่น ELSE กรุงเทพกรีฑา และ PYNN อีกทั้งยังมีโครงการใหม่ใน Strategic Location ที่เชียงใหม่ เช่น อณาสิริ พายัพ ฯลฯ และไฮไลท์คอนโดมิเนียมเลี้ยงสัตว์ได้แห่งแรกในเชียงใหม่ที่ได้รับการตอบรับที่ดี  

ขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการ Joint Venture ยังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการโอนคอนโดมิเนียม เดอะ ไลน์ ไวบ์ มูลค่าโครงการ 4,400 ล้านบาท ภายใต้การร่วมทุนระหว่าง แสนสิริ และ แรบบิท โฮลดิ้งส์ ในกลุ่มบีทีเอส

ครึ่งปีหลัง แสนสิริ มีแผนเปิดตัวโครงการใหม่ 26 โครงการ มูลค่ารวม 38,700 ล้านบาท ไฮไลต์แนวราบ ภายใต้ 2 แบรนด์ใหม่  “ณริณสิริ”  บ้านเดี่ยวระดับพรีเมียม ราคาเริ่มต้น 40-80 ล้านบาท และ “เมเบิล” ราคา 6-8 ล้านบาท พร้อมโครงการคอนโดฯ แบรนด์ ดีคอนโด เป็นต้น

อีกทั้งยังเตรียมเปิดโปรเจกต์ใหญ่ ปักธงภูเก็ต ต้อนรับ High Season ในสิ้นปี ในย่านบางเทา-เชิงทะเล ซึ่งเปรียบเสมือนย่านทองหล่อในภูเก็ตอีกด้วย โดยทุ่มงบกว่า 4,000 ล้านบาท ลงทุน 4 โครงการ เช่น “The TALES”  แบรนด์ลักชัวรี พูลวิลล่า และ  “CANVAS Cherngtalay”  คอนโดมิเนียมแห่งแรกในโซนเชิงทะเล

 “จากภาพรวมทั้งหมด รวมถึงการเปิดตัวโครงการใหม่ที่มากกว่าครึ่งปีแรก แสนสิริจะมียูนิตพร้อมขายทั่วประเทศรวมมูลค่า 127,000 ล้านบาท ส่งผลให้การดำเนินงานทั้งในด้านยอดขายและรายได้เติบโตต่อเนื่อง และเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้” วิชาญ กล่าว

นอกจากผลประกอบการที่ออกมาอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เสมือนเป็น “แบรนด์แอมบาสเดอร์”  ให้กับแสนสิริทางอ้อมแล้ว แสนสิริ ยังมีข่าวบวกจากการปิดดีลขายหุ้น  โรงแรม The Standard ให้กับเครือ Hyatt อีกด้วย

 อุทัย อุทัยแสงสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แสนสิริ (SIRI)  เผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจากับ Hyatt ผู้ประกอบการโรงแรมระดับโลก เพื่อเข้าลงทุนใน Standard International คาดว่าดีลดังกล่าวจะมีความชัดเจนภายในปี 2567

ทั้งนี้ SIRI ประกาศขายหุ้นที่ถือในสัดส่วน 71% ของบริษัทย่อยที่ถือทั้งหมดใน The Standard International Management, LLC และ The Standard International BH Investors, LLC. รวมทั้งบริษัทย่อยที่เกี่ยวข้อง ให้แก่ Hyatt Corporation และ Hyatt International Corporation โดยมีราคาขายรวมไม่เกิน 355 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นักวิเคราะห์  บล.เอเซีย พลัส  มองว่า แรงหนุน SIRI จากข่าวประกาศเจรจาขายเชน The Standard ให้กับกลุ่ม Hyatt ซึ่งหากดีลมีความชัดเจน จะทำให้ SIRI ได้กำไรพิเศษจากการขายเข้ามา ซึ่งนำไปใช้ลงทุนขยายโครงการ หรือคืนหนี้ลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยได้ และมองแนวโน้มกำไรในครึ่งปีหลังจะสูงกว่าครึ่งปีแรก จากการที่เร่งเดินหน้าโอนโครงการแนวราบใหม่ที่สูงขึ้น ซึ่งในไตรมาส 3/67 และไตรมาส 4/67 ยังมีแผนการเปิดโครงการแนวราบอีกมาก ทำให้หนุน upside ของกำไรในครึ่งปีหลัง อีกทั้งการประกาศจ่ายปันผลระหว่างกาล 0.07 บาท/หุ้น ถือเป็นอัตราที่ยังน่าจูงใจให้ลงทุน

SANSIRI 10 EAST ลักชัวรีคอมมูนิตีที่อยู่อาศัย มูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาทพื้นที่กว่า 165 ไร่ บนถนนบางนา กม.10

“95E1 Ultra Luxury Residence” จากเอส.ซี.แอสเสท ราคาหลังละ 100 ล้านบาทบนทำเลซอยโยธินพัฒนา 3 กรุงเทพฯ
 บล. กสิกรไทย  วิเคราะห์ว่า ประเมินธุรกรรมดังกล่าวเป็นบวกกับ SIRI เพราะนอกจากจะสามารถบันทึกกำไรจากการลงทุนดังกล่าวได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท SIRI ยังจะได้รับกระแสเงินสดรับเข้ามามาก สามารถนำไปขยายงานต่อและนำไปชำระหนี้ บนสมมุติฐานมูลค่าขายที่ 355 ล้านเหรียญ และการถือหุ้น 71% และมูลค่าทางบัญชีของการลงทุนนี้ที่ 139 ล้านเหรียญ ประเมินกำไรขั้นต้นที่ 113 ล้านเหรียญ หรือ 3.16 พันล้านบาท

แต่เนื่องจากความไม่แน่นอนของกำไรส่วนเพิ่มจากเงื่อนไขบังคับก่อน หากประเมินกรอบกำไรไว้ที่ 50-100% ของสิ่งที่ประเมินข้างต้น กำไรส่วนนี้จะอยู่ที่ราว 1.58-3.16 พันล้านบาท บนจำนวนหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดที่ 17,253 ล้านหุ้น จะคิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 0.09-0.18 บาทต่อหุ้น จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้น SIRI ที่ราคาเป้าหมาย 2.06 บาท

ด้าน  บล.อินโนเวสท์ เอกซ์  วิเคราะห์ว่า มองบวกต่อดีลนี้ เนื่องจากธุรกิจโรงแรมไม่ใช่ธุรกิจหลักของ SIRI และที่ผ่านมาผลประกอบการเป็นขาดทุนมาตลอด หากดีลปิดในไตรมาส 3/2567 จะหนุนให้ประมาณการกำไรเพิ่มขึ้นทั้งเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน และเทียบจากไตรมาสก่อนหน้า เชื่อว่าจะเพิ่มกระแสเงินสด และทำให้ SIRI ไม่ออกหุ้นกู้เพิ่มในไตรมาส 4/2567 และใช้ส่วนนี้ชำระหนี้จำวน 4,900 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2567

 บล.กรุงศรีฯ มองบวกจากดีลนี้เช่นกัน จากการคาดรับรู้ extra gain ส่วนแรกภายหลังรับรู้ค่าค่าตอบแทนเริ่มแรกเข้ามา และอาจมี extra gain เพิ่มเติมในอนาคตจากค่าตอบแทนตามผลดำเนินงาน และค่าตอบแทนพิเศษตามผลดำเนินงาน ปัจจุบัน SIRI รับรู้ขาดทุนจาก The standard ราว 400 ล้านบาท ในปี 2567 ทำให้ลดผลกระทบจากรับรู้ขาดทุนได้ทันที กระแสเงินสดช่วยลดหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น และสามารถนำไปพัฒนาโครงการอื่นได้ ดังนั้นคงราคาเป้าหมายปี 2568 ที่ 2.20 บาท แนะนำ “ซื้อ” และเป็นหุ้น top pick สำหรับปี 2568

ส่องพอร์ตแสนสิริ ก็เห็นชัดเจนแล้วว่าได้รับผลบวกในสมัยรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน อย่างแข็งแกร่ง และบรรดาโบรกเกอร์มองบวกในอนาคต

 SC ตั้งเป้าทะยานสู่รายได้ 1.5 แสนล้าน ภายใน 5 ปี 

หันมาส่องพอร์ต  เอส.ซี.แอสเสท กันบ้าง หลังจาก  แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ต่อจาก เศรษฐา ทวีสิน

บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SC) เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตระกูลชินวัตร มีสินทรัพย์รวม ณ เดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ 68,269 ล้านบาท รายงานผลประกอบการครึ่งปี 2567 มีรายได้รวม 8,856 ล้านบาท กำไรสุทธิ 713 ล้านบาท

งบการเงินของ SC สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2566 มีรายได้รวม 24,682.80 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,482.27 ล้านบาท
SC มีชื่อเสียงเป็นเจ้าตลาดบ้านหรูในระดับราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป โครงการที่ขึ้นชื่อ เช่น แกรนด์ บางกอก บูเลอวอร์ด บ้านพรีเมียมตากอากาศ บูเลอวาร์ด ทัสคานี แต่ที่เรียกเสียงฮือฮาล่าสุดคือ “95E1 Ultra Luxury Residence” ราคาหลังละ 100 ล้านบาท มีเพียง 10 หลัง บนทำเลซอยโยธินพัฒนา 3 กรุงเทพฯ

เศรษฐา ทวีสิน
 ในปี 2567 SC มีโครงการเพื่อขายรวมทั้งสิ้น 86 โครงการ มูลค่ารวม 91,000 ล้านบาท โดยโครงการเปิดใหม่ รวม 17 โครงการ มูลค่ารวม 30,000 ล้านบาท ทั้งโครงการแนวราบและแนวสูง วางเป้าหมายสร้างยอดขายปีนี้ 28,000 ล้านบาท 

 ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์  ซีอีโอ ของ SC สามีของ “เอม-พิณทองทา” ตั้งเป้าหมายรายได้ 5 ปี (2567-2571) ไว้ที่ 1.5 แสนล้านบาท มูลค่าการลงทุนทั้งหมดประมาณ 25,000 ล้านบาท รวม 103 โครงการ ซึ่งนอกจากการพัฒนาโครงการเพื่ออยู่อาศัยแล้ว SC ยังมีแผนลงทุนธุรกิจใหม่ 4 ธุรกิจ 17 โครงการ เช่น อาคารสำนักงานให้เช่า, โรงแรม, คลังสินค้า และอสังหาฯ เพื่อเช่าในสหรัฐฯ กลางเมืองบอสตัน

 SC มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ประมาณ 10,521 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นล่าสุด ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ประกอบด้วย แพทองธาร ชินวัตร ถือหุ้นใหญ่สุด 1,216,149,870 หุ้น คิดเป็น 28.43% พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ 1,176,915,495 หุ้น คิดเป็น 27.52% บรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ถือหุ้นลำดับที่ 3 จำนวน 201,234,375 หุ้น คิดเป็น 4.71% และคุณหญิงพจมาน ถือหุ้นลำดับที่ 4 จำนวน 117,109,887 หุ้น คิดเป็น 2.74% เป็นต้น 

นอกจากพอร์ตหุ้น SC แล้ว แพทองธาร ยังถือครองหุ้น  บริษัท โรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน) หรือ PR9  โดยถือหุ้นอันดับ 14 จำนวน 5,000,000 หุ้น สัดส่วน 0.64% อีกด้วย และหากรวมมูลค่าหุ้นของ SC และ รพ.พระรามเก้า จะเท่ากับประมาณ 3,000 ล้านบาท

 นอกจากนี้ แพทองธาร ยังมีการลงทุนในบริษัทนอกตลาด รวมมูลค่า 5,430 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด สัดส่วน 30% มูลค่า 922 ล้านบาท, บริษัท พี.ที.คอร์ปอเรชั่น จำกัด สัดส่วน 30% มูลค่า 914 ล้านบาท, บริษัท บี.บี.ดี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด สัดส่วน 30% มูลค่า 911 ล้านบาท, บริษัท โอเอไอ แมนเนจเม้นท์ จำกัด สัดส่วน 30% มูลค่า 800 ล้านบาท, บริษัท เอส ซี เค เอสเทต จำกัด สัดส่วน 30% มูลค่า 549 ล้านบาท, บริษัท เอสซี ออฟฟิซ พลาซ่า จำกัด สัดส่วน 30% มูลค่า 418 ล้านบาท,

บริษัท เอส ซี ออฟฟิซ ปาร์ค จำกัด สัดส่วน 30% มูลค่า 70 ล้านบาท, บริษัท เทมส์ วัลลี่ย์ เขาใหญ่ โฮเต็ล จำกัด สัดส่วน 50% มูลค่า 201 ล้านบาท, บริษัท โอเอไอ คอนซัลแต้นท์แอนด์แมนเนจเม้นท์ จำกัด สัดส่วน 26.14% มูลค่า 98 ล้านบาท, บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด สัดส่วน 30% มูลค่า 152 ล้านบาท, บริษัท ทุนนวัตกรรม จำกัด สัดส่วน 45.44% มูลค่า 204 ล้านบาท, บริษัท อัลไพน์ การ์เด้น ดีไซน์ จำกัด สัดส่วน 99.99% มูลค่า 36 ล้านบาท และบริษัท ประไหมสุหรี พร้อพเพอร์ตี้ จำกัด สัดส่วน 45.11% มูลค่า 155 ล้านบาท 

แน่นอนว่า เมื่อขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แพทองธาร จะต้องเคลียร์การถือหุ้นที่อยู่ในมือออกไปเพื่อไม่ให้ขัดกฎหมาย ซึ่งต้องรอติดตามความมั่งคั่งของนายกรัฐมนตรีหญิงอายุน้อยที่สุดของไทยคนใหม่ถอดด้าม จะมีสักกี่มากน้อยหลังยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

มาดูตัวเลขภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในอาการทรงกับทรุดมาอย่างต่อเนื่อง ตามผลประกอบการครึ่งปีแรก 2567 ที่ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด  บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือแอลพีเอ็น รวบรวมข้อมูลที่บริษัทแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2567 พบว่า ภาพรวม 40 บริษัทมีรายได้รวมกัน 154,767.62 ล้านบาท ลดลง -0.08% เมื่อเทียบกับรายได้รวมในช่วงครึ่งปีแรก 2566 ที่มีจำนวน 154,894.87 ล้านบาท

ขณะที่กำไรสุทธิรวมกัน 13,322.01 ล้านบาท ลดลงมากถึง -23.33% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก 2566 ที่มีกำไรสุทธิรวมกัน 17,376.28 ล้านบาท สอดคล้องกับข้อมูลสำรวจยอดขาย หรือ Presale) ในช่วงครึ่งปีแรก 2567 ของสมาคมอาคารชุดไทย ที่ลดลงลึกถึง -28% บ่งบอกสภาพว่า อยู่ในช่วงขาลง

 อย่างไรก็ดี บริษัทที่ทำรายได้และกำไรสูงสุด อันดับหนึ่ง คือ แสนสิริ ตามมาด้วย เอพี ไทยแลนด์, แลนด์ แอนด์ เฮาส์ และ ศุภาลัย ตามลำดับ ส่วน เอสซี แอสเสท ทำรายได้สูงติดอันดับ 7 และทำกำไรติดอันดับ 9 

 เห็นความเป็นจริงที่ปรากฏแล้ว ต้องบอกว่า ขุมธุรกิจอสังหาฯ ของแสนสิริ ยึดแท่นยืนหนึ่ง ทิ้งห่าง เอสซี แอสเสท อยู่หลายช่วงตัว 


กำลังโหลดความคิดเห็น