ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ประเทศต่างๆ ในโลกศตวรรษที่ 21 มิได้ถูกนิยามโดยแนวคิดหรือระบอบการปกครองอีกต่อไป แต่จะถูกนิยามโดยภาพลักษณ์ที่ประชาคมโลกมีต่อประเทศนั้นๆ
เราจึงต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เราคือใคร อะไรที่ทำให้ประเทศมีอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ มีขีดความสามารถในการแข่งขัน มีอำนาจต่อรอง มีศักดิ์ศรีและอยู่ในจอเรดาร์โลก อาจกล่าวได้ว่า นี่คือ “ศตวรรษแห่งการค้นหาตัวเอง” ของแต่ละประเทศ
ประเทศไทยจึงต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า เตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับพลวัตโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเสี่ยง ภัยคุกคาม และวิกฤติในหลากหลายรูปแบบ
ผู้นำประเทศหลายต่อหลายท่านในอดีต ก็มีวิสัยทัศน์ที่สอดรับกับเงื่อนไข โอกาส ข้อจำกัดและบริบทของสังคมไทยและพลวัตโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ณ ขณะนั้น
“ยุคโชติช่วงชัชวาล” ในสมัยของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นตัวอย่างที่ดี ในห้วงเวลาดังกล่าว โลกต้องเผชิญกับวิกฤตพลังงาน โชคดีที่ประเทศไทยมีการขุดพบแหล่งก๊าซธรรมชาติ นำไปสู่การพัฒนา Eastern Seaboard พัฒนาพื้นที่มาบตาพุด อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ฯลฯ นี่คือวิสัยทัศน์ของผู้นำที่สามารถพลิกวิกฤตเป็นโอกาสให้กับประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม
ในยุคต่อมา เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองในภูมิภาคอินโดจีน พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จึงใช้โอกาสนี้ประกาศวิสัยทัศน์ “เปลี่ยนสนามรบ เป็นสนามการค้า” ซึ่งเป็นความเฉลียวฉลาดในการใช้ Soft Power กับประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะ win-win
- ในมิติทางเศรษฐกิจ ทำให้เราสามารถขยายฐานการผลิต และตลาดที่แผ่กว้างออกไปในอินโดจีนและอาเซียนได้
- ในมิติทางการเมือง เป็นการตอกตะปูฝาโลงให้กับ “ทฤษฎีโดมิโน” ที่ว่าระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์จะลามสู่ประเทศไทย
ในยุคต่อมา พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้แสดงวิสัยทัศน์ของการเป็น “เสือตัวที่ห้าของเอเชีย” แต่ในที่สุด ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะสะดุดขาตัวเองจากการดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่ผิดพลาด จนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในที่สุด
มาสู่ยุคของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่ได้วาดฝัน “โมเดลประเทศไทยในโลกที่หนึ่ง” ไว้ 7 ประการ ประกอบด้วย
1. มีความภาคภูมิใจในความเป็นชาติและวัฒนธรรมของตน
2. มีบทบาทสำคัญในเวทีระดับภูมิภาคและระดับโลก
3. มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง
4. เป็นผู้นำโลกในบางอุตสาหกรรม
5. เป็นสังคมที่เต็มเปี่ยมด้วยความสร้างสรรค์ นวัตกรรม และการเรียนรู้
6. มีผู้ประกอบการที่แข็งแกร่งสามารถแข่งขันในเวทีโลก
7. เป็นประเทศที่มีสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่ดี
น่าเสียดายที่ยังไม่ทันสานฝัน รัฐบาลทักษิณก็ถูกปฏิวัติรัฐประหาร
และเมื่อไม่นานมานี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ผลักดัน Thailand 4.0–วิสัยทัศน์ที่มุ่งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมไทยให้สอดรับกับพลวัตโลก โดยเน้นการเติบโตเชิงคุณภาพ การสร้างกลไกเศรษฐกิจที่เน้นความสมดุล ความยั่งยืน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
หนึ่งในโมเดลเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมภายใต้ Thailand 4.0 ก็คือ BCG Economy Model
จะเห็นได้ว่า ผู้นำประเทศในแต่ละยุคที่ผ่านมา มีวิสัยทัศน์ที่ทำให้พวกเราเกิดความเชื่อมั่น มีความหวัง มีกำลังใจ เกิดความฮึกเหิม เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 16 สิงหาคม 2567 สภาผู้แทนราษฏรได้ลงมติเห็นชอบแต่งตั้ง นส. แพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยคะแนนเห็นด้วย =319 ไม่เห็นด้วย=141 และงดออกเสียง=27
โจทย์ที่ท้าทายของว่าที่นายกรัฐมนตรีท่านใหม่ คือ จะพลิกฟื้นและขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างไร ในท่ามกลางพลวัตทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์โลกที่เชี่ยวกราก และต้องเผชิญกับความเสี่ยงในหลากหลายมิติ ภัยคุกคามไม่ตามแบบ และวิกฤตเชิงซ้อนที่ถาโถมเข้ามาอย่างหนักหน่วงและไม่หยุดยั้ง
ประเทศไทยอ่อนแอถึงที่สุดแล้ว ในฐานะผู้นำประเทศ ท่านต้องใช้ความกล้าหาญทางการเมือง “ปลดล๊อค” ประเทศไทย ใน ”3 วาระวิกฤต“ (Critical Agenda)
1. ลดทอนความขัดแย้ง เปลี่ยนจากการเผชิญหน้าเป็นการหันหน้าเข้าหากัน ปลุกจิตสำนึกของความเป็นชาติ โดยยึดผลประโยชน์ชาติเป็นสำคัญ
2. ทำกระบวนการยุติธรรมให้ยุติธรรม กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ยึดมั่นในนิติรัฐ นิติธรรม
3. ไม่ประนีประนอมกับคอร์รัปชันที่มีอยู่ดาษดื่นทุกหย่อมหญ้า
3 วาระวิกฤตดังกล่าวเป็นการ “ซ่อม เสริม สร้าง” ฐานรากของประเทศ (National Foundation) ให้กลับมามั่นคงแข็งแรงอีกครั้งหนึ่ง
หากทำ 3 วาระวิกฤตนี้สำเร็จ วาระการขับเคลื่อนประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาคน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ จะกลายเป็นเรื่องที่ไม่ยาก แม้จะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอยู่บ้าง
No Room for Small Dreams สำหรับการเป็นผู้นำประเทศในชั่วโมงนี้ครับ