xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทุนจีนยำเละ “เหล็กไทย” - “ชามไก่” เย้ยกม.ขนสารพิษ-ตั้งโรงงานเถื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สินค้าราคาถูกจากจีนที่ทะลักเข้ามาไทยเป็นพายุบุแคมในเวลานี้ หนึ่งในนั้นคือ “ชามไก่จีน” ที่เข้ามาตีตลาดกระจุย ทุบ “ชามไก่ลำปาง” ที่ขึ้นชื่อเป็นสินค้า GI ล้มหายตายจาก เหลือผู้ประกอบการหลักสิบจากหลักร้อย 

นับเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะก่อนโควิด-19 โรงงานเซรามิกลำปาง มีอยู่ประมาณ 328 แห่ง เหลือรอดมาได้เพียง 80 กว่าแห่ง เมื่อเจอดอกซ้ำจาก  “ชามไก่จีน”  ราคาถูกสุดๆ แค่ 5 บาท 10 สิบบาท ที่ทะลักเข้ามามากมายในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเซรามิกลำปางจึงอยู่ในสภาพที่ร่อแร่ทั้งระบบ หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ปิดงานเลิกจ้างตามมา

 “ตอนนี้เราโดนซ้ำเติมจากสินค้าออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ จากประเทศจีนที่ส่งเข้ามาที่ตลาดในเมืองไทย อยากวิงวอนรัฐบาลให้ช่วยเร่งแก้ไขปัญหานี้โดยด่วน” ปรีชา ศรีมาลา นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาจังหวัดลำปาง เรียกร้อง  

ย่างไรก็ดี ทางรอดของ  “ชามไก่ลำปาง” ต้องมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพสินค้ามากกว่าการแข่งขันด้านราคา ชูจุดขายการวาดลวดลายด้วยมือที่สวยงาม ปลอดภัยจากสารตะกั่ว สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้ โดยภาครัฐสนับสนุนด้านพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของต้นทุนที่สูงขึ้น รวมทั้งส่งเสริมทักษะสร้างเอกลักษณ์ให้โดดเด่น มีคุณภาพ

 อธิภูมิ กำธรวรรินทร์  ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง มองเรื่องชามไก่ลำปางกับชามไก่จีนที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในเวลานี้ว่า ลายไก่ลำปางเดิมไม่ใช่ของลำปาง แต่มาจากประเทศจีน ซึ่งชาวจีนที่มาตั้งรกรากในลำปาง นำลายไก่จากจีนมาผลิตที่ลำปางด้วย เพราะลำปางมีแหล่งดินขาวที่ผลิตเซรามิกได้ใกล้เคียงกับจีน

แต่เดิมนั้นชามไก่ของจีนและชามไก่ของลำปางสมัยก่อนเขียนลายด้วยมือ แต่ปัจจุบันการผลิตชามไก่ของจีนใช้รูปลอกเซรามิกแทนการเขียนลาย จึงมีความเหมือนของลวดลายไก่ทุกใบ แต่ชามไก่ลำปางยังเขียนด้วยมือเหมือนเดิม ทุกใบมีความแตกต่าง

ส่วนชามไก่จีนใบละ 5 บาท เป็นเรื่องเอาแพะกับแกะมาผสมกัน มองว่าเหมือนกัน แต่ข้อเท็จจริง ชามใบละ 5 บาท เป็นสินค้ามีตำหนิมาก เน้นขายถูก ไม่มีลวดลายอะไรมาก หากมีตำหนิน้อยจะขายแพงขึ้น ส่วนการโฆษณาใบละ 5 บาท เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้าร้านมากกว่าจะขายใบละ 5 บาท จริงจัง

 ในฐานะที่อยู่กับเซรามิกลำปางมาเกือบ 30 ปี อธิภูมิ เห็นความเปลี่ยนแปลงความจริงของเซรามิกลำปางคือ ยิ่งขายยิ่งถูก ยิ่งผลิตคุณภาพยิ่งต่ำ เพราะวัตถุดิบต้นน้ำและต้นทุนเราสู้จีนไม่ได้ และผู้ผลิตในลำปางแข่งขันกันด้านราคาและลดต้นทุนทั้งที่ต้นทุนสูงมากอยู่แล้ว 

สำหรับสินค้าจากจีนไม่ได้คุณภาพอาจมีเรื่องสารพิษจากรูปลอกบนเคลือบอุณหภูมิต่ำ แต่ไม่ได้มีสารพิษทุกชิ้น ต้องตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่มกราคม - พฤษภาคม 2567 มีการนำเข้าเซรามิกจากจีนมากกว่า 3,000 ตัน ในราคาเฉลี่ย 8.96 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่สำแดงขณะนำเข้า ซึ่งข้อเท็จจริงราคาต้องสูงกว่านี้

 นอกจากนั้น ข้อเท็จจริงยังมีการนำเข้ามามากกว่าที่แสดง แต่ไม่มีการลงบันทึกตามพิธีการศุลกากร ประเมินว่านำเข้ามามากกว่า 2-3 เท่าของที่สำแดง นั่นแปลว่าเซรามิกจากจีนเข้ามาท่วมตลาด และเข้ามาแข่งขันกับผู้ประกอบการในประเทศอย่างหนัก ทำให้เซรามิกที่ผลิตในประเทศสู้จีนไม่ได้ 

 “ชามไก่ลำปาง” ที่ได้รับผลกระทบหนักจากสินค้าจีน อาจเป็นเพียง “น้ำจิ้ม” หากเทียบกับ “อุตสาหกรรมเหล็ก”  ที่มีมูลค่านับแสนล้าน ซึ่งผู้ประกอบการเหล็กของไทย ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการทุ่มตลาดของเหล็กนำเข้าจากจีนต่อเนื่องหลายปีจนใกล้สูญพันธุ์ และตอนนี้นักลงทุนจากจีน ขยายการลงทุนอุตสาหกรรมเหล็กในไทย ด้วยกำลังการผลิตที่มากเกือบจะเพียงพอต่อความต้องการใช้เหล็กในประเทศไทย จนเป็นที่น่ากังวลยิ่งว่าหากภาครัฐยังดำเนินการต่างๆ ไม่ทันการณ์ โรงงานเหล็กไทยจะต้องปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานอีกจำนวนมาก

 ชามไก่ลำปางที่ถูกชามไก่จีนเข้ามาตีตลาด

อุตสาหกรรมเหล็กที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการทุ่มตลาดของเหล็กนำเข้าจากจีนต่อเนื่องหลายปีจนใกล้สูญพันธุ์
 เกรียงไกร  เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์สื่อว่า จากการรวบรวมข้อมูลของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. พบว่า ขณะนี้ 2 บริษัทเหล็กจีนที่เข้ามาลงทุน มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นรวม 12.42 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้เหล็กของไทยในปี 2567 อยู่ที่ 16 ล้านตัน

บริษัทเหล็กจีน 2 รายดังกล่าว ประกอบด้วย  บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด  ตั้งอยู่ที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง มีกำลังการผลิต 12.09 ล้านตันต่อปี ทั้งโรงงานเหล็กลวด เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กเคลือบ เหล็กท่อ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ โดยได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ

อีกบริษัท คือ  บริษัทหย่งจิน เมทัล เทคโนโลยี จำกัด  ตั้งอยู่ที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี มีโรงงานเหล็กกล้าไร้สนิม กำลังการผลิต 0.33 ล้านตันต่อปี ได้รับบีโอไอแล้วเช่นกัน

 การรุกเข้ามาของเหล็กจีน ทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กไทย ต่ำสุดในรอบ 7 ปี โดย ส.อ.ท.ให้ตัวเลขว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ระดับ 29.3% โดยปี 2566 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพียง 31.2% ส่วนปี 2565 อยู่ที่ 33.4% เท่านั้น 

ประธาน ส.อ.ท.เรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรม ควบคุมการตั้งโรงงานผลิตเหล็กจากต่างชาติ เพราะกำลังการผลิตเหล็กของผู้ประกอบการไทย มีเพียงพอต่อความต้องการใช้เหล็กในประเทศอยู่แล้ว

สำหรับสาเหตุที่อุตสาหกรรมเหล็กจีนทะลักมาไทย อาจมาจากนโยบายลดมลพิษในจีน อุตสาหกรรมก่อสร้างในจีนถดถอย และกรณีทั่วโลกใช้มาตรการทางการค้าตอบโต้จึงต้องหาแหล่งลงทุนใหม่

 การทุ่มตลาดเหล็กของจีน ส่งผลสะเทือนบริษัทผู้ผลิตเหล็กไทยรายใหญ่ คือ บริษัท มิลล์คอน บูรพา จำกัด สาขาระยอง โดย ประวิทย์ หอรุ่งเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ออกประกาศเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 แจ้งหยุดกิจการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2567 ถึง 13 กันยายน 2567 โดยจ่ายค่าจ้าง 75% สำหรับวันที่ไม่ได้มาปฏิบัติงาน และจ่ายค่าจ้าง 100% สำหรับวันที่มาปฏิบัติงาน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมเหล็กจากกลุ่มทุนนอกที่เข้ามาประกอบธุรกิจในไทย ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมผู้ผลิตเหล็กในประเทศ และการประกอบธุรกิจของบริษัท มียอดขายลดลง ขาดสภาพคล่องทางการเงิน 
มิลค์คอน บูรพา จดทะเบียนเมื่อปี 2567 มีกรรมการบริหาร อาทิ พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ, สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล, พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เป็นต้น โดยปี 2564 มีรายได้รวม 10,613 ล้านบาท กำไร 335 ล้านบาท ปี 2565 รายได้รวม 14,830 ล้านบาท กำไร 64 ล้านบาท ปี 2566 รายได้รวม 14,913 ล้านบาท ขาดทุน 383 ล้านบาท

นอกจากกลุ่มทุนเหล็กจีนเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทยแล้ว ยังมีปัญหาสินค้าเหล็กนำเข้าไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูป อาจส่งผลด้านความปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้าสินค้าเหล็กโครงสร้างสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากจีน โดยปี 2566 มีปริมาณนำเข้า 426,340 ตัน มูลค่า 21,000 ล้านบาท เป็นสัดส่วนการนำเข้าจากจีนสูงถึง 92% มูลค่า 18,000 ล้านบาท 

ที่ผ่านมา ส.อ.ท.เรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาปกป้องอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งเป็นสินค้าอุตสากรรมขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน โดยขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม ออกมาตรการห้ามตั้ง ห้ามขยายโรงงานเหล็ก การบังคับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อควบคุมคุณภาพส่วนประกอบสินค้าโครงสร้างสำเร็จรูป และขอให้กระทรวงพาณิชย์ ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) และเก็บอากรการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG) สินค้าเหล็กทุกประเภท 25% ฯลฯ

 ขณะที่ภาครัฐ ตอบรับโดยออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ตัวอย่างเหล็กแผ่นรีดร้อน แต่มีการหลบเลี่ยงด้วยการเติมอัลลอย ปรับส่วนผสมทางเคมีเพื่อเปลี่ยนพิกัดศุลกากรและเลี่ยงอากร AD ดังนั้น จึงต้องหามาตรการเร่งด่วนอื่นๆ รับมือเพิ่มเติม เช่น การผลักดันเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เป็นต้น  

การมาของ  “พญามังกร”  ส่งผลกระทบกระเทือนกันถ้วนทั่วทั้งแผ่นดิน ไม่แต่  “ทุนจีนสีขาว”  ที่เข้าออกตามช่องตามกฎหมายเท่านั้น ยังมี  “ทุนจีนเทา”  ที่เข้ามาทำมาหากินในประเทศไทยสร้างผลกระทบด้านลบไม่น้อย โดยกลุ่มทุนจีนที่ลักลอบทำธุรกิจผิดกฎหมายที่เพิ่งจับได้คาหนังคาเขาเมื่อเร็วๆ นี้คือ การลักลอบขนสารพิษ และการตั้งโรงงานเถื่อน ซึ่งผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดตามล้างตามเช็ดกันไม่หวาดไม่ไหว


เจ้าหน้าที่บุกโรงงานเพิ่มพูนทรัพย์ ต.โพรงมะเดื่อ อ.เมือง จ.นครปฐม ที่ลักลอบหลอมอะลูมิเนียมดรอส 1.2 หมื่นตัน เพื่อไปส่งที่โรงงานไท่เป่าอะลูมิเนียม ต.บางกระ เจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ซึ่งทั้ง 2 โรงงานมีคนจีนเป็นเจ้าของ


อย่างไรก็ดี กรณีล่าสุดเมื่อวันที่ 10-11 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ตำรวจทางหลวงนครปฐม ตรวจพบรถบรรทุกกึ่งพ่วงบรรทุกถุงบิ๊กแบ็คมาเต็มคันรถ ตรวจพบเป็นวัตถุอันตรายจึงประสานอุตสาหกรรมจังหวัดร่วมตรวจสอบ และขยายผล โดยตำรวจสอบสวนกลาง บก.ปทส. บก.ทล. ร่วมกระทรวงอุตสาหกรรม บุกจับโรงงานเถื่อน คือ โรงงานเพิ่มพูนทรัพย์ ต.โพรงมะเดื่อ อ.เมือง จ.นครปฐม แอบหลอมอะลูมิเนียมดรอส 1.2 หมื่นตัน เพื่อไปส่งที่ โรงงานไท่เป่าอะลูมิเนียม ต.บางกระ เจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร  ซึ่งทั้ง 2 โรงงานมีคนจีนเป็นเจ้าของ มีใบอนุญาตประเภทหลอมโลหะ ขณะที่กากอะลูมิเนียมดรอส ถือเป็นวัตถุอันตรายและเป็นกากอุตสาหกรรมอันตราย การจัดการต้องได้รับใบอนุญาตเป็นการเฉพาะ

 สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ชี้ว่า บทลงโทษตาม พ.ร.บ.โรงงานฯ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท เพียงแค่นี้โรงงานสีเทาไม่กลัวแน่นอน หลังจากนี้จะมีการแอบเปิดโรงงานอีกหลายแห่งในพื้นที่ต่างๆ ทั่วไทย หากเป็นประเทศจีนโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต จึงเห็นควรต้องแก้ พ.ร.บ.โรงงานฯ ให้มีโทษหนักกว่านี้เพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทย

ไม่เพียงแต่ทุนจีนเทาเท่านั้นที่เห็นประเทศไทยเป็นถังขยะอุตสาหกรรมอันตราย แม้แต่“สาธารณรัฐแอลเบเนีย” ประเทศแถบเมดิเตอร์เรเนียนในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ ยังลักลอบขนย้ายกากของเสียอันตรายมายังไทยผ่านการขนส่งทางเรือ 2 ลำ มีกำหนดเทียบท่าแหลมฉบังในวันที่ 20 สิงหาคม 2567

เวลานี้ จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม สั่งการให้เฝ้าระวังและยับยั้งการขนย้ายของเสียอันตรายแบบผิดกฎหมายอย่างใกล้ชิด โดยคาดว่าเป็น Electric Arc Furnace (EAF) dust หรือ ฝุ่นแดง จากอุตสาหกรรมถลุงเหล็ก จำนวน 816 ตัน (ประมาณ 100 ตู้คอนเทนเนอร์) ซึ่งเป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล และเป็นของเสียเคมีวัตถุ ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

ไทยแลนด์แดนสวรรค์ของนักลงทุนทั้งขาวทั้งเทา ทำเอาผู้ประกอบการคนไทยไปไม่รอด ขณะที่คุณภาพชีวิตคนไทย ต้องเสี่ยงภัยจากมลพิษที่มาพร้อมทุนเทา ซึ่งกฎหมายไทยเอาผิดได้แค่จิ๊บๆ ส่วนการคุ้มครองผู้ประกอบการไทย ภาครัฐยังไม่ตื่นออกกฎเข้มงวดเหมือนที่ชาติอาเซียนอื่นทำกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น