ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่มีอะไรเหนือความคาดหมาย หลังศาลรัฐธรรมนูญมี “มติเอกฉันท์” 9 ต่อ 0 ยุบ “พรรคก้าวไกล” กรณีหาเสียงว่าจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในช่วงปี 2566 โดย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่าการหาเสียงเพื่อแก้ไข “มาตรา 112” นั้นเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
คำวินิจฉัยระบุเอาไว้ชัดเจนว่าข้อเท็จจริงในการพิสูจน์ในคดีนี้นั้นเป็นที่สิ้นสงสัยแล้วว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลนั้นมีการสนับสนุนกิจกรรมที่มีลักษณะกระทบต่อสถาบันเรื่อยมา ในลักษณะ “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” หากปล่อยให้ดำเนินการต่อไปอาจจะส่งผลนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้ อีกทั้งสมาชิกพรรคผู้ถูกร้องยังมีการทำตัวเป็นนายประกันผู้ที่ต้องคดี 112 มาโดยเสมอ ทั้งๆ ที่ พรรคการเมืองควรจะควบคุมผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
และที่ต้องขีดเส้นใต้คือ ศาลรัฐธรรมนูญยังได้อ่านคำวินิจฉัยด้วยว่า การนำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้หาประโยชน์เพื่อหวังผลคะแนนเสียง นั้นเป็นการมุ่งหวังให้สถาบันอยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ดังนั้น จึงถือว่าพรรคมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันจนนำไปสู่การล้มล้างได้
ผลที่ตามมาจากมติยุบพรรคดังกล่าวมี 2 ประการ คือ
หนึ่ง- สส.พรรคก้าวไกลจะต้องไปหาสังกัดอยู่ใหม่ภายในระยะเวลา 60 วัน เพื่อไม่ให้ขาดสมาชิกภาพ สส.
และสอง- ตัดสิทธิทางการเมือง “คณะกรรมการบริหารพรรค” ในห้วงเวลาที่มีการกระทำความผิด จำนวน 11 คน พร้อมห้ามกรรมการบริหารพรรคชุดดังกล่าว ไปจดทะเบียนหรือมีส่วนรวมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกเป็นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรค
ประกอบด้วย 1.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรค สส.บัญชีรายชื่อ, 2.ชัยธวัช ตุลาธน อดีตเลขาธิการพรรค สส.บัญชีรายชื่อ, 3.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค, 4.ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค, 5.ปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตกรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคเหนือ สส.พิษณุโลก ซึ่งถูกขับพ้นพรรค และปัจจุบันสังกัดพรรคเป็นธรรม, 6.สมชาย ฝั่งชลจิตร กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคใต้
7.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคกลาง, 8.อภิชาติ ศิริสุนทร กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สส.บัญชีรายชื่อ, 9.เบญจา แสงจันทร์ กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคตะวันออก สส.บัญชีรายชื่อ, 10.สุเทพ อู่อ้น กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนปีกแรงงาน สส.บัญชีรายชื่อ และ 11.อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กรรมการบริหารพรรค สัดส่วนภาคเหนือ
ส่งผลให้ 5 สส.บัญชีรายชื่อ ที่สังกัดพรรคก้าวไกลอยู่ คือ “พิธา-ชัยธวัช-อภิชาติ-เบญจา-สุเทพ” ต้องสิ้นสถานะ สส.ไปโดยปริยาย และทำให้ “อดีตก้าวไกล” ที่ยังมีสถานะ สส.อยู่เพียงแค่ 143 คน โดยไม่สามารถเลื่อนผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ ลำดับถัดไปขึ้นมาแทนได้ เนื่องเพราะ 5 อดีต สส.ที่ว่าไปข้างต้นไม่ได้เลือกที่จะลาออกจากตำแหน่งก่อนศาลมีคำวินิจฉัยออกมา ก็เลยต้องกอดตำแหน่ง “ผู้ทรงเกียรติ” ติดตัวไปด้วย
ส่วนตำแหน่ง สส.เขต 1 จ.พิษณุโลก ของ “หมออ๋อง-ปดิพัทธ์” ที่ต้องถูกตัดสิทธิ์การเมือง และกระเด็นตกเก้าอี้รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ไปด้วยนั้น จะต้องมีการเลือกตั้งซ่อมต่อไป
ส่งผลให้ ณ ขณะนี้ จำนวน สส.ในสภาผู้แทนราษฎร เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเสียงของแกนนำพรรคฝ่ายค้านมีมากกว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะแกนนำรัฐบาลชนิดลมหายใจรดต้นคอเลยทีเดียวคือ 143 ต่อ 141 เสียง ซึ่งก็ต้องจับตากันต่อไปว่า ทั้งอดีต สส.ก้าวไกล 143 คนจะไปอยู่ที่พรรคใหม่ที่เตรียมไว้แล้วครบหรือไม่ หรือมีใครแยกวงไปอยู่บ้านหลังอื่นดังที่มีการเรียกขานกันว่า “งูเห่าสีส้ม” ตามเสียงลือเสียงเล่าอ้างว้า สส.ก้าวไกลจำนวนหนึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับ 2 คอนเนกชันคือ “คอนเนกชันพลังประชารัฐ” และ “คอนเนกชันภูมิใจไทย”
มีการคำนวณกันว่า ถ้า “หมองู” ส่งสัญญาณให้ตัดสินใจแยกย้ายไปตามคอนเนกชัน “พรรคส้มใหม่” จะเหลือ สส. ราว 120 คนบวกๆ เท่านั้น
ตรงนี้ แปลไทยเป็นไทยได้อีกเช่นกันว่า ที่ผ่านระบบการคัดกรองผู้สมัคร สส.ของพรรคมีปัญหา เพราะมิได้คนที่มีอุดมการณ์เดียวกับพรรคร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่มาอาศัย “กระแส” ของพรรค ทำให้ไม่ต้องใช้ “กระสุน” เหมือนที่เป็นมาในอดีตก็เท่านั้น ส่วนบรรดาคนเหล่านั้นจะอ้างว่า เป็นเพราะไม่ต้องการทำงานกับพรรคที่มีอุดมการณ์สุ่มเสี่ยงก็เป็นเหตุผลที่สามารถรับฟังได้ ด้วยความจริงก็เป็นเช่นนั้น และถ้ายังยึดมั่นถือมั่นกับแนวทางเดิมๆ โอกาสที่จะถูกยุบพรรคอีกครั้งก็จะเวียนมาเป็นครั้งที่ 3
และนั่นหมายความอนาคตไม่มีความแน่นอน ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นการเสียเวลาในการทำงานการเมืองที่มองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
หากแต่ด้วยความที่สภาฯชุดนี้เพิ่งผ่านไปเพียง 1 ปี เหลืออีกค่อนทางกว่าจะถึงฤดูกาลเลือกตั้ง ก็อาจไม่จำเป็นต้องให้ “งูเห่าสีส้ม” รีบแสดงตัวในห้วงเวลานี้ ซึ่งแหล่งข่าววงในก็ยืนยันตรงกัน ณ ปัจจุบัน “ย้ายไปกันครบ” ส่วนอนาคตค่อยว่ากันไปทีละเปลาะ
แน่นอน คงไม่ต้องถามว่า “พรรคประชาชน” ภายใต้การนำของ “เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” เพื่อนซี้ “เสี่ยเอก-ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ซึ่งเป็นพรรคส้มใหม่จะมีแนวทางทำงานการเมืองอย่างไร เพราะคงไม่แตกต่างไปจากเดิม เพียงแต่บรรดา “ผู้มีอำนาจตัวจริง” ของพรรคอาจมีการทบทวนการทำงาน ถ้ายังปักหมุดพุ่งเป้าไปที่ “สถาบัน” และ “มาตรา 112” โดยนำไปใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง จุดจบคงหนีไม่พ้นถูก “ยุบพรรค” เหมือนเดิม เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานเอาไว้แล้ว
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองฯ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลถอดเนื้อหาทุกอย่างเรื่อง มาตรา 112 ออกจากเว็บไซต์ของพรรค และแทบไม่มีใครพูดถึงมาตรา 112 อีก ยกเว้นกรณีนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองที่ให้รวมคดีความผิดตามมาตรา 112 ด้วย
ดังนั้น จึงต้องติดตามกันต่อไปว่าหลัง “ยักไหล่แล้วไปต่อ” พวกเขาจะมีการปรับโทนในเรื่องดังกล่าวไปในทิศทางใด เพราะต้องไม่ลืมอีกเช่นกันว่า ด้อมส้มจำนวนไม่น้อยให้การสนับสนุนจากสาเหตุในเรื่องนี้
เงื่อนปมสำคัญคือ “ด้อมส้ม” เข้าใจและยอมรับหรือไม่
นอกจากนี้ คำวินิจฉัยคดียุบพรรคยังมีผลผูกพันต่อทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยจะส่งผลต่อการพิจารณา “คดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง” ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า 44 สส.ก้าวไกล ที่ร่วมลงลายมือชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 เมื่อ 25 มีนาคม 2564 ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่
และแน่นอนว่า ผลจากคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น จะเป็นหลักฐานที่ ป.ป.ช.สามารถนำไปใช้ในการพิจารณาลงมติ ถ้า ป.ป.ช.เห็นว่าฝ่าฝืนเรื่องก็จะถูกส่งต่อไปดำเนินคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และถ้าวินิจฉัยว่า “ผิด” โทษที่ได้รับจะมีความรุนแรงถึงขั้นตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตเหมือนกับ “ช่อ-พรรณิการ์ วานิช” อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ หรือ “ปารีณา ไกรคุปต์” เลยทีเดียว
“นายนิวัติไชย เกษมมงคล” เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแล้วว่า การตรวจสอบนั้นมีมูลเบื้องต้นมีพยานหลักฐานเบื้องต้นตามแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการจึงมีมติสั่งไต่สวนแล้วทั้ง 44 คน ส่วนข้อเท็จจริงอยู่ระหว่างการไต่สวน แต่ยังไม่ได้ให้ผู้ต้องหามาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
ทั้งนี้ 44 สส.ก้าวไกล ที่คอพาดเขียงอยู่ขณะนี้ ประกอบด้วย 1.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, 2.พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์, 3.ธีรัจชัย พันธุมาศ, 4.ญาณธิชา บัวเผื่อน, 5.ศิริกัญญา ตันสกุล, 6.กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี, 7.เบญจา แสงจันทร์, 8.พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์, 9.นิติพล ผิวเหมาะ, 10.เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร, 11.ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์, 12.ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล, 13.ปดิพัทธ์ สันติภาดา, 14.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล, 15.ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์
16.ปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์, 17.ณัฐวุฒิ บัวประทุม, 18.ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ, 19.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์, 20.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา, 21.วรภพ วิริยะโรจน์, 22.คำพอง เทพาคำ, 23.สมเกียรติ ถนอมสินธุ์, 24.ทองแดง เบ็ญจะปัก, 25.จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์, 26.จรัส คุ้มไข่น้ำ, 27.สุเทพ อู่อ้น, 28.ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์, 29.อภิชาติ ศิริสุนทร, 30.องค์การ ชัยบุตร
31.พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ, 32.ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์, 33.ศักดินัย นุ่มหนู, 34.มานพ คีรีภูวดล, 35.วาโย อัศวรุ่งเรือง, 36.วรรณวิภา ไม้สน, 37.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, 38.สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ, 39.ทวีศักดิ์ ทักษิณ, 40.สมชาย ฝั่งชลจิตร, 41.สมเกียรติ ไชยวิสุทธิกุล, 42.วุฒินันท์ บุญชู, 43.รังสิมันต์ โรม และ 44.สุรวาท ทองบุ
ถ้าสุดท้าย ผลออกมาใน “ทางลบ” ก็จะทำให้ สส.อดีตก้าวไกล อาจถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง และสิ้นสถานะ สส.ไปอีกราว 30 คน เมื่อหักลบจากที่โดนตัดสิทธิไปก่อนหน้านี้ในฐานะกรรมการบริหารพรรคแล้ว พรรคใหม่จะเหลือ สส.เพียงแค่ 110 คนเท่านั้น
สำคัญที่ตามรายชื่อที่คอพาดเขียงอยู่ก็ล้วนแล้วแต่เป็น “แกนนำแถวสาม-ตัวตึง” ที่พอจะนำพาพรรคไปต่อได้ทั้งสิ้น ตามรูปการณ์ก็คงต้องเตรียมแต่งตัว “แถวสี่” ไว้รอล่วงหน้าได้เลย ซึ่งก็รวมทั้งหัวหน้าพรรคใหม่อย่าง “เท้ง-ณัฐพงษ์” ด้วย ตามรูปการณ์ก็คงต้องเตรียมแต่งตัว “แถวสี่” ไว้รอล่วงหน้าได้เลย
ดังนั้น หลายคนอาจร้องอ๋อว่า ทำไมหัวหน้าพรรคส้มใหม่เที่ยวนี้ “ไหม-ศิริกัญญา” จึงพลาดเก้าอี้ไป
และหนนี้บรรดา สส.บัญชีรายชื่อ จะไม่สามารถลาออกเพื่อให้มีเลื่อนลำดับผู้สมัครถัดไปขึ้นมาแทนเพื่อคงจำนวน สส.ได้อีกแล้ว เพราะบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ของอดีตพรรคก้าวไกล ได้หมดสภาพไปแล้วพร้อมคำวินิจฉัยยุบพรรค
หากเลวร้ายถึงขั้น “งูเห่าสีส้ม” แยกวงออกไปด้วยแล้ว จำนวน สส.จะลดลงฮวบฮาบอยู่ในราว 60-70 คนเลยทีเดียว
มองทางไหน “ผู้แทนฯสีส้ม” ก็จะมีแต่ลดน้อยถอยลง จนน่าสนใจว่า หมดเทอมสภาฯชุดนี้ จะเหลือ สส.สีส้ม สักกี่มากน้อย
ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ ผลของการถูกยุบพรรคจะส่งผลใน “เชิงบวก” ต่อการเลือกตั้งในทุกสนามการเมืองหรือไม่อย่างไร ทั้งในระดับ “นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)” ซึ่งที่ผ่านมา “คณะก้าว” ที่หนนี้หันกลับมาใช้แบรนด์พรรคก้าวไกลลงแข่ง ยังไม่ประสบความสำเร็จเหนือ “บ้านใหญ่” แม้แต่สนามเดียว
และโดยเฉพาะระดับ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)” ที่จะเกิดขึ้นในปี 2570 และบรรดาแกนนำและด้อมส้มหมายมั่นปั้นมือว่า การที่พวกเขาถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำแล้ว จากพรรคอนาคตใหม่ ถึงพรรคก้าวไกล จะทำให้ได้รับชัยชนะถึงขั้น “แลนด์สไลด์” หรือ “ส้มทั้งแผ่นดิน” กระทั่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ อย่างที่ “พิธา” ตั้งเป้าว่าจะได้ 270 เสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ถามว่า โอกาสมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
ก็ต้องตอบว่า มีโอกาสเป็นไปได้สูงอยู่ไม่น้อย ถ้าหากคำนวณจากฐานเสียงของ “พรรคส้ม” ที่เป็น “คนรุ่นใหม่” และนับวันจะขยายตัวออกไปเรื่อยๆ
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยไม่รู้ว่า สถานการณ์นับจากนี้จนถึงปี 2570 จะแปรเปลี่ยนกลับกลายหรือไม่อย่างไร ขณะที่ผลของการ “ยุบแล้ว (พรรคอนาคตใหม่) ยุบอีก (พรรคก้าวไกล) และมีสิทธิที่จะถูก “ยุบอีก” ก็ทำให้ “เพลย์เมกเกอร์” ในมือของพรรคส้มลดน้อยถอยลงและมีผลต่อคะแนนนิยมของพรรคพอสมควร
ที่สำคัญคือ นับจากนี้ “คณะก้าว” จะกำหนดอุดมการณ์เอาไว้ ณ จุดไหน หากต้องการต่อสู้เพื่อให้ได้อำนาจการเมืองได้มีโอกาสเข้ามาบริหารประเทศ ก็ต้องไม่ดึง “สถาบันกษัตริย์” ลงมาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง เพราะถ้ายังคงดื้อด้านและดึงดันตามเดิม แม้จะแลนด์สไลด์เข้ามามากแค่ไหน โอกาสที่จะ “ถูกยุบเป็นครั้งที่ 3” ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
นี่คือภารกิจสำคัญของ “เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” หัวหน้าพรรคคนใหม่ เพื่อนซี้ของ “เสี่ยเอก” ที่มีแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองข้นขลักไม่แพ้กัน จะนำพาพลพรรคสีส้มไปในทิศทางใด ส่วนจะนำพาไปได้นานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าจะผ่านด่านคดีแก้มาตรา 112 ไปได้หรือไม่
นอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว ความสำเร็จของ “พรรคส้ม” ยังขึ้นอยู่กับแนวร่วมฝ่าย “อนุรักษ์นิยม” ซึ่ง ณ เวลานี้ต้องรวม “พรรคเพื่อไทย” เข้าไปด้วยว่า จะสามารถแก้ไขสถานการณ์พลิกกลับมาครองใจประชาชนได้มากน้อยแค่ไหน
ด้วยเท่าที่เห็นและเป็นอยู่ในเวลานี้ ยังมองไม่เห็นทางเลยว่า จะสู้ “พรรคส้ม” ได้ด้วยวิธีไหน โดยเฉพาะรัฐบาลเศรษฐา ทวีสินที่ยังไม่ได้มีผลงานอะไรโดดเด่นเข้าตากรรมการ และนั่งรอเวลาว่า นโยบายเรือธง “แจกเงินหมื่น” จะประสบความสำเร็จตามที่วาดฝันเอาไว้มากน้อยแค่ไหน
หนักไปกว่านั้นก็คือ ที่ผ่านมาผู้มีบารมีเหนือพรรคอย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” ก็กระทำย่ำยีกระบวนการยุติธรรมของไทยจนได้รับสมญานามว่า “นักโทษเทวดา” กระทั่งทำให้บรรดา “คนเสื้อแดง” ที่เคยมี “แบรนด์รอยัลตี้สูง” ตัดสินใจย้ายฝั่งไปเป็น “ด้อมส้ม” เป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน
คำถามมีว่า ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะชู “ใคร” เป็น “ผู้นำ” ในการต่อสู้กับ “พรรคส้ม”
ไล่เรียงดูแล้ว “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ทุกวันนี้ก็ยังมิได้สร้างผลงานอะไรให้เป็นที่ประจักษ์ โครงการ “ซอฟท์พาวเวอร์” ที่เธอเป็นผู้นำก็มิได้ประสบความสำเร็จเปรี้ยงปร้าง และถ้านับจากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้งครั้งใหม่สถานการณ์ของ “ลูกสาวนายใหญ่” ที่หมายมั่นปั้นมือให้เป็น “นายกฯ จากตระกูลชิน” คนถัดไป ไม่กระเตื้องขึ้น จะเอาอะไรไปสู้กับพรรคส้ม
ยิ่งเมื่อย้อนไปพิจารณาคะแนนนิยมของเธอจากผลสำรวจตามโพลต่างๆ ที่ผ่านมา ก็ยิ่งมองไม่เห็นแต้มต่ออะไรทั้งสิ้น นอกเหนือจากความเป็น “สายเลือดตระกูลชินฯ”
หรือจะหันไปใช้ “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ว่ากันว่า ยังไม่ใช่ ถึงแม้ว่า ณ วันนี้ ราศีจะจับเรืองรองผิดสังเกต แต่ก็เป็นได้เพียง “ตัวเต็งนายกฯ เฉพาะกิจ” ในกรณีที่ “เสี่ยนิด-เศรษฐา ทวีสิน” ต้องคำพิพากษาในเชิงลบจากคดีคุณสมบัติต้องห้ามของนายพิชิต ชื่นบานที่ตนเองเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งจะมาถึงในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 นี้เท่านั้น
กระนั้นก็ดี ต้องบอกว่า การเมืองไทยจะพลิกโฉมหน้าไปอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 14 สิงหาคม 2567 นี้
เพราะที่แน่ๆ ก็คือ สถานการณ์ทั้งการเมืองนอกสภาฯ และในสภาฯ จะไม่ใช่อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างน้อยๆ ก็เก้าอี้ “รองประธานสภาฯ” ของ “หมออ๋อง” ที่จะย้ายกลับไปอยู่ในมือของ “ค่ายสีน้ำเงิน” รวมทั้งจะมีการปรับ “คณะรัฐมนตรี” เกิดขึ้นร้อยเปอร์เซ็นต์
ดังนั้น ใครจะอยู่ ใครจะไป โปรดติดตามอย่างไม่กระพริบตา.