xs
xsm
sm
md
lg

14 ตุลาที่บังกลาเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อ.สุดาทิพย์ จารุจินดา อินทร


ชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีเผด็จการ
เป็นเหตุการณ์โค่นรัฐบาลเผด็จการฉ้อฉล ด้วยการชุมนุมทั่วประเทศกดดันให้รัฐบาลลาออก นำโดยขบวนการนักศึกษาเป็นหัวหอกที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของสังคม และรัฐบาลใช้ความรุนแรงเพื่อสลายการชุมนุม จนผู้ชุมนุมต้องตายไปถึงกว่า 400 คน ภายในเวลาประมาณไม่ถึง 1 เดือนของการต่อสู้ ผู้ตายส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ถูกปราบปรามอย่างรุนแรงจากหน่วยงานความมั่นคง ภายใต้คำสั่งและการควบคุมดำเนินการโดยรัฐบาลนายกฯ หญิง ชีค ฮาสินา ที่บังกลาเทศ

วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม ฝ่ายทหารของบังกลาเทศโดย ผบ.สูงสุดได้เข้ามากดดันให้นายกฯ ฮาสินา ลาออก และให้เธอนั่งเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ทหารบินออกไปลี้ภัยกะทันหันที่อินเดีย ท่ามกลางนักศึกษาและประชาชนบังกลาเทศทั่วประเทศที่ก่อความรุนแรงด้วยการเผารถยนต์, เผาสถานีตำรวจ และต่อสู้กับฝ่ายความมั่นคงที่เข้าปราบปรามอย่างรุนแรง โดยใช้ทั้งแก๊สน้ำตา, กระสุนยางปนกับกระสุนจริง

เหตุการณ์ที่บังกลาเทศครั้งนี้ ละม้ายกับเหตุการณ์ 14 ตุลาของไทยเมื่อ 50 ปีที่แล้วที่นักศึกษาลุกขึ้นมาต่อสู้อำนาจเผด็จการทหารที่ครองอำนาจเป็นเวลานาน และส่งต่ออำนาจให้ลูกหลานตนในกองทัพ โดยลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น, การฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างหนักข้อ และไม่ยี่หระกับขบวนการตรวจสอบของนักศึกษาและประชาชน

และก็เฉกเช่นเดียวกับการต่อสู้ขับไล่ปธน.มาร์กอสและภรรยาที่ฟิลิปปินส์ ที่เรียกว่า People Power รวมถึงการต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชนอเมริกันที่ต่อต้านนโยบายรัฐบาลอเมริกันที่เข้าทำสงครามในเวียดนาม เพื่อโอบอุ้มรัฐบาลคอร์รัปชันของเวียดนามใต้ ที่เชิดชูประชาธิปไตยกำมะลอในเวียดนามใต้ขณะนั้น

รวมทั้งการต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชนที่เกาหลีใต้ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารหลายสมัย ถูกกราดยิงตายเป็นร้อยคน ก่อนที่เกาหลีใต้จะเปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตยอย่างทุกวันนี้

ข่าวล่าเพิ่งเข้ามาคือ นางฮาสินาได้ติดต่อขอลี้ภัยไปอยู่อังกฤษ...แต่ถูกรัฐบาลพรรคเลเบอร์ของอังกฤษได้ตอบปฏิเสธ...เพราะมือเธอเปื้อนเลือดของประชาชนที่ตายไปกว่า 400 คน (เป็นนักศึกษาส่วนใหญ่)...เฉพาะวันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคมนั้น ตายไปกว่า 100 คน จากคำสั่งโหดให้ใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาและประชาชน...หลังจาก 2 อาทิตย์ก่อนนี้ได้สั่งระงับการใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อห้ามการติดต่อของฝ่ายประชาชน

เธอได้ปกครองบังกลาเทศ 2 ครั้ง รวมเวลาทั้งสิ้น 20 ปี โดยครั้งแรกชนะการเลือกตั้งช่วงปี 1996-2001 แต่ต่อมาได้มีพรรคของนางคาเลดา เซีย ได้รับการเลือกตั้ง...ผู้นำหญิงสองคนนี้ฟาดฟันกันทางการเมืองมาตลอด

ในครั้งที่ 2 ที่ฮาสินาเข้ามาเป็นนายกฯ คราวนี้เป็นติดต่อกันถึง 3 สมัย จากการชนะการเลือกตั้งซึ่งมีการโกงการเลือกตั้ง และเข้ามาใช้งบประมาณของประเทศอย่างโกงกิน ผลักดันการก่อสร้างทำให้ภาพเศรษฐกิจมีการเติบโต แต่ความมั่งคั่งกระจุกอยู่แต่กลุ่มผู้บริหารรัฐบาล ฝ่ายค้านและสื่อมวลชนถูกปราบปรามด้วยกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการตรวจสอบ...โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง มูฮัมหมัด ยูซุป ซึ่งพยายามตั้งธนาคารคนจน (Grameen Bank) จนได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2006...ก็ถูกนายกฯ ฮาสินา ตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นต่อต้านรัฐบาล โดยกล่าวหาว่า ธนาคารกรามีนของเขามีการฉ้อฉลไม่โปร่งใส และคิดดอกเบี้ยอัตราสูงกับผู้ยากไร้...เขาถูกจับกุมดำเนินคดี...เฉกเช่นการอุ้มหายของเหล่านักหนังสือพิมพ์ และผู้นำฝ่ายค้านมากมายหลายคน, รวมทั้งนางคาเลดา เซีย (อดีตนายกฯ) ก็ถูกดำเนินคดีคอร์รัปชัน ถูกขังที่บ้าน (Home Arrest)

นายกฯ ฮาสินา บริหารเศรษฐกิจโดยมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างโจ๋งครึ่ม และมีโครงการหนึ่งที่จะเงินกู้จากธนาคารโลก ซึ่งนายมูฮัมหมัด ยูซุป ได้ออกมาคัดค้าน พร้อมกระซิบไปยังรัฐบาลอังกฤษถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการนี้ จนธนาคารโลกไม่อนุมัติเงินกู้ สร้างความแค้นแก่นายกฯ ฮาสินา

ทุกๆ ปีจะมีการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการ ซึ่งตั้งแต่เมื่อ 52 ปีมานี้ (ตั้งแต่ได้รับเอกราชแยกตัวออกมาจากปากีสถานเมื่อปี 1971) จะมีโควตาสำหรับครอบครัวนักรบเคียงบ่าเคียงไหล่กอบกู้เอกราชร่วมกับบิดาของประเทศคือ นายมูจิบู เราะห์มาน (บิดาของนางฮาสินา) ซึ่งนายมูจิบูเปิดให้มีโควตาครอบครัวนักรบนี้ จะเข้าเป็นข้าราชการได้ถึง 30% และยังมีอีก 10% สำหรับครอบครัวสตรีที่ร่วมในการต่อสู้จนถูกจำขังและถูกทรมาน ซึ่งโควตานี้ต่อมาได้ขยายเพิ่มไปอีก 20% สำหรับคนพิการ, ทหารผ่านศึก และมีกันโควตาให้ชาวเผ่ากลุ่มน้อยอีกด้วย

เหลืออีกแค่ 40% สำหรับชาวบ้านที่จะสอบเข้าแข่งขัน

ซึ่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจของนายกฯ ฮาสินา ยิ่งสร้างความยากจนในกลุ่มคนส่วนใหญ่เพิ่มมากขึ้น มีแต่ส่วนบน Elites ที่กอบโกยความมั่งคั่งของประเทศ;  แม้จะเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าให้แก่แบรนด์ดังๆ ของโลก…แต่ก็เกิดจากโรงงานทาส (Swet Shop) ที่แออัดและค่าแรงต่ำสุดในโลก...จนมีโรงงานพังถล่มหรือไฟไหม้...คนงานตายอย่างอนาถในสภาพการทำงานที่แสนรันทด

จำนวนคนว่างงานมีสูงเกือบ 20% เฉพาะนักศึกษาจบใหม่จะว่างงาน 40% และทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่มองเห็นความไม่ชอบมาพากลของการกันที่สอบบรรจุข้าราชการ ซึ่งพรรคการเมืองของนายกฯ ฮาสินา จะหาประโยชน์จากตำแหน่งงานในการสอบบรรจุข้าราชการนี้ มีการรับเงินใต้โต๊ะจากพรรคพวกของตน จะได้มีข้าราชการที่เป็นฝ่ายสนับสนุนพรรคการเมืองของนางฮาสินาบรรจุเข้าไปทุกๆ กระทรวง

กลุ่มนักศึกษาได้ออกมากดดันในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ให้ปฏิรูปและลดโควตาที่กันเอาไว้ให้ลูกหลานนักรบเพื่อเอกราช (ซึ่งเวลาผ่านเลยมา 50 ปี นักรบครั้งนั้นก็ตายจากไปหมดแล้ว ลูกหลานก็น้อยลงตามลำดับ...) แต่นายกฯ ฮาสินาไม่ยอม

ในที่สุดศาลสูงได้พิจารณาเรื่องคำร้องของนักศึกษา และออกคำตัดสินว่า ให้ลดโควตาลงมาเหลือเพียง 5% เพื่อเปิดทางให้ชาวบ้านได้มีสิทธิได้เต็มที่

แต่ระหว่างการต่อสู้กับรัฐบาลนั้น ได้เกิดการชุมนุมตามแคมปัสต่างๆ และการปราบปรามก็เริ่มรุนแรงขึ้น เริ่มมีนักศึกษาถูกอุ้มไปทำร้ายและฆ่าตาย

ผู้นำนักศึกษาคือนายนาฮิต อิสลาม เรียนอยู่ภาควิชาสังคมวิทยา ซึ่งในช่วงกลางกรกฎาคมก็ถูกอุ้มไปทำร้ายเจียนตาย แต่ได้ฟื้นกลับมานำจนสามารถขับฮาสินาออกไปได้

หลังศาลตัดสินให้ลดโควตา แต่นายกฯ ฮาสินาก็ยังไม่ยอมปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจับกุมคุมขังนำมาสู่การเรียกร้องให้นางฮาสินาลาออก และเกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

หลังนางถูกบังคับให้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ออกไปจากบังกลาเทศ ประชาชนโห่ร้องยินดีและประกาศว่า เป็นการประกาศเอกราชครั้งที่สองของประเทศทีเดียว

ทหารประกาศจะจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว โดยทหารจะไม่เข้ามาบริหาร (ต่างกับของประเทศไทย!!) และนักศึกษากำลังต่อรองให้นายมูฮัมหมัด ยูซุป มาเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลใหม่นี้

หวังว่า บังกลาเทศจะไม่จบลงแบบ 6 ตุลา แต่จะไปสู่การปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างที่เกาหลีใต้ ซึ่งต้องติดตามต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น