ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การมาของ TEMU จุดกระแสตื่นรับคลื่นทุนจีนบุกไทยที่ทะลุทะลวงทุกแนวรบ ไม่ว่าจะเป็นอีคอมเมิร์ซ ยานยนต์ไฟฟ้า อสังหาฯ ท่องเที่ยว ขนส่ง โรงแรม โรงงาน รวมทั้งสวนทุเรียน จนจีนกลายเป็นกลุ่มนักลงทุนติดอันดับเบอร์ต้น ขณะที่รัฐบาลเอาแต่อ้าแขนรับ โดยไม่มีมาตรการที่เข้มแข็งมากพอที่จะปกป้องผู้ประกอบการไทย
บนเส้นทางสายไหมใหม่ หรือ Belt and Road Initiative ที่รัฐบาลจีนรุกหนักมาก่อนหน้านี้ เพื่อเปิดเส้นทางการค้าการลงทุนใหม่ ขับดันให้กลุ่มทุนจีนน้อยใหญ่ยาตราทัพบุกลงทุนทุกทิศทางตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ ยิ่งเมื่อการแข่งขันในบ้านเข้มข้น การแสวงหาโอกาสลงทุนนอกบ้านก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
ขาดดุลการค้า กระทบหนัก โรงงานแห่ปิดตัว
การบุกทุกแนวรบของทุนจีน มีเสียงสะท้อนจาก ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า กกร. มีความกังวลต่อการขาดดุลการค้าระหว่างไทยกับจีน ล่าสุด 6 เดือนแรกของปี 2567 มีการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึง 7.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) คิดเป็นมูลค่ากว่า 37,569.89 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้าจากจีน 19,967.46 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 15.66% YoY
ตัวเลขการขาดดุลข้างต้น ส่งผลกระทบกับภาคการผลิตกว่า 23 กลุ่มอุตสาหกรรม อีกทั้งยังถูกซ้ำเติมจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เข้ามาเปิดตลาดในประเทศ โดยขายสินค้าจากโรงงานตรงสู่ผู้บริโภคในราคาถูก กดดันผู้ประกอบการ SMEs ของไทย เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันทั้งด้านราคาและต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าได้
ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ ที่ประชุม กกร.จึงขอเสนอให้รัฐบาลเข้มงวดการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้า กำกับและควบคุมสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษี โดยบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าภายในประเทศอย่างเข้มข้น และสร้าง Ecosystem ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทย และห่วงโซ่การผลิตของไทยมีความเข้มแข็งและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน
กกร.ยังห่วงใยภาคการผลิตที่หดตัวลง ข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีโรงงานปิดกิจการเพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรกนี้กว่า 667 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 86.31% YoY หรือเฉลี่ย 111 แห่ง/เดือน และหากดูมูลค่าโรงงานต่อโรงที่ปิดตัว พบว่ามีเงินทุนลดลงเหลือเฉลี่ย 27 ล้านบาทต่อโรงงาน สะท้อนว่าเป็นโรงงานขนาดเล็ก หรือ SMEs ที่มีการปิดโรงงานในอัตราส่วนที่เร่งขึ้น
กกร.เตรียมข้อเสนอต่อรัฐบาล เช่น ส่งเสริมสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ จัดสรรเม็ดเงินลงระบบรายอุตสาหกรรม การสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์รองรับ EV เป็นต้น
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เน้นย้ำอีกครั้งว่า ปัญหาเร่งด่วนที่ภาคเอกชนต้องการเสนอให้ภาครัฐเร่งแก้ไข คือกรณีสินค้าจากจีนหลั่งไหลเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการตั้งฐานผลิตในไทย และการเปิดช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์จากจีนที่ผู้ผลิตสามารถส่งสินค้าให้ผู้บริโภคได้โดยตรง ทำให้ลดต้นทุนและทำราคาต่ำได้ แต่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งเป็นเศรษฐกิจรากฐานของประเทศ เห็นได้จากอัตราการปิดโรงงานสูงถึง 667 แห่ง ส่วนใหญ่เป็น SMEs ขณะที่ยอดเปิดโรงงานใหม่ส่วนใหญ่เป็นทุนต่างชาติ
ทุนจีนขึ้นแท่นเบอร์หนึ่ง
ข้อมูลเว็บไซต์รัฐบาลจีน ระบุถึงนักลงทุนจีนขนเงินไปลงทุนนอกบ้านเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมาว่า อยู่ที่ 916,990 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 16.7% เมื่อเทียบกับปี 2022 หรือคิดเป็นเงินสกุลดอลลาร์ อยู่ที่ 130,130 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 11.4% โดยเป็นการลงทุนภายใต้ Belt and Road Initiative ถึง 224,090 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 28.4%
ประเทศที่จีนหอบเงินไปลงทุนโดยตรงค่อนข้างมากในอาเซียน นอกจากไทยแล้ว ยังมีเวียดนามและอินโดนีเซียที่ติดอันดับต้นๆ ซึ่งปี 2023 ที่ผ่านมานั้น ทุนจีนขอรับส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในไทยมากที่สุดเมื่อเทียบกับชาติอื่น และได้รับบีโอไอมากที่สุด รวม 430 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 159,387 ล้านบาท
กิจการที่ลงทุนส่วนใหญ่เกินพันล้านบาท ในธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยี ท่องเที่ยว รวมทั้งการคมนาคม ขนส่ง ที่มาพร้อมความร่วมมือโครงการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาจนบัดนี้ เช่น บริษัท China Railway Construction , China Railway Engineering และ State Construction Engineering เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า 5 อันดับมูลค่าการลงทุนตามสัญชาติ ปี 2023 นั้น จีนรั้งอันดับสาม มีมูลค่าการลงทุน 382,061 ล้านบาท สัดส่วนการลงทุน 9.48% จี้ติดเบอร์สองอย่างสิงคโปร์ ที่มีมูลค่าการลงทุน 473,572 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.75% และเบอร์หนึ่งที่ยังเป็นสัญชาติญี่ปุ่น มีมูลค่าการลงทุน 993,355 ล้านบาท ครองสัดส่วน24.65%
รถไฟ-EV-อาหาร-เครื่องดื่ม-อีคอมเมิร์ซ-คลังสินค้า-ขนส่ง กวาดเรียบ
ช่วงสองสามปีที่แล้ว ทุนจีนเปิดแนวรบด้วย โครงการก่อสร้างโครงการพื้นฐาน อย่างเช่น รถไฟไทย-จีน แต่ที่บุกหนักสุดในช่วงปีสองปีที่ผ่านา เห็นจะเป็น ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีวี ที่ทุนจีนแห่เข้ามาลงทุนไม่ขาดสาย กระทั่งทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยที่ได้รับการโอบอุ้มมายาวนานซวนเซ
ถึงตอนนี้อีวีจากจีนที่เข้ามาลงทุนผลิต มีทั้งหมด 3 บริษัท และปีหน้า 2025 ประกาศจะเข้ามาอีก 3-4 ราย สั่นสะเทือนค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ครองตลาดอยู่แต่เดิมชนิดที่เรียกได้ว่าอีกไม่กี่ปี อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยจะเปลี่ยนโฉมหน้ากันเลยทีเดียว เพราะมาตรการอุดหนุนของรัฐที่เอื้อประโยชน์ให้ยานยนต์ไฟฟ้าแจ้งเกิดเต็มที่
อย่างไรก็ดี การมาลงทุนของกลุ่มทุนจีนไม่ได้ “ขาวสะอาด” เสมอไป และไม่ได้มาตามช่องทางที่ถูกที่ควรและขอบีโอไออย่างที่ทุนสัญชาติอื่นถือปฏิบัติกันเพียงเท่านั้น เพราะทุนจีนที่เข้ามามีทั้ง “ทุนจีนเทา” อย่างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ฯลฯ แล้วยังมีกลุ่มทุนลักลอบ หลีกเลี่ยงกฎระเบียบข้อกฎหมาย เช่น การขึ้นโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างโจ่งครึ่ม
กรณีตัวอย่าง ทุนจีนปักป้ายเตรียมสร้างโรงงานใน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ริมถนน ม.11 ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย มีการนำรถไถเข้าปรับเกลี่ยพื้นที่ และยังมีกองวัสดุสำหรับใช้ในการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก เมื่อผู้นำท้องถิ่นและอบต.หนองบัว เร่งเข้าตรวจสอบจึงรื้อถอนป้ายออก
หันมาดูด้านการค้า การมาของ TEMU แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายล่าสุดจากจีน ทำให้แนวรบนี้ร้อนแรงดุเดือดถึงขั้นสุด มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามากำกับดูแล และหามาตรการปกป้องผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะรายเล็กรายย่อยที่สู้ไม่ไหว เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจฐานรากถูกทำลาย
ธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ชี้ว่าสินค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเข้ามาตีตลาด จนโรงงานผู้ผลิตของไทยอยู่ไม่ได้ ซึ่งบริษัทอีคอมเมิร์ซควรจดทะเบียนบริษัทเพื่อเสียภาษีในไทย
ยังมีการจัดตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บน เพื่อยกเว้นการเก็บภาษีขาเข้าและขาออก ที่เขาเรียกร้องว่าต้องตรวจสอบว่าสินค้าที่เอามาพักไว้เพื่อขายในประเทศไทยหรือไม่ และการเก็บภาษี 7% ของสินค้าที่นำเข้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท มีการซิกแซกชำระเงินผ่านออนไลน์หรือเพย์เมนต์เกตเวย์ที่เป็นของต่างประเทศ ไม่สามารถตรวจสอบได้ ใช่หรือไม่
ไม่แค่แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์จากจีน ทั้ง TEMU, Shopee, Lazada, TikTok Shop ที่ทะลุทะลวงการตัดสินใจซื้อเพียงใช้ปลายนิ้วสัมผัสเท่านั้น แนวรบการค้าแบบออนไซต์ จับจองทำเลเปิดร้านกวาดต้อนลูกค้าทั่วทุกสารทิศ โดยเฉพาะทำเลที่มีชนชาวจีนมาท่องเที่ยวหรืออาศัยอยู่หนาแน่นก็เป็นไปอย่างคึกคัก
การบุกของแบรนด์แฟรนไชส์ในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม กำลังเปลี่ยนโฉมหน้าธุรกิจร้านอาหาร-เครื่องดื่มของไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเช่นกัน
กรณีการรุกของกาแฟ Cotti Cofee ร้านไก่ทอด Zhengxin Chicken Steak ร้านไอศกรีม-เครื่องดื่ม Mixueและ Wedrink ที่มีราคาเริ่มต้นแค่ 15 บาท ทำเอาสั่นสะเทือนกันไปทั่วทั้งเมืองเลยทีเดียว
สุทธิชัย พนิตนรากุล นายกสมาคมแฟรนไชส์ และไลเซนส์ (FLA) มองว่า ธุรกิจแฟรนไชส์กลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่มจากจีนที่เข้ามารุกตลาดไทยล้วนเป็นรายใหญ่ สายป่านยาว ใช้กลยุทธ์ราคา ย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและธุรกิจแฟรนไชส์ของไทย ขณะที่ทุนจีนเข้ามาบุกตลาดไทยโดยง่าย แต่ไทยจะเข้าไปจีนนั้นยากเพราะติดกฎระเบียบมากมาย
ผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้ประกอบการไทยจากกลยุทธ์ราคานั้น เมื่อจีนเข้ามาจะใช้การลดราคานำร่องเพื่อดึงดูดลูกค้า จากนั้นค่อยปรับราคาขึ้น ทำให้โครงสร้างราคาต้นทุนเปลี่ยน รายได้ต่ำ กำไรลดลง แต่ต้นทุนไม่ได้ลดลง ทำให้มีโอกาสอยู่รอดน้อยลง
ฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย แสดงความกังวลว่า ทุนจีนที่เข้ามานั้นมีศักยภาพด้านเงินทุนมหาศาล สายป่านยาว การเข้ามาของทุนต่างชาติ ขายสินค้าราคาถูก ผู้บริโภคอาจได้ประโยชน์ แต่ต้องดูมาตรฐานความปลอดภัยด้วย จึงคาดหวังให้หน่วยงานรัฐทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพสินค้าอย่างเข้มข้น
ไม่นับ ธุรกิจการขนส่ง ที่เจอศึกหนักเช่นกัน ทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เตรียมขอเข้าพบหารือกับ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อหาทางรับมือกับทุนจีนที่เข้ามาตั้งคลังค้าส่งสินค้า และเปิดกิจการขนส่งเองเต็มรูปแบบ ซ้ำเติมการวิ่งรถบรรทุกของสมาชิกสหพันธ์ฯ ที่เจอทั้งต้นทุนราคาน้ำมันดีเซลที่แพงขึ้น การจ้างงานขนส่งลดลง จนต้องจอด ยุติการวิ่งรถ
รถบรรทุกจีนมีมากน้อยแค่ไหน ประธานสหพันธ์ฯ ให้ข้อมูลว่า หลังเปิดค้าเสรีอาเซียน-จีน สินค้าจีนทะลักเข้ามาโดยใช้รถขนส่งจีนเกือบทั้งหมดผ่านนอมินี ซึ่งประเมินว่ามีสัดส่วนราว 1% ของจำนวนรถบรรทุกไทยทั้งหมด หรือประมาณ 10,000 คัน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 1% และที่น่าห่วงคือการดัมพ์ราคาขนส่งที่จีนมีต้นทุนต่ำกว่า
กรมการขนส่งทางบก ชี้แจงว่า ปัจจุบันมีรถบรรทุกขนส่งสินค้าจากผู้ผลิตสัญชาติจีน จดทะเบียนอยู่ประมาณ 8,473 คัน
ทะลวงอสังหาฯ จากคอนโดฯสู่คฤหาสน์หรู
แวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก่อนหน้านี้มีลูกค้าชาวจีนเป็นเป้าหมายหลัก ทุนจีนลงทุนซื้อคอนโดมิเนียมยกชั้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาติเดียวกัน หรือเพื่อลงทุน เพื่ออยู่อาศัยเมื่อต้องมาทำมาหากินที่เมืองไทย
แต่ล่าสุด มีข่าวฮือฮากรณีทุนจีนกำลังเร่งสร้างโครงการคฤหาส์หรู หลังละ 100 ล้านบาท ในโซนใกล้สนามบินน้ำ นนทบุรี ซึ่งเป็นสัญญาณว่า ทุนจีนกำลังทุ่มลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยหันมาจับตลาดลักซ์ชัวร์รี่ บ้านหลังที่สองของเศรษฐีชาวจีน
โครงการคฤหาสน์หรูริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นของทุนจีนร่วมกับไทยในชื่อ บริษัทเหลียนเซิง จำกัด ก่อตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ทุนจดทะเบียน 1,500 ล้านบาท โครงการดังกล่าวมีงบลงทุน 6,000 ล้านบาท บนเนื้อที่ 30 ไร่ ด้านหน้าติดถนนสนามบินน้ำ ด้านหลังติดแม่น้ำเจ้าพระยา ราคาเริ่มต้นหลังละ 100 ล้านบาท จำนวน 60 หลัง เป็นหลังเดี่ยวสูง 5 ชั้น ทุกหลังมีห้องใต้ดินและสระว่ายน้ำ มีอาคารพาณิชย์ สำนักงาน และท่าเรือ รองรับ กำหนดก่อสร้างเสร็จเดือนกุมภาพันธ์ 2568
แนวรบการลงทุนอสังหาฯ ของทุนจีน ไม่จำกัดอยู่เพียงแต่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ขยายไปยังหัวเมืองใหญ่ และเมืองท่องเที่ยว
สุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ ให้ภาพว่า ทุนจีนสนใจเข้ามาจัดตั้งบริษัทหรืออาจใช้นอมินี เข้ามาซื้อคอนโดมิเนียนไว้เพื่อปล่อยเช่า ส่วนบางกลุ่มเข้ามาลงทุนหรือร่วมลงทุนทำโครงการอสังริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย หรือโรงแรมทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองท่องเที่ยว แม้ระยะหลังการลงทุนจะซาลงตามทุนรอนของบริษัทแม่ที่จีน แต่ก็ยังมีอยู่หลายบริษัทพัฒนาโครงการใหม่ต่อเนื่อง เพียงแต่ไม่ค่อยทำตลาดนัก
รัฐบาลไทย อ้ารับลูกเดียว
การบุกของทุนจีนที่มาทุกทิศทุกทางทุกแนวรบในเวลานี้ ถามว่ารัฐบาลไทย กำลังทำอะไรอยู่สำหรับการปกป้องทุนไทย ซึ่งในส่วนของสินค้าจีนที่เข้ามาตีตลาดไทยนั้น เมื่อ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ไปติดตามดูแล ทาง ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ทำกุลีกุจอเรียกประชุมระหว่างกระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม และสาธารณสุข แต่มาตรการที่ออกมาก็เป็นแนวตั้งรับ เช่น จะเน้นควบคุมมาตรฐานสินค้า จะดูว่าจะแก้กฎหมายที่มาควบคุมโดยไม่ขัดกับข้อตกลงองค์การค้าโลก หรือ WTO และ “รับทราบ” ที่อีคอมเมิร์ซจีนบุกไทย
“.... ข้อกังวลที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นการคาดเดาสถานการณ์ จึงคงต้องรอดูสถานการณ์ก่อน” ภูมิธรรม ตอบคำถามแบบขอไปที
ไม่ต่างจาก ประเสริฐ จันทรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ที่ว่ากำลังติดตามดู
“... กรณีที่หลายฝ่ายกลัวว่าแพลตฟอร์ม TEMU ขายสินค้าราคาถูก จะตัดช่องธุรกิจในประเทศไทย เป็นประเด็นที่ทางกระทรวงดีอี ติดตามอยู่” รมว.อีดี กล่าว และว่า หากแพลตฟอร์มขายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ก็เป็นเรื่องของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่จะเข้าไปดูแล แต่จะไปปิดแพลตฟอร์มคงไม่ได้
หากชำเลืองไปยัง อินโดนีเซีย รัฐบาลมีการออกกฎหมายว่าสินค้าเกษตรจีนเข้ามาขายในอินโดนีเซียต้องไม่ตรงกับช่วงที่ผลผลิตในประเทศออกสู่ตลาด ส่วนสินค้าที่ขายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ สินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 3,500 บาท ห้ามจำหน่าย และหากสินค้านำเข้าราคาต่ำกว่าที่ผลิตในประเทศต้องเสียภาษีนำเข้า เป็นต้น
ด้วยเหตุฉะนี้ เมื่อฟังดูสุ้มเสียงของรัฐบาลไทยในการรับมือกับกระแสทุนจีนที่ถาโถมเข้ามากวาดล้างทุนไทย ก็บอกได้คำเดียวว่า เอวังด้วยประการฉะนี้.