คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
ภูฏานเป็นประเทศล่าสุดของเอเชียและของโลกที่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยเปลี่ยนแปลงในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 นับมาจนถึงบัดนี้ระบอบการปกครองใหม่ของภูฏานมีอายุได้ 16 ปี
ภูฏานเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2551 โดยประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2551 ผู้เขียนได้กล่าวถึงสาระสำคัญของบางหมวดไปแล้ว ได้แก่ สิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของชาวภูฏาน แม้ว่า รัฐธรรมนูญภูฏานจะกำหนดไว้ในหมวดที่หนึ่ง มาตรา 1 ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนภูฏาน แต่ก็ยังกำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจมากทั้งอำนาจนิติบัญญัติและบริหาร
ที่น่าสนใจคือ รัฐธรรมนูญกำหนดว่าพระมหากษัตริย์ต้องทรงสละราชบัลลังก์เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษา 65 พรรษา และที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญภูฏานได้กำหนดว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ แต่กำหนดเงื่อนไขต่างๆที่พระองค์จะต้องสละราชบัลลังก์ไว้ โดยรายละเอียดปรากฎในหมวดสอง ตั้งแต่มาตรา 20-25 ซึ่งรัฐธรรมนูญภูฏานกำหนดให้ รัฐสภาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาตราๆต่างในหมวดที่สองนี้ แต่จะกระทำได้ก็ต้องผ่านการทำประชามติ โดยรัฐธรรมนูญภูฏานได้กำหนดเงื่อนไขที่พระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่จะต้องสละบัลลังก์ไว้ในมาตรา 20-26 ของหมวดที่สอง อันเป็นหมวดที่ว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ (The Institute of Monarchy)
ในตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงหมวดที่เก้าอันเป็นหมวดที่ว่าด้วย “หลักแห่งนโยบายรัฐ” (Principles of State Policy) มีทั้งสิ้น 24 มาตรา นับเป็นหมวดที่มีมาตราจำนวนมากเป็นอันดับที่สามในทั้งหมด 35 หมวด โดยหมวดที่มีมาตรามากที่สุดคือ หมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ 26 มาตรา อันดับสองคือหมวดรัฐสภา 25 มาตรา ผู้เขียนได้กล่าวถึงมาตรา 1 และ 2 ไปแล้ว จะขอกล่าวมาตราที่เหลือต่อไป
มาตรา 3 รัฐจะต้องพยายามสร้างประชาสังคม (to create a civil society) ที่ปราศจากการกดขี่ การเลือกปฏิบัติ และความรุนแรง โดยยึดหลักนิติธรรม การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรี และประกันสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน
มาตรา 4 รัฐจะต้องพยายามปกป้องการสื่อสารทางโทรศัพท์ อิเล็กทรอนิกส์ ไปรษณีย์ หรือการสื่อสารอื่น ๆ ของบุคคลทั้งหมดในภูฏานจากการสกัดกั้นหรือการหยุดชะงักโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 5 รัฐจะต้องพยายามให้ความยุติธรรมด้วยกระบวนการที่ยุติธรรม โปร่งใส และรวดเร็ว
มาตรา 6 รัฐจะต้องพยายามให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเพื่อความยุติธรรม และไม่ปฏิเสธบุคคลใดๆเนื่องจากความพิการต่างๆหรือเหตุผลทางเศรษฐกิจ
มาตรา 7 รัฐจะต้องพยายามพัฒนาและดำเนินนโยบายเพื่อลดความเหลื่อล้ำของรายได้ การกระจุกตัวของความมั่งคั่ง และส่งเสริมการกระจายสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะอย่างเป็นธรรมระหว่างบุคคลและประชาชนที่อาศัยอยู่ในส่วนต่างๆ ของราชอาณาจักร
มาตรา 8 รัฐจะต้องพยายามให้แน่ใจว่าทุกจังหวัดได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาคบนพื้นฐานความต้องการที่แตกต่างกัน เพื่อให้การจัดสรรทรัพยากรของประเทศส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่เทียบเคียงกันได้
มาตรา 9 รัฐจะต้องพยายามบรรลุการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจและส่งเสริมเศรษฐกิจที่เปิดกว้างและก้าวหน้า
มาตรา 10 รัฐจะต้องพยายามและส่งเสริมการพัฒนาภาคเอกชนผ่านการแข่งขันในตลาดที่เป็นธรรมและป้องกันการผูกขาดทางการค้า
มาตรา 11 รัฐจะต้องพยายามส่งเสริมเงื่อนไขต่างๆที่จะทำให้พลเมืองสามารถดำรงชีพได้อย่างเพียงพอ
มาตรา 12 รัฐจะต้องพยายามประกันสิทธิในการทำงาน การแนะแนวอาชีพและการฝึกอบรม และสภาพการทำงานที่ยุติธรรมและเอื้ออำนวย
มาตรา 13 รัฐจะต้องพยายามรับรองสิทธิในการพักผ่อนและสันทนาการ รวมถึงการจำกัดเวลาทำงานและวันหยุดตามสมควรโดยได้รับค่าจ้าง
มาตรา 14รัฐจะต้องพยายามให้สิทธิได้รับค่าตอบแทนในการทำงานที่เป็นธรรมและสมเหตุสมผล
มาตรา 15 รัฐจะต้องพยายามจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ ค่านิยม และทักษะของประชากรทั้งหมด โดยมุ่งการศึกษาให้มุ่งสู่การพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่
มาตรา 16 รัฐจะต้องจัดให้มีการศึกษาฟรีแก่เด็กทุกคนในโรงเรียนที่มีอายุถึงเกรด 10 (เทียบเท่า ม. 4/ผู้เขียน) และรับรองให้มีการศึกษาด้านเทคนิคและวิชาชีพโดยทั่วไป และทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกันบนพื้นฐานของคุณธรรมความสามารถ
มาตรา 17 รัฐจะต้องพยายามใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติและการแสวงประโยชน์ต่อสตรีทุกรูปแบบ รวมถึงการค้ามนุษย์ การค้าประเวณี การละเมิด ความรุนแรง การคุกคาม และการข่มขู่ในที่ทำงานทั้งในภาครัฐและเอกชน
มาตรา 18 รัฐจะต้องพยายามใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กได้รับความคุ้มครองจากการเลือกปฏิบัติและการแสวงประโยชน์ทุกรูปแบบ รวมถึงการค้ามนุษย์ การค้าประเวณี การละเมิด ความรุนแรง การปฏิบัติที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และการแสวงประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
มาตรา 19 รัฐจะต้องพยายามส่งเสริมเงื่อนไขที่เอื้อต่อการร่วมชีวิตในชุมชนและบูรณาการของโครงสร้างของครอบครัวขยาย
มาตรา 20 รัฐจะต้องมุ่งมั่นที่จะสร้างเงื่อนไขที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาอย่างแท้จริงและยั่งยืนของสังคมที่ดีและมีความเห็นอกเห็นใจกัน อันมีรากฐานมาจากหลักพระพุทธศาสนาและคุณค่าของมนุษย์ที่เป็นสากล
มาตรา 21 รัฐต้องจัดให้มีบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันและแผนโบราณโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
มาตรา 22 รัฐจะต้องพยายามจัดให้มีหลักประกันในกรณีเจ็บป่วยและทุพพลภาพหรือขาดปัจจัยในการดำรงชีวิตด้วยเหตุผลที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของตนเองอย่างเพียงพอ
มาตรา 23 รัฐจะต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างเสรีในชีวิตทางวัฒนธรรมของชุมชน ส่งเสริมศิลปะและวิทยาศาสตร์ และส่งเสริมนวัตกรรมทางเทคโนโลยี
มาตรา 24 รัฐจะต้องพยายามส่งเสริมไมตรีจิตและความร่วมมือกับชาติ ส่งเสริมการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศและพันธกรณีตามสนธิสัญญา และส่งเสริมการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศด้วยสันติวิธีเพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
ในบรรดามาตราต่างๆทั้งสิ้น 24 มาตราในหมวดที่เก้าอันเป็นหมวดที่ว่าด้วย “หลักแห่งนโยบายรัฐ” (Principles of State Policy) ผู้เขียนมีข้อสังเกตเกี่ยวกับมาตรา 3 ที่มีข้อความว่า “รัฐจะต้องพยายามสร้างประชาสังคม (to create a civil society) ที่ปราศจากการกดขี่ การเลือกปฏิบัติ และความรุนแรง โดยยึดหลักนิติธรรม การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรี และประกันสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน” เพราะโดยปกติแล้ว ประชาสังคมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองในสังคมนั้นๆ มากกว่าจะเกิดจากการสร้างขึ้น โดยเฉพาะสร้างขึ้นโดยรัฐ และพื้นที่ประชาสังคมจะเป็นพื้นที่ที่อำนาจรัฐเข้าไปยุ่งเกี่ยวน้อยถึงน้อยที่สุด
ผู้เขียนเข้าใจว่า สังคมภูฏานน่าจะยังเป็น สังคมแบบจารีต (traditional society) ที่ความเป็นประชาสังคมยังไม่เกิดขึ้น หรือไม่ก็ยังอยู่ในขั้นก่อตัว ความสัมพันธ์แบบตลาดระหว่างผู้คนก็ยังไม่ได้พัฒนามากมายอะไร ในขณะที่รัฐได้พยายามพัฒนาเป็นรัฐสมัยใหม่ นั่นคือ เริ่มมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรตามแบบรัฐสมัยใหม่อื่นๆ การบัญญัติมาตรา 3 นี้นับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจติดตามว่า รัฐบาลภูฏานจะมีวิธีการอย่างไรในการ “สร้างประชาสังคม” ขึ้น !