xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ส่องเทรนด์ธุรกิจคาเฟ่สัตว์เลี้ยง ชำแหละ! คนใจเหี้ยมหากินกับแมว รัฐต้องแก้โจทย์ จัดระเบียบค้าสัตว์ให้ใจฟู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เทรนด์ธุรกิจคาเฟ่แมว เริ่มเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2555
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  จับตา! ธุรกิจคาเฟ่สัตว์เลี้ยง “คาเฟ่แมว - คาเฟ่หมา” เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มคนรักสัตว์ เกิดคำถามถึงคุณภาพชีวิตของบรรดาสัตว์เลี้ยงทำเงิน หลังจากเกิดกรณีฉาว “อดีตคาเฟ่แมว” ทอดทิ้งแมวสวยสายพันธุ์ดี 31 ตัว รวมทั้งประเด็น “จัดระเบียบการค้าสัตว์เลี้ยง” หลังมีการถอดบทเรียนกรณีเพลิงไหม้ตลาดสัตว์เลี้ยงจตุจักร จนทำให้สัตว์เสียชีวิตหลายพันตัวเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 

ทั้งหมดสะท้อนถึงปัญหาด้านคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยง ความไร้สำนึกของผู้ประกอบการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง มุ่งเน้นแสวงหาผลกำไรโดยไม่เหลียวแลสวัสดิภาพของสัตว์ การจัดการของรัฐในกิจการจำหน่ายสัตว์เลี้ยงที่หละหลวมล้มเหลวนำไปสู่โศกนาฏกกรรมครั้งใหญ่

นับเป็นเหตุการณ์สร้างความเสทือนใจบรรดาคนรักสัตว์ โดยเฉพาะ  “ทาสแมว” กรณีมีผู้ติดต่อไปยังเพจ  Captain Quint's Family  หลังพบแมวสายพันธุ์ดี 31 ตัว ถูกทอดทิ้งในบ้านเช่า โดยไม่มีคนดูแล ซึ่งทั้งหมดเป็นสมาชิกของอดีตคาเฟ่แมวแห่งหนึ่ง โดยเพจฯ ดังกล่าว ได้เป็นตัวกลางประสานผู้เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบให้การช่วยเหลือเบื้องต้น พบฝูงแมวอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แย่มาก สภาพเนื้อตัวมอมแมม รูปร่างผอมโซ บางตัวป่วย มีอาการหนัก จึงมีการดูแลรักษาเบื้องต้น ก่อนนำเรื่องราวมาเผยแพร่ในโซเซียลมีเดีย

โดยทางเพจฯ ดังกล่าวมีความตั้งใจให้แมวทั้งหมดไปหาบ้านใหม่ เพื่อที่เจ้าของใหม่จะได้ช่วยดูแลรักษาอย่างเต็มกำลัง แต่เจ้าของแมวชาวจีนไม่ยอม และยืนยันว่ามีเงินเมื่อไหร่จะมาชำระค่าเช่าบ้าน และรับแมวไปดูแลต่อเองทั้งหมด ยืนยันว่าระหว่างนี้จะไม่ยกให้ใครทั้งนั้น ต่อมา แฟนชาวไทยที่เลิกกันไปแล้วแจ้งความประสงค์ต้องดูแลแมวทั้งหมดต่อเอง ดังนั้น บทสรุปสุดท้ายยังต้องติดตามว่าจะจบลงอย่างไร

คาเฟ่แมวเป็นกระแสนิยมได้รับความสนใจในกลุ่มคนรักสัตว์ โดยรูปแบบของคาเฟ่แมวมีการเก็บค่าเข้าราคาแตกต่างกันไป โดยลักษณะของคาเฟ่แมวจะเป็นร้านขายอาหารพร้อมเครื่องดื่ม ที่คนรักแมวสามารถใช้เวลาไปกับการเฝ้ามองแมวหลายชนิดหลายสายพันธุ์ได้อย่างอิสระ บางร้านอาจอนุญาตให้เล่นหรือสัมผัสกับแมวในระสั้นๆ รวมทั้ง จำหน่ายอาหารสำเร็จรูป อาหารเสริม ขนมขบเคี้ยว เสื้อผ้า และของเล่นสำหรับแมวด้วย

 วิทยานิพนธ์เรื่อง “Cat Cafe : วัฒนธรรมสมัยนิยมของคนรักแมว” ผู้เขียน ณัฐปภัสร์ มนพิชญ์สินี ระบุว่าคาเฟ่แมวมีการแพร่กระจายจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2555 และเกิดกระแสความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยกระแสความนิยมคาเฟ่แมวเนื่องมาจากอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ ประกอบกับปัญหาค่าครองชีพสูงและแหล่งพักอาศัยอันมีพื้นที่จำกัดในปัจจุบัน จึงไม่เอื้อให้ผู้คนได้ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงดังเช่นสังคมในอดีต ส่งผลให้ผู้คนโหยหาและต้องการพื้นที่ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง คาเฟ่แมวเป็นมากกว่าพื้นที่ที่อนุญาตให้เพลิดเพลินไปกับแมวภายในร้าน และสามารถตอบโจทย์ชีวิตในสังคมเมืองได้เป็นอย่างดี นับเป็นการบำบัดและเติมเต็มความรู้สึกที่ถูกจำกัดหรือขาดหายไป 

ผู้ใช้บริการคาเฟ่แมวส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่มีการศึกษา การเสพบรรยากาศของร้านจึงเข้ากันได้ดีกับรสนิยมของคนกลุ่มนี้ ซึ่งถูกมองว่าเป็นบุคคลที่มีรสนิยมทันสมัยและรักสัตว์อย่างมีระดับ ดังนั้น คาเฟ่แมวจึงไม่ได้ตอบสนองเพียงแค่ความต้องการพื้นฐานด้านร่างกายเท่านั้น หากแฝงไปด้วยความหมายของการใช้บริการที่สะท้อนคำนิยมและความหมายร่วมกันชุดหนึ่ง เพื่อตอบสนองความต้องการด้านจิตใจของปัจเจก

 หากย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น คาเฟ่แมวแห่งแรกของโลกเปิดให้บริหารที่กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ปี 1998 ท่ามกลางบรรยากาศอบอุ่นของร้านกาแฟในส่วนดอกไม่และแมว ด้วยคาเฟ่มีรูปแบบร้านแปลกใหม่ กลายเป็นจุดดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ก่อนขยายความนิยมไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะญี่ปุ่นรวมถึงไทยด้วย 

สำหรับการเปิดคาเฟ่แมวหรือคาเฟ่สัตว์เลี้ยงนั้นต้องมีการขออนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 2 ประเภท ประกอบด้วย ใบประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทที่ 1 วงเล็บ 2 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2558 และใบอนุญาตสถานประกอบกิจการจำหน่ายอาหาร ที่มีขนาดเกินกว่า 200 ตารางวา

กรมอนามัย ระบุว่าธุรกิจคาเฟ่ประเภทสัตว์เลี้ยงเปิดบริการแบบขายอาหารและเครื่องดื่ม และนำสัตว์เลี้ยงปล่อยให้เดิน นั่ง นอน ภายในร้าน เพื่อให้ลูกค้าสัมผัสและถ่ายรูปเล่นระหว่างรับประทานอาหารในร้าน หรืออนุญาตให้ลูกค้านำสัตว์เลี้ยงของตนเข้ามาได้ ต้องควบคุมการทำความสะอาดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคที่เกิดจากสัตว์เป็นสื่อได้ โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้าที่เกิดได้ทั้งในสุนัข, แมวหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งอาจแพร่เชื้อได้จากการกัดหรือข่วน

ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสมูล ปัสสาวะของสัตว์เลี้ยงรวมถึง น้ำมูก น้ำลายซึ่งอาจทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนมากับอาหารและน้ำ หากสัมผัสสัตว์เลี้ยง จึงมีข้อแนะนำว่าควรล้างมือทุกครั้งหลังการสัมผัสสัตว์เลี้ยงและก่อนสัมผัสอาหาร ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองสัตว์ ตาม พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 เป็นกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองสัตว์ โดยโทษตามกฎหมายคุ้มครองสัตว์ที่จะได้รับหากทำการทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งจะมีการเอาผิดทั้งเจ้าของสัตว์ที่ไม่ทำหน้าที่ของตนเอง รวมไปถึงผู้ที่มีการทารุณกรรมสัตว์ด้วยเหตุไม่ควร เบื้องต้นมีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โซเซียลมีเดียแชร์ภาพคาเฟ่แมวเลิกกิจการ ทอดทิ้งแมว 31 ตัว ในบ้านเช่าแห่งหนึ่ง
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจคาเฟ่สัตว์ต้องมีความรับผิดชอบดูแลสวัสดิภาพของสัตว์เลี้ยง โดยแนวทางของรัฐหลังจากออกใบอนุญาตเปิดกิจการให้แล้วเสร็จ มีแนวทางตรวจสอบกิจการดังกล่าวหรือไม่อย่างไร

อีกเรื่องที่ต้องจับตา ว่าด้วยการจัดระเบียบ  “การค้าขายสัตว์เลี้ยง”  ซึ่งเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงที่กำลังเติบโต จากกรณีเพลิงไหม้ตลาดสัตว์เลี้ยงจตุจักร หรือ ตลาดศรีสมรัตน์ เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2567 เป็นเหตุให้สัตว์เลี้ยงเสียชีวิตเป็นจำนวนมากกว่า 5,000 ตัว อาทิ สุนัข แมว นก ซูก้าไรเดอร์ เม่น ลิง ปลา เต่า ฯลฯ

โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสัตว์และควบคุมการเลี้ยงสัตว์ อาทิ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557, พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 หรือ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 แต่ยังไม่มีกฎหมายที่ควบคุมกำกับดูแลร้านค้าเป็นการเฉพาะ

 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงประเด็นการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ และกรณีไฟไหม้ตลาดศรีสมรัตน์ ความว่าตลาดศรีสมรัตน์ มีการค้าขายสัตว์มาประมาณ 20 ปีแล้ว โดยต่อสัญญาใหม่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.การสาธารณสุข (ใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แบบ อภ.2) ขอกับ กทม. พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ (ใบอนุญาตให้ทำการค้าหรือซากสัตว์ แบบ ร.10 ) ขอกับกรมปศุสัตว์ และ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กทม. ไม่เคยออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพให้แก่ร้านค้าสัตว์ เนื่องจากยังขาดความชัดเจนในข้อกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม กทม. มีนโยบายเรื่องการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตลอดช่วงชีวิต จึงได้ทำการสำรวจในส่วนของกิจการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ตั้งแต่เดือนเมษายน – กรกฎาคม 2566 กระทั่งวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ได้ทำหนังสือถามถึงข้อกฎหมายไปยังกรมอนามัยเรื่องกิจการที่ต้องขอใบอนุญาตกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และได้รับคำตอบกลับมาเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ว่ากิจการค้าสัตว์เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งชัดเจนว่าต้องขออนุญาตทั้งหมด ทั้งประเภทฟาร์ม ร้านจำหน่ายสัตว์เลี้ยง ประเภทคาเฟ่สัตว์เลี้ยง และประเภทกิจการสปา อาบน้ำ ตัดขน รับฝากสัตว์เลี้ยงชั่วคราว จึงได้สั่งการให้สำนักงานเขตลงพื้นที่เพื่อตรวจประเมินกิจการที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายการตรวจประเมินเสร็จสิ้น 15 กรกาคม 2567 แต่ก็มามีเหตุเพลิงไหม้ตลาดศรีสมรัตน์ ในวันที่ 11 มิถุนายรน 2567

โดยสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) และองค์กรเครือข่าย เสนอแนวทางในการควบคุมร้านค้าสัตว์เลี้ยง ถอดบทเรียนจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ตลาดค้าสัตว์แหล่งใหญ่ของไทย ดังนี้

1. จัดให้มีเครือข่ายเฝ้าระวังติดตาม ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์เพลิงไหม้ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยผลการตรวจสอบต่อสาธารณะโดยด่วน และติดตามการดำเนินการพัฒนาปรับปรุง อาคารสถานที่ขายสัตว์เลี้ยง ให้มีมาตรฐาน รวมทั้ง มีมาตรการแผนระงับเหตุป้องกันอัคคีภัยและด้านความปลอดภัยอื่นๆ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้งหมด

2. สนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการด้านการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ในการจัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติมาตรฐาน ตามข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานคร เรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ.2561 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการขออนุญาตเปิดร้านประกอบกิจการค้าสัตว์ หรือกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยง

3. สนับสนุนการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ด้านนิติวิทยาศาสตร์ กรณีสัตว์ประสบภัยพิบัติ อัคคีภัย แก่หน่วยงาน เจ้าหน้าที่ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เวลาเข้าไประงับเหตุ

4. จัดอบรมให้ความรู้ การช่วยเหลือฉุกเฉิน กรณีสัตว์ประสบภัยพิบัติ อัคคีภัย

5. ร่วมเป็นเครือข่าย สนับสนุนเฝ้าระวัง ติดตามบังคับใช้ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557

และ 6. ขอให้กรมปศุสัตว์ มีการศึกษาข้อดีและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการขอใบอนุญาตของสถานเพาะพันธุ์สุนัขแมวและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ เพื่อออกข้อกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องมีการขอใบขออนุญาตสถานเพาะพันธุ์เพื่อจะได้ กำหนดการเริ่มต้นหรือการเพิกถอน มาตรการการลงโทษ การสิ้นสุดของใบอนุญาตได้นั้น ซึ่งจะเป็นผลดีในระยะยาวของการกำกับ ติดตามดูแล ซึ่งจะเป็นการช่วยพัฒนาสถานประกอบการให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานสากล ลดปัญหาการทารุณกรรมสัตว์

 สุดท้ายทั้งเรื่องของการจัดการกิจการคาเฟ่สัตว์เลี้ยงและจัดระเบียบร้านค้าสัตว์เลี้ยง เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องสร้างมาตรฐานและบรรทัดฐานให้ชัดเจน เพื่อสอดรับการเติบโตของอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง. 




กำลังโหลดความคิดเห็น