ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายมาเป็นเทรนด์ฮิตที่ดังกระหึ่มในวันนี้สำหรับกระแสย้อนยุค Y2K ที่ผ่านมากว่า 20 ปี หรือ 2 ทศวรรษแล้วอันมีผลจากการการปล่อยเพลง “ธาตุทองซาวด์” ของแรฟเปอร์ดัง “ยังโอม(YOUNGOHM)” ที่ทำเอาแฟนเพลง คนบันเทิง ตลอดรวมถึงประชาชนคนทั่วไปขุดรูปผมทรงรากไทรที่ “อีกี้” สก๊อยสาวยุค Hi5 ใน MV เพลงดังกล่าวตัดและฮอตฮิตในยุคนั้นมาอวดกันเต็มฟีดโซเชียล
แถมท่อนฮุกที่ว่า “อีกี้นี้มันเป็นสก๊อย ไปกับผู้บ่อย ผู้พาไป skrt อีกี้ชอบไป skrt แต่เปลี่ยนผู้บ่อย สงสัยไม่เวิร์ก” ก็ฮิตติดหูและเป็นไวรัลมาแรงที่สุดในตอนนี้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดย Y2K นั้นย่อมาจากคำว่า “Year 2000” โดยตัว Y หมายถึง ปี ส่วน K มาจากคำว่า “Kilo” ในภาษาละติน หมายถึงจำนวนพัน ดังนั้นคำว่า “Y2K” จึงหมายถึงปี 2000 หรือในช่วงปี พ.ศ.2543 นั่นเอง
และยังบังเอิญอีกต่างหากว่า Y2K ใน พ.ศ.นั้น กับ พ.ศ.นี้ มีความเหมือนกันอยู่บ้าง เพราะเป็นช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งใหญ่เหมือนกัน
Y2K ปี ค.ศ.2000 หรือปี พ.ศ.2543 ขณะนั้นก็กำลังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ในวันที่ 6 มกราคม 2544 ที่นับว่าเป็นการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2540 และเป็นครั้งแรกของ “สภาฯห้าร้อย” ที่มีการแบ่ง ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน
ส่วน Y2K ปี ค.ศ.2023 หรือปี พ.ศ.2566 ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 แม้จะไม่ใช่การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบัน แต่ก็ใช้กติกา 400-100 คือ ส.ส.เขต 400 และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์อีก 100 คน เป็น “สภาฯห้าร้อย” เหมือนกัน
ในทางการเมืองก็มีการดึงเอากระแส Y2K มาใช้บ้างเช่นกัน อย่างสัญลักษณ์การชูมือ 2 นิ้วแล้วนำมาประกบกันเป็นท่า Y2K ก็ถูกนักการเมืองนำมาเป็นท่ายอดนิยมในช่วงหนึ่ง นอกเหนือจากไอเลิฟยู หรือมินิฮาร์ท
ไม่ว่าจะเป็น “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่อาจจะไม่ได้อินกับกระแส แต่ก็ถูกร้องขอให้ทำท่า Y2K อยู่พักใหญ่
กระทั่ง “ค่ายลุงตู่” พรรครวมไทยสร้างชาติ จับได้เบอร์ 22 ในแบบบัญชีรายชื่อ ท่า Y2K ก็เลยกลายเป็นท่าประจำตัว “ลุงตู่” ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค และบรรดาผู้สมัครของพรรครวมไทยสร้างชาติ กลับกันก็กลายเป็น “ท่าต้องห้าม” ของพรรคอื่น หรือฝ่ายที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ไปโดยปริยาย
น่าสนใจอีกว่า เมื่อครั้งการเลือกตั้งปี 2544 ในยุค Y2K ถือเป็นครั้งแรกที่มีการแข่งขันด้านนโยบาย อันเป็นที่มาของนโยบาย “ประชานิยม” ที่ทำให้พรรคไทยรักไทยของ “ทักษิณ” ได้รับชัยชนะแบบ “แลนด์สไลด์” เป็นครั้งแรก
อีกทั้ง “ตัวละครสำคัญ” ของการเลือกตั้งยุค Y2K ก็ยังวนเวียน และมีอิทธิพลสูง อยู่ในสังเวียนการเมืองวันนี้ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง
ตั้งแต่ “นายห้างดูไบ” ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำพรรคไทยรักไทย สร้างปรากฎการณ์ “แลนด์สไลด์” เป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งวันที่ 6 มกราคม 2544 กับชัยชนะ 244 จาก 500 ที่นั่ง ทิ้งคู่แข่งแบบไม่เห็นฝุ่น เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และส่ง “ทักษิณ” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยแรก
มาวันนี้ “ทักษิณ” ที่แม้ตัวจะไม่ได้อยู่ในประเทศไทยมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว แต่ก็ยังมีอิทธิพลวนเวียนอยู่ในทางการเมืองไทย ผ่านพรรคเพื่อไทยที่อาจพูดได้ว่าเป็น “ทายาท” ของพรรคไทยรักไทยในอดีต
ไม่ว่าจะเป็นตราสัญลักษณ์ ฟอนท์ตัวอักษร ป้ายหาเสียง สื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของพรรคเพื่อไทย ก็ล้วนแล้วแต่ถอดแบบมาจาก “ไทยรักไทย” แทบทั้งสิ้น
หรืออย่าง “ลายมือ” ที่เป็นแคมเปญของพรรคทั้ง “พรุ่งนี้..เพื่อไทย” ก่อนจะมาเป็น “แลนด์สไลด์..ทั้งแผ่นดิน” บนแบล็กกราวน์สีแพงสด ก็เป็นลายมือของ “ทักษิณ” นั่นเอง
กระทั่ง “ทีมงานทักษิณ” ที่เคยทรงอิทธิพลในพรรคไทยรักไทย ก็กลับมาทรงอิทธิพลในพรรคเพื่อไทยอย่างเต็มตัว ทั้ง ภูมิธรรม เวชชยชัย-พรหมมินทร์ เลิศสุรีย์เดช-สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่ถูกขนานนามว่า “นักรบห้องแอร์” รวมทั้งร่างเงาของคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ ที่นำโดย “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ ก็ดึงเอา พันศักดิ์ วิญญรัตน์ อดีตที่ปรึกษานายกฯ ทักษิณกลับมาใช้งานอีกครั้งด้วย
ที่สำคัญประเด็นการกลับประเทศไทยของ “ทักษิณ” ที่เพิ่งประกาศว่า พร้อมที่จะกลับมาติดคุกเล็กๆ ในเมืองไทยนั้นก็ยังถือเป็น “หลักชัย” ของพรรคเพื่อไทยเองด้วย
นอกเหนือจากตัว “ทักษิณ” แล้ว ตัวละครอื่นในการเลือกตั้ง 2566 โดยเฉพาะ “แคนดิเดตนายกฯ” หรือ “ว่าที่ผู้นำประเทศ” คนต่อไปทั้งหลาย ก็ล้วนแล้วแต่ผ่านยุค Y2K มาทั้งหมดเช่นกัน ตั้งแต่ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ที่เมื่อครั้งพ่อได้เป็นนายกฯ สมัยแรก ก็ยังเป็นสาวน้อยวัยยังไม่บรรลุนิติภาวะ มาวันนี้กลายมาเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และหนึ่งในแคนดิเดตของพรรค ทำหน้าที่ถือธงนำ “ค่ายดูไบ” แทนพ่อ
ช่วงที่ “มาดามอิ๊ง” แบกท้องโตตะลอนๆ ตามไปหาเสียงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ก็มีการหยิบยกประสบการณ์ครั้งติดสอย “พ่อษิณ” ไปหาเสียงในพื้นที่นั้นๆ ยุคพรรคไทยรักไทยขึ้นมากล่าวถึง นัยว่าสร้างความผูกพันกับประชาชนในพื้นที่
ถัดมาที่ “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ที่วันนี้มีการกะเก็งว่าจะเป็น “ตัวจริง” และมารับมาต่อจาก “แพทองธาร” ในการนำทัพเดินสายหาเสียงในช่วงที่เหลือก่อนถึงการเลือกตั้ง ในช่วงปี 2000 ชื่อของ “เศรษฐา” ยังถือว่า ไม่โดดเด่นมากนัก เพราะเป็นที่รู้จักในวงสังคมนักธุรกิจ และสังคมระดับสูง เท่านั้น ก่อนมาเป็นที่รู้จักในวงกว้างช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และสร้างชื่อทางการเมืองช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา
ขณะที่ ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯคนที่ 3 ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นนักกฎหมายดาวรุ่งในยุคไล่เลี่ยกับ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ครั้งได้ทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วง Y2K “ชัยเกษม” รับราชการเป็นอัยการในตำแหน่งสำคัญๆ ก่อนขึ้นถึงตำแหน่ง อัยการสูงสุด และเข้าสู่การเมืองในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายหลังเกษียณราชการเมื่อปี 2556
ข้ามมาที่ฟาก “พี่น้อง 2 ป.” ตามประวัติ “พี่ป้อม” กำลังเป็นนายทหารดาวรุ่งพุ่งแรง อยู่ในตำแหน่งสำคัญ ทั้ง รองแม่ทัพภาคที่ 1 ต่อด้วยแม่ทัพน้อยที่ 1 ทว่าไปสะดุดหลุดนอกไลน์ในช่วง Y2K ที่ต้องไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก กว่าจะกลับมาเข้าไลน์ และได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้ก็ในช่วงหลายรัฐบาลทักษิณ 1 ที่จนถึงวันนี้ก็ยังมีการกระแนะกระแหน ลำเลิกบุญคุณตำนาน “เกาะโต๊ะ” กันอยู่
ขณะที่ “น้องตู่” ถือว่า อยู่ในไลน์ตามเส้นทางที่ “พี่ใหญ่” วางไว้ให้โดยตลอด แม้ในช่วงที่ “บิ๊กป้อม” จะหลุดไลน์ไป แต่ “บิ๊กตู่” ก็ยังคงครองตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 รอ.) หรือ “ทหารเสือราชินี” ได้อย่างเหนียวแน่น และเติบโตในไลน์จนขึ้นสู่ตำแหน่ง ผบ.ทบ. ในปี 2553 ก่อนจะมาเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เมื่อปี 2557 และครองตำแหน่งนายกฯมา 2 สมัยซ้อนจนถึงวันนี้
หันไปดูที่ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯเพียงหนึ่งเดียวของ “ค่ายเซราะกราว” พรรคภูมิใจไทย ในช่วงก่อนปี 2000 “เสี่ยหนู” เริ่มเข้าชิมลางทางการเมืองตาม “ปู่จิ้น” ชวรัตน์ ชาญวีรกูล ผู้เป็นบิดา ซึ่งถือเป็นขุนพลสำคัญของ “ค่ายน้าชาติ” พรรคชาติพัฒนา โดยที่เมื่อปี 2539 “ปู่จิ้น” ได้เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในตำแหน่ง รมช.คลัง สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ส่วน “เสี่ยหนู” ก็ได้ไปฝึกวิทยายุทธ์ทางการเมืองเป็นที่ปรึกษา “อีดี้จวบ” ประจวบ ไชยสาส์น รมว.ต่างประเทศ
จากนั้น “เสี่ยหนู” ก็โลดแล่นทางการเมืองอยู่กับพรรคชาติพัฒนา ก่อนที่จะมาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ได้เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในรัฐบาลทักษิณ 1 ในตำแหน่ง รมช.สาธารณสุข ก่อนสไลด์ไปเป็น รมช.พาณิชย์ ในรัฐบาลเดียวกัน
ด้าน “อู๊ดด้า” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯหนึ่งเดียวของ “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ นั้นผันตัวจาก “การ์ตูนนิสต์” สู่เส้นทางการเมืองตั้งแต่ปี 2529 โดยเป็น ส.ส.พังงา และ ส.ส.บัญชีรายชื่อหลายสมัย โดยช่วง Y2K ซึ่งเป็นช่วง “รัฐบาลชวน 2” นั้น “จุรินทร์” เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จนครบวาระในปี 2544 และทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างแข็งขันร่วมกับพลพรรคประชาธิปัตย์มาตลอดยุครัฐบาลรัฐบาลทักษิณ 1 และ 2
ขณะที่ 3 แคนดิเดตนายกฯของ “ค่ายโคราช” พรรคชาติพัฒนากล้า อันได้แก่ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ - กรณ์ จาติกกวณิช - เทวัญ ลิปตพัลลภ ต้องถือว่าล้วนแล้วแต่มีบทบาทในช่วงปี 2000 โดยที่สองพี่น้อง “สุวัจน์-เทวัญ” เป็นกำลังสำคัญของพรรคชาติพัฒนาในเวลานั้น ซึ่ง พ.ศ.นั้น “สุวัจน์” ถือเป็นนักการเมืองดาวรุ่งพุ่งแรง ผ่านประสบการณ์เป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายสมัย โดยในรัฐบาลชวน 2 นั้นก็ได้เป็น รมว.อุตสาหกรรม ส่วน “เทวัญ” ผู้น้องกำลังเตรียมตัวจะลงสมัคร ส.ส.นครราชสีมา ในการเลือกตั้งปี 2544 ที่เคยชนะมาครั้งหนึ่งเมื่อการเลือกตั้งปี 2535
ส่วน “กรณ์” ช่วงนั้นสร้างชื่อในฐานะนักการเงินมือทอง นำพาบริษัทหลักทรัพย์ เจ.เอฟ. ธนาคม จำกัด ของตัวเองผ่านวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 มาได้ ก่อนจะดูแลธุรกิจมาอีกระยะหนึ่ง จนในปี 2547 ก็ลงสู่สนามการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์
ทางด้าน “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯของพรรคไทยสร้างไทย ขณะนั้นถือว่าผ่านสนยามการเมืองมาอย่างโชกโชน หลังสร้างชื่อกับพรรคพลังธรรม ก็มาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย กับ “ทักษิณ” โดยภายหลังการเลือกตั้งปี 2544 ก็ได้เป็น รมว.สาธารณสุข และมีส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ “บัตรทอง” ร่วมกับ “เสี่ยหนู-อนุทิน” ที่เป็น รมช.สาธารณสุข
อีก 2 แคนดิเดตของพรรคไทยสร้างไทย หนึ่ง “ผู้พันปุ่น” น.ต.ศิธา ทิวารี ที่เพิ่งลาออกจากราชการทหารมาลงสมัคร ส.ส.ที่เขตคลองเตย-วัฒนา ในนามพรรคไทยรักไทย เมื่อการเลือกตั้งปี 2544 ส่วน “เสี่ยเชน” สุพันธุ์ มงคลสุธี อยู่ในช่วงบุกเบิกปลุกปั้นธุรกิจจนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง
ปิดท้ายที่ “เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกฯของ “ค่ายสีส้ม” พรรคก้าวไ กล ที่ดูเหมือนจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่ใกล้เคียงความเป็น “วัยรุ่นยุค Y2K” มากที่สุด ด้วยวัย 42 ในวันนี้ หรือวัย 20 ต้นๆ ในวันนั้น โดยหลังจากจบการศึกษาที่
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (BBA) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 เอกการเงิน ก็ไปทำงานภาคเอกชน และธุรกิจของครอบครัวอยู่ระยะหนึ่ง
ก่อนมีโอกาสเข้าไปทำงานทางการเมืองโดยการชักชวนของ “เฮียกวง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ในรัฐบาลทักษิณ 1 ผ่าน คอนเนกชัน “ป๋าดุง” ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ เลขาธิการนายกฯ ที่มีศักดิ์เป็นลุง โดยได้อยู่ทีมที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี ประจำกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง ถือเป็นการเข้าสู่แวดวงการเมืองอย่างเต็มตัวในตำแหน่งข้าราชการ
และเมื่อครบวาระก็ได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา ด้านการเมือง การปกครองที่ Harvard University และด้านบริหารธุรกิจที่ MIT ด้วยตั้งใจว่าจะกลับเข้ามาสู่เส้นทางการเมืองอย่างเต็มตัว ก่อนจะมาร่วมงานกับพรรคอนาคตใหม่ เมื่อการเลือกตั้งปี 2562
ที่ไล่เรียงไปถือเป็นเส้นทางของตัวละครสำคัญในระดับแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมืองต่างๆ ในการเลือกตั้งปี 2566 นั้นมี “ร่องรอย” ให้เห็นถึงความเป็น “กากี่นั้ง” ล้วนแล้วแต่เป็นคนกันเอง ที่เคยทั้งร่วมงาน และเป็นคู่แข่งกันมาตั้งแต่ยุค Y2K จนมาถึงยุคปัจจุบันนี้
ไม่เพียงแต่ตัวละครที่มา “รียูเนี่ยน” รวมตัวกันในสมรภูมิเลือกตั้ง 2566 เท่านั้น ยุทธวิธีการต่อสู้ในการหาเสียงเลือกตั้งวันนี้กับเมื่อ 20 ปีก่อนก็มีความคล้ายคลึงกัน จากที่ “ค่ายทักษิณ” พรรคไทยรักไทย ก็เคยใช้วิทยายุทธ์ “ประชานิยม” จนมีชัยเหลือคู่แข่งอย่างถล่มทลาย หรือที่เรียกว่า “แลนด์สไลด์” มาแล้ว
วันนี้ พรรคเพื่อไทย ที่ได้ชื่อว่า “ค่ายทักษิณ” ก็จุดพลุนโยบายเติมเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทออกมา จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น “ประชานิยมสุดโต่ง” เพราะต้องใช้งบประมาณถึงมากกว่า 5 แสนล้านบาท แต่ขณะเดียวกันนโยบายพรรคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น “บัตรลุงตู่-บัตรลุงป้อม” หรือบำนาญประชาชนของพรรคไทยสร้างไทย และพรรคก้าวไกล ก็ใช้งบประมาณไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่านั้น
กระแส Y2K ที่กลับมาเป็นที่กล่าวถึง ในมุมการเมืองไทย ก็เป็นตอกย้ำเป็นร่องรอยที่สะท้อนให้เห็นว่า การเมืองไทยก็ยังวนเวียนอยู่กับกลุ่มตัวละคร และกลยุทธ์เดิมๆ ของนักเลือกตั้ง
ส่วนใครจะได้ขี่กระแส Y2K ขึ้นเป็นผู้นำประเทศคนใหม่ หากไม่มีอะไรผิดพลาด หลังปิดหีบเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ก็คงได้รู้กัน.