xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปตท.อู้ฟู่ – ลุ้นต่อสัญญาก๊าซฯ พม่า กกพ.-“พิชัย” เร่งรัด OCA ไทย-กัมพูชา กดค่าไฟลงเหลือ 3.25 บาท/หน่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 แหล่งก๊าซฯ ยาดานาในเมียนมาร์
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  กลุ่ม ปตท. ยังคงรักษาความมั่งคั่งอย่างมั่นคง โดยรายงานผลประกอบการไตรมาส 2/ 2567 มีตัวเลขรายได้จากการดำเนินงาน 8.21 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 5.6% และมีผลกำไรสุทธิอู้ฟู่อยู่ที่ 3.54 หมื่นล้านบาท หรือปรับสูงขึ้นถึง 76.4% เมื่อเทียบปีก่อนตามหนังสือที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา 

รายได้และกำไรหลักๆ ของกลุ่ม ปตท. มาจากการค้าน้ำมันดิบ และ LNG นำเข้าที่มีราคาขายเพิ่มขึ้น อีกทั้งกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น และกลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีรายได้เพิ่มขึ้นจากทั้งปริมาณขายและราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มธุรกิจก๊าซฯ มีรายได้จากการขายลดลง เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยปรับลดลงตามราคา Pool Gas และปริมาณการขายลดลง ส่วนธุรกิจท่อส่งก๊าซฯมีรายได้เพิ่มขึ้นจากความต้องการของลูกค้า

ส่วนผลประกอบการครึ่งปีแรก 2567 ปตท.และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขาย 1,604,222 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 69,254 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 1,534,968 ล้านบาท

รายได้ครึ่งปี 2567 ที่เพิ่มขึ้น มาจากกลุ่มการค้าระหว่างประเทศ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากปริมาณการขายและราคาน้ำมันและแอลพีจี กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมถึงธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับธุรกิจท่อส่งก๊าซฯ ที่มีรายได้จากลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีก รายได้จากการขายลดลงแม้ว่าราคาขายปรับสูงขึ้น

ในครึ่งปีแรก 2567 ปตท. และบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) 234,051 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37,418 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 196,633 ล้านบาท

 สำหรับกำไรสุทธิในครึ่งปีแรก 2567 อยู่ที่ 64,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,475 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 34.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิจำนวน 47,962 ล้านบาท จาก EBITDA ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวข้างต้น และการรับรู้รายได้ที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำจากการขายเงินลงทุนการจำหน่ายสินทรัพย์ และกำไรจากการซื้อคืนหุ้นกู้ ประมาณ 10,000 ล้านบาท  

บล.เอเชีย พลัส วิเคราะห์ว่า ไตรมาส 3/2567 ปตท.และกลุ่มบริษัทย่อย จะมีกำไรทรงตัวเมื่อเทียบกับงวดก่อนหน้า โดยปัจจัยบวกมาจากธุรกิจโรงกลั่น ที่ราคาอิงตลาดสิงคโปร์ จะปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 4.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 อยู่ที่ 3.5 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนปัจจัยลบมาจากกลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่จะลดปริมาณการผลิตลงจากการปิดหลายแหล่งเพื่อซ่อมบำรุง

 ลุ้นต่อสัญญาก๊าซฯเมียนมา VS ถอนลงทุน กระทบค่าไฟ 

กล่าวสำหรับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ขณะนี้ กลุ่ม ปตท. อยู่ระหว่างเจรจาต่อสัญญาผลิตในแหล่งก๊าซฯของเมียนมา ตามที่  พรรณพร ศาสนนันทน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการเงิน บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) (PTTEP) เผยในงาน Oppday Q2/2024 PTTEP เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ว่า โครงการยาดานาในเมียนมา ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาลงในปี 2571 นั้น บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอต่อสัญญาการผลิตก๊าซฯออกไป และจำเป็นต้องลงทุนรักษากำลังการผลิตก๊าซฯเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน โดยจัดสรรงบประมาณ 40-50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี สำหรับลงทุนในช่วงปี 2568-2569

การลงทุนผลิตและสำรวจก๊าซฯ ในเมียนมาของกลุ่ม ปตท. ถูกกดดันจากนานาชาติที่คว่ำบาตรรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งปัจจุบัน แหล่งก๊าซฯ ที่ ปตท.สผ.ดำเนินผลิตในเมียนมา มี 2 แหล่ง คือ  แหล่งซอติก้า และ แหล่งยานาดา  และอีก 1 แหล่งสำรวจ คือ  โครงการเมียนมา M3  ซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่เดียวกัน สำหรับสองแห่งแรกมี MOGE รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของรัฐบาลเมียนมา เป็นผู้ร่วมลงทุน ขณะที่ บมจ.ปตท.เป็นผู้รับซื้อก๊าซฯ

ทั้งนี้ แหล่งยาดานา จะหมดอายุสัมปทาน วันที่ 31 กรกฎาคม 2571 ส่วนแหล่งซอติก้า หมดอายุสัมปทาน 31 มีนาคม 2587
ในการหารือเพื่อรับมือกับแรงกดดันดังกล่าว คณะผู้บริหารของ ปตท. ที่เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร (สส.) เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เห็นพ้องในหนึ่งข้อเสนอทางเลือกของ กมธ. คือถอนการลงทุนในแหล่งก๊าซทั้งหมดของรัฐวิสาหกิจไทยในเมียนมา แต่ไทยจะต้องจัดหา LNG เพิ่มเติมจากตลาด spot market เพื่อทดแทนสัดส่วนก๊าซจากเมียนมาที่หายไป ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น และประชาชนจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระดังกล่าว

“.... ทาง ปตท. ก็มองว่าแนวทางนี้มีความเป็นไปได้ และเป็นทางออกที่ดีที่สุด …. เรื่องนี้ก็ต้องนำเสนอกับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” เบญจา แสงจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในฐานะประธาน อนุ กมธ.ฯ กล่าว แต่ส่วนตัว เบญจา เห็นว่าแนวทางนี้อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด เนื่องจากส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า
ปัจจุบันก๊าซในอ่าวเมาะตะมะของพม่าจากแหล่งยาดานาและซอติก้า ถูกส่งเข้ามาเพื่อป้อนให้กับการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย วันละ 255 ล้านลูกบาศก์ฟุต และ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุต ตามลำดับ หรือคิดเป็นสัดส่วน ประมาณ 13% ของซัพพลายก๊าซฯของไทยในปัจจุบัน ส่วนอีก 50% ของก๊าซฯ ที่ใช้ในประเทศไทยได้จากอ่าวไทย และอีก 30% เป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศ และอีก 2% ได้จากแหล่งผลิตบนบกภายในประเทศ

 กกพ.- “พิชัย” เร่งรัด OCA ไทย-กัมพูชา กดค่าไฟฟ้าต่ำลง 
ก๊าซฯ จากเมียนมา เริ่มมีความเสี่ยง ก๊าซฯ จากอ่าวไทย เริ่มหมดลง การพึ่งพิงการนำเข้าก๊าซฯ LNG ในสัดส่วนที่สูงขึ้นตามลำดับ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า เพราะโรงไฟฟ้าหลักของไทยยังใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิง

ที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้ามาแบกรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที ตั้งแต่งวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2564 จนถึงงวดล่าสุดเดือนกันยายน - ธันวาคม 2567 เป็นวงเงินสะสมรวม 95,228 ล้านบาท บวกต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติ อีก 15,084 ล้านบาท (ส่วนของ ปตท. ประมาณ 12,000 ล้านบาท และ กฟผ. 3,000 ล้านบาท)

 การจัดเก็บอัตราค่าไฟฟ้างวดล่าสุด อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย นั้น เป็นผลจากการชะลอจ่ายหนี้คืนให้ กฟผ. และ ปตท. ดังนั้น เมื่อใดก็ตาม หากต้องจ่ายหนี้คืน ค่าไฟฟ้าจะพุ่งทะยานขึ้นไม่ต่ำกว่าหน่วยละ 6 บาทกว่า 
ในระยะสั้น ภาครัฐอาจจะใช้แนวทางทยอยคืนภาระต้นทุนคงค้างให้ กฟผ. ในจังหวะที่ราคา Spot LNG ที่เกิดขึ้นจริงต่ำลงกว่าที่ประมาณการ แต่ในทางความเป็นจริง หากย้อนดูเส้นกราฟเปรียบเทียบราคา Spot LNG ที่ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน สรุปไว้ จะเห็นว่าราคา Spot LNG มีความผันผวนค่อนข้างมาก หากไม่ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้า ก็ไม่มีทางที่จะปลดภาระหนี้ให้ กฟผ. ได้

ในการคำนวณค่าเอฟที งวดเดือนกันยายน - ธันวาคม 2567 นั้น ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ใช้ราคา Spot LNG ที่ 13.58 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากงวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2567 ที่มีราคา 10.38 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู หรือเพิ่มขึ้น 31% ในขณะที่ก๊าซฯจากอ่าวไทย ข้อมูลจาก สนพ. อยู่ที่ประมาณ 201 บาทต่อล้านบีทียู (คิดที่อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ หรืออยู่ที่ประมาณ 5.7 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู) หรือถูกกว่าราคา Spot LNG ช่วงเดียวกันกว่าเท่าตัว

นอกจากนั้น ตามร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2567-2580 หรือ PDP 2024 ก๊าซธรรมชาติ ยังเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ประมาณ 41% ของสัดส่วนเชื้อเพลิงทั้งหมด หากไทยไม่สามารถจัดหาแหล่งก๊าซฯ ในประเทศที่มีต้นทุนถูกกว่าการนำเข้า LNG ก็เป็นเรื่องยากที่อัตราค่าไฟฟ้าของไทยจะต่ำกว่าที่เป็นอยู่

 พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์  เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ชี้ว่า ก๊าซธรรมชาติจะยังเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่งหากไทยสามารถที่จะพัฒนาก๊าซฯ จากพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนไทย - กัมพูชา (Overlapping Claims Area หรือ OCA) โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีการลงทุนไว้แล้วในอ่าวไทย จะทำให้ก๊าซฯที่ผลิตได้มีต้นทุนที่ถูกกว่าราคา LNG นำเข้า ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงได้ในระยะยาว

เลขาธิการ กกพ. ย้ำว่า การเจรจาเรื่อง OCA ไทย-กัมพูชา หากได้ข้อสรุปวันนี้ ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 10 ปี จึงจะสามารถผลิตก๊าซขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ จึงเป็นเรื่องที่ฝ่ายนโยบายจะต้องตัดสินใจ

เช่นเดียวกันกับ  พิชัย ชุณหวชิร  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่กล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาพิเศษ “พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยในยุคโลกเดือด!” จัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ว่า หากสามารถนำก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา มาใช้ได้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ เพราะปริมาณก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่มากพอๆ กับที่ผลิตได้จากแหล่งในอ่าวไทย โดยที่ต้นทุนต่ำกว่า LNG ที่นำเข้า เพราะเจาะหลุมผลิตไม่ลึก การลงทุนไม่สูง สามารถช่วยให้ค่าไฟลดลงเหลือเพียง 3.25 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ไทยแข่งขันกับคู่แข่งอย่างเวียดนามได้ แต่ต้องเร่งเจรจาให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อีก 20 ปี ที่ตอนนั้นทั่วโลกอาจจะไม่ใช้น้ำมันแล้ว ก๊าซธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา ก็จะไร้ประโยชน์

ก่อนหน้านี้ พิชัย ชุณหวชิร ได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 โดยยืนยันถึงความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งเดินหน้าการเจรจากับทางกัมพูชา เพื่อนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้เป็นแหล่งพลังงานใหม่ที่จะสามารถใช้ได้ต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี และช่วยให้ราคาค่าไฟฟ้าลดลงมาเหลือในระดับกว่า 3 บาทต่อหน่วยได้ หากการเจรจายังล่าช้า ประเทศจะยิ่งเสียโอกาสในการนำพลังงานราคาถูกมาใช้ประโยชน์

 ชัย วัชรงค์  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุม ครม.ในวันดังกล่าวว่า ครม.หารือกันเรื่องแหล่งพลังงานใหม่จริง เพราะตราบใดที่แหล่งพลังงานในประเทศไม่เพียงพอ ไม่มีแหล่งพลังงานเป็นของตัวเอง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ การเปลี่ยนโครงสร้างราคาพลังงานจึงแทบเป็นไปไม่ได้

 ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.)
 3 สหภาพการไฟฟ้าฯ เสนอทบทวน PDP 2024 แก้ค่าไฟแพง 

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) ยื่นหนังสือถึง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา เสนอให้ทบทวนแผน PDP 2024 เพื่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศและแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าที่สูง กระทบต่อระบบเศรษฐกิจและประชาชน

 สรุปสาระสำคัญที่ขอให้ทบทวน เช่น ให้ทบทวนการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า โดยการใช้สัดส่วนอัตราการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ออัตราการเติบโตของ GDP (Electricity Elasticity - EE) ใหม่ จาก 1 : 1 เป็นเป็นใช้สัดส่วน EE ประมาณ 0.75 - 0.8 : 1 ซึ่งจะมีผลต่อการปริมาณการสำรองไฟฟ้า และความต้องการโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาในระบบ  

การทบทวนเรื่องการนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ให้มารวมอยู่ในระบบ Pool Gas ของประเทศ เพื่อให้ราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้ามีราคาถูกลงและเป็นธรรม

รวมทั้งทบทวนเรื่องสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าระหว่างภาครัฐกับเอกชน เพราะตามร่าง PDP 2024 เมื่อสิ้นสุดแผน กฟผ.จะเหลือกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่เพียงร้อยละ 17 ถือว่าน้อยมากในภารกิจสำคัญที่ต้องดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ ที่อนาคตจะมีความผันผวนมากยิ่งขึ้นจากนโยบายของรัฐที่จะให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเข้ามาจำนวนมาก

นอกจากนั้น ควรเจรจาเพื่อทบทวนสัญญาข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อพลังงาน (Power Purchase Agreement – PPA) กับโรงไฟฟ้าเอกชนในเรื่องการจ่ายเงินค่าความพร้อมจ่าย (AP) ให้ลดลงเหลือน้อยที่สุดเช่น 10-20 สตางค์ต่อหน่วย (ปัจจุบันค่าเฉลี่ย AP ประมาณ 75-80 สตางค์ต่อหน่วย) โดยอาจแลกกับการขยายอายุสัญญาหรือเงื่อนไขอื่นที่เหมาะสม โดยเลือกโรงไฟฟ้าที่ประกอบการมาคุ้มทุนแล้ว (อายุ 7-10 ปี) นำร่องโรงไฟฟ้าในเครือ กฟผ. และ ปตท. ก่อนขยายไปยังเอกชนรายอื่น

 การแสวงหาหนทางแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพงทั้งระยะสั้นและระยะยาว เป็นโจทย์ท้าทายรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งให้คำมั่นสัญญากับประชาชนตั้งแต่เมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้ง แต่นับเวลาล่วงมาเป็นปีที่เข้าบริหารประเทศจนบัดนี้ยังมีแต่การแก้ผ้าเอาหน้ารอดเฉพาะหน้า ไม่มีผลงานสุดปังที่ยั่งยืนให้เห็นชัดเจน 


กำลังโหลดความคิดเห็น